3 ก.พ. 2020 เวลา 16:43 • บันเทิง
ตอนที่ 24 อัจฉริยะ
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay
‘อัจฉริยะ’
ใคร ๆ ก็เรียกผมอย่างนั้น
หลายคนที่ไม่เคยรู้จักผมถึงกับตั้งคำถามว่าผมชื่ออัจฉริยะหรือ
ผมต้องเล่าเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หลายรอบว่าทำไม
ช่วงชีวิตที่ผมเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.ปลาย ผมทำให้ครูและเพื่อน ๆ ตกตะลึงด้วยความเป็นเลิศในวิชาวิทย์-คณิต
โจทย์ทุกข้อผมมองปราดเดียวก็รู้คำตอบโดยไม่ต้องใช้กระดาษทดหรือแสดงวิธีทำ บางครั้งผมก็ช่วยครูสอนในคาบที่ครูไม่ว่าง
แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ผมมีความสุขเท่าไรนัก
มันก็รู้สึกดีที่มีคนชื่นชม
นั่นทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่ประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกันผมก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่ล้มเหลว ไร้ความสามารถ เพราะผมชอบดนตรีโดยที่อ่านโน้ตไม่ออก เล่นเครื่องดนตรีไม่เป็น เสียงร้องชนิดควายร้องขอชีวิต
ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay
ทำไมต้องเป็นควาย ก็มันมาจากเพลงไงล่ะ ‘ใครจะว่าร้องเพลงให้ควายฟัง ฉันว่ายังมีควายที่เข้าใจ’ ผมจะมีความสุขมากถ้าได้เรียนต่อด้านดนตรี
“ครูคิดว่าเธอน่าจะเรียนวิศวะหรือหมอนะ เธอต้องไปได้ไกลมาก ๆ” ครูแนะแนวพูดพลางเปิดดูผลการเรียนที่ผ่านมาของผม
แน่นอนว่าวิชาวิทย์-คณิตถ้าเกรดถึงร้อยผมก็ได้ร้อย ส่วนวิชาดนตรี ศิลปะ เกรดต่ำเตี้ยเรี่ยตม
“ครับ” ผมตอบส่ง ๆ ไปอย่างนั้น เพราะผมเคยพยายามมาหลายครั้งแล้วที่จะโน้มน้าวคนรอบข้างให้เห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่ผมอยากเป็น ซึ่งทุกคนก็พูดไปในทางเดียวกันกับที่ผมเพิ่งได้ยินจากครู
“ทำไมถึงอยากเรียนหมอ” คำถามที่เปล่งออกมาจากชายชุดขาวหนึ่งในสามคนที่นั่งอยู่ข้างหน้า ทำให้ผมนึกถึงความหลัง
.
.
ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay
พ่อพบรักกับแม่ที่ไซต์งานก่อสร้างโรงแรมหรูแห่งหนึ่ง
พ่อเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ในจังหวัด แม่เป็นเจ้าของโรงแรมแห่งนี้
นั่นเป็นสิ่งที่ผมฝันมาตลอด แต่ความจริงคือพ่อกับแม่เป็นคนงานก่อสร้างธรรมดา
พ่อเมาเข้าห้องผิด แม่เล่าให้ฟังอย่างนั้น
พอแม่คลอดผม พ่อก็เลิกเหล้า ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน จนถึงวัยที่ผมต้องเข้าโรงเรียน พ่อให้แม่เลิกทำงานก่อสร้าง เพราะถ้าย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ พ่อกลัวผมเรียนไม่ทันเพื่อน แม่จึงไปสมัครเป็นคนกวาดถนน ส่วนพ่อก็ยังคงตระเวณไปทำงานต่างถิ่น 2-3 เดือนกลับมาทีพร้อมกับขนมที่ผมชอบ
“เอ็งจำไว้ สมบัติที่พ่อกับแม่ให้เอ็งได้ คือ เวลา เอ็งต้องใช้เวลาหาความรู้ใส่หัว ดูพ่อกับแม่ไว้ นี่แหละคนไม่มีความรู้ คุยกับใครเขาก็รังเกียจ เขาก็หัวเราะเยาะ อนาคตของพ่อกับแม่ฝากไว้ที่เอ็ง” นี่เป็นคำพูดที่ผมจำได้ตอนเข้าป.1 และได้ยินซ้ำอีกหลายครั้ง
“เอ็งเรียนหมอก็ดี อีกหน่อยถ้าพ่อเป็นผู้รับเหมา เวลาลูกน้องเจ็บป่วยจะได้มีที่พึ่ง” นี่เป็นคำพูดที่ผมจำได้ตอนจะตัดสินใจเลือกคณะคราวสอบเอ็นทรานต์ น้ำเสียงของพ่อปนเสียงหัวเราะดูมีความสุข
.
