29 ม.ค. 2020 เวลา 22:16 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ซีรี่ย์ : ชั้นหนังแผ่น {ม้วนฟิล์มที่ 3.2}
เสรีภาพในโลกของ เดอะ เมทริกซ์ (The Matrix) Part 2
...
ใน Part 1 ผมได้นำทางทุกท่านรู้จักกับกลุ่มนักปรัชญาที่มีชื่อว่า ‘กลุ่มแนวคิดปรัชญาเหตุวิสัย’ ไปแล้ว
...
กลุ่มที่เชื่อเหลือเกินว่า ‘ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงการกระทำต่างๆ ของเราล้วนแต่ถูกกำหนดไว้แล้ว โดยสิ่งที่เรียกว่าโลกธรรมชาติ ที่มันมาคอยใส่โปรแกรมและวางระบบทำให้เราไร้ซึ่งเสรีภาพ’
...
เช่นเดียวกับชาวไซออน (มนุษย์ที่ถูกถอดปลั๊กแล้ว) ที่เชื่อว่าเมทริกซ์คือโลกเสมือน ที่คอยใส่ระบบเพื่อควบคุมมนุษยชาติเอาไว้ไม่ให้มีเสรีภาพ
...
และเมื่อมนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี ก็เท่ากับมนุษย์นั้นไม่มีตัวตน เป็นได้เพียงหุ่นยนต์ทางชีวภาพ ที่ถูกโปรแกรมล่วงหน้าเอาไว้โดยระบบหรือโปรแกรมที่เมทริกซ์ (โลกธรรมชาติ) ออกแบบรูปร่างหน้าตา อุปนิสัย ตลอดจนสภาพแวดล้อมรอบตัวที่จะเข้ามาหล่อหลอมบงการเรา
...
นักปรัชญาบางท่านใช้คำว่า ‘เจตนา’ แทนคำว่าเจตจำนงเสรี
แต่หากข้อเท็จอีกด้านปรากฏว่า จริงๆ แล้วเรามีเจตจำนงเสรีติดตัวมาตั้งแต่เกิดแล้วล่ะ?
...
และไม่ว่าจะเป็นโลกธรรมชาติหรือโลกของพระเจ้า ก็ไม่อาจยื่นมือเข้ามาบงการเจตจำนงนี้ของเราได้ล่ะ?
...
ผมขอแนะนำทุกท่านรู้จักกับกลุ่มนักปรัชญาที่มีชื่อว่า ‘กลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยม’ ผ่านโลกของ เดอะ เมทริกซ์ นี้อีกครั้งกันครับ
...
เมทริกซ์ในมุมมองอีกด้าน กับช้อนที่บิดงอ?
...
“มนุษย์มีเจตจำนงเสรี เราจึงมีเสรีภาพได้จริง” สโลแกนประจำกลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยม
...
เมื่อกลุ่มแนวคิดปรัชญาเหตุวิสัย โยนการบ้านชิ้นใหญ่ให้กับกลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยมไว้ว่า “คุณจะต่อต้านโลกธรรมชาติได้อย่างไร คุณก็เห็นแล้วว่ามันมีพลังอำนาจมากมายเพียงใด”
...
แต่นักปรัชญากลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยมกลับยักไหล่อย่างไม่สะทกสะท้าน “แม้เราจะพบความจริงว่าเราอยู่ภายใต้โลกธรรมชาติ แต่เราก็พบความจริงที่ว่าเราเองก็มีเจตจำนงเสรีเช่นกัน”
...
อิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันในยุคสว่างทางปัญญา (ยุคสว่างทางปัญญา คือยุคการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของเหล่าปัญญาชนในยุโรปและอาณานิคมบนทวีปอเมริกา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18)
...
ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ ที่สามารถชักจูงให้เราคล้อยตาม และอาจทำให้เรามองเมทริกซ์เปลี่ยนไปจากเดิม (หลังจากอินกับ Part 1 ไป)
...
