13 ก.พ. 2020 เวลา 10:30 • ท่องเที่ยว
อินเดียแผ่นดินแม่..เขาคิชฌกูฎ
เขาคิชฌกูฏ
เมื่อเดินทางมาเรื่อยๆ เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางมีแต่ภูเขาหินและทุ่งหญ้าอันว่างเปล่า ระหว่างทางก็จะเห็นคนตามบ้านออกมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การอาบน้ำซักผ้าล้างจานที่หน้าบ้าน เล่นโยคะกลางทุ่งหญ้า หรือแม้แต่ขับถ่ายตามมุมหินก็ยังคงมีให้เห็น หรือแม้แต่การทำแผ่นเชื้อเพลิงก็มีให้เห็นตามฝาบ้าน
แผ่นเชื้อเพลิงผสมจากดิน มูลสัตว์และเศษอาหาร
เขาคิชฌกูฏที่อยู่ทางทิศใต้กรุงราชคฤห์ (Rajgir) แคว้นมคธ ปัจจุบันคือ จังหวัดนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเขาเขาคิชฌกูฏเป็นสถานที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้า ในพรรษาที่ 2, 5, 7 และพรรษาสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
การเดินทางจากพุทธคยามายังเขาคิชฌกูฏใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า เนื่องจากเส้นทางบางส่วนกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางด่วน จึงต้องมีการแวะพักระหว่างทางที่วัดไทย
ก่อสร้างทางด่วน
วัดไทยลัฎฐิวันมหาวิหาร เป็นวัดที่ห่างไกลชุมชนมาก จึงล้อมรอบด้วยทุ่งนา เขาหิน แต่ก็มีห้องน้ำที่สะอาด มีพระไทยและคนไทยที่อาศัยอยู่คอยให้บริการ ซึ่งวัดแห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ปัจจุบันจึงมีแค่เพียงที่พักสำหรับพระและแม่ครัว เพียง 4 ห้องแถว มีห้องน้ำ 14 ห้อง มีโรงครัวใหญ่ 1 โรง พี่ๆ ที่นั่นใจดีมากคะ
วัดไทยลัฎฐิวันหาวิหาร
เมื่อมาถึงเขาคิชฌกูฏ ต้องเดินขึ้นไปเป็นระยะทาง 1.5 กม เบาๆ หากใครไม่ไหวก็มีบริการนั่งแคร่ ราคาประมาณ 800 รูปี (400฿) ซึ่งคนแบกก็มีหยุดพักระหว่างทาง แถมขอทิปกันเล็กน้อย
แบกบ้างพักบ้าง
เมื่อเดินขึ้นมาถึงจุดสูงสุด เราจะต้องผ่านฝูงหนุมานที่คอยขอขนมและน้ำกิน แต่เค้าก็ขอแบบมีมารยาท คือ นิ่งๆ หากเราเรียกเค้าจะวิ่งมาและก็จะเก็บขนมกันไป
แจกน้ำให้ลิง
บนเขาคิชฌกูฏ จะคับคั่งไปด้วยพุทธศาสนิกชนหลายชาติ ทั้งชาวภูฎาน ชาวทิเบต โดยเฉพาะชาวทิเบตจะมีปริมาณมากหน่อยเนื่องจากชาวทิเบตบางคนได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ธรรมศาลาเป็นเมืองหลวงในฤดูหนาวของรัฐหิมาจัลประเทศ ประเทศอินเดีย ธรรมศาลาเป็นที่ประทับขององค์ทะไลลามะที่ 14 ตลอดจนที่ตั้งของฝ่ายบริหารส่วนกลางทิเบตซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต ในปัจจุบันมีผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยชาวทิเบตมากมายอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้
บรรยากาศบนเขาคิชฌกูฏ
ทุกคนที่มาบนเขาคิชฌกูฏต่างมุ่งไปเข้ากราบที่พระคันธกุฎี หรือ พระมูลคันธกุฎี (Mulagandhakuti แปลว่า กุฎีที่มีกลิ่นหอม) บ้างก็นำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา แต่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นมาสวดมนต์กันมากกว่า ทำให้ไม่ค่อยมีทางเดิน แต่ทุกคนก็เข้าใจกัน ทำให้เรามีโอกาสได้เดินเข้าไปกราบในพระคันธกุฏีและได้เดินประทักษิณ 3 รอบ อย่างสะดวกใจ
พระคันธกุฎี
หลังจากกราบพระคันธกุฏีแล้วจึงเดินกลับลงมา ซึ่งจะผ่านถ้ำสุกรขาตาหรือถ้ำพระสารีบุตรและถัดไปจะเป็นถ้ำพระโมคคัลลานะ
ถ้ำพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเลิศทางปัญญา ถ้ำนี้หากมองทางขวามือจะมีลักษณะคล้ายหัวหมู จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำสุกรชาตา ซึ่งแปลว่า ถ้ำคางหมู
ถ้ำสุกรชาตา เคยเป็นสถานที่พำนักของพระสารีบุตรตั้งแต่สมัยเป็นพระนวกะ หรือพระบวชใหม่ได้เพียง 15 วัน
ถ้ำสุกรชาตาหรือถ้ำพระสารีบุตร
ถ้ำพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก ภายในถ้ำมีหินทรงสี่เหลี่ยมคล้ายที่นั่งปรากฏอยู่ นัยว่าเป็นตำแหน่งที่นั่งของพระมหาโมคคัลลานะ ใกล้ๆกันมีธูปเทียนเครื่องบูชาสักการะวางอยู่
1
พระโมคคัลลานะ เมื่อบวชได้ 7 วัน ก็บรรลุอรหันต์ ณ ตรงปากทางเข้าถ้ำพระโมคคัลลานะ ยังเป็นสถานที่ที่พระเทวทัตกลิ้งหิน หมายลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าด้วย แต่ความชั่วนี้ทำได้แค่ทำให้พระองค์ห้อพระโลหิตที่พระบาทเท่านั้น
ถ้ำพระโมคคัลลานะ
ระหว่างทางไป-กลับเขาคิชฌกูฏ จะเห็นชีวกัมพวัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในพระพุทธศาสนา หมอชีวก หรือ “หมอชีวกโกมารภัจจ์” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก หมอชีวกเป็นบุตรของนางสาลวตี ซึ่งเป็นหญิงนครโสเภณีประจำกรุงราชคฤห์ หมอชีวกได้ศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตักสิลา นครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ เมื่อจบออกมาก็เป็นหมอใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาก
ชีวกัมพวัน
หลังจากนี้ จะเดินทางต่อไปยังสวนไผ่เวฬุวันและวัดนาลันทา โปรดติดตามตอนต่อไปได้นะคะ
โฆษณา