4 ก.พ. 2020 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติตอนที่ 40
ทรงยกพระสัทธรรมเป็นที่เคารพ
ที่สุดแล้ว...
หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเสวยวิมุตติสุขในสถานที่ทั้ง 7 แห่ง กล่าวคือ
1. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
2. อนิมิสเจดีย์
3. รัตนจงกรมเจดีย์
4. รัตนฆรเจดีย์
5. อชปาลนิโครธ
6. มุจจลินท์
7. ราชายตนะ
รวมทั้งหมด 7 สัปดาห์
ครั้นเมื่อผ่านพ้นไปแล้ว พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จจากต้นราชายตนะดำเนินกลับไปประทับที่ต้นอชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่พระองค์ทรงประทับอยู่ใต้ควงไม้ อชปาลนิโครธนี้ พระองค์ทรงมีพระปริวิตกว่า...
พระพุทธองค์ทรงดำริในพระทัย :
***อันธรรมดาว่าบุคคลใด พึงดำรงตนอยู่โดยมิมีสิ่งเคารพสักการะ บุคคลนั้นย่อมอยู่อย่างเป็นทุกข์ ก็บัดนี้ ตถาคตจักพึงถึงสมณพราหมณ์ณาจารย์ผู้ใดดี เพื่อจักยึดถือเอาเป็นที่เคารพ
สักการะ***
ลำดับนั้นพระองค์ทรงมีพุทธดำริต่อไปอีกว่า...
***ก็ในกาลก่อน เมื่อตถาคตมีศีลขันธ์ ปัญญาขันธ์ และวิมุตติญาณทัศนขันธ์ยังมิบริบูรณ์ ก็ควรที่จักเคารพนับถือสักการบูชาสมณพราหมณ์ณาจารย์ผู้ใดผู้หนึ่ง เพื่อที่จักศึกษาปฏิบัติในอภิสมาจาริกวัตรทั้งปวง มีศีลขันธ์เป็นต้น
แต่บัดนี้ ตถาคตมิเห็นผู้ใดที่จักสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา พอที่จักนับว่าเป็นผู้มีความเหมาะสมแก่การที่ตถาคตจักเคารพสักการะได้เลย
ดังนั้น ตถาคตควรที่จักยกเอา
(พระโลกุตรธรรมอันประเสริฐยิ่ง)
ที่ตถาคตได้ตรัสรู้นี้แล เป็นที่เคารพสักการบูชาแทนครูอาจารย์
และแม้แต่พระพุทธเจ้าในปางก่อนทุกพระองค์ ก็ทรงเคารพในพระสัทธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้เช่นกัน***
ครั้นดำริเสด็จแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงยกตั้ง พระสัทธรรมไว้ในฐานะเป็นที่เคารพสักการบูชา
ลำดับต่อมา...
พระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณารำพึงถึง
พระสัทธรรมที่ได้ตรัสรู้มาว่าเป็นธรรมชาติอันลึกซึ้งสุขุม คัมภีรภาพ เป็นอัครอุดมธรรมประณีตยิ่งนัก
ยากยิ่งนักที่มนุษย์ทั้งหลายและสรรพสัตว์ทั่วไป ที่เป็นผู้ที่มีกิเลสหนาปัญญาน้อย หมกมุ่นลุ่มหลงยินดีติดอยู่ในกามคุณกองกิเลส ถูกครอบงำให้หลงติดอยู่ในสงสาร ไฉนเลยจักรู้แจ้งซึ่ง ปฏิจตสมุปบาท ระงับดับเสียซึ่งกิเลสคือราคะ โทสะ โมหะ ให้สูญสิ้นบรรลุถึงพระนิพพานได้ ถึวแม้ว่าตถาคตจักแสดงพระสัทธรรมไป มนุษย์ทั้งหลายก็มิอาจจักตรัสรู้ซึ่งโลกุตรธรรมนี้ได้ ก็จักเป็นการทำให้ลำบากกายเหนื่อยเปล่าไร้ประโยชน์แก่นสาร...
1
เมื่อพระพุทธองค์ ทรงมีพระดำริดังนี้แล้ว ก็ทำให้มีพระทัยน้อมไปในความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ท้อถอยในการที่จะแสดงพระสัทธรรมโปรดเวไนยสัตว์...
ถึงตรงนี้แล้ว ทุกท่านคงเกิดคำถามภายในใจแน่ๆ...
***ก็เหตุใด พระพุทธองค์จึงทรงมีพระดำริอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ในอดีตกาลเมื่อครั้งยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์นั้น พระองค์พยายามสั่งสมบารมีมาอย่างยาวนานก็เพราะทรงมีพระกรุณาแก่หมู่สัตว์ แม้ชาติที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรก็ทรงบริจาคมหาทานก็เพื่อที่จะช่วยเหล่าสัตว์ หรือในปัจฉิมชาตินี้(ชาติสุดท้าย) พระพุทธก็ทรงเสียสละราชสมบัติ
กับพระนางพิมพาราชเทวีและพระราหุลราชโอรส และออกบรรพชาบำเพ็ญพรตทุกรกิริยาอันยวดยิ่ง ก็ด้วยพระกรุณาที่จะนำสรรพสัตว์ ให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏมิใช่หรือ แล้วนี้เพราะเหตุใด พระองค์จึงมีพระทัยดำริแปรปรวนไปจากเดิมเช่นนี้? ***
ซึ่งในจุดนี้ในคำภีร์ก็ได้มีคำวิสัชนาแก้ไว้ครับ...
***คำตอบ แท้จริงแล้ว เป็นพุทธประเพณี เป็นธรรมดาของพระสัพพัญญูเจ้าทุกๆ พระองค์ครับ ที่จะมีพระดำริอย่างนี้ และครั้นเมื่อถึงเวลา ท่านท้าวมหาพรหมก็จะลงมากราบทูลอาราธนา ขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมโปรดเหล่าสัตว์ทั้งหลาย
ครั้นแล้ว พระพุทธองค์ก็จะทรงรับอาราธนาแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นจากกองกิเลสทั้งปวง ได้ล่วงเข้าสู่ประตูแดนพระอมตมหานิพพานนั้นแล... ***
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
***เจตนาเพื่อเป็นธรรมทานและต่อยอดสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป***
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็กราบขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
***เอกสารอ้างอิง***
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
#ธรรมะ
#Facebook Page🔜 :
โฆษณา