คานท์เสนอว่า ‘มนุษย์เรามี 2 ตัวตน’ ภายใต้กฎสากลอันได้แก่ 1.ตัวตนของเราที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ และ 2.ตัวตนอิสระ
...
อิมมานูเอล คานท์ จัดเป็นหนึ่งในนักปรัชญาที่ผู้อ่านต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจแนวคิดของเขาอยู่พอสมควร
1. ตัวตนของเราที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ : อันเป็นกฎสาเหตุและผลที่กำหนดให้แก่ตัวตนเรา และทุกสิ่งที่ดำเนินไปภายใต้กฎนี้นั้นจะไม่มีเสรีภาพ
...
สิ่งที่ดำเนินไปภายใต้กฎนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราจับต้องได้และมองเห็นได้ (ภาษาของคานท์คือ ‘โลกแห่งปรากฏการณ์’) อาทิเช่น
...
ตัวตนทางกายภาพ เช่น สีผิว, รูปร่าง, หน้าตา, เชื้อชาติ หรือเพศเป็นต้น
...
ประสาทวิทยา เช่น ระบบการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง, หลอดเลือด เนื้อเยื่อปกคลุม และอวัยวะที่ประสาทสั่งการต่างๆ เป็นต้น
...
ฟิสิกส์ เช่น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ น้ำขึ้นน้ำลง, ภูเขาไฟระเบิด, แผ่นดินไหว หรือการเปลี่ยนแปลงทางกายภาค เป็นต้น
...
รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘อารมณ์’ ด้วย
...
สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติที่จะคอยวางระบบหรือใส่โปรแกรมการทำงานเอาไว้ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถเลือกหรือออกแบบให้เป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่เป็นอยู่ได้ (ทำได้เพียงศึกษาและคอยทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต)
...
ดังนั้นเราจึงไม่มีเสรีภาพในตัวตนนี้ (แต่ปัจจุบันในส่วนของตัวตนทางกายภาพ เราสามารถเลือกและออกแบบได้ด้วยวิธีการศัลยกรรมแล้วครับ คุณอิมมานูเอล คานท์)
...
ในมุมมองของคานท์ ระบบหรือโปรแกรมที่วิ่งพล่านนี้ ทำได้เพียงกำหนดโครงร่างและรูปร่างให้กับเราและสิ่งอื่นๆ เพียงเท่านั้น
ทำไมคานท์ถึงเอา ‘อารมณ์’ มาอยู่ในส่วนตัวตนที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ?
...
ผมสันนิษฐานว่า (ดังนั้นความเห็นของผมในส่วนนี้ จึงอาจมีข้อผิดพลาดได้นะครับ)
...
คานท์น่าจะมองว่า ‘สัญชาตญาณ กับ อารมณ์’ คือสิ่งเดียวกัน สัญชาตญาณคือสิ่งที่ธรรมชาติใส่โปรแกรมไว้ให้กับสัตว์ทุกตัว ซึ่งสัตว์เหล่านั้นล้วนต้องทำไปตามสัญชาตญาณที่มีอยู่ในตัวเอง นั้นจึงทำให้สัตว์หลีกเลี่ยงที่จะถูกธรรมชาติบงการไม่ได้ ซึ่งต่างจากมนุษย์ที่มีเหตุผลในการต่อต้านอารมณ์ของตัวเอง (อ่านต่อในหัวข้อตัวตนอิสระ)
...
2. ตัวตนอิสระ : คือตัวตนความเป็นมนุษย์ในฐานะผู้ที่มีเหตุผล และมีเสรีภาพแยกออกจากการควบคุมของโลกธรรมชาติ
...
เป็นตัวตนที่คานท์พูดออกมาแบบเต็มปากเต็มคำว่า “การมีเสรีภาพที่สมบูรณ์” ตัวตนอิสระมีสภาพเป็นนามธรรมที่เราจับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น (ภาษาของคานท์คือ ‘โลกเหนือปรากฏการณ์’) แต่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ด้วยเหตุผล
...
