25 ม.ค. 2020 เวลา 12:09 • ธุรกิจ
อาลัยการจากไปของ ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเต็นเซ็น แห่งฮาร์วาร์ด
เชื่อว่าเพื่อนๆ ที่ศึกษาเรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจ จะต้องรู้จัก ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน กันไม่มากก็น้อย แนวคิดของท่าน มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากทั้งผู้บริหาร นักเรียน และคนที่มีโอกาสพบเจอ
อาจารย์เคลย์ตัน ทำให้โลกเข้าใจคำว่า "Disruptive Innovation" ซึ่งเป็นการอธิบายที่มาที่ไป ของนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกนี้ ที่เริ่มเข้ามาทำลายล้างอุตสาหกรรมเดิมๆ โดยเริ่มจากตลาดล่างสุดก่อน
Cr. HBR
ตัวอย่าง ที่เข้ายุคเข้าสมัย ก็คงเป็น กล้องในมือถือสมัยก่อน เราคงพอนึกออกว่าคุณภาพของรูปห่วยขนาดไหน ไม่มีทางเทียบเท่ากล้อง SLR ของมือโปร ราคาเป็นแสน หรือจะสู้กับกล้องมิรเรอร์เลสในยุคต่อมาก็ยังไม่ได้
แต่กล้องในมือถือมีข้อดีในด้านความสะดวกในการพกพาและราคาที่ย่อมเยากว่า ทำให้ใครๆก็ใช้กล้องในมือถือ ถ่ายรูปอาหาร ถ่ายเซลฟี่ ถ่ายซูม ได้ง่ายๆ ไม่ต้องแบกเลนส์ไป 5 ตัว จึงทำให้กล้องในมือถือได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
คุณภาพของกล้องในมือถือพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน กล้องราคาแพงหลายๆ ตัวก็แทบจะนั่งนิ่งสงบอยู่ที่ห้องเก็บของ และมือโปรเอง ก็ยังสามารถใช้ iPhone ถ่ายงานแบบ โปรๆ ได้!
อีกแนวคิดหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ "Jobs to be done" แนวคิดที่ชี้ให้เห็นว่า ลูกค้ามีสิ่งที่เขาต้องการทำให้สำเร็จ และการที่พวกเขา "ซื้อ" สินค้าหรือบริการ ก็เพราะว่าของสิ่งนั้น ช่วยทำให้งานของลูกค้า "สำเร็จ" ได้
แนวคิดในการทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในวงการ Tech Startup เป็นที่มาของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้ง Apple Amazon Netflix และอื่นๆอีกมากมาย
ที่เหนือกว่าความเก่งกาจของท่านในด้านวิชาการนั้น ท่านยังได้ทิ้งปรัชญาทางความคิดไว้ให้คนรุ่นหลัง เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งก็คือ "How will you measure your life" โดยเป็นหัวข้อที่ศาสตราจารย์ใช้ถกกับนักเรียน ในชั่วโมงสุดท้ายของการเรียนการสอนอีกด้วย
ศาสตราจารย์เคลย์ตัน ตั้งคำถามให้กับผู้อ่านไว้ 3 ข้อ คือ
ข้อแรก – เราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าเราจะมีความสุขจากการทำงาน
ข้อสอง – เราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าเราจะมีชีวิตคู่และครอบครัวที่มีความสุข?
และข้อสาม – เราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าเราจะไม่พาตัวเองเข้าคุกเข้าตาราง?
เราอาจคิดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สุดยอด เพื่อให้บริษัทเติบโต และเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน แต่หลายๆ ครั้ง เรากลับลืมมองไปที่กลยุทธ์ของชีวิตตัวเอง
เหมือนอย่างที่หลายๆ ท่านกล่าวว่า...
จุดหมายปลายทาง ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ของชีวิต
หากแต่เป็นเพียงบุคคล และเรื่องราว ที่เราพบเจอระหว่างการเดินทางของชีวิต ต่างหาก...
...ศาสตราจารย์ เสียชีวิต วันที่ 23 มกราคม 2563 ในวัย 67 ปี หลังจากที่ได้ต่อสู้กับโรคมะเร็ง มากว่า 10 ปี...
Cr.Techcrunch
RIP Clayton Christensen
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และ เชิญเข้าร่วมกลุ่มผู้นำเข้าส่งออก ได้ที่ http://bit.ly/2OYDbxL
โฆษณา