4 ก.พ. 2020 เวลา 09:44 • กีฬา
ในโลกของฟุตบอล สโมสรกับนักเตะมีเงื่อนไขสัญญาแปลกประหลาดมากมาย เชื่อหรือไม่ มีหนึ่งสโมสรที่ใส่เงื่อนไขว่า "ห้ามนักเตะเดินทางไปนอกโลก" ก่อนจะคว้าตัวมาร่วมทีมด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังหยิบมาเล่าให้ฟัง
ในฟุตบอลระดับสโมสร การจะคว้านักเตะสักคนมาอยู่ในทีมของเราได้ คุณต้องเริ่มจากไปเจรจากับสโมสรต้นสังกัดของนักเตะคนนั้นก่อน เมื่อตกลงค่าตัวได้เรียบร้อยแล้ว ก็จะมาสู่ขั้นตอนต่อไป คือพูดคุยเรื่องสัญญาส่วนตัวกับนักเตะ
1
มีหลายกรณีมาก ที่คุยค่าตัวกับสโมสรจบแล้ว แต่ไม่สามารถคุยสัญญาส่วนตัว (Contract) กับนักเตะได้ สุดท้ายการเจรจาก็เลยล่ม
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยตอบรับข้อเสนอของสเปอร์ส เพื่อซื้อตัวโอเล่ กุนนาร์ โซลชาในสมัยเป็นนักเตะมาแล้ว แต่สุดท้ายการย้ายตัวก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่สามารถตกลงสัญญากับนักเตะได้ การเจรจาก็ล่มลงไป
สัญญานั้นมีอะไรบ้าง? เบื้องต้นคือค่าเหนื่อย ตกลงเงินเดือนกันว่าจะจ่ายเท่าไหร่ อย่างที่สองคือความยาวของสัญญาว่าจะเซ็นกันกี่ปี
นักบอลบางคนต้องการความมั่นคงอยากเซ็นยาวๆ การันตีว่าตัวเองจะมีทีมเล่นไปนานๆ แต่บางคนที่มั่นใจในฝีเท้าของตัวเอง มองว่ายังไงก็หาสโมสรใหม่ได้ ก็อาจเซ็นไม่ยาวนัก เพื่อจะได้ไม่ต้องผูกมัดตัวเองนานเกิน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน
1
แต่นอกจาก 2 เรื่องพื้นฐานดังกล่าวแล้ว นักฟุตบอลสามารถกำหนดเงื่อนไขบางอย่าง ลงไปในสัญญาได้ บางเรื่องถ้าสโมสรยอมได้ ก็จะยอม แต่ถ้าอันไหนมันเกินเหตุไป ก็ต้องปฏิเสธไป
เช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่นักเตะที่สามารถเสนอเงื่อนไขได้ สโมสรเองก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอเงื่อนไขบางอย่างได้ ถ้านักเตะรับไม่ได้กับเงื่อนไขเหล่านี้ การเซ็นสัญญาก็จะยุติได้เช่นกัน
กรณีเคสหนึ่งที่แปลกพิลึกดี เกิดขึ้นกับนักเตะชื่อสเตฟาน ชวาร์ซ กองกลางวัย 30 ปีชาวสวีเดน ที่เล่นอยู่กับบาเลนเซียในสเปน จากนั้นซันเดอร์แลนด์ ทีมน้องใหม่พรีเมียร์ลีกสนใจอยากดึงเขามาร่วมทีมด้วยในช่วงซัมเมอร์ปี 1999
ซันเดอร์แลนด์ตกลงค่าตัวกับบาเลนเซียไม่มีปัญหา เหลือแค่เจรจากับนักเตะ ซึ่งก็โอเค ตกลงค่าเหนื่อยกันได้เรียบร้อย
สเตฟาน ชวาร์ซ มีความฝันอยากไปท่องอวกาศ หนังที่เขาชอบคือเจมส์ บอนด์ 007 ภาค Moonraker ซึ่งมีฉากต่อสู้บนสถานีอวกาศ
ในช่วงราวๆปี 2000 เคยมีข่าวว่าจะมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบใหม่ คือจ่ายเงินเพื่อไปเทียวอวกาศ ดังนั้นชวาร์ซจึงตั้งใจจะเก็บรวบรวมเงิน ไปเที่ยวนอกโลกดูสักครั้ง ในวันเซ็นสัญญากับซันเดอร์แลนด์ เขาคุยกับเอเยนต์ว่าพอเซ็นสัญญาเสร็จปั๊บ ก็วางแผนไปเที่ยวอวกาศกัน
ไม่รู้จะพูดจริงหรือพูดเล่น แต่ผู้บริหารซันเดอร์แลนด์ได้ยินสิ่งที่ชวาร์ซพูด และกลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันที ก่อนที่ชวาร์ซจะเอาปากกาเซ็นสัญญา จอห์น ฟิกลิ่ง ซีอีโอของสโมสรในเวลานั้น เบรกทุกอย่างไว้ชั่วคราว และให้ฝ่ายกฎหมายเขียนเงื่อนไขเพิ่มอีก 1 ข้อ แล้วค่อยเอามาให้เซ็นใหม่
