1 ก.พ. 2020 เวลา 15:49 • บันเทิง
'การเดินทางใกล้ ด้วยใจกับอุปมา'
― 𝗞𝗔𝗙𝗞𝗔 𝗢𝗡 𝗧𝗛𝗘 𝗦𝗛𝗢𝗥𝗘 🌊 หนังสือจากมูราคามิ ที่เราอ่านแล้วรู้สึกได้ถึงการเดินทางที่เข้มข้น ถ้าสังเกตทุกเล่มของมูราคามิ จะมีแฝงการเดินทางไว้ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเดินทางใกล้ๆ ด้วยการเดินเท้า ขับรถ รถบัส รถไฟ หรือแม้แต่เดินทางไกลด้วยเครื่องบิน ซึ่งทุกการเดินทางของมูราคามิจะมีการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปอยู่บ่อยๆ และเรื่องนี้คือเรื่องที่เดินทางไกลที่สุด แต่ก็ใกล้ที่สุดเหมือนกัน
.
● เรื่องย่อ
เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้ชายชื่อ 'คาฟกา ทามูระ' (ชื่อปลอมและในเรื่องไม่เคยมีชื่อจริงของเด็กชายปรากฏ) อายุ 15 ที่หนีออกจากบ้าน เนื่องจากปัญหาครอบครัว แม่ของเขาหนีออกจากบ้านไปกับพี่สาวตั้งแต่ยังเด็ก พ่อของเขาไม่เคยอยู่บ้าน แม้ว่าจะมีฐานะที่ค่อนข้างดีแต่ไม่มีความสุข เขาจึงหมั่นฝึกฝนตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแกร่ง เพื่อที่เมื่อเขาอายุ 15 เขาจะได้หนีออกจากบ้านและไม่ต้องอยู่ที่นี่อีก
นอกจากเรื่องของเด็กหนุ่มอายุ 15 แล้ว ในเล่มนี้ยังเล่าเรื่องขนานไปกับเรื่องของคุณลุงอายุ 60 ชื่อว่า 'ซาโตรุ นาคาตะ' ที่มีปัญหาในด้านพัฒนาการ ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่สิ่งที่เขาทำได้คือการคุยกับแมว (คุยจริงๆ) ดังนั้นเขาจึงมักถูกไหว้วานให้ช่วยตามหาแมวเสมอ ซึ่งคุณลุงจะไม่ได้บอกว่าเขาสามารถคุยกับแมวได้ แค่บอกว่าจะตามกลับมาให้เท่านั้น แต่ยิ่งตามหาก็ยิ่งพบว่าจุดหมายไปไกลขึ้นเรื่อยๆ
.
แค่เรื่องย่อของทั้ง 2 คนก็ชวนให้เปิดอ่านต่อแล้ว ความยาวกว่า 500 หน้าเลยเหมือนอ่านนิยาย 2 เรื่องไปพร้อมๆ กัน เรื่องแรกเด็กหนุ่มที่เดินทางหนีออกจากบ้าน และคุณตาที่ออกตามหาแมว ที่น่าเหลือเชื่อคือสำหรับเราแล้ว เรื่องของคุณตาสนุกกว่าเรื่องของเด็กหนุ่มอายุ 15 มากๆ เพราะเป็นตัวละครที่เจ๋ง น่ารัก และในมุมมองของคุณลุง ทุกอย่างเรียบง่าย ปัญหาเล็กน้อยก็ชวนให้ลุ้นไปหมด เมื่อเราไม่สามารถอ่านหนังสือออกแม้แต่ตัวเดียว
.
อีกหนึ่งอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังสือเล่มนี้ เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์เลยก็ว่าได้นั้นก็คือห้องสมุดภายในเรื่อง โดยขอหยิบยกคำบรรยายในหนังสือเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพ
"ที่ประตูหน้าของอาคารห้องสมุดโคมูระอนุสรณ์ ต้นเหมยขนาดใใหญ่ยืนทะมึนคล้ายยามรักษาการณ์ ถนนโรยกรวดคดโค้งผ่านพงพุ่มตัดแต่งงดงามและไม้ยืนต้น ต้นสนกับแม็กโนเลีย เคอร์เรียกับอะเซเลีย ไม่มีใบไม้แห้งสักใบ โคมหินโผล่หน้าผ่านซอกต้นไม้เช่นเดียวกับสระน้อย ผมเดินมาหยุดหน้าบานประตูใหญ่ลวดลายประณีตงดงาม สองบานเปิดอ้าต้อนรับ ผมรั้งเท้าลังเลชั่วขณะ..."
.
จะพบว่าห้องสมุดที่นี่ถ้านึกภาพตามเป็นสถานที่สวย งดงาม และเต็มไปด้วยความลึกลับ และเมื่อได้อ่านไปเรื่อยๆ จะพบว่าที่นี่มีรายละเอียดมากมายที่เราจินตนาการออกมาไม่ได้หมดจด ทั้งแสงในสวน ลมเอื่อย ห้องหับที่ประดับด้วยสมุด ยิ่งอ่านก็ยิ่งอดชมเชยไม่ได้ได้
.