โดยคานท์ชวนเรามานั่งสังเกตจากการกระทำต่างๆ ของตัวเราเองที่หลายๆ ครั้งมันมีการขัดแย้งกันระหว่างอารมณ์กับเหตุผล แปลว่าชีวิตเราเสมือนเป็นสนามรบระหว่างอารมณ์กับเหตุผลเสมอ
...
1
ซึ่งหากเหตุผลชนะก็เท่ากับเรามีเสรีภาพ เพราะการกระทำจากเหตุผลเป็นกระทำที่ออกมาจากตัวตนอิสระอันเป็นสัญลักษณ์ว่าเราสามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่ใช่เกิดจากโลกธรรมชาติมาบงการเราแต่อย่างใดนั้นเอง
...
เมื่อย้อนกลับมามองที่โลกแห่งเมทริกซ์อีกครั้ง ก่อนหน้านี้เราอาจมีมุมมองว่าโลกแห่งเมทริกซ์ คือโลกที่มีไว้สำหรับควบคุมมนุษย์มาตลอด
...
โดยเมทริกซ์จัดการวางระบบใส่โปรแกรมให้วิ่งพล่านคอยควบคุมทุกอย่างที่อยู่ในนั้น ตามที่ชาวไซออนบอกกับเราเสมอมาใช่หรือไม่?
...
ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับปฏิกิริยาของตัวละครต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ภายในภาพยนตร์ เดอะ เมทริกซ์ เหล่านี้คืออะไรกันล่ะ?
...
ทำไมนีโอถึงสามารถเหาะเหินเดินอากาศ หรือหยุดกระสุนภายในโลกแห่งเมทริกซ์ได้?
...
ทำไมเมอร์เฟียซ์ถึงมีความคิดที่จะต่อต้านเครื่องจักร ในขณะที่ตัวเองยังอยู่ในโลกแห่งเมทริกซ์ได้?
...
ตลอดจนโปรแกรมต่างๆ เช่น เทพพยากรณ์ และคีย์เมกเกอร์ ที่อยู่ภายในโลกแห่งเมทริกซ์ แต่กลับเลือกไปอยู่ฝ่ายนีโอและช่วยเหลือชาวไซออนได้ล่ะ?
...
เทพพยากรณ์ หนึ่งในโปรแกรมแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตรวจสอบแง่มุมของใจมนุษย์ของเมทริกซ์
คีย์เมกเกอร์ อีกหนึ่งโปรแกรมที่ยื่นมือเข้ามาช่วยชาวไซออน
หรือแม้กระทั่งโปรแกรมสมิท (หลังถูกปลดออกจากการเป็นเอเจนท์แล้ว) ทำไมถึงสามารถขัดระบบและไม่ทำตามได้? แถมภายหลังยังเป็นคนที่ทำลายเมทริกซ์อีกต่างหาก
...
สมิทอีกหนึ่งโปรแกรมที่เลือกที่จะเป็นปฏิปักษ์กับเมทริกซ์และทุกอย่าง
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อโลกแห่งเมทริกซ์ทั้งสิ้น แต่ทำไมพวกเขาเหล่านี้ถึงทำมันได้ ทั้งๆ ที่เมทริกซ์คอยวางระบบควบคุมอยู่มิใช่หรือ?
...
คำตอบที่เมคเซ้นส์สำหรับคำถามทั้งหมดนี้ที่สุดก็คือ “แม้อยู่ภายใต้ระบบ (โลกธรรมชาติ) เราก็ยังมีเจตจำนงเสรีอยู่ดี” ตามความเห็นของกลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยมนั้นเองครับ
...
หรือจริงๆ แล้ว โลกแห่งเมทริกซ์นี้จะเป็นไปอย่างบทสนทนาของเด็กชายกำพร้าที่พูดเอาไว้ในภาคที่ 1 ว่า “อย่าพยายามงอช้อน (โลกธรรมชาติ = โลกแห่งเมทริกซ์) ซะให้ยาก มันเป็นไปไม่ได้ จงพยายามตระหนักถึงความจริงแทนว่า มันไม่มีช้อน...แล้วคุณจะเห็นว่าไม่ใช่ช้อนหรอกที่งอ มันเป็นตัวคุณเอง”
...