1
เงื่อนไขข้อดังกล่าวเขียนว่า นักกีฬาห้ามเดินทางไปนอกโลก ชวาร์ซ ไม่มีทางเลือกจำใจต้องเซ็นสัญญาในเงื่อนไขนี้
"สัญญานี้เกิดขึ้นเพราะผมต้องการปกป้องสโมสร" ซีอีโอซันเดอร์แลนด์กล่าว "มันอาจดูประหลาดถ้ามาพูดตอนนี้ แต่ในยุคนั้นเรามีการพูดกันเยอะว่า ราวๆปี 2000 มนุษย์จะไปเที่ยวอวกาศได้เหมือน บินไปต่างประเทศ"
1
"เราจ่ายเงินเยอะมากเพื่อซื้อตัวเขามา แต่เขากลับบอกว่าเตรียมวางแผนไปอวกาศ ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้" คือถ้าคิดสถานการณ์แย่ที่สุด ตอนส่งตัวขึ้นอวกาศ ถ้าจรวดระเบิด หรือมีเหตุอะไรให้กลับสู่โลกไม่ได้ ก็เท่ากับว่าซันเดอร์แลนด์จะเสียนักเตะไปฟรีๆเลย 1 คน
"มันน่าเสียดายจริงๆ" ชวาร์ซบ่นอุบ "มันคงเป็นประสบการณ์ที่น่าเหลือเชื่อเลย ถ้าเราได้มองดูโลกของเราจากมุมมองบนอวกาศ!"
ในโลกของฟุตบอล นักเตะสามารถขออะไรในสัญญาก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสโมสรจะตกลงไหม เช่นกัน สโมสรสามารถกำหนดเงื่อนไขอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องมาดูว่าตัวนักเตะจะโอเคหรือเปล่าด้วย
มีหลายๆเคสที่นับว่าพิลึกดีทีเดียว ผมจะรวบรวมเอาไว้นะครับ เราจะได้เห็นว่ากว่าจะเซ็นสัญญากันได้เนี่ยไม่ง่ายเลย และบางครั้งดีลต่างๆที่ล่มลงไป เพราะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับเงื่อนไขกันไม่ได้เนี่ยล่ะ
เคสคลาสสิคที่แฟนบอลยุค 90 น่าจะทราบดี คือกรณีของเดนนิส เบิร์กแคมป์ กองหน้าชาวฮอลแลนด์ ที่ย้ายจากอินเตอร์ มิลาน มาเล่นให้อาร์เซน่อลในปี 1995
เบิร์กแคมป์เป็นโรคกลัวที่แคบ และกลัวการขึ้นเครื่องบิน ดังนั้นตอนเจรจาสัญญากับทีมปืนใหญ่ เขาจึงใส่เงื่อนไขไปด้วยว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปเล่นที่ไหน เขาจะไม่ขอขึ้นเครื่องบินอย่างเด็ดขาด ถ้าหากอาร์เซน่อลรับไม่ได้ เขาก็จะไปเซ็นกับทีมอื่น
ฝั่งอาร์เซน่อลเองก็ต้องมาคุยกันอย่างจริงจังเหมือนกัน เพราะถ้าตกลงเงื่อนไขนี้ แปลว่าคุณให้สิทธิ์พนักงานบริษัทตัวเองได้มีอภิสิทธิ์เหนือผู้เล่นคนอื่น
เบิร์กแคมป์บอกว่า ถ้าเป็นเกมเยือนในประเทศ เขาจะขับรถไปเอง หรือถ้าเป็นเกมเยือนในประเทศใกล้ๆแถบฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เยอรมัน สเปน เขาจะนั่งรถไฟยูโรสตาร์ข้ามช่องแคบอังกฤษ แล้วหาทางต่อรถไปถึงสนามคู่แข่งเอง
จะมีก็แต่ประเทศยุโรปตะวันออกที่เดินทางยากจริงๆ อันนี้เขาจะขออนุญาตสโมสรไม่ไปแข่งขันด้วย
หลังเจรจากันอย่างจริงจัง สโมสรก็ตอบตกลง นั่นเพราะการได้ตัวเบิร์กแคมป์มาครอง ถือเป็นเรื่องสำคัญกว่า ส่วนเรื่องเกมเยือนถ้าต้องไปไกลๆ สโมสรก็จะมาวางแผนกันว่าจะจัดทัพนักเตะกันอย่างไร
เคสของเจอร์โรม บัวเต็งก็น่าสนใจดี ตอนที่บัวเต็งจะย้ายจากฮัมบูร์ก มาเล่นให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2010 เขาใส่เงื่อนไขในสัญญาว่า สโมสรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนย้าย หมาพันธุ์โดเบอร์แมน 2 ตัวของเขา จากเยอรมันมาอังกฤษ และต้องทำประกันสุนัขให้เขาด้วย ซึ่งแมนฯซิตี้ ก็ตอบตกลง (และอาจคิดในใจว่า จ่ายเองไม่ได้หรือไง!)
