22 ม.ค. 2020 เวลา 02:36
สวัสดีครับ
วันนี้ในอดีต เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการ ในรายการวิทยุกระจายเสียง
การกล่าวคำทักทายของแต่ละประเทศล้วนมีความแตกต่างกัน และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกความเป็นมาของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยก็มีคำทักทายเช่นกัน นั่นก็คือคำว่า "สวัสดี" เรียกได้ว่าเป็นคำพูดติดปากไม่ว่าจะเป็นการพบกัน หรือลาจากกัน ต่างก็ต้องเอ่ยคำว่า "สวัสดี"
โดยเริ่มแรกนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าต้นสายปลายเหตุว่า เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงจะใช้คำว่า "ราตรีสวัสดิ์" เป็นการพูดเมื่อจบรายการ บางทีก็มีการอนุโลมให้พูดคำว่า "กู๊ดไนท์" (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีคนไม่เห็นด้วย จึงให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ในสมัยนั้นช่วยคิดหาคำใหม่ขึ้นมาแทน จนในที่สุดก็ได้คำว่า "สวัสดี"
ทั้งนี้ คำว่า "สวัสดี" มาจาก "โสตถิ" ในภาษาบาลี หรือ "สวัสดิ" (สะ-หวัด-ดิ) ในภาษาสันสกฤต โดยทั้ง 2 คำนี้มีความหมายว่า ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง ความปลอดภัย ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายดีมาก
ต่อมาเมื่อปี 2476 พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้นำคำว่า "สวัสดี" ไปเผยแพร่กับนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน ก่อนจะมีการใช้แพร่หลายกันต่อมา จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นยุคของการปฏิรูปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติให้เทียบเท่าอารยประเทศ ได้เห็นชอบกับการใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายเมื่อพบกันครั้งแรก จึงมอบหมายให้ กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ออกข่าวและประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีการใช้คำว่า "สวัสดี" มาเป็นคำทักทายกัน พร้อมกับมีการยกมือขึ้นไหว้ประกอบคำพูด
จากเพจเฟสบุ๊คของ
Supap Rodklongtan
พบกันใหม่โอกาสหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
พบกับเฟสบุ๊คของผมที่ www.facebook.com/centuryboy
โฆษณา