1 ก.พ. 2020 เวลา 02:34 • ประวัติศาสตร์
เมื่อหลวงพ่อเหยียบญี่ปุ่น..
เพื่อนในเกียวโตที่มีอาชีพทำเบนโตส่งตามบ้านที่เรียกว่า "เดมาเอะ" เดิมทีมีพวกคนงานในร้านกิโมโนย่านนั้นเป็นลูกค้า แต่พอเศรษฐกิจแย่ ร้านกิโมโนล้มหายไป แกก็พลอยหน้าเหี่ยวไปกับเขาด้วย มาวันนี้ที่น่ากลัวกว่าคือ grab food ผมถึงห่วงว่าอาชีพตระกูลของแกที่สืบมาถึง 13 ชั่วคน จะรักษาต่อไปได้มั้ย
สืบทอดอาชีพ 13 ชั่วคน เป็นไปได้ไง เรื่องนี้มันมาอย่างนี้..ญี่ปุ่นเคยมีระบบวรรณะ ผมก็เรียกแบบสะดวกปาก จริงๆ มันไม่ใช่วรรณะแบบอินเดีย แต่ญี่ปุ่นเขาแบ่งตามอาชีพเรียกว่า "ชิ โน โค โช"
"ชิ" คือนักรบ ใหญ่สุด และเป็นผู้สร้างระบบความคิดให้กับคนญี่ปุ่น จนวันนี้ระบบความคิดแบบนี้ฝังอยู่ในตัวคนญี่ปุ่นทุกคน ใครบอกไม่ใช่ ก็แสดงว่าคนนั้นมันไม่รู้ตัว
"โน" คือชาวนา ปลูกข้าวปลูกผักให้พวกนักรบมีแรงไปจิ้มกัน และเสียภาษีอาน ชาวนามีจอบมีเสียม จนถึงมีดพร้าขวาน พวกนักรบพอเห็นจำนวนภาษีที่ตัวเองได้จากชาวนา แล้วคำนวณกลับไป เกิดตกใจว่าชาวนามีรายได้ขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วถ้าพวกนี้คิดจะกบฏ มันล้มเราได้สบายเลยนี่ ว่าแล้วนักรบก็ไปยึดอาวุธจากชาวนา และนี่เป็นเหตุสำคัญที่นักรบตรากฎวรรณะอาชีพขึ้น เพื่อแบ่งกันให้ชัดว่าใครเป็นใคร ไม่ใช่ชาวนาก็มีอาวุธได้ แล้วสุดท้ายเป็นนักรบไปด้วย
"โค" คือช่าง คนทำอาวุธให้นักรบ แต่ไม่ใช่แค่อาวุธ มันคืองานศิลปะทั้งปวง พวกนี้สืบทอดอาชีพเป็นตระกูล แบ่งกันชัดเจนเป็นแขนงๆ ไป ภาพพิมพ์ไม้โบราณมีศิลปินเป็นผู้ร่าง ช่างแกะไม้อีกคน ช่างลงสีและพิมพ์อีกคน คราวนี้คงรู้ว่าทำไมงานศิลปะ คราฟท์ แพคเกจญี่ปุ่นถึงงามละเมียดเป๊ะได้ขนาดนั้น เพราะความรู้ความชำนาญแต่ละแขนงมันสั่งสม ไม่ใช่พ่อเป็นช่างทอง พอถึงรุ่นลูกไปเล่นหุ้น พอรุ่นหลานไปขายของออนไลน์
"โช" พวกพ่อค้า จะว่าพวกนี้อยู่แร้งกิ้งต่ำสุด แสดงว่านักรบไม่ให้ความสำคัญกับพ่อค้าก็ไม่เชิง เพราะใครอยู่สูงอยู่ต่ำ ญี่ปุ่นก็แค่ลอกวิธีเรียกมาจากจีนเพื่อแบ่งอาชีพเท่านั้น แต่พอเรียกๆ ไป ไอ้พวกแร้งกิ้งต่ำสุด ก็พลอยเกิดภาพแบบนั้นขึ้นมาจริงๆ อย่างช่วยไม่ได้ นักรบเองเดิมไม่ค่อยได้ประโยชน์จากพ่อค้า เห็นว่าเป็นเสือนอนกิน หมุนเวียนของไปมาก็เท่านั้น จนวันหนึ่งพวกนักรบถูกดิสรัปชั่น ฝรั่งเริ่มเข้ามา ศาสนาคริสต์เริ่มเบ่งบาน นักรบชักหวั่นไหว ฐานะการเงินเริ่มสั่นคลอน สุดท้ายนักรบต้องก้มหัวมุดผ้าโนเรงกงสีพ่อค้า ไปจิบน้ำชากับเขาจนได้ เอ๊ะ นิทานคุ้นๆ
คนที่โลกยกให้เป็นผู้ค้นพบญี่ปุ่นคือใคร ให้คิดจนหัวแตกก็นึกไม่ออก ต้องเปิดกูเกิ้ลแน่นอน เขาคือหลวงพ่อฟรานซิส ซาเวียร์ ใครอยากเห็นตัวท่านใกล้ๆ ไม่ต้องไปถึงยุโรป ให้ไปดูรูปปั้นท่านแค่ที่มะละกาในมาเลย์นี่แหละ ท่านดังนัก
หลวงพ่อฟรานซิสเข้าไปในญี่ปุ่นในปี 1549 เพียงไม่กี่ปี คนญี่ปุ่นหันไปนับถือศาสนาคริสต์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละหมื่น คริสต์พูดเรื่องเสมอภาค นี่ไง ดิสรัปชั่นตัวพ่อ ถ้าเสมอภาค แล้วใครจะปลูกข้าว ใครจะตีดาบ ใครจะให้เงินนักรบ โฮ้ย ยุ่งตาย ว่าแล้วโชกุนก็ออกกฎหมายไล่หลวงพ่อทั้งหลายออกจากเกาะญี่ปุ่นในปี 1587 ญี่ปุ่นเรียกว่ากฎหมายนี้ว่ากฎหมายขับไล่"บาเทเรน" คำนี้เป็นภาษาโปรตุกัล มาจากคำว่า Padre แปลว่าบาทหลวง
ผมยังสงสัยอยู่ว่าคำว่า Padre ที่ออกเสียงว่า "พ้าเดร" นี้เป็นที่มาของคำไทยเราที่เรียกว่าบาทหลวงหรือเปล่า..
เรื่องและภาพโดยคุณสมพงษ์ งามแสงรัตน์
โฆษณา