.
1
“พ่อผมอยากให้เรียนครับ” ผมตอบคำถามนั้นตรง ๆ
“เฮ้อ สมัยนี้ยังมีเด็กเรียนตามที่พ่อแม่บอกอีกเหรอ ไม่มีความคิดเป็นของตัวเองเลย พ่อแม่นี่ก็นะ ชีวิตเป็นของลูกแท้ ๆ” ชายชุดขาวรำพึงรำพัน
ผมแอบมองทั้งสามคนตั้งแต่เดินเข้ามาในห้องสอบสัมภาษณ์แล้ว เสื้อผ้า สร้อย แหวน นาฬิกา รองเท้า ผมดูไม่ออกหรอกว่าเป็นของดีมีราคาระดับไหน แต่สักวันผมจะให้พ่อกับแม่ได้ใส่บ้าง
‘ความจำเป็นทำให้คนเราต้องเลือกไม่ทำในสิ่งที่ชอบ สักวันครูจะเข้าใจ หรืออาจไม่มีวันนั้น’ ผมคิดในใจ นั่นช่วยทำให้ผมผ่านการสอบสัมภาษณ์ด้วยดี
คะแนนข้อเขียนระดับที่หนึ่งของประเทศจะมาตกสัมภาษณ์ได้ไง
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยก็สนุกดี ทุนต่าง ๆ ที่ติดประกาศตามบอร์ดช่วยผมได้เยอะ
วิชาชีววิทยาทำให้ผมได้พบกับเนิ้ต เธอเป็นอัจฉริยะด้านศิลป์ภาษาที่อยากเรียนแพทย์ เธอมุมานะโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากคนรอบข้างทั้งที่อ่อนวิชาสายวิทย์มาก ๆ
แม้ความพยายามนั้นจะไปไม่ถึงคณะแพทย์ แต่การสอบติดคณะพยาบาลก็ทำให้เธอยิ้มได้ ผมอิจฉาเนิ้ตนิด ๆ ที่ได้ทำในสิ่งที่รัก
ภาพโดย Michal Jarmoluk จาก Pixabay
แล็บมืดช่วยให้เราสนิทกันมากขึ้น
แล็บมืดก็คือเรียนแล็บตอนมืดน่ะสิ เพราะเรียนกันหลายคณะ คนจึงเยอะมาก ต้องจัดตารางเวลาใช้แล็บ โดยอาจารย์สุ่มช่วงรหัสนักศึกษา บังเอิญที่ผมกับเนิ้ตได้เป็นคู่ทำแล็บด้วยกันตอน 1 ทุ่ม
ทุกครั้งที่เรียนเสร็จก็ชวนกันไปหาของกินก่อนที่เธอจะมาส่งผมที่หอด้วยคุณจินนี่
(คุณจินนี่เป็นรถมอเตอร์ไซค์เก่า ๆ สีแดงของคุณพ่อ ตอนเด็ก ๆ เนิ้ตชอบยักษ์ในตะเกียงวิเศษ เห็นมอเตอร์ไซค์พ่อเป็นเหมือนพรมเหาะได้เลยเรียกติดปากว่าคุณจินนี่)
หลายครั้งที่เนิ้ตมารับส่งผม คงเพราะสงสารที่ผมเดินไปเรียนจนเสื้อเปียกชุ่มล่ะมั้ง ผมก็ตอบแทนด้วยการเป็นติวเตอร์ส่วนตัว
จากเพื่อนสนิทกลายเป็นแฟนกันตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้
สรรพนามก็เปลี่ยนเป็นฉันกับแก อาจจะไม่หวานแหววเหมือนคู่อื่นแต่ผมรู้สึกอบอุ่นหัวใจดี
ภาพโดย StockSnap จาก Pixabay
เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมต้องเลือกสาขาเฉพาะทางแล้ว
สภาพร่างกายของพ่อกับแม่ที่ถูกใช้งานอย่างหนักหน่วงตั้งแต่วัยหนุ่มสาวทำให้ผมตัดสินใจเลือกสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) แน่นอนว่าผมคือหนึ่งในศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ชั้นแนวหน้าของประเทศ
พ่อเสียน้ำตาให้กับเสื้อผ้าตัวใหม่ นาฬิกาเรือนใหม่ ส่วนแม่กอดผมแน่น ตัวสั่นกระเพื่อม หลังจากที่ผมใส่สร้อยและสวมแหวนให้
ชีวิตครอบครัวมีความสุข ผมกับเนิ้ตแต่งงานกัน พ่อแม่ใช้ชีวิตบั้นปลายเลี้ยงหลาน บางครั้งก็แอบหนีเที่ยวกันสองคน
จบบริบูรณ์
นั่นเป็นสิ่งที่ผมฝันไปเองอีกแล้ว ผมยังทำงานได้ไม่ถึงปี