● ฉากที่ชอบและความรู้สึกหลังอ่าน (มีสปอยด์)
ต้องบอกว่าเรื่องนี้การหนีออกจากบ้านของคาฟกาไม่ใช่แค่ไปต่างจังหวัด แต่ว่าเล่นหนีไปถึงอีกโลกหนึ่ง คือไม่ได้คาดคิดถึงเรื่องแฟนตาซีเท่าไหร่นักในตอนแรก แต่ความแฟนตาซีของมูราคามิมันมีกลิ่นไซไฟ และความอึดอัด เรื่องเหนือธรรมชาติไม่ได้ถูกใส่มาจนกลายเป็นแฮรี่ พอตเตอร์ แต่มันมีที่มา อย่างเช่นตอนที่คาฟกาเดินเข้าไปในป่า เราทุกคนก็มีความคิดว่าถ้าหลงป่าทุกอย่างมันต้องอันตราย ใจลึกๆ เราก็คิดว่าจะไปโผล่ที่ไหนก็ไม่รู้หรืออาจไม่ได้ออกไป ซึ่งมูราคามิเล่นตรงนี้ได้ดี คาฟกาเดินเข้าไปในป่ามืดมิดจนไปเจอกับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งพอไปถึงพบว่าเป็นหมู่บ้านที่น่าจะเป็นอีกโลกหนึ่ง และการจะมีที่นี่ก็เหมือนจะไม่ได้มากันได้ทุกคน ทุกวัน แต่ต้องมีเงื่อนไข
.
เรื่องนี้ใช้การอุปมาบ่อยมาก คาฟกาเชื่อว่าผู้หญิงที่เจอบนรถอาจเป็นพี่สาวที่หนีออกจากบ้านพร้อมแม่ เชื่อว่าแม่เป็นเจ้าของห้องสมุดโคมูระ และทุกอย่างเป็นจริงได้เพียงเขาอุปมาว่าเป็นจริง เมื่อเขาต้องเข้าไปในป่าเขาก็ถูกโอชิมะ (หนุ่มหน้าสวย พนักงานในห้องสมุดโคมูระ) สอนเรื่องความอันตรายของผืนป่าให้ฟัง อุปมาว่าป่าคือเขาวงกต และเขาวงกตก็มีรากฐานมาจากอวัยวะของเราเอง นั้นก็คือลำไส้ เราจึงคิดว่าเมื่อพระเอกเข้าไปหลงป่า เขาเข้าไปหาตัวเอง เขาไปเพื่อพูดคุยกับคนที่นั่น ทำภารกิจในใจตัวเองให้สำเร็จก่อนจะกลับออกมา
.
ในส่วนของคุณลุงนาคาตะเราคิดว่าเขาเหมือนกับพระเจ้า แม้จะเป็นคนแก่เฒ่างงๆ อ่านหนังสือไม่ออก เรียนไม่จบ แต่เขาคุยกับสรรพสัตว์ได้ เขาไม่มีอารมณ์ทางเพศ ซึ่งในนิยายมูราคามิทุกตัวละครมีอารมณ์ทางเพศ การที่คุณลุงไม่มีมันเหมือนกับเขาได้อยู่เหนืออารมณ์ไปแล้ว เขามองโลกในแบบที่คนปกติไม่มอง ทุกอย่างเป็นแง่ดีแม้ในตอนที่เลวร้ายที่สุด เหมือนเป็นอวตารของพระเจ้าก็ไม่ปาน
.
ในเรื่องนี้มีอีกฉากที่เราชอบมากคือตอนที่โอชิมะพูดกับผู้หญิงที่เป็นพวกเฟมินิสต์ที่มาที่ห้องสมุด พวกเธอบ่นห้องน้ำที่ไม่มีสุขาห้องผู้หญิงแยก บ่นเรื่องการวางชื่อของนักเขียนชายขึ้นก่อนนักเขียนหญิง ซึ่งโอชิมะก็ตอบกลับได้น่าขบคิดมาก
.
"ประเด็นของเรื่องในทุกหมวดหมู่ นักเขียนชายจะอยู่ข้างหน้านักเขียนหญิง" สตรีร่างสูงสำทับ "ในกรอบความคิดของเรา ถือได้ว่าฝ่าฝืนหลักการความเสมอภาคทางเพศ หยามหมิ่นทางเพศ ไม่ยุติธรรมเลย"
โอชิมะหยิบนามบัตรขึ้นดู อ่านรายละเอียด ก่อนจะวางกลับลงบนเคาน์เตอร์ "โซงะ-ซัง ในยามที่ครูขานชื่อคุณในห้องเรียน ชื่อของคุณมาก่อนทานากะ-ซัง มิใช่หรือ? แต่ก็ต้องหลังเซกิเนะ-ซัง...คุณเคยร้องเรียนความไม่เสมอภาคในเรื่องนี้หรือไม่? หากคุณไม่สบอารมณ์ คุณเคยร้องขอให้จัดเรียงชื่อเสียใหม่หรือเปล่า? ตัวอักษร G ต้องโกรธด้วยหรือถ้าต้องตามหลัง F? หรือว่าหน้า 68 ต้องก่อปฏิวัติ เนื่องเพราะต้องตามหลังหน้า 67 อยู่เสมอ?"
.
เรามองว่าการเดินทางในเรื่องนี้แม้ทุกคนจะออกมาใกล้ แต่ทุกคนมักจะใช้ 'อุปมา' ทำให้ทุกอย่างมันใกล้เพียงแค่เอื้อมเสมอ ทุกคนอยากจะเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ และผลของความเชื่อของแต่ละคนก็นำไปสู่เส้นทางที่ตัวเองกำหนด พวกเราก็เพียงแค่อ่านเอา ได้ออกเดินทางเจอตัวตนใหม่ๆ ของตัวเอง บางคนเพิ่งเริ่มเดินทาง บางคนกำลังเดินทาง บางคนเดินทางเสร็จแล้ว บางคนไม่เหลือแม้แต่เหตุผลที่จะต้องเดินทาง แต่เมื่อทุกคนมาเกี่ยวโยงกัน ความสัมพันธ์และความผูกพันก็ผลักให้เราเติบโตขึ้น
.
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์กำมะหยี่
จำนวนหน้า : 546 หน้า
#AROOOMbooks #รีวิวหนังสือ
โฆษณา