22 ม.ค. 2020 เวลา 03:46 • บันเทิง
OPINION: หรือว่า Original Song ของ BNK48 คือกุญแจสำคัญในการขยายฐานแฟนคลับให้มากขึ้น
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “โดดดิด่ง” เพลงประกอบภาพยนตร์ ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ และ เป็น Original Song ลำดับที่ 7 ของ BNK48 ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องด้วยยอดรับชมเกิน 7,000,000 ครั้ง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 144 ชั่วโมง
แถมยังทำลายสถิติเก่าที่มีอยู่เดิม อย่างเช่นการมียอดชมครบ 1,000,000 ครั้งภายในระยะเวลา 10 ชั่วโมง แซงหน้าสถิติเพลง River ที่เคยทำไว้อยู่ที่ 12 ชั่วโมง รวมถึงมียอดรับชมแซงเพลง 77 ดินแดนแสนวิเศษ เพลงหลักประจำซิงเกิลก่อนหน้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากตัวเลขสถิติที่บ่งบอกถึงการกลับมามีชีวิตชีวาแล้ว บุคคลภายนอกยังให้ความสนใจ และเปิดใจในการรับฟังผลงานเพลงของ BNK48 มากขึ้น สังเกตได้จากการนำเพลง โดดดิด่ง มา Cover ในช่อง YouTube ของตัวเอง หรือว่าจะเป็นการนำเพลงไปรีมิกซ์เข้ากับจังหวะการเต้นมากขึ้น รวมทั้งเลือกเพลงนี้ไปแสดงสดในเวทีท้องถิ่น ซึ่งในความคิดส่วนตัวผมนั้นคิดว่า Original Song นั้น อาจเป็นกุญแจสำคัญในการขยายฐานแฟนคลับให้ใหญ่ขึ้น จากที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยวันนี้ผมจะพามาหาคำตอบว่า ทำไมผมถึงคิดเช่นนั้น
1. Mood & Tone
มันเป็นที่รับรู้สำหรับทุกคนอยู่แล้วว่า เรามักจะมีเพลงโปรดที่แตกต่างกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นเป็นเพราะว่าเราฟังเพลงด้วยอารมณ์ และความรู้สึก รวมถึงการเชื่อมโยงความทรงจำ ทำให้เกิดอารมณ์ด้านบวกขึ้นมาเสมอ จากกลไกเหนี่ยวนำ (Induction Mechanism)
โดยงานวิจัยจากวารสาร Scientific Reports ที่มีชื่อว่า The Effect of Memory in Inducing Pleasant Emotions with Musical and Pictorial Stimuli หรือผลของความทรงจำในการปลุกเร้าอารมณ์เพลิดเพลินด้วยสิ่งกระตุ้นที่เป็นดนตรีและภาพ ซึ่งการทดลองให้ผู้ฟัง ฟังเพลงทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่
1. เพลงที่ผู้เข้าร่วมทดลองนำมาเอง เป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำส่วนตัว เช่น เพลงที่เคยฟังกับคนรัก เพลงที่แม่เคยกล่อมให้ฟัง เพลงคริสต์มาสที่ฟังตอนเด็กๆ ฯลฯ แต่เป็นเพลงที่ทำให้นึกถึงความสุขสมัยก่อน
 
2. เพลงที่ปลุกเร้าอารมณ์ด้านบวกโดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความทรงจำเดิมของผู้เข้าร่วมทดลอง เช่น เพลงเต้นรำสมัยใหม่ เพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน เพลงที่ไม่ใช่เพลงเศร้า
 
3. เพลงที่ฟังแล้วทำให้เกิดอารมณ์เศร้า ไม่พึงพอใจ ไม่สมหวัง ฯลฯ อันเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมหวังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ฟังกับคนรัก แต่คนรักทิ้งไปหรือเสียชีวิต เพลงที่เคยฟังตอนอกหัก เพลงในงานศพของแม่ ฯลฯ คือเป็นเพลงที่เกี่ยวกับความทรงจำ แต่ไม่ได้ทำให้อารมณ์ดีโดยตรง
 
4. เพลงเศร้าๆ ทั้งหลายแหล่ แต่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความทรงจำของผู้เข้าร่วมทดลอง
.
และวัดคลื่นสมองจากผู้ทดลองทั้งหมด ซึ่งงานวิจัยพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเพลงแบบไหนก็ตาม ถ้าเป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำส่วนตัว หรือผูกผันกับความรู้สึกของผู้ฟัง ก็จะสามารถเกิดอารมณ์บวกขึ้นมาได้เสมอ
ซึ่งอธิบายได้ง่ายๆว่า คนเรามักจะรู้สึกชอบฟังเพลงนั้น เมื่อตัวเองฟังแล้วเกิดความรู้สึกดี และต้องการฟังเพลงนั้นซ้ำๆหลายครั้ง โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า การฟังซ้ำหลายๆครั้ง กับผู้ฟังในจำนวนมาก อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทีสามารถสร้างฐานแฟนคลับให้เพิ่มขึ้นได้
2. ความซับซ้อนของเนื้อเพลง
เพลงดังมากมายที่เคยขึ้นทำเนียบ 100 ล้านวิวบน YouTube นั้น เราสามารถสังเกตได้ว่า เนื้อเพลงนั้นไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากนัก และดูเหมือนเป็นการสื่อสารกับผู้ฟังโดยตรงว่า อยากให้เขาเข้าใจในการฟังเพลงนี้ได้อย่างไม่ยากนัก อย่างเช่น เพลง “ทิ้งไว้กลางทาง” ของ Potato ที่สื่อความหมายถึง ความรักที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง แลดูเคว้งคว้าง หรือ เพลง “เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว” ที่สื่อถึง อยากคุยกับที่ชอบ ถึงขั้นยอมเลิกคุยทั้งอำเภอก็ย่อมได้ แถมยังไม่รวมถึงเนื้อเพลงที่เกิด Earworm อย่าง เพลง มะล่องก่องแก่ง ที่หลอนเข้าไปอยู่ในหัวผู้คนจนเอาไม่ออกจนถึง ณ ตอนนี้
.
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพลงที่มีเนื้อเพลงไม่ซับซ้อน หรือ ท่อนฮุคที่ดูหลอนหู ทำให้คนรู้สึกเข้าถึงเพลงได้ง่าย รวมไปถึงกล่าวถึงเนื้อเพลงท่อนนั้นๆออกสู่สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลงอยู่ในกระแสได้นานขึ้น
.
ในหลายครั้งที่ BNK48 ได้นำเพลงบางส่วนออกมาแปล โดยส่วนตัวผมคิดว่า ความหมายของเนื้อเพลงมันดูซับซ้อน ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจอยู่ส่วนหนึ่งว่า วัฒนธรรมการฟังเพลงของประเทศญี่ปุ่นนั้นดูค่อนข้างแตกต่างจากเราพอสมควร เลยทำให้เพลงบางเพลง ดูไม่ตอบโจทย์ผู้ฟังเท่าไหร่นัก จึงเป็นสาเหตุที่เพลงมันออกจะเป็นเพลงเฉพาะกลุ่มจนเกินไป หากได้ Original Song ที่เนื้อเพลงดูไม่ซับซ้อนมากนักมาเสริมตรงนี้ อาจทำให้บุคคลภายนอกเริ่มเปิดใจติดตามผลงานของวง และฟังเพลงดั้งเดิมมากขึ้นก็เป็นไปได้
3. พลังแห่ง Content
ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วย Content จนมีคนกล่าวว่า “Content is king.” ทำให้สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งในวงการเพลง หลายเพลงที่กลายเป็นกระแส เมื่อมีคนหยิบนำเพลงนี้ไปร้อง Cover หรือ ทำมุขตลกแล้วโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ จนคนต้องไปหาต้นฉบับมาฟังกันเลยทีเดียว ถ้ามองถึงจุดเริ่มต้นของเพลงที่เกิดในลักษณะนี้ ผมคงต้องยกกรณีศึกษาจากเพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ของ ก้อง ห้วยไร่ เมื่อ โจอี้ บอย หนึ่งในโค้ชประกอบรายการ The Voice Thailand ได้นำเพลงนี้ให้ ไข่มุก ผู้เข้าแข่งขันประจำซีซั่นนั้นมาร้องถ่ายทอดความรู้สึก ขณะแข่งขัน และอัพโหลดคลิปดังกล่าวลง YouTube ซึ่งทำให้คนที่รับชมรายการนั้นกลับไปฟังซ้ำ และทำให้รู้จักศิลปินที่เป็นต้นฉบับของเพลงนี้ไปโดยปริยาย
.
จากสถิติเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมาระบุว่า ผู้ใช้งาน YouTube ประมาณ 70% เข้าเว็บไซต์มาเพื่อค้นหาเพลงฟัง โดย 77% เป็นผู้ใช้งานอายุ 16-34 ปี และ 62% เป็นผู้ใช้งานอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าหากเพลงนั้นถูกนำไป Cover หรือ ผลิต Content ที่เกี่ยวข้องกับเพลง รวมถึงการแชร์ที่เปรียบเสมือนการบอกต่อเป็นปากต่อปาก ก็สามารถทำให้เพลงๆนั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และสามารถเพิ่มฐานขยายแฟนคลับได้เช่นเดียวกัน
และนี่คือ คำตอบทั้งหมด 3 ข้อ ที่เป็นปัจจัยในการสร้างกุญแจสำคัญในการบุกเบิกขยายฐานแฟนคลับกลุ่มใหม่ๆได้มากขึ้น ซึ่ง ณ ตอนที่ผมเรียบเรียงบทความนี้อยู่นั้น ทาง AKS บริษัทที่ดูแลวงพี่สาว AKB48 ในประเทศญี่ปุ่นก็ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เลิกบริหารวงในเครือ 48 Group และให้วงอยู่ภายใต้การบริหารออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะเห็น Original Song มีบทบาทมากขึ้น และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ BNK48 เข้าสู่กราฟขาขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างไรตอนนี้เราทำได้เพียงแค่คาดเดา และเฝ้ารอดูข่าวสารอย่างใกล้ชิดครับ
สำหรับวันนี้คงจบไปเพียงเท่านี้ และเป็นวันที่เราได้กลับมามีสาระอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนาน ถ้าผู้อ่านท่านใดมีความคิดเห็นที่แตกต่างอยากแลกเปลี่ยนกัน สามารถ Comment ไว้ที่ด้านล่างได้เลยครับ และถ้าชอบ Content นี้ปุ่มไลค์ ปุมแชร์อยู่ใกล้อย่าลืมกดเพื่อเป็นกำลังใจให้ โพนี่จี้จุด สร้าง Content ใหม่ๆถึงหน้าจอทุกท่านด้วยนะครับ
#BNK48 #BNK48OriginalSong #โดดดิด่งมาแน่ #ไทบ้านxBNK48 #จากใจผู้สาวคนนี้ #PonyJeeJud #โพนี่จี้จุด
โฆษณา