8 ก.พ. 2020 เวลา 12:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารไหนได้/เสียประโยชน์?
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้แบงก์ชาติได้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% เหลือ 1.00% เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาอย่างเต็มตัว
เมื่อมีการปรับดอกเบี้ยนโยบาย อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบโดยคงหนีไม่พ้นกลุ่มการเงินที่มีแบงก์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ
ต้องขออธิบายก่อนว่าธุรกิจธนาคารมีรายได้หลักเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นรายได้สินเชื่อ รายได้รายการระหว่างธนาคาร(เป็นส่วนที่ธนาคารต่างๆใช้บริหารสภาพคล่อง เนื่องจากธนาคารมักกระจายเงินสดที่มีไปลงทุนและเมื่อต้องปล่อยสินเชื่อจำนวนมากๆเงินสดอาจขาดมือได้จึงต้องกู้เงินจากธนาคารอื่นมาหมุนเวียนก่อน) รายได้จากการลงทุน และ บางธนาคารอาจจะมีรายได้จากประกันด้วย
เราจะเน้นโฟกัสที่รายได้สินเชื่อของธนาคารเนื่องจากเป็นรายได้หลักและยังได้รับผลกระทบโดยตรง
รายได้สินเชื่อจะแบ่งเป็น รายได้ดอกเบี้ยคงที่(Fixed Rate) และ รายได้ดอกเบี้ยลอยตัว(Float Rate)
BBL Fixed Rate 31% Float Rate 65%
KBANK Fixed Rate 24% Float Rate 65%
KTB Fixed Rate 26% Float Rate 69%
SCB Fixed Rate 50% Float Rate 48%
BAY Fixed Rate 41% Float Rate 52%
TMB Fixed Rate 34% Float Rate 65%
KKP Fixed Rate 62% Float Rate 33%
TISCO Fixed Rate 86% Float Rate 10%
TCAP Fixed Rate 72% Float Rate 28%
LHFG Fixed Rate 52% Float Rate 48%
*ส่วนที่ยังไม่ครบ 100% เป็นอื่นๆ
1
การลดดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลเสียต่อธนาคารที่มีดอกเบี้ยลอยตัว(Float Rate)เยอะๆ เพราะรายได้ของธนาคารเหล่านี้จะลดลงจากการที่ต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามดอกเบี้ยนโยบาย
ส่วนธนาคารที่มีดอกเบี้ยคงที่(Fixed Rate) มากๆ ถึงแม้รายได้จะไม่เปลี่ยนแปลงแต่รายจ่ายลดลงจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงและดอกเบี้ยการออกหุ้นกู้ที่ต่ำลง(ถ้าไม่โดนปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ)
เพราะฉะนั้นกลุ่มธนาคารที่เน้นปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่อย่าง KKP, TISCO, TCAP ที่เน้นปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จะได้รับประโยชน์ในครั้งนี้
ส่วนธนาคารอื่นๆจะเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์น้อยเนื่องจากมีสัดส่วนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว(Float Rate) ที่สูงกว่า
รายได้อีกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ รายได้จากประกัน เนื่องจากธุรกิจประกันจะนำเงินเบี้ยประกันของลูกค้าไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้
เมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดลงจึงทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำลงไปด้วย ถ้าใครลองสังเกตุรายได้ของกลุ่มที่เป็นประกันจะเห็นว่าลดลงพอสมควร โดยธนาคารที่ถือหุ้นในบริษัทประกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ KBANK และ TCAP
และเมื่อ TCAP เสียประโยชน์จากประกันทำให้ธนาคารที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือ KKP และ TISCO ส่วน KBANK นั้นเสียประโยชน์มากที่สุด
ปล.ยังต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆประกอบก่อนตัดสินใจลงทุนไม่ว่าจะเป็น รายได้และค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย, NPL, ภาพรวมอุตสหกรรม และ การปรับตัวต่อ Technology Disruption
ปล.2 ธนาคารที่ได้ประโยชน์อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ดีถ้าหากซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไป และธนาคารที่เสียประโยชน์อาจจะเป็นการลงทุนที่ดีมากหากได้มาในราคาถูกพิเศษ
The Owner ลงทุนหุ้นอย่างเจ้าของกิจการ
สนับสนุนให้ทุกท่านลงทุนอย่าง รู้จริง ปลอดภัย และ ยั่งยืน
Reference
56-1 งบการเงิน และ รายงานประจำปี ของบริษัทในกลุ่มธนาคาร
โฆษณา