7 ก.พ. 2020 เวลา 06:55
💪 ไทยไม่ได้ไป "ย ก น้ำ ห นั ก" โอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น
2
💙 แม้ว่าปีนี้เราจะไม่ได้เห็นทีมยกน้ำหนักหญิงและชายในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็รอดูผลงานของทีมนักกีฬายกน้ำหนักไทยต่อในยกอื่น ๆ ได้ แม้ว่าจะมีข่าวว่า คุณบุษบา ยอดบางเตย วางมือจากการเป็นนายกสมาคมแล้ว
เมื่อครั้งหนึ่ง ผมเคยได้เข้าไปสัมภาษณ์คุณ บุษบา ยอดบางเตย (จริง ๆ ผมตั้งใจจะเขียนบล็อกช่วงนี้ เรื่องคุณบุษอยู่พอดี) ซึ่งเธอคือหนึ่งในคนเจ๋ง ๆ ที่ผมเคยสัมภาษณ์มาลงคอลัมน์ ตอนนั้นทีมนักกีฬาไทยเพิ่งได้ชัยชนะจากริโอเกมส์ โอลิมปิกปี 2016
ไทยได้เหรียญทอง 2 เหรียญ จากน้องฝ้าย และน้องแต้ว
หลังจากที่ผมได้รับมอบหมายจากหัวหน้าให้ไปที่ กกท. อาคารเฉลิมพระเกียรติชั้น 20 กับพี่ช่างภาพ ผมคิดว่าแกอาจจะเป็นผู้หญิงที่ดูดุ ๆ เข้าถึงยากหรือเปล่า แต่เมื่อได้พูดคุยกับคุณบุษบา ต้องบอกว่าผู้หญิงคนนี้เจ๋งมาก !
น้องอร (จริง ๆ ผมต้องเรียกว่า พี่อร) ภาพโดย AFP PHOTO / FAYEZ NURELDINE
โอลิมปิกปี 2004 สำหรับกีฬายกน้ำหนักของไทย ตอนนั้นดังพอ ๆ กับวอลเล่ย์หญิงในยุคนี้ โดยคนแรกที่คว้าชัยเหรียญทอง คือคุณอร อุดมพร พลศักดิ์ เจ้าของวลี "สู้โว้ยยย" คือตอนนั้นคนไทยอยู่หน้าจอทีวี ดูการแข่งขันถ่ายทอดสดแบบชิล ๆ ไม่คิดว่าเธอจะทำได้ และทุกคนเรียกเธอว่าน้องอร โดยเธอได้รางวัลเหรียญทองรุ่นไมม่เกิน 53 กิโลกรัมในท่าสแนช 97.5 กิโลกรัม และคลีนแอนด์เจิร์ก 125 กิโลกรัม รวม 222.5 กิโลกรัม และเป็นการทำลายสถิติโลกท่าคลีนแอนด์เจิร์ก
พี่ไก่ ภาพจาก AFP PHOTO / ODD ANDERSEN
ในปีเดียวกัน พี่ไก่ ปวีณา ทองสุก นักยกน้ำหนักหญิงรุ่น 75 กิโลกรัม โดยยกท่าสแนชได้ 122.5 กิโลกรัม และท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 150 กิโลกรัม ตอนนั้นทุกคนลุ้นมากว่าเธอจะทำได้หรือเปล่า และหลายคนจำเธอสลับกับน้องอร
ซึ่งวันนั้นผมได้เจอพี่ไก่ด้วย เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ สวยมาก ไม่มีกล้ามเนื้อเยอะเหมือนตอนแข่งแล้ว
น้องแต้ว
ปี 2016 ที่กรีซ แต้ว พิมศิริ ศิริแก้ว ได้ 2 เหรียญเงินจากกีฬายกน้ำหนักรุ่น 58 กิโลกรัม ที่ลิโอเกมส์ และเคยได้เหรียญทองรุ่น 63 กิโลกรัมที่ซีเกมส์ปี 2011