พ่อจากไปด้วยโรคหลอดเลือดสมองแตกในวัย 53 ไม่นาน แม่ก็จากไปด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในวัย 55 ผมทำได้เพียงนั่งกุมมือท่านก่อนที่ลมหายใจจะหมดลงเท่านั้น
จบซะทีได้ไหม จบบริบูรณ์ แฮปปี้เอนดิ้งแบบในหนังฟีลกู๊ด
ผมคิดอย่างนั้นมาตลอดหลังจากที่รู้ว่าเนิ้ตเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์มือหนึ่งอย่างผมก็ยังคงทำได้เพียงเป็นเพื่อนพาเธอไปฉายแสง และทำคีโม
เธออดทนอยู่กับเซลล์มะเร็งได้สามปี ในที่สุดเซลล์มะเร็งก็ตายหมด
ผมมองดูกลุ่มควันสีดำที่ลอยขึ้นไปบนฟ้าไกล พยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหล แต่ไม่เป็นผลเมื่อเห็นเมฆรูปร่างคล้ายคนสามคนยิ้มและโบกมือให้ อิสระสินะ วันหนึ่งผมก็จะไปอยู่ด้วย และเป็นอิสระด้วย (to be with you, to be free)
ชีวิตที่เหลือทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนคำว่า ‘ด้วยกัน’ เป็น ‘ลำพัง’
ภาพโดย S. Hermann & F. Richter จาก Pixabay
บางคนบอกว่าน้ำตาที่เสียใจให้กับตะวันตกดินจะบดบังความงดงามของหมู่ดาว แต่ผมว่าความงดงามนั้นก็ชั่วคราวเหมือนตะวัน ในที่สุดก็ต้องเสียน้ำตาอีกครั้ง
ผมตรวจคนไข้รายสุดท้ายเสร็จ ใช่ รายสุดท้ายจริง ๆ พรุ่งนี้ผมไม่ต้องมาทำงานแล้ว ถึงผมจะเลิกนับอายุตัวเอง แต่ก็มีใครบางคนส่งจดหมายช่วยเตือนความจำว่าถึงวันที่ผมต้องเกษียณ
“เท้าบวมอยู่นะ เดี๋ยวหมอให้ยาแก้อักเสบกับยาแก้ปวดไปกิน” เสียงหมอเอกลอยมาจากโต๊ะข้าง ๆ ด้วยห้องตรวจที่โรงพยาบาลเป็นแบบ 1 ประตู 2 หมอ 2 โต๊ะทำงาน
ผมหันไปมองที่ใบหน้าและรูปร่างของคนไข้ ช่างคล้ายกับพ่อผมเหลือเกิน สายตาเหลือบลงไปที่เท้า มันบวมใหญ่ แต่สีซีด
“ขอโทษครับ ขอหมอจับเท้าหน่อยนะ” ผมพูดพร้อมทรุดตัวลงนั่งยอง ๆ คุกเข่าข้างหนึ่ง มือเอื้อมไปจับที่เท้านั้นโดยไม่สนใจท่าทีของหมอเอก รุ่นน้องผม 30 ปี ดีกรีที่หนึ่งของประเทศเหมือนกัน
“อาจารย์ ผมตรวจดูแล้วแค่อักเสบธรรมดา ไม่ต้องจับก็ได้ครับ” ผมเมินเฉยต่อเสียงทักท้วง มือทั้งสองลูบคลำเท้า ไม่รู้สึกถึงความร้อนจากการอักเสบ
ผมใช้นิ้วกดเบา ๆ
“เจ็บไหม”
1
“ไม่เจ็บครับ” ชายคนนั้นตอบ
“ขอหมอดูยาที่กินประจำหน่อย เอามาหรือเปล่าครับ”
“นี่ครับ” มือผอมคล้ำยื่นซองยาหลายซองให้ผม ผมแกะออกดูทีละซอง
“คุณกวาง พาไปหาหมออ้อย อายุรกรรม ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ ด้วยนะ แล้วนัดคนไข้มาฟังผลให้เร็วที่สุด” ผมหันไปบอกพยาบาลกวาง และมองตามจนประตูห้องปิดลง
2
“อาจารย์สันนิษฐานว่าคนไข้คนนั้น...” หมอเอกทิ้งช่วงนิดหนึ่ง
“โปรตีนรั่ว ซองยามีกลุ่มยารักษากระเพาะอาหารอักเสบก็จริง แต่ไม่มียาเหลือ ทั้งที่ยาแก้อักเสบยาแก้ปวดยังเหลืออีกเยอะ คนไข้คงซื้อยากินเอง” ผมตอบและคิดว่าหมอเอกเข้าใจดี
“หมอเอก นี่คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมสอน อย่าละเลยสัญญาณต่าง ๆ และพยายามค้นหาความจริงด้วยเครื่องมือที่เรามี”
1
“ครับ ขอบคุณครับอาจารย์” หมอเอกตอบโดยที่ไม่สบตาผม
.
.
.
ผมเพิ่งกลับจากคลาสเรียนดนตรีสำหรับเด็ก ในที่สุดอัจฉริยะอย่างผมก็ได้เลือกทำในสิ่งที่ผมรัก
ระหว่างทางผมเห็นร้านกาแฟเปิดใหม่ ตกแต่งร้านสวยดี คิดถึงแกนะ แกชอบดื่มชาเขียวนี่
“สวัสดีครับ/ค่ะ ยินดีต้อนรับครับ/ค่ะ” เหล่าพนักงานพร้อมใจกันส่งเสียงทันทีที่ได้ยินเสียงกระดิ่งเมื่อประตูเปิด
ผมเดินไปที่โต๊ะริมกระจก พนักงานชายคนหนึ่งรูปร่างสันทัด หน้าตาดี เดินมาที่ผม ผมสังเกตที่ป้ายชื่อ ‘เคน’
“ลุงเอาโกโก้ร้อน โกโก้ 2 ช้อนโต๊ะไม่ใส่น้ำตาลนะ เจ้าเคน”
คุยกัน :
ย่อหน้าสุดท้ายเป็นเรื่องราวของลุงที่ปรากฎในตอนที่ 2 When I'm sixty-four ซึ่งเป็นตอนที่ผมหัดเขียนใหม่ ๆ ขอบคุณพี่เรื่องสั้น ๆ อีกครั้งครับ ขอบคุณเนิ้ตด้วยที่เป็นแขกรับเชิญ
(*^▽^*)
ถามว่าตัวละครอย่างหมอเอกมีจริงไหม
ตอบได้เต็มปากว่ามีและมากกว่าหนึ่ง เพราะผมเป็นคนพาคนไข้ไปตระเวณหาหมอกระดูกทั้งคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน
สุดท้ายลุกขึ้นเดินไม่ได้แล้ว ต้องพาไปกทม. และได้พบกับอาจารย์หมออํานวย อุนนะนันทน์ ที่โรงพยาบาลธนบุรี
ย่อหน้านั้นการตรวจวิเคราะห์เป็นเหตุการณ์จริง ต้องนอนในโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์เพราะโปรตีนรั่วเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งครับ
แต่เรื่องราวนอกเหนือจากนั้นเป็นเรื่องแต่งทั้งหมด ด้วยความระลึกถึงอาจารย์หมอสุริยพงษ์ เสาวพฤทธิ์ ที่เสียสละเวลาส่วนตัว เสาร์-อาทิตย์ก็ออกเดินทางไปผ่าตัดให้กับคนไข้ต่างจังหวัด ซึ่งอาจารย์มีตารางยาวเหยียดเหนือจรดใต้ ส่งข้อมูลแต่ละเคสผ่านมือถือ มือถืออาจารย์เต็มไปด้วยรูปฟิล์มเอ็กซ์เรย์
ผมไม่ได้รู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัว แค่ได้พูดคุยเล็กน้อยตอนที่อาจารย์มาผ่าตัดให้กับคุณแม่ของผม ผ่านมา 6 ปีเต็มแล้วที่อาจารย์จากไป สู่สุคติครับ 🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา