7 ก.พ. 2020 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา ไทยรัฐ challenge gen 3 ยุคของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัต
เช้าตรู่ก่อนฟ้าสาง เสียงรถเครื่องมอ’ไซค์คันเดิม ขับแวะไล่เรียงตามบ้านเรือนและร้านค้า โยนม้วนกระดาษมัดยางลงพื้นแล้วขับจากอย่างเร่งรีบ เป็นภาพชินตานับสิบปีตั้งแต่อดีต แต่วันนี้มีเสียงยามเช้าแว่วมา “ข่าวเช้าไทยรัฐ เล่าชัดดูสบาย” อาจเข้ามาแทนที่ในที่สุด
สื่อสิ่งพิมพ์หลายแขนงทยอยปิดตัว แต่ไทยรัฐยังยืนหนึ่ง บริหารงานส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ในยุคที่อะไรต่ออะไรก็มาไวไปไว เกิดดับกันชั่วข้ามคืน แล้วอะไรที่ทำให้ชื่อไทยรัฐยังอยู่และอยู่ต่อไปได้จริงหรือ ท้าทายแค่ไหน มาค้นหาคำตอบไปด้วยกัน
- ชัดเจนในตัวเอง “ก้าวไปให้เหนือ เป็นผู้นำทางความคิด”
ไทยรัฐวางตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองได้ชัดตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เจาะฐานความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคในระดับกลางถึงระดับล่าง ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของคนไทย มุ่งเน้นการนำเสนอข่าวชาวบ้าน ข่าวสังคม ที่เข้าถึงได้ง่าย เพียงไม่นานไทยรัฐสามารถครองใจคนไทยนำเป็นหนึ่งในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ได้สำเร็จ
ในยุคผู้ก่อตั้ง คุณกำพล วัชรพล ให้ความสำคัญกับการมองตลาด มององค์กรให้ออก แล้ววางหมากวางคนทั้งด้านการบริหารจัดการและด้านบรรณาธิการ ที่ถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ผนวกกับการมีทิศทาง “ต้องการก้าวไปให้เหนือ และเป็นผู้นำทางความคิด” เป็นแรงผลักให้ไปถึงจุดหมาย ถึงแม้ระหว่างทางจะเจอคลื่นลม ทั้งพายุการเมือง ทั้งมรสุมจากเรื่องราวภายใน แต่ยังยืนหยัดและฟันฝ่า เดินต่ออย่างมีพัฒนาการตลอดเส้นทาง ก้าวสู่การเป็นผู้นำของวงการหนังสือพิมพ์ ยอดจำหน่ายมากที่สุดของประเทศ
- ลูกค้าอยู่ที่ไหน เราอยู่ที่นั่น
หลักการบริหารถูกส่งต่อมาถึงเจนเนเรชั่นที่ 3 ของไทยรัฐ กับยุคที่เทคโนโลยีถูกเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ทั้งเป็นความท้าทายและกดดัน แต่คุณจูเนียร์และคุณนิค ทายาทหลานคุณตากำพล ไม่รีรอให้โลกที่ไม่หยุดหมุนเป็นผู้ชี้ชะตาไทยรัฐ ด้วยความโดดเด่นในมุมของการนำเสนอเนื้อหาที่เข้าถึงง่าย คุณจูเนียร์และคุณนิค จึงดึงจุดแข็งในความเป็นตัวของตัวเองที่เป็นรากเหง้าของไทยรัฐมาแต่เก่าก่อน ต่อยอดพัฒนาให้เข้ากับพฤติกรรมของลูกค้าในยุคดิจิทัล วางตัวเองเป็น content provider ที่จะเอาไปปรับเอาไปวางไว้ที่แพลตฟอร์มไหนก็ได้ ที่จะมีคนอ่านคนดู “ลูกค้าอยู่ที่ไหน เราก็เอาตัวเองไปอยู่ที่นั่น”
จึงเกิดแพลตฟอร์มใหม่ไทยรัฐออนไลน์ และไทยรัฐทีวี ขึ้นตามลำดับ ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐยังคงผลิตตีพิมพ์ถึงแม้ยอดจำหน่ายจะลดลง ก็ยังคงรักษาฐานผู้อ่านเดิมไว้ แต่วางกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าใหม่ให้แต่ละ product มุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
- เทคโนโลยีล้ำนำสมัย
ทั้งจากการได้รับถ่ายทอดปลูกฝังและเรียนรู้ ให้ทันต่อสถานการณ์โลก อัพเดตข้อมูลความก้าวหน้าอยู่เสมอ ทายาท gen. 3 จึงศึกษานวัตกรรมทางฝั่งตะวันตกมาปรับประยุกต์ใช้กับกลุ่มลูกค้าได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยรัฐเข้าถึงผู้ใช้บริการได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น data visualization ที่ไทยรัฐทีวีนำมาใช้ประกอบการรายงานเนื้อข่าวที่มีความซับซ้อนให้สามารถเข้าใจได้อย่างง่าย