1
มาริโอ บาโลเตลลี่ ตอนย้ายจากเอซี มิลาน มาลิเวอร์พูลในปี 2013 เขาใส่อ็อปชั่นในสัญญาเอาไว้ว่า ถ้าในรอบปี เขาโดนใบแดงไม่ถึง 3 ใบ สโมสรต้องให้เงิน 1 ล้านปอนด์ หลังสิ้นสุดฤดูกาล (ซึ่งสุดท้ายบาโลก็ได้เงินจากลิเวอร์พูลจริงๆ)
หรือโรนัลดินโญ่ ตอนย้ายจากเอซี มิลานไปฟลาเมงโก้ ในปี 2011 ก็ระบุเงื่อนไขว่า ขอเขาไปเที่ยวกลางคืนได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่อย่างนั้นจะไม่ยอมไปเล่นด้วย ซึ่งสุดท้ายฟลาเมงโก้ก็ยอม
ส่วนเจมี่ วาร์ดี้ ตอนย้ายจากฟลีตวูด ทาวน์ ทีมนอกลีกในปี 2012 มาสู่เลสเตอร์ ซิตี้ ในราคา 1 ล้านปอนด์ เขาใส่เงื่อนไขในสัญญาไว้ด้วย ว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ติดทีมชาติอังกฤษนัดแรก สโมสรต้องจ่ายเงินให้เขา 1 แสนปอนด์ ในตอนนั้นสโมสรตอบตกลงไป โดยที่ยังไม่ทันคาดคิดว่าวาร์ดี้จะไปถึงจุดนั้นได้จริงๆ แต่แล้ว 3 ปีหลังเซ็นสัญญากับเลสเตอร์ เขาก็ทำได้ ก้าวไปติดทีมสิงโตคำรามในปี 2015
เรื่องเงื่อนไขได้เงินพิเศษถ้าติดทีมชาติอังกฤษนัดแรกนี่มีนักเตะหลายคนใส่ไปในสัญญาด้วย ซึ่งสโมสรก็มักจะโอเค เพราะถ้าติดทีมชาติได้ก็ดี เป็นชื่อเสียงของสโมสร แต่ส่วนใหญ่จะไปไม่ถึงจุดนั้นมากกว่า
ตัวอย่างเช่น ตอนทีมน็อตส์ เคาน์ตี้ในลีกวัน จะซื้อตัวโทนี่ แฮ็คเวิร์ธ กองหน้าตัวสำรองของลีดส์ ยูไนเต็ดมาเสริมทัพ แฮ็คเวิร์ธขอใส่อ็อปชั่นโบนัสติดทีมชาติอังกฤษนัดแรกเอาไว้ด้วย ซึ่งน็อตส์ เคาน์ตี้ก็โอเคตอบตกลง และสรุป 3 ปีที่เล่นกับสโมสรแฮ็คเวิร์ธลงไป 54 นัด ยิงไป 1 ประตู แน่นอนว่าเขาไม่เคยติดทีมชาติแม้แต่หนเดียว และน็อตส์ เคาน์ตี้ก็ไม่ต้องจ่ายเกินก้อนตามสัญญาที่ระบุไว้
1
เรื่องโบนัสก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดี เพราะนักเตะหลายๆคน อาจจะรับค่าเหนื่อยไม่เยอะมาก แต่มีรายละเอียดในสัญญา ระบุเงื่อนไขว่าขอโบนัสบางอย่าง ถ้าหากทำผลงานได้ดีกับทีม
ตัวอย่างเช่น เวอร์จิล ฟาน ไดค์ ตอนย้ายจากเซาธ์แฮมป์ตันมาลิเวอร์พูล อาจรับค่าเหนื่อยไม่เยอะมากนัก ตัวเลขอยู่ที่ 125,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ซึ่งน้อยกว่่า ซาลาห์ (200K) ,ฟีร์มีโน่ (180K), เฮนเดอร์สัน (140K), มิลเนอร์ (140K) แต่เขามีอ็อปชั่นเสริมว่าถ้าหากเก็บคลีนชีทได้ หรือไม่เสียประตูแต่ละเกมในพรีเมียร์ลีก จะได้รับโบนัสเพิ่มเกมละ 25,000 ปอนด์
