10 ก.พ. 2020 เวลา 14:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมการอาฆาตและการนินทาจึงดีกับสังคม ?
หมายเหตุ : บทความนี้ย่อและเรียบเรียงใหม่มาจากหนังสือ 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 2 ที่เขียนไว้ในปี 2557
1.
เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมมนุษย์เราถึงชอบนินทา ?
1
ทำไมการนินทาจึงเป็นเรื่องสนุก ที่คนเกือบทุกยุคทุกสมัย และมนุษย์ทุกวัฒนธรรมทั่วโลก ชอบทำกัน จนเรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญานหนึ่งของมนุษย์
แล้วเคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมมนุษย์จึงความรู้สึกเคียดแค้น มีความรู้สึกอาฆาต พยาบาท ?
คำตอบคือ พฤติกรรมทั้ง 2 นี้ถูกคัดเลือกมา เพราะเป็นพฤติกรรมที่ช่วยให้มนุษย์ (ยุคหิน) อยู่เป็นสังคมได้อย่างสงบสุขมากขึ้น
และพฤติกรรมทั้ง 2 นี้ยังเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
2.
ในธรรมชาติการที่สัตว์จะมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมใหญ่ได้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ
การที่สัตว์จะอยู่เป็นสังคมด้วยกันได้มันจะต้องมีเครื่องมือบางอย่างที่จะยึดสมาชิกทั้งหลายในสังคมเข้าไว้ด้วยกัน
พฤติกรรมที่ช่วยยึดสัตว์ตระกูลลิงทั้งหลายรวมไปถึงชิมแปนซีเข้าไว้เป็นฝูงเดียวกันนั้นคือการหาเห็บหาเหาเกาหลังให้แก่กันและกัน ภาษาทางการเรียกพฤติกรรมนี้ว่า grooming
4
ใครได้เคยไปเห็นลิงในสวนสัตว์หรือในป่า อาจจะเคยสังเกตว่าแต่ละวันลิงมันจะหมดเวลาไปกับการหาเหาทั้งวัน ถึงเราไม่นั่งเฝ้าดูมันทั้งวันก็อาจจะสังเกตว่าไปทีไรมันจะหาเหาให้กันเรื่อยเลย
2
พฤติกรรมนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อความสะอาดอย่างเดียวครับ
แต่การที่นิ้วมือของลิงลูบผ่านไปตามขนจะมีผลทำให้เกิดความผ่อนคลาย สงบ และเกิดการหลั่งของฮอร์โมนชื่อออกซีโตซินที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกผูกพันกันออกมาด้วย
เราพอจะเดาได้ว่าความรู้สึกของมันคงไม่ต่างกับความรู้สึกของเราตอนเด็กๆ ที่นอนหนุนตักให้คุณยายลูบผมหรือเกาหลัง หรือการไปสระผมตามร้านของผู้หญิง
เพราะทางชีววิทยามนุษย์เราเองก็เป็นลิงใหญ่สายพันธุ์นึงเช่นเดียวกับชิมแปนซี
1
การเกาหลังหาเห็บจึงเท่ากับเป็นการสื่อสารระหว่างลิงว่า เราเป็นพวกเดียวกัน สบายใจได้ ไม่ต้องกลัวเรา มีอะไรเราจะช่วยนายเอง
1
การ grooming ของลิง
ลิงที่เกาหลังให้กันบ่อยๆ มีแนวโน้มที่จะแบ่งอาหารให้กันหรือป้องกันซึ่งกันและกันบ่อยกว่าลิงที่ไม่ค่อยเกาหลังให้กันอย่างเห็นได้ชัด
1
แต่การที่พฤติกรรมเกาหลังนี้จะทำงานได้จริง ลิงจะต้องมีความสามารถที่จะจำได้ว่าใครเป็นใคร ใครบ้างที่เกาหลังให้ฉันบ่อยๆ ลิงตัวไหนเกาหลังให้ลิงตัวไหนบ่อย (ใครเป็นพวกใคร)
1
ใครที่ฉันเคยเกาหลังแต่พอฉันเดือดร้อนกลับไม่ช่วยฉันเลย (ใครหักหลักฉัน)
ซึ่งความสามารถในการจดจำการเมืองที่ซับซ้อนเช่นนี้ได้ ลิงจะต้องมีสมองที่ทรงพลัง สังคมยิ่งซับซ้อน สมาชิกในสังคมยิ่งมาก ยิ่งต้องคิดต้องจำมาก ใครมีความจำดีกว่า อ่านการเมืองในฝูงได้เก่งกว่าก็จะได้เปรียบ หาพวกได้มากกว่า มีโอกาสทางสังคมที่ดีกว่า
2
ดังนั้นสังคมที่ซับซ้อนนี้จะบีบให้เกิดการคัดเลือกสมองที่ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในบรรดาสัตว์ตระกูลลิงทั้งหมด มีลิงอยู่สองสายพันธุ์ที่มีวิธีการผูกสัมพันธ์ที่พิเศษและแตกต่างไปจากลิงอื่นๆ
ลิงสายพันธุ์แรกคือ ลิงโบโนโบ (Bonobo) ซึ่งใช้เซ็กส์ระหว่างเพศเดียวกันในการสร้างสายสัมพันธ์
ลิงสายพันธุ์ที่สองคือ มนุษย์ ที่ใช้การนินทาสร้างความสัมพันธ์
3.
