24 ม.ค. 2020 เวลา 04:00 • บันเทิง
เราจะรับมือกับมันอย่างไรเมื่อสิ่งที่เราทิ้งทุกอย่างมาเพื่อรับผิดชอบกลับถูกมองเสมือนปลิงเกาะผู้อื่น
and the review goes to... "คิมจียอง เกิดปี 82" -part 1/2-
สวัสดีครับ โพสนี้ผมจะมารีวิวหนังเรื่อง "คิมจียอง เกิดปี 82" เป็นหนังที่พูดถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายในสังคมเกาหลีผ่านตัวละคร "คิมจียอง" (จองยูมิ) กับสิ่งที่ต้องเผชิญมาตั้งแต่เด็กจนโต หนังดัดแปลงมาจากนิยายของ "โชนัมจู" ในชื่อเรื่องเดียวกัน
เกริ่นเบา ๆ ก่อนว่าหนังดีมาก ส่วนตัวแนะนำว่าให้อ่านนิยายก่อนดูจะเก็บรายละเอียดและอินกับหนังมากขึ้น หรือไปดูก่อนค่อยมาอ่านก็ได้ โดยการรีวิวนี้จะแบ่งเป็น 3 หัวข้อคือ 1.เนื้อเรื่อง 2.การดำเนินเรื่อง และ 3.การแสดง พร้อมแล้วก็ลุยกันเลย
1. ในส่วนของเนื้อเรื่องสำหรับผมถือว่าเป็นหนังที่แปลกใหม่มาก หนังที่เล่นประเด็น Feminist มีอยู่ทั่วไป แต่คิมจียองเกิดปี 82 สามารถดึงเอาประเด็นที่มีอยู่ทั่วไปมานำเสนอได้อย่างสนุกและน่าติดตาม
ความแปลกใหม่ของหนังคือประโยคหนึ่งในตัวอย่างที่พระเอกพูดว่า "บางครั้งคุณก็กลายเป็นคนอื่น" นี่แหละ นั่นคืออีก "ผลลัพธ์" หนึ่งของผู้หญิงที่อยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่
ทำให้หลังดูจบ ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสตรีจะวนเวียนอยู่ในหัวไปอีกพักใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายนี้จะถูกนำเสนอกรอกอัดให้ผู้ชมทั้งงานฉาก บทพูด และการแสดงตลอดเวลา
feminist เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว จึงทำให้เราถูกดึงเข้าสู่โลกของหนังได้อย่างง่ายดาย และเป็น 1 ชั่วโมง 58 นาที ที่ไม่น่าเบื่อเลย
เนื้อเรื่องในหนังมีการเพิ่มเติมจากฉบับนิยายเข้ามาพอสมควร เพิ่มฉากที่อยากเห็นเข้าไป เพิ่มบทสรุปการแก้ปัญหาของจียองและสามี ซึ่งที่ว่ามานี้ในฉบับนิยายปล่อยให้ทุกอย่างค้างคาอยู่ในหัวคนอ่าน ซึ่งความรู้สึกจะต่างกันไป นิยายอ่านจบจะอึน ๆ ส่วนหนังดูจบแล้วไม่มีอะไรค้างคา
2. การดำเนินเรื่องเป็นส่วนที่ต่างกับนิยายที่สุด ไทม์ไลน์ของนิยายจะเป็นเส้นตรงตั้งแต่เด็กจนโต แต่ในหนังจะเป็นเนื้อเรื่องตอนโตที่แฟลชแบ็คเหตุการณ์ต่าง ๆ ในวัยเด็กแทรกเข้ามาเรื่อย ๆ ตรงจุดนี้ทำให้ความเข้าถึงพื้นเพตัวละครคิมจียองดรอปลงไปเมื่อเทียบกับฉบับนิยาย แต่เข้าใจได้ว่าหนังที่มีเวลาจำกัดก็ทำได้ประมาณนี้
จุดที่เหมือนกับนิยายคือการทิ้งผลลัพธ์ไว้ต้นเรื่อง แล้วค่อย ๆ มาเล่าเรื่องราวของสาเหตุ ตรงนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมนิยายถึงทำได้ดีว่า เพราะการเล่าตั้งแต่เด็กจนโต กับการเล่าแค่ช่วงโต (แล้วแทรกวัยเด็กทีละช็อต) ก็ให้อารมณ์ร่วมที่ต่างกัน
และการนำฉากที่พีคที่สุดในนิยายมานำเสนอในช่วงแรกของหนังที่ ทำให้พลังในการสื่อสารมันดรอปลงไป
3. การแสดงของจองยูมิกับกงยูในเรื่องนี้โคตรของดี ในช่วงแรกของเรื่องประเด็นของหนังเกือบจะกลายเป็นแม่ผัว-ลูกสะใภ้ไปแล้ว แต่จองยูมิก็ดึงทุกอย่างกลับมาเป็นประเด็น feminist เหมือนเดิมได้ด้วยการแสดงขั้นเทพของเธอ
ต้องชมเลยเพราะว่าการเอาผลลัพธ์ของเหตุการณ์มาไว้ต้นเรื่องแบบนี้ ถ้าการแสดงไม่สื่อให้คนดูเข้าใจได้ทันทีก็จะกลายเป็นหนังงง ๆ ที่มาเข้าใจทีหลัง
ผมไม่ได้ติดตามวงการหนังเกาหลีเท่าไรเลยไม่รู้ว่าจองยูมิเป็นนักแสดงระดับแม่เหล็กขนาดไหน แต่การแสดงของเธอคือเทพจริง ๆ และมาประกบคู่กับ "กงยู" (รับบทจองแดฮยอน-สามี) ที่ผมไม่ตามก็รู้ว่าโคตรแม่เหล็กสุด ๆ (ฮา) ฉากอารมณ์ของกงยูยิ่งทำให้คิมจียองเป็นผู้หญิงที่น่าสงสารมากขึ้นไปอีก
ภาพรวมของการแสดงคือดีมาก แต่ที่แยกออกมาเพราะอยากชมจองยูมิแบบเป็นชิ้นเป็นอัน (ฮา) เพราะถือว่าเป็นคนที่กุมทิศทางของหนังทั้งเรื่องและทำออกมาได้ดีมาก ๆ
สรุป คิมจียองเกิดปี 82 เป็นหนังสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีผลต่อผู้หญิงคนนึงอย่างน่าสนใจ น่าติดตาม และน่าเอาใจช่วย เป็นหนังที่ตกตะกอนความคิดหลังดูจบ เป็นหนังที่เล่นกับความรู้สึกคนดูได้อย่างมีชั้นเชิง คุณจะสิ้นหวังและสมหวังสลับไปมาระหว่างดู
และสุดท้ายก็จะเป็นตัวเราเองที่จะนำความรู้สึกนี้ไปต่อยอดในการดำเนินชีวิตอย่างไร
ฝากติดตามเพจ and the review goes to ด้วยนะครับ แล้วก็ part 2/2 เป็นส่วนของสปอยและความรู้สึกหลังดูจบจะตามมาเร็ว ๆ นี้ครับ ฝากด้วยนะครับ (ฮา)
ปล. 8/10

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา