21 ม.ค. 2020 เวลา 14:00 • กีฬา
เปิดรั้ว S23NYC STUDIO : สถานที่ที่ “ไนกี้” ใช้ขับเคลื่อนวัฒนธรรมสนีกเกอร์แห่งอนาคต
นับตั้งแต่ “ฟิล ไนท์” ผู้ก่อตั้ง “ไนกี้” เริ่มต้นเรื่องราวของแบรนด์ด้วยการเปิดท้ายขายรองเท้าผ้าใบญี่ปุ่นในตลาดนัด จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมากว่าครึ่งทศวรรษ ไนกี้ เองก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างคาดไม่ถึง จนกระทั่งปัจจุบัน ไนกี้ ได้สถาปนาตัวเองเป็นผู้นำสินค้าประเภทอุปกรณ์กีฬาของโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยมูลค่าของแบรนด์ที่สูงถึง 3.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้วยตัวเลขดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาคือเจ้าตลาดรายสำคัญ และคงยืนหยัดอยู่แบบนี้ไปอีกนาน อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดแบรนด์ระดับโลก ย่อมไม่มีคำว่าหยุดนิ่ง และต้องมองไกลไปในอนาคตอยู่เสมอ นี่จึงเป็นสาเหตุให้ “S23NYC Studio” ถือกำเนิดขึ้น
S23NYC Studio คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? และเป้าหมายคืออะไร ติดตามเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ไปพร้อมกับ Main Stand
โลกแห่งอนาคต ในพื้นที่ 23,000 ตารางฟุต
เรื่องราวของ S23NYC Studio ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับผู้ชายคนหนึ่งชื่อว่า “รอน ฟาริส” โดยในปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งรองประธาน (Vice President) ของ ไนกี้ และเป็นผู้จัดการแห่ง S23NYC Studio แต่ถ้าย้อนไปเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน เขาคือผู้ก่อตั้ง “Virgin Mega” สตาร์ทอัพเทคโนโลยีภายใต้ชายคาของเครือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “Virgin” ชื่อเสียงของ ฟาริส ในแวดวงเทคโนโลยีนั้นค่อนข้างโดดเด่น เป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ไนกี้เองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน พวกเขาจึงไม่รอช้า ทุ่มเงินซื้อ Virgin Mega ในปี 2016 เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของ ไนกี้
Photo : www.fashionsnap.com
“พวกเขาอยากให้ผมและทีมงานเข้ามาดูแลในส่วนของแอปพลิเคชัน SNKRS” ฟาริสบอกกับสื่ออย่าง Hypebeast
“SNKRS” คือแอปพลิเคชันของ ไนกี้ ที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการผลักดันวัฒนธรรมต่างๆ ของเหล่าสนีกเกอร์เฮดสู่โลกแห่งเทคโนโลยี โดยในแอปพลิเคชันนี้จะรวบรวมทุกอย่างที่ผู้คลั่งไคล้ในสนีกเกอร์ต้องการไว้ในที่เดียว อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้น SNKRS นั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พวกเขาจึงต้องการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อมาจัดการดูแล หน้าที่ดังกล่าวจึงตกเป็นของ ฟาริส และทีมงานจาก Virgin Mega
หลังจากขั้นตอนซื้อกิจการสำเร็จเรียบร้อย สิ่งต่อไปที่ ไนกี้ ต้องทำคือการจัดหาพื้นที่การทำงานให้กับ ฟาริส และลูกทีมอีกกว่า 60 คน โดยโจทย์สำคัญคือพื้นดังกล่าวต้องเหมาะแก่การระดมไอเดีย สดใหม่ เต็มไปด้วยพลังงาน
หลังจากหาพื้นที่ในอุดมคติอยู่ระยะหนึ่ง ในที่สุด ไนกี้ ก็ตกลงตอกเสาเข็มแรกลงบนพื้นที่กว้างประมาณ 24,000 ตารางฟุต ในเขต Seaport ริมท่าเรือหมายเลข 17 บนถนน South Street ซึ่งจากพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถมองเห็นแม่น้ำ อีสต์ โดยมีมหานครนิวยอร์กตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังได้อย่างเต็มตา เหมาะอย่างยิ่งในการเป็นสนามไอเดียของคนรุ่นใหม่
Photo : therealdeal.com
“นี่คือพื้นที่ที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว”
“ในพื้นที่ขนาด 24,000 ตารางฟุต มีการแบ่งไว้ 1,500 ตารางฟุตเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ดีไซน์โซน’ ซึ่งจะเต็มไปด้วยผลงานศิลปะ การเวิร์คช็อปต่างๆ เนรมิตรเป็นสังคมขนาดย่อม เพื่อผสมสานเรื่องราว ประสบการณ์ และสินค้า เข้าไว้ด้วยกัน” ฟาริส เผยถึงเรื่องราวภายใน S23NYC Studio
Photo : academynet.com
Photo : academynet.com
นอกจากนั้นจุดเด่นอีกอย่างของ S23NYC Studio คือ แทบทุกตารางฟุตของที่นี่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีคอกกั้น ไม่มีสัญลักษณ์ใดบ่งบอกว่าพื้นนี้เป็นของแผนกไหน โดยจุดประสงค์ของออกแบบรูปแบบนี้เพราะต้องการให้ทุกคนใน S23NYC Studio รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน และทุกคนสามารถมีส่วนในการทำงานทุกขั้นตอน ตามแนวคิดที่ว่า
“ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยและกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในทีม เพราะไอเดียจากคนๆ เดียวนั้นอาจไม่ถูกต้องเสมอไป”
“เราต้องทำให้เสียงของทุกคนดังเท่ากัน”
ใน S23NYC STUDIO เขาทำอะไรกัน?
จากที่กล่าวมา S23NYC Studio อาจจะดูเป็นพื้นที่การทำงานในฝันของคนรุ่นใหม่ เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น แต่ความตื่นเต้นนั้นเทียบไม่ได้เลยกับความน่าตื่นเต้นในสิ่งที่บุคลากรในสถานที่แห่งนี้กำลังทำอยู่
Photo : academynet.com
“SNKRS ไม่ใช่แค่แอปพลิเคชั่นสำหรับการขายรองเท้า แต่เราต้องการให้มันเป็นมากกว่านั้น เราต้องการสร้างความเป็นชุมชนลงไปในนั้น” รอน ฟาริส บอกกับ Digital Trends
ถ้าไนกี้วางเป้าหมายของ SNKRS แค่เป็นแอปพลิเคชั่นไว้สำหรับซื้อขายรองเท้า พวกเขาคงไม่ลงทุนจ้างผู้เชี่ยวชาญระดับหัวกะทิเข้ามา รวมถึงลงทุนสร้างออฟฟิศใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เพราะจริงๆ แล้วเป้าหมายของพวกเขานั้นไปไกลกว่านั้นมาก
“ผมอยากให้ SNKRS เป็นเหมือนกับ Pokemon Go ในเวอร์ชั่นของไนกี้” ฟาริสอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของหนึ่งในฟีเจอร์ของแอปพลิเคชั่นที่เรียกว่า “Stash”
Stash คือฟีเจอร์ที่จะเปลี่ยนโลกของเหล่าสนีกเกอร์เฮดไปโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปเข้าแคมป์รอคิวเพื่อซื้อสนีกเกอร์รุ่นลิมิเต็ดอีกต่อไป เพราะทุกอย่างจะเปลี่ยนรูปแบบย่อส่วนลงมาภายในหน้าจอ เป็นเหมือนเกมล่าสนีกเกอร์ โดยฟีเจอร์นี้จะทำการบอกใบ้สถานที่ที่มีสนีกเกอร์ซ่อนอยู่เอาไว้ และถ้าใครไปถึงสถานที่นั้นก่อน เพียงแค่ทำการสแกนข้อมูลของพิกัดดังกล่าวลงไปในแอปพลิเคชั่น ก็จะได้รับสิทธิ์ในการซื้อสนีกเกอร์คู่ดังกล่าวไปทันที
Photo : www.nicekicks.com
“มันคือเกมที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม นอกจากนั้นมันยังช่วยกระตุ้นวัฒนธรรมสนีกเกอร์อีกทางหนึ่ง จะมีประโยชน์อะไรถ้าคุณขายรองเท้าได้ 100,000 คู่ แต่คน 100,000 คนที่ซื้อไปกลับเอาแต่นั่งคลิกอยู่หน้าจอ”
