2 ก.พ. 2020 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ ตอนที่ 39
ปฐมอุบาสกคู่แรกในพุทธศาสนา ที่ยึดถือรัตนะ 2 ประการ
(เทฺววาจิกอุบาสก)
(อ่านว่า : ทะ-เว-วา-จิ-กะ-อุ-บา-สก)
4
ในวันนั้นเอง...
ได้มีพ่อค้าพานิชสองพี่น้องมีนามว่า
(ตปุสสะ) กับ (ภัลลิกะ) ได้บรรทุกขนสินค้ามาเป็นกองเกวียนซึ่งทั้งสองนั้นได้เดินทางมาจากอุกกละชนบทผ่านมาทางหนึ่ง...
ในขณะนั้นก็ได้มีเทพยดาองค์หนึ่งที่ครั้งเมื่อสมัยอดีตชาตินั้น ได้เคยเกี่ยวข้องเป็นญาติกันกับสองพ่อค้านี้มาก่อน และมีความประสงค์อยากจะให้ ตปุสสะกับภัลลิกะนั้นได้มีโอกาสไปกราบเข้าเฝ้ากับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ใต้ต้นราชายตะนั้นเอง
เทพยดาองค์นี้ได้พรางคิดในใจว่า:
***ก็พ่อค้าทั้งสองนี้หนอ ต่างได้พากันลุ่มหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏมาสิ้นกาลช้านานแล้ว ควรแล้วที่เราจักช่วยสงเคราะห์ให้เขาทั้งสองได้รับประโยชน์อันเป็นความอุดมมงคลสูงสุดแก่ชีวิต***
เมื่อท่านเทพยดาคิดดีแล้ว ก็จึงได้ใช้ฤทธิ์บันดาล ให้เหล่าโคนั้นนำพาเกวียนทั้งหลายไปผิดเส้นทาง จนในระยะหนึ่ง
แล้ว ท่านเทพยดาองค์นี้จึงเนรมิตกายปรากฏขึ้นนะเบื้องหน้าของสองพ่อค้า แล้วได้กล่าวชี้แนะ ให้ตปุสสะกับภัภลิกะว่า...
***ขอพวกท่านจงนำ (ข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง)อันเป็นเสบียงที่ติดมากับการเดินทาง ขอให้พวกท่านนำข้าวนั้น เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ควงไม้ราชายตนะ(ต้นเกด) ก็เพื่อประโยชน์อังเป็นมงคลสูงสุดแก่พวกท่านเถิด***
เมื่อบอกกล่าวเสร็จแล้ว ท่านก็ได้อันตรธานหายไปยังวิมานของตนดังเดิม
ด้วยความอัศจรรย์นี้ ทำให้พ่อค้าทั้งสองต่างเต็มใจปฏิบัติน้อมนำคำที่ ท่านเทพยดาได้มาบอกกล่าวแก่พวกตน
ครั้งเมื่อพ่อค้าทั้งสองได้เดินทางมาถึงที่ต้นราชายตนะแล้ว ก็ได้พบกับ...
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ใต้ร่มไม้ราชายตนะ อันมีพระวรกายงดงามประกอบด้วย พระมหาปุริสลักษณะอันบริบูรณ์ และมีพระรัศมีที่แผ่สร้านด้วยความรุ่งเรือง ซึ่งพวกตนนั้นมิเคยได้พบเห็นมาก่อนในชีวิต ยิ่งทำให้พ่อค้าทั้งสองนั้นได้เกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และได้นึกคิดในใจว่า...
***ในบัดนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุบัติเกิดขึ้นแล้วในโลก นับว่าเป็นบุญ เป็นลาภ เป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุดแก่พวกตนยิ่งนัก***
เมื่อคิดจบแล้ว ทั้งสองจึงได้เข้าไปกราบทูลกับพระพุทธองค์ว่า...
พ่อค้าทั้งสองกราบทูล :
***ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ขอพระองค์จงทรงโปรดอนุเคราะห์รับบิณฑบาตไทยทานข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงเหล่านี้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าตปุสสะกับภัลลิกะทั้งสองนี้ ตลอดกาลนานด้วยเถิด***
พระพุทธองค์ทรงพระดำริว่า :
***บาตรของตถาคตได้หายไปก่อนวันตรัสรู้ ต้องรับข้าวมธุปายาสของนาง สุชาดาด้วยพระหัตถ์ หลังจากนั้นมาก็ยังมิได้เสวยกระยาหารเลย ในบัดนี้ ท่านสองพานิชนำอาหารมาถวาย ตถาคตจักได้บารตมาแต่ที่ไหน ? ***
ครั้งหลังที่พระพุทธองค์ทรงดำริอย่างนี้จบแล้ว ทันใดนั้นเทวโลกก็สั่นสะเทือน และตอนนัเนเองท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ก็ได้นำบาตรศิลาสีเขียวองค์ละหนึ่งใบ
เหาะมาจากทั้ง 4 ทิศ และน้อมนำเข้าไปถวายแด่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทันที...