น้องฝ้าย
น้องฝ้าย สุกัญญา ศรีสุราช ได้เหรียญทองยกน้ำหนักรุ่น 56 กิโลกรัม ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ปี 2016 ไปรอบเดียวกับแต้ว โดยหลังจากที่ยกได้แล้ว เธอก็โยนแท่น กระโดดดีใจน่ารัก เป็นภาพที่ผู้คนจดจำกันไปทั่วโลก ซึ่งหลายคนเห็นเธอเป็นตัวเต็ง เพราะเธอมัดผม 3 จุก เหมือนน้องมะลิ ณ ขณะนั้น ความจริงแล้วมีที่มาที่ไป เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับ
ภาพจาก http://www.nif-tidthai.org
วันนั้นเราได้สัมภาษณ์คุณบุษบา ยอดบางเตย แบบ Exclusive ในห้องประชุมของอาคารการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งคุณบุษนั้นเป็นผู้สนับสนุนนักกีฬามากว่า 30 ปี ถึงขนาดสร้างที่พัก และพาโค้ช มาอยู่กับน้อง ๆ ที่บ้านพักนักกีฬา ที่เชียงใหม่
เนื่องจากผมไม่มีความรู้เรื่องกีฬายกน้ำหนักเลย คุณบุษก็ปูพื้นเล่าให้ฟังว่าเธอมาเป็นนายกสมาคมยกน้ำหนักได้ยังไง?
ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ทำยังไงให้ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ไปสู่โอลิมปิกประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้
1
แม้ว่าเธอจะเข้ามารับตำแหน่งในปี 255่2 ต่อจากสามี แต่ก็ถือว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ดูแลนักกีฬาอาชีพยกน้ำหนักนี้มายาวนานที่สุด (ในประวัติศาสตร์ไทยเลยก็ว่าได้) โดยมีการจัดค่ายนักกีฬาไว้ที่บ้าน และจัดสรรงบประมาณให้ทุกคนได้เรียนหนังสือ
ซึ่งการสัมภาษณ์เป็นไปอย่างเปลือยอก เพราะเล่าตั้งแต่การสรรหานักกีฬามาจากแต่ละอำเภอ ตำบล จังหวัด เด็กที่เข้าสู่การเป็นนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติส่วนใหญ่ เป็นเด็กที่ยากจน และกีฬาประเภทนี้เป็นกีฬาที่ต้องมีวินัยมากกว่าพรสวรรค์ เพราะหากกินอาหารไม่ถูกวิธีไปมื้อหนึ่งก็ทำให้กล้ามเนื้อที่อุตส่าห์สร้างมา เสียรูปได้ และต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
เด็กที่รับมาอยู่ในบ้านพักจะเฉลี่ยประมาณ 30 คน ก็จะมีตั้งแต่อายุ 15 จนถึง 20 ปี ซึ่งทุกคนจะมีรถรับส่งให้ไปเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในสายที่ตัวเองถนัด
ผมเคยสงสัยว่านักกีฬาเมื่อแข่งชนะแล้วไปไหน?