เท่ากับว่าในซีซั่นที่แล้ว 2018-19 ฟาน ไดค์ เก็บคลีนชีทไป 21 นัด เขาได้เงินไปมากกว่า 5 แสนปอนด์นับเฉพาะโบนัสอย่างเดียว
โบนัสคลีนชีท หรือ โบนัสยิงประตู ดูเป็นเงื่อนไขปกติที่นักเตะคนไหนก็ใส่กัน ซึ่งหลายสโมสรจะโอเค เพราะมองว่าเป็นแรงจูงใจให้นักเตะตั้งใจเล่นขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าทุกสโมสรจะโอเคทั้งหมด บางสโมสรก็ปฏิเสธเงื่อนไขเหล่านี้
ตัวอย่างเช่น ฮาเวียร์ ซาวิโอล่า ถูกบาร์เซโลน่าเซ็นเข้ามาในปี 2001 ตอนที่เขาย้ายมา มีระบุเงื่อนไขว่าจะได้โบนัส 6,000 ยูโร ทุกๆประตูที่ยิงได้ ซึ่งพอแฟรงค์ ไรจ์การ์ด กุนซือชาวดัตช์เข้ามาคุมทีมในปี 2003 ก็สั่งให้ปรับแก้สัญญาทันที โดยไรจ์การ์ดบอกว่า ที่บาร์เซโลน่าต้องไม่มีสัญญาประเภทโบนัสยิงประตู หรือโบนัสแอสซิสต์ นั่นเพราะมันจะทำให้นักเตะลังเลใจ ยิงในจังหวะที่ควรจ่ายมากกว่า หรือจ่ายในจังหวะที่ควรยิง เพราะอยากได้เงินเพิ่มจากโบนัส
หรือในปี 2009 ตอนที่สเปอร์ส เจรจาจะดึงตัวเจอร์เมน เดโฟกลับมาจากปอร์ทสมัธ โดยตอนนั้น 2 สโมสรตกลงค่าตัวกันได้แล้วที่ 12 ล้านปอนด์ ค่าเหนื่อย 50,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์
แต่การเจรจาไม่คืบหน้านั่นเพราะซานดร้า คุณแม่ของเดโฟซึ่งเป็นเอเยนต์ให้ลูกชายตัวเองด้วย เรียกร้องขอโบนัสยิงประตูในสัญญาด้วย ซึ่งสุดท้ายสเปอร์สก็ไม่ยอมจ่าย ถ้ารับไม่ได้ก็ไม่ต้องเซ็น สโมสรจะไปหาคนอื่นเอา
แฮร์รี่ เรดแนปป์ ยื่นคำขาดกับคุณแม่ซานดร้าว่า "มิสซิสเดโฟ ค่าตัวของเจอร์เมนมีราคา 12 ล้านปอนด์ และเขาจะได้เงิน 5 หมื่นปอนด์ต่อสัปดาห์ แล้วคุณคิดว่าเราจ่ายเขา 5 หมื่นปอนด์ไว้เพื่ออะไรล่ะ?" สุดท้ายคุณแม่ก็เลยต้องยอม และเดโฟจึงเซ็นสัญญาแบบไม่มีโบนัสยิงประตู
ในปัจจุบัน สัญญาแบบแปลกๆถือว่าน้อยลงกว่าเดิมแล้ว คือเมื่อก่อนรายได้ของนักเตะยังไม่ได้เยอะมาก ดังนั้นถ้าอะไรที่อยากให้สโมสรจ่ายให้ ผู้เล่นก็จะใส่เงื่อนไขลงไปในสโมสร ต่างกับในยุคนี้ที่เจรจากันเรื่องเงินให้จบก็พอ แล้วเดี๋ยวผู้เล่นอยากได้อะไรก็เอาเงินไปซื้อเอง
กรณีของคาร์ลอส เตเวซ ก็ถือว่าน่าสนใจ ตอนเขาเซ็นสัญญาย้ายจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไปเล่นให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีเงื่อนไขในสัญญาระบุว่า เตเวซต้องเป็นนักเตะที่ค่าเหนื่อยสูงที่สุดในสโมสรเสมอ กล่าวคือเมื่อไหร่ก็ตามที่เซ็นนักเตะใหม่เข้ามาแล้วได้รายได้มากกว่าเขา สโมสรต้องปรับค่าเหนื่อยของเขาให้เท่ากับนักเตะคนนั้นทันที