ลำดับนั้นเอง
พระพุทธองค์ จึงทรงพระดำริขึ้นว่า :
(บรรพชิตมิควรมีบาตรเกินกว่าหนึ่งใบ)
พระองค์จึงทรงอธิษฐานให้บาตรศิลาทั้งสี่นั้นประสานรวมเข้ากันเป็นใบเดียวกัน
แล้วทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงของสองพ่อค้าพานิชด้วยบาตรนั้น...
ครั้งเมื่อพระองค์เสร็จภัตกิจแล้ว
ตปุสสะกับภัลลิกะสองพี่น้องก็ได้กราบทูลแก่พระพุทธองค์ ขอแสดงตนเป็นอุบาสก ขอเข้าถึงพระพุทธ กับ พระธรรม เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต
1
***ก็เนื่องด้วยในตอนนั้นยังมิมีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก จึงเป็นเหตุให้อุบาสกทั้งสองได้นามว่า (เทวฺวาจิกอุบาสก) ซึ่งนับว่าเป็น
อุบาสกคู่แรก และคู่เดียวในโลกผู้ถึงรัตนะสองประการนั่นเองครับ***
และก่อนที่อุบาสกทั้งสองจะกราบทูลลากลับไปนั้น ก็ได้เอ่ยทูลขอปูชนียวัตถุเพื่อจะนำไปประดิษฐานเป็นที่สักการบูชายังบ้านเมืองของตนสืบไป...
ด้วยเหตุนี้...
พระพุทธองค์ จึงทรงยกพระหัตถ์ขึ้นลูบพระเศียร ในตอนนั้นเองพระเกศา(ผม) 8 เส้น ก็ติดพระหัตถ์ออกมา และพระพุทธองค์ก็ได้ประทานพระเกศาทั้ง 8 เส้นนั้น แก่ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ สองพ่อค้าไปตามประสงค์นั้นแล...
เพิ่มเติมท้ายเรื่อง
ในตอนนี้เอง...
ได้มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า แท้จริงแล้วสองพ่อค้าทั้งสองคือ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ นั้นคือชาวมอญจากพม่านั้นเองครับ หลังจากที่ทั้งสองนั้นได้เสร็จภารกิจของตนในชมพูทวีปแล้ว ก็ได้เดินทางอันเชิญพระเกศา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมายังบ้านเมืองของตน แล้วได้มีการก่อสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะบรรจุพระเกศาทั้ง 8 เส้นนั้นเอง ซึ่งพระเจดีย์นั้นก็คือ (พระเจดีย์ชเวดากอง) นั้นเองขอรับ..
ส่วนความหมายของ “ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง" นั้น คุณ raponsan ได้นำมาตอบไว้ในเว็บ madchima ได้ละเอียดชัดเจนแล้ว กระผมจึงขออนุญาตหยิบยกนำมาเผยแพร่ต่อครับ
1. พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) ได้ให้ความหมายไว้ว่า :
"สัตตุ"  คือ ข้าวคั่วผง ขนมผง ขนมแห้งที่ไม่บูด เช่น ขนมที่เรียกว่า จันอับและขนมปัง เป็นต้น
2. ท่าน เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ราชบัณฑิต ให้ความหมายไว้ว่า :
"สัตตุผง" นั้นบาลีเรียกว่า “มันถะ”
คือ ข้าวตากที่ตำละเอียด
"สัตตุก้อน" บาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนๆ
3. พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน ในพระวินัย สิกขาบทวิภังค์ ได้กำหนดความหมายไว้ว่า :
"สัตตุผง" ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นเสบียงนั้นแล...
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
***เจตนาเพื่อเป็นธรรมทานและต่อยอดสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป***
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็กราบขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
***เอกสารอ้างอิง***
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
#ธรรมะ
#www.madchima.org / คุณraponsan
#Facebook Page🔜 :
โฆษณา