23 ม.ค. 2020 เวลา 05:10 • ปรัชญา
อะไรจะเกิดขึ้นหากเรามีรากความเชื่อที่ทำให้เราต้องเผชิญกับความไม่ราบรื่นต่างๆในชีวิต?
ชีวิตของคนเรานั้นต้องเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทุกวันไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะเล็กหรือใหญ่เพียงใด เช่นการตัดสินใจเล็กๆอย่าง "กลางวันนี้จะทานอะไรดี?" นี่คือชั้นที่ 3
การตัดสินใจของเราจะเกิดขึ้นและผลลัพธ์ของมันจะดีดเราไปสู่ทิศทางใดนั้น ขึ้นอยู่กับ "ความเชื่อ" ของเราที่มีต่อเรื่องนั้นๆ นี่คือชั้นที่ 1
บางทีเราอาจจะคิดว่า "ไม่หรอก จริงๆแล้วเราตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้รับต่างหาก" นั่นคือชั้นที่ 2
นั่นเป็นเพียงชั้นถัดลงมาเท่านั้น เพราะถัดรองลงมาอีกและอยู่ในระดับชั้นล่างสุดนั้นคือระดับความเชื่อ ซึ่งแสดงได้ดังนี้
Believe -> Information -> Decision -> Action -> Outcome
ความเชื่อ -> ข้อมูล -> การตัดสินใจ -> การลงมือทำ -> ผลลัพธ์
จริงๆแล้ว "ความเชื่อ" เป็นรากของการตัดสินใจทั้งมวล
1. เพราะความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ผลักดันให้เราไปหาข้อมูลหรือรับข้อมูลในแนวทางนั้น ถ้าไม่เชื่อมาก่อนก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับได้ยาก ไม่จริง ไม่ใช่ ไม่เคยได้ยินมา ไม่เชื่อ
2. เพราะข้อมูลในแนวทางนั้น ทำให้เรามีสิ่งสนับสนุนมากพอที่จะตัดสินใจแบบนั้น เพราะเรามีแนวโน้มที่จะทำในสิ่งที่เราชอบมากว่าไม่ชอบ ข้อมูลที่หาส่วนใหญ่จึงเป็นข้อมูลสนับสนุนให้เราทำสิ่งที่เราชอบ
3. เพราะการตัดสินใจแบบนั้น ทำให้เราตกลงใจที่จะทำแบบนั้น นั่นคือเลือกมาแล้ว มีเหตุผลสนับสนุนแล้ว จึงตัดสินใจแบบนั้น
4. เพราะการที่ได้กระทำแบบนั้น จึงได้ผลลัพธ์ออกมาเช่นนั้น อันนี้มันอธิบายตัวเอง เพราะหากเราตัดสินใจแบบอื่น กระทำอย่างอื่น ผลลัพธ์ก็จะต่างกันไป
5. สิ่งที่ตามมาจากผลลัพธ์เช่นนั้นแหล่ะ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราแบบนั้น เพราะผลลัพธ์ที่ออกมา อาจจะเป็นหรือไม่เป็นเหมือนอย่างที่คาดไว้
ส่วนผลที่ตามมาจากผลลัพธ์นั้นมีอยู่สามอย่างคือเป็นสิ่งที่เราชอบ ไม่ชอบ และเฉยๆ ซึ่งการรับมือกับมันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดังนั้นอะไรจะเกิดขึ้นหากเรามีรากความเชื่อที่ทำให้เราต้องเผชิญกับความไม่ราบรื่นต่างๆในชีวิต?
เพราะชีวิตมีหลายด้านหลายมิติ และเราก็ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมาต่างกัน ดังนั้นเราจึงสร้างบทสรุปของประสบการณ์เราในเรื่องนั้นๆตามความเข้าใจของเราในขณะนั้น แล้วมันก็ประทับลงไปเป็นพิมพ์เขียวของชีวิตของเรา มันกลายเป็นแผ่นใสต้นแบบของเราที่เอาไว้ทาบเปรียบเทียบว่าสิ่งต่างๆที่เราเจอในทุกวันนี้นั้นจะเป็นไปตามบทสรุปเหล่านั้น
ตัวอย่างเช่นผู้รับการบำบัดบางท่านที่เข้ามาบำบัดเรื่องการเงิน บางท่านมีความเชื่อว่าเงินเป็นสิ่งที่หาได้ยากและต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแลกมา ตอนเป็นเด็กเคยถูกทิ้งให้ต้องอยู่คนเดียวบ่อยๆเพราะพ่อแม่ต้องออกไปหาเงิน ปัญหาหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเพราะเงินไม่พอ เงินจึงกลายเป็นตัวแทนของความไม่ดีเพราะคนรวยส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดี ภาพลักษณ์ของเงินกลายเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและไม่น่าไว้ใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดท่านนั้นๆไม่ต้องการจะยุ่งเกี่ยวกับเงิน เพราะไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมัน นั่นเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับเงินที่คิดเองเชื่อเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่เงินก็เป็นสิ่งจำเป็นของเราและเขาก็ต้องการมันเหลือเกิน ความขัดแย้งในใจจึงเกิดขึ้นและกลายเป็นสาเหตุของความไม่สบายใจ พฤติกรรมการใช้เงินอย่างอันตราย รวมไปถึงความเครียดและกระทบปัญหาสุขภาพ
ทั้งหลายทั้งปวงเกิดจาก "ความเชื่อ" อันเป็น "บทสรุป" ของเรื่องราวประสบการณ์ในอดีต สิ่งนี้นี่เองที่ท้ายที่สุดแล้วส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่างๆในชีวิตของเรา และเมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต เรามีความเอะใจและตระหนักได้ว่าเรามีความรู้สึกขัดแย้งแปลกๆในใจที่อธิบายไม่ได้มารบกวนจิตใจอยู่เสมอ และนั่นทำให้เราต้องค้นหาคำตอบ
คำตอบของสิ่งที่เราตามหาคือการปรับจูนความเชื่อของเราให้ไปในทิศทางที่ไม่ขัดกับความรู้สึกของตัวเอง ในการจะทำสิ่งนี้ได้นั้น การเข้าใจตัวเองอย่างดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เรามองเห็นถึงรากของความเชื่อที่ขวางกั้นเราอยู่
จริงๆแล้วความเชื่อไม่ได้เป็นชั้นแรกของปัญหาเพราะความเชื่อนั้นเป็น "ผลลัพธ์" ของความคิด ดังนั้นเมื่อเราทราบแล้วว่าระบบความเชื่อของเรานำปัญหาบางอย่างมาให้เราและอยากจะถามว่าทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนความเชื่อบางอย่างนั้นได้? คำตอบก็คือให้เปลี่ยนความคิด
ส่วนหากจะถามว่าทำอย่างไรให้เปลี่ยนความคิดได้? นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
Enjoy Thinking krub.
โฆษณา