ลิงโบโนโบเป็นลิงสายพันธุ์หนึ่งเป็นญาติสนิทของลิงชิมแปนซี
ที่มาของโบโนโบนั้นเชื่อว่าเกิดจากการที่ลิงชิมแปนซีกลุ่มหนึ่งถูกจำกัดบริเวณเมื่อลักษณะทางภูมิศาสตร์เปลี่ยนไป (แม่น้ำเปลี่ยนทิศทางไหล)
ทำให้ลิงชิมแปนซีกลุ่มนั้นไม่สามารถติดต่อกับชิมแปนซีอื่น แล้วสุดท้ายแยกวิวัฒนาการจนกลายเป็นลิงสปีชีส์ใหม่ที่มีพฤติกรรมหลายๆอย่างต่างไปจากชิมแปนซีมาก เช่น
ลุกขึ้นเดินสองขาบ่อยครั้งกว่า การเดินสองขาก็เดินตัวตรงมากกว่าชิมแปนซี
ท่าผสมพันธุ์ท่าหลักของมันจะไม่เข้าด้านหลังเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ แต่จะนิยมทำท่ามิชชันนารี (สะดือชนกัน) ซึ่งคล้ายกับที่นิยมกันในมนุษย์
4
ในแง่ความเชื่องหรือรักสงบ ลิงโบโนโบจะดุร้ายน้อยกว่าชิมแปนซีมากและอาจจะดุร้ายน้อยมนุษย์เสียด้วยซ้ำ
2
สำหรับเคล็บลับของความสันติในสังคมนั้นอยู่ที่การใช้ “เซ็กส์เพื่อสันติ”
1
การแสดงความเป็นเพื่อนระหว่างลิงโบโนโบด้วยกันเองมันจะไม่ทำแค่การหาเหาหรือลูบคลำไปตามร่างกาย แต่มันจะใช้เซ็กส์
เมื่อลิงโบโนโบสองตัวเริ่มมีความแย้งระหว่างกันขึ้น มันจะเจรจากันด้วยเซ็กส์กัน แล้วความขัดแย้งนั้นก็จะหายไป
1
โดยเซ็กส์เพื่อความสันติในโบโนโบจะไม่จำกัดเพศของการมีเซ็กส์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างตัวเมียกับตัวเมีย ตัวผู้กับตัวเมีย หรือตัวผู้กับตัวผู้
3
การทักทายระหว่างตัวเมียด้วยกันบางครั้งจะทำด้วยการทำออรัลเซ็กส์ให้กันบ้าง ใช้อวัยวะเพศถูกันบ้าง
2
ตัวผู้บางครั้งก็ใช้วิธีการอวัยวะเพศถูกันไปมา (เหมือนการดวลดาบ) บ้างเช่นกัน
3
เมื่อโบโนโบมีเซ็กส์กันเกือบตลอดเวลา สังคมของมันจึงเปี่ยมล้นไปด้วยฮอร์โมนออกซีโตซินที่หลั่งออกมาจากสมอง
ลิงโบโนโบจึงเป็นลิงที่รักกัน และมีสังคมที่สงบสุขที่สุดในสัตว์ตระกูลลิงทั้งหมด
1
4.
กลับมาที่มนุษย์
เราเองก็แสดงความรักต่อกันด้วยการสัมผัส ยายกอดหลาน พ่อกอดลูก คู่รักกอดกัน เวลาเราเศร้าแล้วเพื่อนมาโอบไหล่หรือลูบหลังปลอบ เราจะรู้สึกอบอุ่นขึ้น ความเจ็บปวดจะลดลง
แต่ปัญหาของการสื่อสารด้วยการสัมผัส เกาหลัง มันก็มีข้อจำกัด เพราะเมื่อสังคมใหญ่ขึ้น เราก็ไม่สามารถไปจะเกาหลังหรือคลอเคลียให้กันได้ทุกคน
ขนาดลิงชิมแปนซีสังคมเล็กกว่ามนุษย์ยังหมดเวลาไปกับ “การเกาหลังให้กัน” ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของเวลาที่มันตื่น
2
ถ้าสังคมใหญ่กว่านี้ เวลาที่สมาชิกต้องใช้ในการเกาหลังให้ทั่วถึงกันก็จะยิ่งต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้นวิธีการเช่นนี้จึงไม่สามารถใช้ในสังคมที่ใหญ่ขึ้นได้
ในการที่ลิงสายพันธุ์ใด สายพันธุ์หนึ่ง จะวิวัฒนาการมาอยู่เป็นสังคมที่ใหญ่กว่าชิมแปนซีได้ ลิงพันธุ์นั้นต้องมีเครื่องมืออื่นที่จะผูกสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นพวกไหน
เครื่องมือที่วิเศษพบได้เฉพาะในสังคมมนุษย์เท่านั้นก็คือ การนินทา
2
5.
ความน่าสนใจของพฤติกรรม “นินทา” คือ
เป็นพฤติกรรมที่ไม่ต้องสอน ไม่ต้องฝึก ตามร้านหนังสือทั่วไปไม่มีหนังสือเล่มไหนสอน how to นินทา
5
ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าเราจะบอกว่าการนินทาเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่มนุษย์ก็ยังนินทา แม้แต่คนที่สอนคนอื่นไม่ให้นินทาก็ยังชอบนินทา
2
การนินทาเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้เอง เด็กอนุบาลเมื่อเริ่มไปโรงเรียนกลับมาบ้านก็อดไม่ได้ที่จะเอาเรื่องไม่ดีของเพื่อนๆ มาเล่าให้แม่ฟัง
2
ถ้าเรามาพิจารณาดู การนินทามันยังมีลักษณะที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น
1
เรื่องที่นินทาจะต้องเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องไม่ดีที่เขาไม่อยากให้คนอื่นรู้ (ถ้าเป็นเรื่องดีหรือรู้กันทั่วมันก็ไม่ใช่การนินทา)
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเพศ (ยิ่งผิดศีลธรรมยิ่งคุยมัน)
เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ (ใครจะได้เป็นหัวหน้าคนใหม่ ใครแอบเลื่อยขาเก้าอี้ใคร ใครหักหลังใคร)
เป็นเรื่องของความขัดแย้ง (ใครอิจฉาใคร ใครไม่ถูกกับใคร) เรื่องของความรัก (คนนี้แอบชอบคนนั้น)
3
ลักษณะอย่างที่สองของการนินทาคือ การนินทามันสนุกปาก รู้สึกมัน เมื่อเรารู้ความลับที่ไม่ดีของใคร เราก็อยากไปเล่าให้คนอื่นฟังต่อ
ลักษณะอย่างที่สามของการนินทาคือ การเอาความลับของคนอื่นมาคุยกัน ช่วยให้รู้สึกสนิทสนมไว้ใจกันมากขึ้น เหมือนเราเป็นพวกเดียวกันมากขึ้น และเมื่อเราได้ฟังเรื่องที่คนอื่นเล่า เราจะอยากเอาความลับที่เรารู้มาเล่าแลกเปลี่ยนให้คนอื่นได้ฟังบ้าง
1
ลักษณะอย่างที่สี่คือ การนินทา การได้เมาท์มอย ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งเป็นการนินทาขณะที่มีคนเกาหัวไปด้วย (เช่นที่ร้านทำผม) ยิ่งผ่อนคลาย
ลักษณะอย่างที่ห้าคือ การนินทาเป็นพฤติกรรมที่เป็นสากลของมนุษย์มาก ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในอดีตหรือมนุษย์ปัจจุบัน มนุษย์ในวัฒนธรรมไหนๆ ก็ล้วนแล้วแต่ชอบนินทากันทั้งสิ้น
4
เมื่อแรกที่นักมานุษยวิทยาชาวตะวันตกไปศึกษาสังคมของคนล่าสัตว์หาของป่า พฤติกรรมหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้มากคือ