หากไม่ได้กลับมาเป็นโค้ชสอนน้อง ๆ ก็ได้รับตำแหน่งทางทหาร เพื่อที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองที่เรียนมาได้ช่วยเหลือประเทศชาติ และได้รับเงินเดือนต่อไปด้วย
ซึ่งคุณบุษเอง ไม่มีบุตร หรือ ธิดา แต่เธอมีลูก ๆ ที่เป็นนักกีฬามาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ทุกคนเรียกเธอว่า "แม่" และเธอก็มีความสุขที่ได้เป็นแม่ของทุก ๆ คน
1
การดูแลสมาชิกในค่าย เป็นไปอย่างครอบครัว ซึ่งหากเป็นค่ายกีฬาอื่น ก็อาจเป็นในลักษณะ ครู โค้ช กับนักกีฬา ที่นี่บางมื้อก็พาไปรับประทานสเต็กกัน ใครอยากติวหนังสือกับเพื่อน ก็มีรถไปส่ง แต่สุดท้ายทุกคนต้องกลับมาฝึก และไม่ทิ้งทั้งการเรียน และอาชีพนักกีฬา
และคุณบุษ ได้ก่อตั้งกองทุนของนักกีฬาโอลิมปิก โดยหักจากรายได้ที่นักกีฬาแข่งขันชนะแต่ละรอบมาจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นทุนให้กับน้อง ๆ นักกีฬา ทั้งเรื่องการรักษา และสุขภาพในอนาคต ซึ่งเราก็มักจะได้ยินเรื่องที่ว่านักกีฬาเหรียญทองประเภทอื่น ได้รับเงินรางวัลมาแล้วก็ใช้จนหมด
ยังมีอีกหลายเรื่องในห้องสัมภาษณ์วันนั้นที่ผมอาจจะเก็บมาเล่าไม่หมด แต่อีกเรื่องที่ผมประทับใจก็คือ ทำไมวันนั้นน้องฝ้ายมัดผม 3 จุก ดูเป็นภาพที่น่ารักมาก หากเป็นโค้ช หรือหัวหน้าคนอื่น ๆ คงให้แกะออกแล้วมันดี ๆ
คุณบุษบอกว่า วันนั้นเป็นวันสำคัญของน้องฝ้ายที่ทุ่มฝึกฝนมาตลอดชีวิต แต่การออกสนามใหญ่ ๆ ครั้งแรกของฝ้ายนี้ทำให้เธอสั่นมาก การเป็นผู้คุมทีมนอกจากจะเตรียมความพร้อมเรื่องร่างกาย และอาหารให้กับทีมแล้ว จะต้องดูแลเรื่องจิตวิทยาด้วย และเธอได้กล่าวให้กำลังใจน้องฝ้ายว่า แม่ไปดูดวงมา ว่าวันนี้ฝ้ายต้องชนะ เพราะฝ้ายเป็นลูกเจ้าแม่ มีพละกำลังเหมือนนาจา
ปรากฎว่า น้องฝ้ายหายสั่น และชนะจริง ๆ
1
(ความจริงส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝน ที่ตอนเตรียมตัว ฝ้ายได้ยกน้ำหนักที่มากกว่าตอนแข่ง และฝ้ายก็ทำได้)
สุดท้าย หน้าที่สำคัญของหัวหน้าโค้ช และผู้คุมทีม ที่คุณบุษได้ทิ้งท้ายไว้นั้นโดนใจผมมาก เธอกล่าวว่า
การดูแลนักกีฬา ต้องดูแลทั้งความผิดหวัง และคาดหวังด้วย
ใครที่ท้อแท้ สภาพจิตใจไม่ดี ก็ต้องเข้าไปสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรที่ช่วยได้ไหม? เพราะการเอาลูกเขามาเลี้ยง ก็ต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด
การเป็นนักกีฬาเหรียญทองมันเปลี่ยนชีวิตของเด็ก ๆ สักคน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ตัวเขา แต่เป็นครอบครัวของเขาด้วย จึงต้องย้ำตอนท้อแท้เสมอว่าหากอยากให้พ่อแม่อยู่สบาย ก็ต้องกตัญญู และ อดทน
ขอบคุณ กองบรรณาธิการทิศไท ที่ให้ผมได้มีโอกาสพบคุณบุษบา ในครั้งนั้นครับ
07.02.2020
แม้ว่าปีนี้ มีปัญหาที่ไทยไม่ได้ไปแข่งที่โอลิมปิก และคุณบุษก็ได้ลาออกจากตำแหน่งหน้าที่นี้แล้ว หวังว่านายกสมาคมท่านต่อ ๆ ไป จะไม่ทิ้งการดูแลเยาวชน และส่งเสริมพวกเขาให้ดีไม่แพ้คุณบุษนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา