22 ม.ค. 2020 เวลา 02:00 • การศึกษา
โลกนี้จะไม่มีคนโง่ หากคุณเลิกสอนให้ปลาปีนต้นไม้
เชื่อหรือไม่ครับว่าในวัยเรียน ไอน์ชไตน์ เคยถูกครูตราหน้าว่าเป็นเด็กไม่เอาไหนมาก่อน เพราะเขาทำคะแนนได้น้อยในวิชา ภาษาและประวัติศาสตร์ ทำให้ผลการเรียนรวมของเขาออกมาไม่ดีนักถึงแม้ว่าเขาทำคะแนนได้สูงสุดในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก็ตาม...
ถึงแม้ไม่มีผลการตรวจยืนยันชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจริงๆแล้วไอน์ชไตน์ ในวัยเด็ก มีปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้ ที่เรียกว่า Dyslexia
จริงๆแล้วอาการ Dyslexia ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในวงการการศึกษาหรอกครับ เขามีการศึกษาและค้นพบวิธีจัดการกับเด็กที่มีอาการนี้มานานแล้ว แต่ในวงการการศึกษาประเทศไทยคงมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่ยังรู้จักกับ Dyslexia
ทำให้เมื่อเจอเด็กที่เรียนวิชา ภาษา คำนวณ หรือวิชาที่ต้องท่องจำมากๆ แล้วทำคะแนนได้ไม่ดี คนเหล่านี้มักจะตราหน้าเด็กว่าเป็นเด็กไม่เอาไหน หนักเข้าอาจลงโทษเด็กๆด้วยไม้เรียวเข้าไปอีก
แน่นอนครับ ความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้เด็กพัฒนาขึ้นแต่อย่างใด ทำได้เพียงสร้างความหวาดกลัวและความเจ็บช้ำเพียงเท่านั้น
Dyslexia หรือความบกพร่องด้านการเรียนรู้ เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของเซลล์สมองซีกซ้ายในส่วนของระบบประสาทด้านการตีความและความจำระยะสั้น ทำให้มีความบกพร่องทางด้าน การอ่าน การเขียน การพูด การสะกดคำ การสร้างประโยค การเชื่อมโยงความหมาย การคำนวณ การจดจำสี เป็นต้น
อาการนี้จะแสดงออกมาเด่นชัดตั้งแต่ช่วงวัยเข้าเรียนและอาจส่งผลระยะยาวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ สามารถดีขึ้นได้ด้วยการเลี้ยงดูและการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม
Dyslexia อาจเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ และผลการเรียนของเด็กก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นจะมีสติปัญญาด้อยกว่าเด็กทั่วไป เขาไม่ได้โง่ ไม่ได้ปัญญาอ่อน เพียงแค่มีปัญหาในจุดที่คนทั่วไปมองว่าง่ายเท่านั้นเอง
สิ่งแรกที่ทำได้คือ หยุดมองว่าเขาโง่ เขาเพียงแค่ไม่ชอบอ่านหนังสือหรือเขียนเท่านั้นเอง ให้เราเริ่มมองหาความถนัดของเด็กแต่ละคน และส่งเสริมเขาในด้านนั้น เช่น ศิลปะ กีฬา ดนตรี การเต้นรำ การคำนวณ หรือการเข้าใจธรรมชาติ เพื่อให้เขาได้รู้ว่าตัวเขามีคุณค่า และภูมิใจในตัวเอง
เด็กที่ไม่ได้รับการสนใจและถูกมาตรฐานของการศึกษาตราหน้าว่าโง่ อาจทำให้เขาหลงผิดทำในเรื่องที่ส่งผลเสียต่อตัวเขาเองได้ในภายหลัง และกลายเป็นว่าภาพจำของคนกลุ่มนี้คือคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่จริงๆแล้วคนประสบความสำเร็จหลายคนในโลกนี้ป่วยเป็นโรคนี้ด้วยกันทั้งนั้น
ในส่วนของการศึกษาจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละคน และออกแบบหลักสูตร เกณฑ์การประเมินและวิธีการทดสอบหรือวัดผลเฉพาะของเด็กเป็นรายคนไป ไม่ควรใช้มาตรฐานกลางในการวัดเพราะเราต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนต่างกัน
ตัวของไอน์ชไตน์เองก็มีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนจนไม่สามารถเรียนต่อได้ ไอน์สไตล์ออกจากระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ในแบบที่เขาถนัด
ไอน์ชไตน์หันมาศึกษาด้วยตัวเอง ก่อนที่จะได้เข้าเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนแบบใหม่ ทำให้ได้เรียนในแบบที่เขาต้องการจนสามารถเรียนจบได้ในที่สุด
อย่างคำกล่าวของ อัลแบร์ท ไอน์ชไตน์ ที่ว่า “ทุกคนล้วนมีอัจฉริยภาพอยู่ในตัวทั้งนั้น แต่ถ้าคุณตัดสินปลาตัวหนึ่งด้วยความสามารถในการปีนต้นไม้ ปลาตัวนั้นก็จะใช้เวลาทั้งชีวิตโดยเชื่อว่าตัวเองช่างโง่เง่าเสียเหลือเกิน”
1
เขียน : Alison
ภาพประกอบ : สมองไหล
อยากรู้เรื่องอะไร อยากอ่านบทความเเบบไหน ส่งคำถามมาให้ "สมองไหล" ได้ง่ายๆ เพียง “กดลิ้ง” ข้างล่างนี้ได้เลย
โฆษณา