คนที่ใช้ชีวิตล่าสัตว์หาของป่าแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือเผ่าที่ไม่ใหญ่มาก แต่จะหมดเวลาไปกับการนินทาเกือบทั้งวัน
เดิมทีเดียวนักมานุษยวิทยาเชื่อกันว่า การนินทา เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ และมีแต่ชาวตะวันตกที่ชอบนินทา ดังนั้นการค้นพบว่ามนุษย์วัฒนธรรมอื่นๆ ก็ชอบนินทาจึงเท่ากับบอกว่า การนินทา เป็นพฤติกรรมที่เป็นสากลของมนุษย์
6
ชนเผ่าที่ไปศึกษาจะนินทากันตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรอยู่ก็ตาม เช่น สร้างบ้าน เดินหาของป่า นอนเล่น เมื่อคนเหล่านี้เปิดปากคุยกันทีไร หัวข้อที่คุยมักจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีของสมาชิกคนอื่นๆ ในเผ่า
2
ยิ่งเรื่องส่วนตัวยิ่งคุยกันสนุก และเรื่องที่คนให้ความสนใจกันมากเป็นพิเศษก็ไม่พ้นเรื่องบนเตียงของคนอื่น หรือพูดง่ายๆคือ พวกเขาชอบดราม่าไม่ต่างไปจากคนในวัฒนธรรมอื่นๆ
1
6.
แต่มีสิ่งหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาสังเกตเห็นว่าการนินทาในสังคมคนล่าสัตว์หาของป่าต่างไปจากสังคมตะวันตกคือ การนินทาในสังคมตะวันตกซึ่งอาศัยในเมืองใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ชัดเจน (เหมือนเราอ่านข่าวดราม่าดารา)
การนินทาในสังคมล่าสัตว์หาของป่าไม่ใช่การคุยที่เปล่าประโยชน์
แต่การนินทามีหน้าที่ซึ่งสำคัญมากสำหรับคนที่อาศัยในสังคมล่าสัตว์หาของป่า
ในสังคมล่าสัตว์หาของป่าที่อยู่กันเป็นเผ่า คนในเผ่ารู้จักกันทุกคน เป็นสังคมที่ไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีเว็บบอร์ด ไม่มีทวิตเตอร์ การนินทาเป็นช่องทางสำหรับการส่งต่อข้อความระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ (กระจายเร็ว)
5
การได้รับรู้เรื่องส่วนตัวของคนอื่นๆในเผ่าที่รู้จักกันทุกคนมีความสำคัญต่อการอยู่รอดเป็นอย่างมาก
ใครนอนกับใคร เด็กคนนี้ลูกใคร ผู้ชายคนไหนมีลูกแล้วไม่รับผิดชอบ ใครพวกใคร ใครเกลียดใคร ใครหักหลังใคร ใครวางแผนจะโค่นหัวหน้าเผ่า เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการเอาตัวรอดหรือได้ดิบได้ดีในเผ่าทั้งนั้น
2
หน้าที่อย่างที่สองของการนินทาคือการควบคุมความประพฤติของคนในสังคม
ลองนึกภาพดูนะครับ สังคมของคนล่าสัตว์หาของป่าเป็นสังคมเล็ก คนส่วนใหญ่เกิดและตายในเผ่าเดียวไม่มีการย้ายไปที่ไหน ตลอดทั้งชีวิตของคนๆ หนึ่ง จำนวนคนที่จะได้เจอและทำความรู้จักก็จะมีแค่คนในเผ่าทั้งนั้น
การโดนนินทาจึงเป็นเรื่องน่ากลัวและน่าอับอายมาก ยิ่งถ้าทำสิ่งที่คนรังเกียจทำเรื่องอันตรายแล้วโดนขับออกจากเผ่าก็ไม่ต่างอะไรจากคำสั่งประหารในปัจจุบัน เพราะการต้องใช้ชีวิตในธรรมชาติคนเดียว โอกาสจะโดนสัตว์อื่นหรือเผ่าอื่นสังหารมีสูงมาก
1
ในสังคมที่ไม่มีตำรวจ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีศาลเช่นนี้ การนินทาจึงเป็นวิธีการควบคุมพฤติกรรมของคน ที่ดีมากวิธีหนึ่ง
2
แต่บางครั้งการนินทาก็ไม่เพียงพอ การลงโทษทางสังคมขั้นต่อไปคือการโดนรังเกียจ การพูดจากถางถางล้อเลียนต่อหน้าโดยตรง
สำหรับคนในสังคมเล็กๆ และไม่มีทางย้ายหนีไปสังคมอื่นได้ ต้องอยู่ในสังคมนั้นไปตลอดชีวิต การโดนล้อเลียนให้เสียชื่อเสียงไปทั่ว จะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก
โดยสรุปเราพอจะพูดสั้นๆได้ว่าการนินทาเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่ทำให้มนุษย์กลัวการประพฤติปฏิบัติในำสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ
และก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด นับตั้งแต่มนุษย์เกิดขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ 2-3 แสนปีที่แล้ว
แต่เมื่อมนุษย์เปลี่ยนจากการอยู่เป็นเผ่ามาอยู่ในเมืองใหญ่ เมื่อ 5-6 พันปีที่แล้ว ความสำคัญของ “การนินทา” จึงค่อยๆลดลง
แต่สัญชาตญานนั้นก็ยังคงอยู่ ทุกวันนี้แม้ว่าการชอบนินทา การไปรู้เรื่องส่วนตัวคนอื่น การตามข่าวดราม่าทั้งคืนจะไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อชีวิต
แต่สัญชาตญานนี้ก็ยังคงอยู่ในพันธุกรรมและในสมองของเรา
7.
สัญชาตญาณการชอบนินทานี้ทำงานรุนแรงถึงขนาดที่มนุษย์บางคนสร้างธุรกิจระดับหลายร้อยหลายพันล้านเพื่อหากินกับสัญชาตญาณนี้
ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ ข่าวบันเทิง ข่าวดารา ล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่หากินกับสัญชาตญาณของการนินทา
1
และเพราะการรู้ข่าวคนเดียวมันไม่มัน จะให้สนุกต้องรีทวิต โพสต์ลงไอจีหรือแชร์เฟซบุคต่อให้คนมากดไลค์กันเยอะๆ การรีทวิต แชร์ข่าวดราม่า แชร์ในกรุ๊ปไลน์เพื่อนสนิท จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการนินทาในยุคออนไลน์
1
แต่การนินทา ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะบางคนก็หน้าหนาพอที่จะทนการซุบซิบนินทาได้
สัญชาตญานอีกอย่างจึงวิวัฒนาการมาทำงานร่วมไปด้วย ...
8.
ความรู้สึกอาฆาต อยากแก้แค้น อยากเห็นคนทำผิดถูกลงโทษ เป็นอีกพฤติกรรมที่น่าสนใจ
1
ความรู้สึกนี้ไม่ต้องอธิบายมาก เราทุกคนรู้จักมันดี เป็นความรู้สึกที่เป็นสากล มีมานาน และเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างที่สุด
คนที่รู้สึกว่าตัวเองโดนโกง โดนเอาเปรียบ ไม่ได้รับความยุติธรรม จะรู้สึกแย่ และจะแย่ขึ้นไปอีกถ้าได้รู้ว่าคนที่โกงเรานั้นได้ดิบได้ดีจากการโกงเรา
เราอยากให้คนนั้นโดนลงโทษ สัญชาตญาณนี้มีความรุนแรงถึงขนาดว่าแม้การโกงนั้นจะไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย หรือแม้แต่เรารู้ว่าการโกงนั้นเป็นเรื่องแต่ง เป็นนิยาย เป็นการโกงในภาพยนต์ เราก็ยังอยากให้คนเลวได้รับผลกรรมที่สาสม
ภาพยนต์หรือนิยายที่จบโดยให้เหยื่อของการโดนโกงต้องมีชีวิตที่ตกต่ำและให้คนโกงมีความสุขมีชีวิตที่ดีจะทำให้เราค้างคาใจและไม่พอใจกับการจบแบบนั้น
ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์สารคดี จะพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นจะไม่เจ้าคิดเจ้าแค้นเหมือนมนุษย์ ฝูงกวางที่ยืนเล็มหญ้าแล้วโดนสิงโตจู่โจม หลังการไล่ล่าจบลง กวางตัวอื่นๆก็ดูจะไม่แคร์หรืออยากจะรวมพลังกันแก้แค้นสิงโตที่มากินลูกหรือเพื่อนของมัน กวางสามารถที่จะกลับไปยืนเล็มหญ้าเงียบๆเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้
4
จากการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ในโลกทั้งหมด มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวที่ให้ความสำคัญกับ “การแก้แค้น” อย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด มนุษย์เราต้องการแก้แค้นแม้ว่าเพื่อการแก้แค้นบางครั้งเราต้องแลกบางสิ่งบางอย่างไปมากมาย
9.