สัจจะและสัญลักษณ์ของเสรีภาพ
...
“มนุษย์สามารถเลือกว่าจะทำอะไรและจะเป็นอะไร เราต่างเป็นอิสระ” ณอง-ปอล ซาทร์ นักปรัชญาอัตถิภาวนิยมชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังที่สุด
...
ข้อมูลแทรก
...
อัตถิภาวนิยม เป็นคำที่คนอื่นตั้งให้กับปรัชญาของซาทร์ เป็นคำที่มาจากแนวคิดที่ว่า ‘เรามีตัวตน’ (เพราะมนุษย์มีเจตจำนงเสรีโดยสมบูรณ์แบบนั้นเอง)
...
โดยอัตถิภาวนิยมจะมุ่งเน้นเรื่อง ‘เสรีภาพของปัจเจกชน’ มากกว่า ‘เสรีภาพของพลเมือง’ ที่ ณอง-ฌาคส์ รุสโซ นักคิดและนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้นิยามขึ้นมา
...
ณอง-ปอล ซาทร์ ตั้งคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่า “มีดถูกออกแบบมาเพื่อหั่นเฉือน นั้นคือสิ่งที่โลกธรรมชาติออกแบบให้กับมัน...แล้วมนุษย์ล่ะเกิดมาเพื่ออะไร?”
...
หมายความว่า การที่เราเป็นครู? เป็นแพทย์? หรือเป็นนักเขียนใน Blockdit? ธรรมชาติบงการให้เราเป็น? หรือเราต่างหากที่เป็นคนเลือกที่จะเป็นเองกันแน่?
...
มอร์เฟียสให้นีโอเลือกระหว่างหนีเอเจนท์ หรือมอบตัว
ดังนั้นสัญลักษณ์เสรีภาพของกลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยมจึงหมายถึง ‘การเลือกได้’ นั้นเองครับ
...
1
และสำหรับชาวไซออนก็เช่นกัน ‘การเลือก’ จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการมีเสรีภาพและการมีตัวตนของพวกเขา ที่โลกแห่งเมทริกซ์นั้นไม่เคยมอบให้กับพวกเขาเลย (อย่างน้อยๆ ก็ในความรู้สึกของพวกเขา)
...
ดังนั้นภายในภาพยนตร์ชุดไตรภาค เดอะ เมทริกซ์ นั้น จึงปรากฏฉากทางเลือกมากมายเลยครับ
...
ฉากเลือกยาในตำนาน
แต่ทว่าทางเลือกสำหรับกลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยมนั้น กลับมีองค์ประกอบที่ลึกซึ้งกว่าการแค่มายืนจิ้มเลือกปลาตามตลาดสด
...
ทางเลือกจึงเสมือนเป็นเพียง ‘สัญลักษณ์ หรือเปลือก’ ที่แสดงว่าเรามีเสรีภาพเหนือโลกธรรมชาติเท่านั้น
...
‘สัจจะ หรือแก่น’ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเลือกนั้น ดูมีศีลธรรม และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น
...
บทต่อไปผมจะพาทุกท่านพบกับแก่นของการเลือกที่กลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยมนำเสนอ ผ่านชีวิตของ ‘นีโอ’ ชายผู้เป็นความหวังของชาวไซออน กับทางเลือกที่เขาทิ้งไว้ให้กับชาวไซออนทุกคนในบั้นปลาย
...
การให้ความหมาย ความเจ็บปวดของเสรีภาพ และเมื่อความหิวไม่ใช่ขนมปัง
...
ชีวิตของนีโอต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล ตั้งแต่วินาทีที่เขา ‘เลือก’ ทานยาเม็ดสีแดง เพื่อเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์ของมอร์เฟียซ
...