ไม่เพียงเท่านั้น ไทยรัฐออนไลน์ยังได้นำ AI และ Machine Learning มาวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมลูกค้า เพื่อที่จะได้รู้จักลูกค้าของตัวเองอย่างลึกซึ้ง เพราะไทยรัฐรู้ว่าความสนใจของคนแต่ละกลุ่มนั้นไม่เหมือนกัน
ไทยรัฐออนไลน์จึงได้มีการปรับรูปโฉมเว็บไซต์ใหม่ รีแบรนด์เพิ่มความเขียวสดใส กระฉับกระเฉง และสื่อถึงความทันสมัยมากขึ้น ด้วยโลโก้แปลกใหม่แต่สบายตา นำตัวอักษร T และ R มาออกแบบร่วมกัน แต่ยังคงเฉดสีเขียวสีเดิมที่เป็นภาพจำของไทยรัฐมาแต่ดั้งเดิม และลักษณะของโลโก้ที่คล้ายเลขหนึ่งได้ตอกย้ำถึงการเป็นตัวจริงและเป็นที่หนึ่งเสมอมา
ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ยังมีการคิดพัฒนาต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ไทยรัฐ อย่าง MIRROR เป็นการนำเสนอ content ที่ตอบโจทย์ผู้หญิง และ PEEPZ ที่มุ่งเสนอความเป็นตัวของตัวเองของวัยรุ่นกลุ่มเจน Z ทั้งสองแบรนด์ใหม่เป็นการวาง content ให้อยู่ในรูปแบบวีดีโอบนโลกออนไลน์ที่หวังได้ใจคนรุ่นใหม่
วันนี้ไทยรัฐยังคงยืนหยัด มีผลประกอบการที่ได้กำไร ถึงแม้ตัวเลขในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2557 แต่เป็นที่น่าสนใจว่าสัดส่วนรายได้ของไทยรัฐออนไลน์กับไทยรัฐทีวีกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
- สำเร็จได้ในยุคดิจิทัล
1) ใช้จุดแข็งเกาะกุมโอกาส
ต้องรู้ว่าเรามีอะไรดี ที่คนอื่นไม่มี ให้ต่อยอดจากสิ่งนั้นร่วมกับโอกาสจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่จะเสริมข้อดีของเราให้โดดเด่น แล้วพัฒนาวิ่งนำคู่แข่งและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น ไทยรัฐมีจุดเด่นเรื่องการนำเสนอเนื้อหา และรู้ว่าโลกจะเปลี่ยนยังไง content ไม่มีวันตายจากโลกนี้ จึง positioning ตัวเองให้เป็น content provider และทุ่มทุนกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเสริมทัพให้การนำเสนอตอบโจทย์ผู้ใช้งานยิ่งขึ้น
2) กลยุทธ์ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
“จับทางได้ เข้าทางเรา ยังไงก็ชนะเลิศ” เมื่อรู้ว่าลูกค้าเราเป็นใคร ต้องทำความรู้จักและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยุคเริ่มแรกไทยรัฐใช้วิธีสังเกตความต้องการของลูกค้า ต่อมาใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ประมวลผลพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่ม แล้วจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามกลุ่มนั้น ๆ
3) เดินนำหน้าการเปลี่ยนแปลง
ไทยรัฐพัฒนาตัวเองให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นพลวัต ศึกษาตลาดในเชิงลึก พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มแพลตฟอร์มตามเทรนด์เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ และปรับโยกฐานลูกค้าจากแพลตฟอร์มเดิมให้ค่อย ๆ ตามมาที่แพลตฟอร์มใหม่
ขอเพียงให้มองเกมการแข่งขันให้ออก ตีโจทย์ให้แตก แล้วเดินหน้าในเชิงรุก เราก็จะก้าวทันไปกับโลกที่ไม่เคยหยุดหมุนแม้สักนาที
เขียน : บอส
ภาพประกอบ : สมองไหล
อยากรู้เรื่องอะไร อยากอ่านบทความเเบบไหน ส่งคำถามมาให้ "สมองไหล" ได้ง่ายๆ เพียง “กดลิ้ง” ข้างล่างนี้ได้เลย
Reference :
โฆษณา