ในสังคมล่าสัตว์หาของป่า (สังคมยุคหิน) ที่ไม่มีกฎหมาย ไม่มีตำรวจ ไม่มีศาล สังคมจะดำรงอยู่ได้ ธรรมชาติต้องให้ระบบบางอย่างกับเรามาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม
และหนึ่งในเครื่องมือที่ว่านั้นคือความรู้สึกอยากแก้แค้น อยากเห็นคนทำผิดได้รับโทษในระดับที่สาสมกับสิ่งที่เขาทำไว้
ความอาฆาตจึงเป็นสัญชาตญาณที่จะให้คนในสังคมคอยควบคุมความประพฤติที่ไม่เหมาะสม เพราะเมื่อเราไปทำร้าย เอาเปรียบ หรือไปหักหลังคนอื่นในเผ่า เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะกลับมาเอาคืน อาจจะเป็นวันนี้ เดือนหน้า สิบปีให้หลัง หรือเป็นลูกของเขาที่มาแก้แค้นเมื่อเติบโต
ความกลัวที่จะโดนแก้แค้น จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สังคมยุคหิน อยู่กันอย่างสุขสงบมากขึ้น
1
10.
จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมและลักษณะหลายๆอย่างของมนุษย์ มันไม่ได้ขาวหรือดำในตัวมันเองแต่จะดีหรือเลวขึ้นกับบริบท
พฤติกรรมอย่างการนินทาและความอาฆาตอยากแก้แค้น เคยเป็นพฤติกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมของมนุษย์ในวันที่เรายังอาศัยอยู่เป็นเผ่าที่มีสมาชิก 100-150 คน
พฤติกรรมนี้มีประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์มานานเป็นหลักแสนปี
แต่เมื่อสังคมของมนุษย์เปลี่ยนไปเมื่อไม่กี่พันปีก่อน ก็เกิดการไม่เข้ากันระหว่างพฤติกรรมเดิมกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ทำให้พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นพฤติกรรมที่ “ไม่ดี” ไป
2
คำถามคือ มีอะไรที่ ไม่เข้ากัน ระหว่างร่างกายและจิตใจของมนุษย์กับโลกยุคปัจจุบันอีกบ้าง ?
1
คำตอบคือ เยอะแยะมากมายเลยครับ (มากขนาดที่ผมใช้หลักการนี้ หลักการเดียวเขียนหนังสือออกมาได้หลายเล่มละกัน)
และเพราะความไม่เข้ากันนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหากับมนุษย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความเจ็บป่วยทางกาย ความเจ็บป่วยทางใจ รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ (ซึ่งนำไปสู่วิชาทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ behavioral economics)
ในตอนหน้าเรามาดูตัวอย่างของความไม่เข้ากันอีกสักเรื่อง ดีไหมครับ
เราจะไปดูพฤติกรรมบางอย่างที่เคยมีประโยชน์ในอดีต แต่มีประโยชน์น้อยลงในสังคมทุกวันนี้
เราจะไปคุยเรื่องของการ “การตกหลุมรัก” กันครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าชอบเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของร่างกาย สมองและจิตวิทยาของมนุษย์ แบบนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Bestseller ของผมเอง 3 เล่ม คือ
เรื่องเล่าจากร่างกาย, 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 1 และ 2
สามารถหาซื้อได้จากร้านหนังสือทั่วไป หรือ สั่งซื้อได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์ที่ผมเขียนได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
โฆษณา