และก้าวแรกที่นีโอย่างขึ้นมาบนยานเนบูเคิดเนซซาร์ นีโอเหมือนคนที่ได้กลับมาเกิดใหม่ในโลกที่เขาไม่รู้จัก ทำให้นีโอเสมือนเป็น ‘มนุษย์ที่ไม่มีแก่นสำคัญ’ ตามที่ซาทร์ได้นิยามเอาไว้ กล่าวคือการไม่ทราบเป้าหมายที่แน่ชัดของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงได้ยินคำถามโลกแตกที่ว่า ‘มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร?’ นั้นเองครับ
...
การได้รับฟังคำบอกเล่าต่างๆ จากมอร์เฟียซและบรรดาลูกทีมภายในยาน ทั้งเรื่องของเมทริกซ์, การถูกควบคุม, เสรีภาพ และการทำลายเมทริกซ์
...
ทำให้นีโอเลือกที่จะเชื่อเสมอมาว่า มนุษย์นั้นไร้เสรีภาพเพราะเมทริกซ์ และหน้าที่ของเขาคือการทำลายเมทริกซ์
...
จนกระทั่งนีโอได้พบเจอกับเทพพยากรณ์ (หนึ่งในโปรแกรมแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตรวจสอบแง่มุมของใจมนุษย์ของเมทริกซ์) ความเชื่อของนีโอจึงเริ่มค่อยๆ ถูกกะเทาะให้พบกับแสงแห่งความเป็นจริงที่นีโอต้องทำการเรียนรู้และเข้าใจ
...
การยิงคำถามนัดแรกของเทพพยากรณ์ที่ว่า “คิดว่าเป็นผู้ปลดปล่อยหรือเปล่า?” ได้นำทางนีโอไปสู่แก่นแรกของการเลือก นั้นก็คือ ‘การเลือกให้ความหมาย หรือการเรียนรู้’
...
“การกระทำ หรือการเลือกของเรา จะสะท้อนออกมาจากการที่ตัวเราเอง ‘ให้ความหมายแก่ตัวเอง และความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่’ เพื่อทำให้เรานั้นได้ตัดสินใจเลือกอย่างมีสติ” อัลแบร์ กามู นักปรัชญาอัตถิภาวนิยมและนักเขียนวรรณกรรมชาวฝรั่งเศส
...
“ไม่มีใครเห็นเกินกว่าทางเลือกที่เขาไม่เข้าใจ” คำที่เทพพยากรณ์กล่าวกับมอร์เฟียซและทรินิตี้ในภาค Revolutions นั้น ก็เพื่อสื่อถึงความหมายเช่นว่านั้นครับ
...
เมื่อเราไม่รู้ว่าตัวเองกำลังต้องการอะไรกันแน่ และมองไม่เห็นความหมายของทางเลือกเหล่านั้น การเลือกก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเลือกแล้วทำให้เกิดความทุกข์
...
“มนุษย์มีพื้นฐานความจริงที่แตกต่างกัน ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาคุณค่าและความหมายให้แก่ตัวเอง” อัลแบร์ กามู
หากเรามานั่งสังเกตจะเห็นว่าเทพพยากรณ์นั้น ไม่เคยบอกคำตอบสำคัญๆ แบบตรงๆ กับนีโอเลยสักครั้งเดียว นั้นก็เพื่อให้นีโอมีพื้นที่ว่างในการค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้เข้าใจความหมายของทางเลือกอย่างลึกซึ้ง
...
“เราจะรู้เมื่อถึงเวลา” เทพพยากรณ์กล่าวกับนีโอ
...
และเวลานั้นของนีโอก็มาถึงในภาค Reloaded เมื่อนีโอค้นพบประตูปริศนาที่นำทางเขาไปพบกับผู้สร้างเมทริกซ์ที่เรียกตัวเองว่า ‘สถาปนิก’
...
‘สถาปนิก’ ผู้สร้างเมทริกซ์ หรือก็คือตัวแทนของเหล่าเครื่องจักรนั้นเอง
โดยสถาปนิกได้บอกเล่าอดีตกาลที่เคยมีผู้ปลดปล่อยมาแล้วถึง 5 คน (นีโอเป็นคนที่ 6)
...