“กุญแจความสำเร็จของ ไนกี้ และวัฒนธรรมสนีกเกอร์ในอนาคตคือการผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ”
นอกจากฟีเจอร์ Stash แล้ว SNKRS ยังสร้างสังคมของสนีกเกอร์เฮดขนาดใหญ่ลงในแอปพลิเคชั่น โดยจะมีพื้นที่ให้ทุกคนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์เกี่ยวกับรองเท้าคู่โปรดของตัวเอง
“เราใช้โมเดล 20/80 กล่าวคือ 20 คือสัดส่วนของผู้นำเทรนด์ที่จะเปรียบเสมือนกระบอกเสียงในพื้นที่สังคมที่เราจัดไว้ ส่วนอีก 80 คือผู้ที่กำลังเรียนรู้และซึมซับสิ่งต่างๆ จากกลุ่ม 20”
เป้าหมายของการสร้างสังคมสนีกเกอร์ขึ้นในแอปพลิเคชั่นนั้นไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ให้ทุกคนสามารถถ่ายทอดประสบการณ์และเรื่องราวลงไปเท่านั้น แต่ทาง ไนกี้ เองก็ได้เก็บเรื่องราวเหล่านี้ลงสู่ฐานข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ออกมาว่าแคมเปญหรือสินค้าประเภทไหนที่จสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในอนาคต
Photo : www.seprun.com
ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือ “Air Force 1 De Lo Mio” สนีกเกอร์ของไนกี้ที่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น SNKRS ว่ามีกลุ่มผู้ใช้งานไม่น้อยที่อยู่ในสังคมชุมชนของชาวโดมินิกันอพยพ ดังนั้นสนีกเกอร์คู่นี้นี้จึงสร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจแห่ง “สาธารณรัฐโดมินิกัน” เพื่อสื่อว่าไม่ว่าจะชนชาติใดก็จะไม่ถูกมองข้ามเป็นอันขาด
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในแอปพลิเคชั่น SNKRS ยังมีอีกหลายสิ่งที่ S23NYC Studio กำลังสร้างสรรค์เพื่อผลักดันโลกแห่งสนีกเกอร์เดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ ที่จะทำให้วัฒนธรรมนี้แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
S23NYC STUDIO ในอนาคต
“ตอนนี้เรากำลังทดลองพฤติกรรมผู้บริโภค จากข้อมูลที่เราได้จากแอปพลิเคชั่น เพื่อให้สิ่งที่เราจะนำเสนอต่อไปนั้นเข้าถึงแก่นของวัฒนธรรมภายในชุมชนนั้นจริงๆ”
“เพราะสถานที่และผู้คนนั้นแน่นอนว่ามีอิทธิพลอย่างสูงต่อตัวสินค้าของเรา” รอน ฟาริส กล่าวกับ Inc.
Photo : thisisourmodernhome.com
นอกจากนั้น ฟาริส ยังเล่าถึงแผนงานในอนาคตที่วางไว้คร่าวๆ ว่าเขาอยากจะสร้างเกมโชว์สดๆ ในรูปแบบของผู้คลั่งไคล้สนีกเกอร์โดยเฉพาะ
“มันจะคล้ายกับ HQ Trivia (แอปพลิเคชั่นที่มีการตอบคำถามกันสดๆ โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลจริงๆ คล้ายกับแอปพลิเคชั่น Panya ในบ้านเรา) เราอยากให้ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์”
อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงหนึ่งในพิมพ์เขียวแผนงานในอนาคตเท่านั้น เพราะ รอน ฟาริส รู้ดีตั้งแต่ต้นว่า สิ่งสำคัญของการทำงานนี้คือต้องมองไปในอนาคตตลอดเวลา เพราะไม่มีอะไรแน่นอน เทรนด์ของโลกนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ
“ในตอนนี้มันมีวิธีมากมายเหลือเกินที่จะ ‘ขายรองเท้า’ เพียงแต่ว่าในตอนนี้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลของเรานั้นยังไม่นานพอ เราจึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าวิธีไหนดีที่สุด”
“ดังนั้นแล้ว ไนกี้ จึงอยากให้พวกเราทดลองทำมันทั้งหมด” รอน ฟาริส กล่าวทิ้งท้าย
บทความโดย เพรียวพันธ์​ แสน​ลาวัณย์
โฆษณา