หรืออย่างกรณีของปิแอร์-เอเมริค โอบาเมย็อง ที่หลายคนสงสัยว่าอาร์เซน่อลไปซื้อตัว "โอบา" มาได้อย่างไร ในช่วงที่ทีมฟอร์มก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่สุดท้ายกลับกระชากคีย์แมนจากดอร์ทมุนด์มาได้เฉยเลย และก็น่าเซอร์ไพรส์ที่ตัวโอบาเองก็ยอมย้ายจากทีมระดับแชมเปี้ยนส์ลีก มาเล่นให้อาร์เซน่อลที่เล่นแค่ยูโรป้าลีกเท่านั้น
สาเหตุสำคัญที่เชื่อว่าทำให้ดีลนี้เกิดขึ้นได้ เพราะอาร์เซน่อลยอมทุ่มเงินค่าเหนื่อยแบบสุดตัวนั่นเอง
โอบาเมย็อง ได้ค่าเหนื่อย 198,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ และได้โบนัสกินเปล่า 18.2 ล้านปอนด์ ไม่เพียงแค่นั้นยังได้ Loyalty โบนัส หรือรายได้พิเศษถ้าคุณอยู่กับทีมจนครบสัญญาเพิ่มอีก 15.5 ล้านปอนด์
แค่นั้นยังไม่พอ โอบาเมย็องจะได้เงินโบนัส 50,000 ปอนด์ทุกๆการออกสตาร์ตเป็นตัวจริงในพรีเมียร์ลีก 1 นัด แถมด้วยแชมเปี้ยนส์ลีกโบนัสอีกปีละ 2.26 ล้านปอนด์ ซึ่งเงื่อนไขระบุว่า โอบาเมย็องจะได้เงินเสมอโดยไม่สำคัญว่าอาร์เซน่อลจะได้เข้าไปเล่นในแชมเปี้ยนส์ลีกหรือไม่
อยากได้นักเตะระดับท็อปในช่วงเวลาที่ทีมของคุณไม่ได้ติดท็อปโฟร์ ไม่ได้ไปแชมเปี้ยนส์ลีก มันก็จำเป็นต้องเอาเงินมาล่อเท่านั้น ซึ่งก็ยังพอโชคดีอยู่บ้างที่โอบาเมย็องเป็นของจริง และยิงต่อเนื่องจนคว้าดาวซัลโวของลีกมาครองได้ในซีซั่นที่แล้ว
สำหรับเคสที่แปลกพิลึกที่สุด คือกรณีของลาร์ส โบฮิเน่น ดาวเตะทีมชาตินอร์เวย์จากทีมยังบอยส์เบิร์น ที่น็อตติ้งแฮม ฟอร์เรสต์ ต้องการตัวมาร่วมทัพด้วย ซึ่ง 2 สโมสรตกลงค่าตัวกันได้แล้วเหลือเพียงสัญญาส่วนตัวเท่านั้น ที่เจรจากันนานมากเป็นเดือนๆ
สาเหตุเพราะโบฮิเน่นขออะไรเยอะแยะมากมายเกือบ 50 อย่างในลิสต์ ตัวอย่างเช่น
- ขอตั๋วเครื่องบินไปกลับอังกฤษ-นอร์เวย์ 6 ครั้งต่อปี
- สโมสรต้องหางานให้ภรรยาของเขาทำด้วย
- สโมสรต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพให้ภรรยาของเขาด้วย
- เขาต้องลงเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุกเท่านั้น
- สโมสรห้ามส่งเขาลงไปเล่นทีมสำรอง
- ขอรถยนต์คันใหม่ใช้ที่อังกฤษ
- สโมสรต้องเปลี่ยนพรมที่บ้านให้เขา เพราะเขาไม่ชอบ ฯลฯ
หลังจากลงเล่นไป 2 ปี ฟอร์เรสต์ก็เห็นว่า โบฮีเน่นก็ไม่ได้เก่งอะไรขนาดนั้นนี่หว่า ด้วยความปวดหัวในเรื่องสัญญาจึงตัดสินใจเลหลังทิ้งให้แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ในราคา 750,000 ปอนด์
บทสรุปในเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงชีวิตการทำงานของตัวเองขึ้นมาครับ
คือผมเนี่ยะ ย้ายงานบ่อยครับ มาจนถึงปัจจุบันก็ทำงานประจำมาแล้ว ประมาณ 4-5 แห่ง ซึ่งจุดที่ผมคิดว่าสำคัญมากเวลาเราไปสมัครงานคืออย่าคิดว่าบริษัทจะเลือกเราอย่างเดียว เราเองก็ต้องเลือกบริษัทด้วย
ในขณะที่บริษัทเสนอเงื่อนไขมา เงินเดือนเท่านี้ สวัสดิการเป็นแบบนี้ ถ้าเราไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย สามารถพูดคุยได้เสมอครับ อย่าไปคิดว่าถ้าเราไปต่อรองเขาแล้วบริษัทจะรู้สึกไม่ดี ไปเลือกเอาคนอื่นแทน คืออย่าดูถูกตัวเองขนาดนั้น ถ้าเขาไม่สนใจเรา เขาไม่มาคุยเรื่องเงินเดือนกับเราแต่แรกแล้วล่ะ จริงไหม
เหมือนกับในเรื่องของฟุตบอลที่ผมยกมา คือมันต้องหาจุดร่วมตรงกลาง ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่งถ้าทุกอย่างคลิกและลงตัวก็สามารถร่วมงานกันได้ แต่ถ้าคุยแล้วมันไม่ใช่จริงๆ ก็จบ สโมสรก็ไปหานักเตะคนใหม่ที่จะรับเงื่อนไขสัญญาได้ และนักเตะก็ไปหาทีมใหม่ที่จะมีเงื่อนไขที่เหมาะกับตัวเอง
เช่นเดียวกับเรื่องความสัมพันธ์ก็เหมือนกัน เรื่องความรักมันจำเป็นต้องหาจุดสมดุลของทั้ง 2 ฝ่าย
ความรักที่อีกฝ่ายยื่นเงื่อนไข 50 ข้อ มาให้ และอีกฝ่ายก็ต้องก้มหน้าทำตามอย่างเดียวเพื่อให้ฝั่งนั้นพอใจ มันไม่มีทางยืดยาวได้หรอก คือถ้าอะไรคิดว่ามันเกินไป มันทำไม่ได้ ก็คุยกันให้เคลียร์ไปเลย
อย่าคิดแต่ว่าถ้าไม่ตามใจแล้วอีกฝ่ายจะโกรธ ถ้าเรามัวแต่สนใจความรู้สึกอีกคนมากเกินไป แล้วชีวิตของเราล่ะ?
1
สิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราอยากทำ มันคืออะไรกันแน่ ชีวิตของเราอยู่เพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจแค่นั้นหรือ
ตกลงกันให้เคลียร์ เอาให้ชัด ว่าอะไรรับได้ อะไรรับไม่ได้ เราสองคนต้องเดินทางกันไปอีกไกล ถ้าต้องเดินไปอย่างไม่สบายใจแล้วจะหาความสุขได้จากไหน
1
และถ้าครั้งหนึ่งเผลอเซ็นสัญญากับเงื่อนไขประหลาดไปแล้ว อย่าไปท้อแท้ใจ เพราะมันไม่ใช่ว่าชีวิตคุณต้องอยู่กับเงื่อนไขนั้นไปตลอดกาล
ในโลกฟุตบอลหมดสัญญาก็เซ็นสัญญาใหม่
ในชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่แฮปปี้ก็นั่งคุยกับอีกฝ่าย เพื่อหาข้อตกลงใหม่ระหว่างกันก็ได้จริงไหม
อยู่ด้วยกัน ถ้าไม่มีความสุขทั้งสองฝ่าย ... ไปเซ็นสัญญากับคนอื่นดีกว่ามั้ง
#Contract
โฆษณา