พร้อมกับยื่นข้อเสนอ (ทางเลือก) ให้กับนีโอ โดยทางแรกให้นีโอกลับไปยังแหล่งกำเนิด (ผมเดาว่าน่าจะเป็นการเสียสละตัวเอง) ซึ่งจะนำไปสู่ทางออกของไซออน (ซึ่งสถาปนิกเสนอว่าจะเหลือมนุษย์ 16 หญิง 7 ชาย เพื่อมนุษย์จะได้สร้างไซออนขึ้นมาใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่ 6)
...
ส่วนทางเลือกที่สองคือ กลับเข้าไปในเมทริกซ์เพื่อช่วยชีวิตทรีนิตี้ (แสดงโดย แคร์รี-แอนน์ มอสส์) แฟนสาวของเขา แต่แลกกับการสูญสิ้นของมนุษยชาติ
...
เหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้นำไปสู่แก่นที่สองของการเลือก ที่มีชื่อว่า ‘ความรับผิดชอบต่อการเลือก’
...
“เขาเป็นอิสระและควรจะเลือกด้วยตัวเอง แม้ข้าพเจ้าจะแนะนำทางเลือกให้ เขาก็ยังมีเสรีภาพในการเลือกที่จะทำหรือไม่อยู่ดี แต่ไม่ว่าทางเลือกใดก็ไม่มีทางหนีพ้นจากความรับผิดชอบที่หนักอึ้งได้อยู่ดี...และคุณต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้ต้องการทำ หรือพยายามจะทำสิ่งนั้น” ณอง-ปอล ซาทร์
...
สำหรับทั้งซาทร์และกามูนั้น ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องความรับผิดชอบต่อการเลือกนี้เอามากๆ เพราะนี่คือกรอบที่จะให้มนุษย์มีสติในการเลือก
...
และนั้นคือเหตุผลที่ว่าทำไมกามูถึงเน้นย้ำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะให้ความหมายแก่ตัวเอง และสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ให้จงหนัก
...
นั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงคำที่ซาทร์ได้นิยามไว้ว่า ‘นี่คือความเจ็บปวดของเสรีภาพ’ นี้ให้มากที่สุดนั้นเองครับ
...
และนั้นจึงทำให้คำพูดสั้นๆ เพียง 5 พยางค์ของสถาปนิกในช่วงท้ายนั้น...มันจึงทรงพลังและหนักหน่วงยิ่งนัก
...
หลังจากที่นีโอตัดสินใจเลือกประตูที่จะพาตัวเองไปช่วยแฟนสาวของเขา พร้อมกับแบกความรับผิดชอบต่อการสูญสิ้นมนุษยชาติกลับมา
...
แต่ทว่านีโอกลับได้เรียนรู้เรื่องราวที่สำคัญกลับออกมาด้วย เมื่อนีโอรับรู้ว่าคำทำนายที่ผ่านมานั้น ล้วนเป็นคำโกหกที่ล่อหลอกให้ชาวไซออนมัวเมาไปกับความหวัง หลักฐานคือความล้มเหลวของผู้ปลดปล่อยคนก่อนหน้าทั้ง 5 นั้นเอง และมันเป็นคำตอบที่เจ็บปวดสำหรับมอร์เฟียซรวมถึงชาวไซออนทุกคน
...
ในภาค Revolutions หลังจากที่นีโอได้พูดคุยกับเทพพยากรณ์เป็นครั้งสุดท้าย นั้นทำให้นีโอตระหนักถึงความจริงที่ว่า
...
เมทริกซ์เป็นเพียงแค่โลกเสมือน ที่สุดท้ายแล้วชาวไซออนก็ไม่มีเสรีภาพในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ด้วยอยู่ดี เมื่อพวกเขาถูกตบหน้าปลุกให้ตื่นจากความฝัน ในวันที่เครื่องจักรเจาะกำแพงเข้าสู่ไซออนหมายจะกำจัดมนุษย์ให้สิ้นซาก
...
กองทัพหมึกพิฆาต (เซนทิเนล) จำนวนมหาศาลบุกไซออนเพื่อปิดจ๊อบ
นีโอเลือกที่จะรับความจริงในข้อนี้ ความจริงที่ว่าแม้มนุษย์จะทำลายเมทริกซ์ได้ ก็ไม่ใช่คำตอบสู่การมีเสรีภาพของมนุษย์ และการเลือกที่จะทำตามคำทำนาย (คือเลือกเสียสละตัวเอง แล้วเครื่องจักรจะเหลือมนุษย์ไว้ให้สร้างไซออนขึ้นใหม่อีกครั้ง) ก็ไม่ใช่คำตอบของปัญหาทั้งหมดอีกเช่นกัน เพราะผู้ปลดปล่อย 5 คนก่อนก็เลือกที่จะทำตามคำทำนายทุกคน แต่ผลปรากฏว่านีโอยังต้องกลับมารับช่วงเป็นรุ่นที่ 6 พร้อมการผจญกับปัญหาเดิมๆ เหมือนหนูติดจั่น
...
เมื่อต้นต่อของปัญหาที่แท้จริงอยู่ภายในโลกแห่งความเป็นจริงที่ชาวไซออนอาศัยอยู่ นั้นก็คือเครื่องจักรศัตรูของพวกเขานั้นเอง
...
นีโอจึงตัดสินใจขอยืมยานหนึ่งลำเพื่อเดินทางไปสู่นครเครื่องจักรเพื่อขอเจรจา และกัปตันไนโอบีก็เต็มใจให้นีโอนำยานของตนไปทำภารกิจที่ดูเสียสตินี้
...
เมื่อนีโอเดินทางไปถึงนครเครื่องจักร เขาก็ได้เผชิญหน้ากับปฐมโปรแกรม (หรือบิ๊กบอสของเหล่าเครื่องจักร)
...
นีโอเสนอตัวเองว่าจะเข้าไปกำจัดสมิทภัยร้ายภายในโลกแห่งเมทริกซ์ให้ โดยแลกกับการที่มนุษย์และเครื่องจักรจะอยู่ร่วมกันแบบสันติ
...
ภาพสะท้อนเรื่อง ‘ความรับผิดชอบต่อการเลือก’ ถูกฉายขึ้นมาอีกครั้งในคุณภาพของภาพในระดับ 4K
...
เมื่อปฐมโปรแกรม ‘เลือก’ ที่จะให้นีโอเข้าไปปราบสมิท
...
ปฐมโปรแกรมก็ทำตามความรับผิดชอบต่อการเลือกของตัวเอง ด้วยการสั่งหมึกสังหาร (เซนทิเนล) หยุดโจมตีชาวเมืองไซออน
...
ปฐมโปรแกรมสั่งการให้หยุดการโจมตีไซออน ทั้งๆ ที่ชัยชนะอยู่แค่เอื้อม นั้นก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรับผิดชอบต่อการเลือก’ นั้นเองครับ
และนีโอ ก็ทำตามความรับผิดชอบต่อการเลือกของตัวเอง (ที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้มีอิสระ ตั้งแต่วินาทีที่เขาเลือกทานยาสีแดง) ด้วยการสละชีวิตตัวเองเพื่อกำจัดสมิท
...
ปฐมโปรแกรมได้ทำตามความรับผิดชอบต่อการเลือกของตัวเองอีกครั้ง เนื่องจากสมิทได้ถูกกำจัดไปแล้ว ด้วยการอยู่อย่างสันติกับมนุษย์ และสัญญาว่ามนุษย์จะสามารถเข้าออกเมทริกซ์ได้ตามอัธยาศัย
...
มนุษย์สามารถมีเสรีภาพได้โดยที่ไม่ต้องทำลายเมทริกซ์ และไม่ต้องทำสงครามกับเครื่องจักรเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพอีกเช่นกัน
...
ซึ่งถ้าหากใช้ภาษาของ เจเรมี เบนแธม นักปรัชญาและนักกฎหมายชาวอังกฤษ จะได้ความว่า “ความหิวไม่ใช่ขนมปัง” หรือก็คือ ‘เมื่อความต้องการบางสิ่งนั้น ไม่เหมือนกับการมีสิ่งนั้น’
...
