31 ม.ค. 2020 เวลา 00:01 • ธุรกิจ
ไวรัสโคโรน่า ส่งผลต่อตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่างไร?
แอดมินเคยลงบทความ ที่ไทยอาจลุ้นก้าวขึ้นสู่ผู้ส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูปเบอร์ 1 ของโลก แทนชิลี...
แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ทำให้ตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง "ตลาดเจียงหนาน" ในมณฑลกวางโจว เงียบเหงา ในพริบตา!
ตลาดที่เป็นแหล่งรวมผลไม้นำเข้า โดยเฉพาะราชาผลไม้จากประเทศไทย อย่าง "ทุเรียน"
ตลาดเจียงหนาน มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร? และเหตุการณ์ไวรัสโคโรน่าส่งผลกระทบอย่างไร?
หากพร้อมแล้ว เราไปติดตามกันเลย
1) ตลาดขายส่งผักและผลไม้เจียงหนาน นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ปัจจุบันเป็นตลาดค้าส่งผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ผลไม้ไทยที่ส่งออกมายังจีนร้อยละ 80 ส่งผ่านตลาดเจียงหนาน ก่อนกระจายไปยังมณฑลต่าง ๆ ทั่วจีน
Cr. China Highlights
2) ตลาดเจียงหนานเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 มี จำหน่ายผักและผลไม้กว่า 1,000 ชนิดจากทั้งจีนและต่างประเทศ โดยในปี 2561 มีมูลค่าการซื้อขาย กว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
3) หากเทียบตลาดเจียงหนานกับตลาดไท ก็พบว่า ตลาดเจียงหนานมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของตลาดไท คือมีเนื้อที่ 250 ไร่ (ตลาดไทที่มีเนื้อที่ 542 ไร่) แต่มีมูลค่าการค้าต่อปีประมาณ 130,000 ล้านบาท หรือประมาณ 70% ของตลาดไท (ตลาดไทมูลค่าต่อปี 180,000 ล้านบาท)
4) อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นตลาดใหญ่ทางตอนใต้ของจีน และอยู่ใกล้ฮ่องกงและเซิ่นเจิ้น ทำให้เป็นจุดศูนย์รวมผักและผลไม้ รองรับประชากรกว่า 40 ล้านคน
Cr. Thaibizchina
5) ตลาดเจียงหนานโดยปกติมีตู้คอนเทนเน่อร์แบบยาว (ขนาด 40 ฟุต) เข้าสู่ตลาดกว่า 45,000 ตู้ต่อปี และมีปริมาณผลไม้นำเข้ากว่า 60% ของผลไม้นำเข้าที่ผ่านจีนทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าผลไม้ไทยยอดนิยมอย่างทุเรียนก็เป็นหนึ่งในนั้น
Cr. ล่าม-ไกด์ กวางโจว
6) ด้วยความที่ผลไม้ส่วนมากต้องผ่านตลาดเจียงหนาน ทำให้ตัวตลาดเอง ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กระจายสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งที่สามารถวัดอุณหภูมิความต้องการตลาด และกำหนดราคาสินค้าด้วย การเปลี่ยนแปลงราคาผลไม้นำเข้าที่ตลาดเจียงหนาน จะส่งผลกระทบต่อราคาผลไม้นำเข้าทั้งประเทศ
7) ผลไม้ไทยเข้าตลาดเจียงหนานเฉลี่ยวันละ 100 ตู้/วัน สูงสุด 300 ตู้/วัน โดยเฉลี่ยมีผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดเจียงหนานวันละ 1,000 ตัน
และในปริมาณทั้งหมดของผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น ผลไม้ไทยมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 70 – 80 ปัจจุบันนี้ ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย
Cr. ล่าม-ไกด์ กวางโจว
8) ประเทศที่ส่งผลไม้เข้าสู่ตลาดเจียงหนานมี ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
Cr. ล่าม-ไกด์ กวางโจว
9) อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า ซึ่งตลาดผลไม้ที่ไม่ได้หยุดตรุษจีน แต่ก็ถูกสถานการณ์บีบบังคับ ทำให้ตลาดเงียบเหงาไปทันตา
ทางแม่ค้าผลไม้จากประเทศออสเตรเลีย ให้ข่าวว่า “โดยปกติจะต้องเห็นรถบรรทุกวิ่งเข้าออกหลายร้อยคัน แต่ทุกวันนี้แทบไม่เห็น”
10) แต่ก็ถือว่ายังดี โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ยังไม่ถึงหน้าเทศกาล
11) โดย 10 เดือนแรกของปี 2562 ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปอาเซียนและจีนมีมูลค่าสูงถึง 2,690 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 84 ของการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลก และมีปริมาณส่งออก “ทุเรียน” ไปยังตลาดโลกสูงถึงร้อยละ 42 ของผลไม้ส่งออกของไทยทั้งหมด มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท
12) ทั้งนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากจีน ส่งผลกระทบทันทีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนลดลง 0.8% ของการส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยไปจีน หรือปีละ 7,300 ล้านบาท โดยสินค้าที่จีนหยุดนำเข้าทันที คือ อาหารสดที่เน่าเสียง่าย ได้แก่ กล้วยหอม
Cr. Thairath
13) หากอีก 3 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จะส่งผลกระทบต่อผลไม้ที่มีความอ่อนไหวอื่นๆ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เพราะเป็นช่วงผลไม้ออกสู่ตลาดมาก
หากการระบาดเพิ่มความรุนแรงและยาวนาน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอื่นๆ เช่น ยาง มันสำปะหลัง และพืชน้ำมัน ที่อาจส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง
14) ผู้ประกอบการก็คงต้องเตรียมแผนฉุกเฉิน หาตลาดใหม่แต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือ หรือจะขายในประเทศเพิ่ม คนไทยก็อาจได้มีทุเรียนเกรดดีๆ ทานเพิ่ม
ปล. คลิปสภาพตลาดเจียงหนานช่วงนี้ (คลิปจากกลุ่มนำเข้าส่งออก)
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และหากต้องการปรึกษาเรื่องนำเข้าส่งออก แอดไลน์ @zupports ได้เลย
โฆษณา