และนี่คือทางเลือกที่นีโอทิ้งไว้ให้กับชาวไซออนทุกคน กับคุณค่าของการใช้เสรีภาพที่เรียกว่า ‘การได้เลือก’
...
และเหมือนเป็นการตอกย้ำสโลแกนประจำกลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยมที่ว่า “มนุษย์มีเจตจำนงเสรี เราจึงมีเสรีภาพได้จริง” อีกด้วย
...
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย (แถม)
...
ภาพสัญลักษณ์การปะทะคารมกันระหว่างตัวแทนฝ่ายกลุ่มแนวคิดปรัชญาเหตุวิสัย vs กลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยม : ในฉากต่อสู้ครั้งสุดท้ายของสมิทกับนีโอ (ภาค Revolutions)
...
เมื่อสมิทตัวแทนฝั่งกลุ่มแนวคิดปรัชญาเหตุวิสัย พร่ำถามนีโอ
...
“ทำไมคุณแอนเดอร์สัน ลุกขึ้นทำไม คุณจะสู้ไปทำไม คุณเชื่อหรือว่าคุณสู้เพื่ออะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าความอยู่รอดของคุณ บอกผมหน่อยสิคุณแอนเดอร์สันว่ามันคืออะไร?"
...
สมิทร่ายต่อ "เพื่อเสรีภาพ ความจริง สันติภาพ ความรัก อย่างนั้นเหรอ? มันภาพลวงตาน่ะคุณแอนเดอร์สัน มันคือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งคราวจากสติปัญญาอันอ่อนเปลี้ยของมนุษย์ ที่พยายามดิ้นรนถึงการมีตัวตนอย่างไร้ความหมายหรือเจตจำนง......”
...
ฝั่งตัวแทนกลุ่มแนวคิดปรัชญาอิสรนิยมอย่างนีโอ ตอบกลับสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า
...
เพราะการเลือกคือสัญลักษณ์ว่าเรานั้น มีเจตจำนงเสรีในการเลือกให้ความหมายแก่ตัวเองในฐานะปัจเจกชน
...
ต่างจากสมิทที่เหมือนกันทุกตัว เพราะโลกธรรมชาติสร้างพวกเขาขึ้นมาแบบนั้น และใครๆ ก็สามารถเป็นสมิทได้ เนื่องจากไม่มีโอกาสได้เลือกที่จะให้ความหมายแก่ตัวเอง จึงเสมือนการถูกโลกธรรมชาติวางระบบใส่โปรแกรมให้นั้นเองครับ
...
ฉากสมิทสร้างร่างโคลนตัวเอง คืออีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการไม่มีสิทธิ์เลือกที่จะให้ความหมายแก่ตัวเองของมนุษย์
เสรีภาพในโลกของ เดอะ เมทริกซ์…จบบริบูรณ์!!!
...
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านบทความที่แสนยาวนี้จนจบ...ขอบคุณครับ
...
บรรณานุกรม
อริสา พิสิฐโสธรานนท์. (2559). เข้าใจหนัง เข้าใจจิต. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา และ BLACK & WHITE.
สุรพศ ทวีศักดิ์. (2562). มนุษย์กับเสรีภาพ : มุมมองทางปรัชญาคานท์, มิลล์, รอลส์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์.
ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2561). ปรัชญา : ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา. แปลจาก A Little History of Philosophy. แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.
ยุคแห่งความสว่างไสวทางปัญญา. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://sites.google.com/site/xarythrrmyuropyukhklang/yukh-haeng-khwam-swangsiw-thang-payya-1
วันชาติ ชาญวิจิตร และ ดร.หอมหวล บัวระภา. (2554). เป้าหมายของชีวิตมนุษย์ในทัศนะของอัลแบร์ กามูส. [บทความอิเล็กทรอนิกส์]. สืบค้นจาก https://gsbooks.gs.kku.ac.th/54/grc12/files/hmo11.pdf

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา