11 ก.พ. 2020 เวลา 01:30 • กีฬา
ศึกการชิงนายกสมาคมฟุตบอลไทยจะตัดสินวันพรุ่งนี้ เทียบนโยบายกันตรงๆก่อนเลือกตั้งว่าใครเจ๋งกว่า
สงครามการแย่งชิงนายกสมาคมฟุตบอลคนใหม่ของประเทศไทย จะระเบิดขึ้นแน่นอน ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากฟีฟ่าส่งเอกสารมายืนยันว่า ถ้าหากไทยไม่ยอมเลือกตั้ง มีสิทธิ์ที่ทีมชาติไทยจะโดนแบนจากการแข่งขันทุกระดับ รวมถึงฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกด้วย
สาเหตุที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนอาจจะ "เลื่อน" เพราะ บังยี-วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอล ที่ลงสมัครเลือกตั้งด้วย แต่โดนตัดสิทธิ์เนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่าน ได้ไปยื่นหนังสือขออุทธรณ์และตั้งคำถามว่าทำไมตัวเองถึงโดนห้ามลงสมัคร
ตอนแรกมีข่าวว่าต้องหาข้อสรุปเรื่องบังยีให้ได้ก่อน นั่นแปลว่าอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่เมื่อทางฟีฟ่าออกคำสั่งมาแล้วว่าห้ามองค์กรอื่นใด แทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอล ดังนั้นการเลือกตั้งต้องเกิดในวันที่ 12 ก.พ.เท่านั้น จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้ว
เมื่อตัดวรวีร์ มะกูดีทิ้งไป ทำให้ตอนนี้เหลือแคนดิเดทผู้สมัครแค่ 2 คนเท่านั้น
คนแรกคือเจ้าของตำแหน่งคนเดิม พล.ต.อ.สมยศ พุ่่มพันธุ์ม่วง กับผู้ท้าชิง ดร.ภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.นครสวรรค์ เขต 1 จากพรรคพลังประชารัฐ อดีตประธานสโมสรฟุตบอลนครสวรรค์ เอฟซี
ในตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายกำลังเดินหน้าไล่เก็บคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายอีกไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเราจะไปดูนโยบายกันว่า ฝ่ายไหนมีแนวคิดจะพัฒนาวงการฟุตบอลไทยต่อไปในทิศทางใด
ก่อนจะไปถึงเรื่องนโยบาย จำเป็นต้องอธิบายเรื่อง "วิธีการเลือกตั้ง" ให้เข้าใจก่อน
โดยการเลือกตั้งนายกสมาคม จะไปเปิดให้คนทั่วไปได้เลือก แต่คนที่มีสิทธิ์เลือกคือตัวแทนจากสโมสรต่างๆในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากสมาคมเท่านั้น
แบ่งเป็น ทีมจากไทยลีก T1 (16 ทีม) , ทีมจากแชมเปี้ยนชิพ T2 (18 ทีม), ทีมจาก T3 (14 ทีม) , ทีมจาก T4 (18 ทีม), ทีมอเมเจอร์ลีก (1 ทีม) และ ทีมฟุตบอลหญิง (2 ทีม)
รวมเสียงทั้งหมดที่มีสิทธิ์เลือกตั้งคือ 69 เสียง ซึ่งใครได้คะแนนมากกว่าครึ่งหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะ ได้ตำแหน่งนายกสมาคมไปครอง โดยจะได้อยู่ในวาระ 4 ปี (2563-2567)
เมื่อการเลือกตั้งจะไม่มีเลื่อนแน่นอนแล้ว ทำไมผู้มีสิทธิ์เลือกตอนนี้ จะมาดูนโยบายของทั้งสองคน ว่าใครน่าเชื่อถือ และดูมีทิศทางที่ดีกว่ากัน
จริงอยู่ทั้ง 2 ฝ่ายมีผู้สนับสนุนของตัวเองอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้มีสิทธิ์บางคนที่ยังคงลังเลอยู่ เป็นสวิงโหวต สามารถเลือกฝั่งไหนก็ได้ ตามแต่ว่าจะมีผลประโยชน์อย่างไร ดังนั้นก่อนการเลือกตั้ง เราจะมาเทียบนโยบายของทั้งสองฝ่ายกันแบบตรงๆ
[ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ]
แชมป์เก่า สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เปลี่ยนชื่อสโลแกนหลังจากเดิมใช้ Fair เปลี่ยนมาเป็้น Moving Forward หรือเดินหน้าต่อไป
นโยบายของสมยศไม่ได้เป็นการสร้างสิ่งใหม่ แต่เตรียมเป็นการต่อยอดพัฒนาสิ่งที่วางโครงสร้างเอาไว้อยู่แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้
"4 ปีที่ผมอยู่ในตำแหน่งนายกสมาคม ผมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการกีฬาฟุตบอลมากมาย และสิ่งที่ผมทำ มันไม่ได้ทำเพื่อวันนี้ แต่มันทำเพื่ออนาคตของกีฬาฟุตบอล เรากำลังวางรากฐาน วางระบบการพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอลแบบยั่งยืน มันต้องใช้เวลา" สมยศกล่าว
"ประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขาใช้เวลา 30-40 ปี ผมเพิ่งทำได้แค่ 4 ปี ถ้าไม่มีโอกาสได้สานงานต่อ ก็น่าเสียดาย"
สำหรับนโยบายของสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงหากได้รับเลือกมีดังนี้
1) สานต่อแผนพัฒนายุทธศาสตร์ 20 ปี โดยสมาคมชุดปัจจุบันวางแผนสร้างระบบฟุตบอลไทยไว้ตั้งแต่ปี 2017-2036 โดย 4 ปีที่ผ่านมาอยู่ในช่วง Set the standard หรือวางรากฐาน แต่ในวาระนี้ถ้าได้รับเลือกจะเดินหน้าเข้าสู่สเต็ปต่อไปคือ Develop and quality หรือยุคแห่งการพัฒนา
2) เดินหน้าสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ มวกเหล็ก โดยปัจจุบันกกท.มีที่ดิน 150 ไร่ ที่อ.มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยสมยศประกาศว่าจะผลักดันให้ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติแล้วเสร็จให้ได้ในวาระของตัวเอง โดยมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีศูนย์ฝึกของทีมชาติทุกระดับ ให้เหมือนกับศูนย์ฝึกแกล๊กฟงแต็งของฝรั่งเศส โดยทีมชาติไม่ควรต้องไปเช่าพื้นที่ของเอกชนเพื่อทำการซ้อมอีกแล้ว
3) สมยศเปิดเผยว่า ในการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ สมาคมฯมีที่ดิน แต่ไม่มีเงินทุนในการสร้างศูนย์ฝึก ดังนั้นจึงไปของบประมาณจากกลุ่มคิงเพาเวอร์ให้ช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้
กลุ่มคิงเพาเวอร์ตอบตกลง โดยจะเข้ามาจัดการออกแบบศูนย์ฝึกและทำการจัดสร้างด้วยตัวเอง ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 500 ล้านบาท โดยสมยศกล่าวว่า สมาคมจะไม่แตะต้องเงินตรงนี้ เพียงแค่ต้องการศูนย์ฝึกระดับคุณภาพที่ใช้งานได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตามมีการทำ mou ในข้อสัญญาไว้ด้วยว่า ถ้านายกสมาคมสมัยต่อไปไม่ได้ชื่อสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กลุ่มคิงเพาเวอร์มีสิทธิ์ที่จะยุติการสนับสนุนได้ทันที
4) พาทีมชาติไทยขยับอันดับฟีฟ่า แรงค์กิ้ง ไปอยู่ในเลข 2 หลักให้ได้ ปัจจุบันทีมชาติไทยอยู่อันดับ 113
5) สะสางคดีต่างๆที่คั่งค้างอยู่ สมยศเผยว่า คนที่เคยมีคดีความ หรือทำเรื่องทุจริตต่อสมาคมฟุตบอล เขาจะจัดการคดีความให้เรียบร้อย เพราะถ้าเขาไม่ได้เป็นนายกต่อ คนที่ทำความผิดเหล่านี้อาจจะลอยนวลต่อไปได้
6) แบ่งหน้าที่งานอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 12 ฝ่ายในสมาคมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ส่วนกลางของสมาคม, ฟุตบอลชาย, ฟุตบอลเยาวชน, ฟุตบอลลีกอาชีพ, ฟุตบอลหญิง, ฟุตซอล, ฟุตบอลชายหาด, พัฒนาโค้ช, พัฒนาผู้ตัดสิน, วิทยาศาสตร์และการแพทย์, สปอนเซอร์, แฟนบอล การตลาด และสื่อมวลชน
โดยแต่ละฝ่ายจะมีผู้ดูแลชัดเจนไม่มั่ว ไม่มีใครทำหน้าที่ซ้ำซ้อน
7) เพิ่มเงินรางวัลของฟุตบอลลีก ให้กับทีมที่อยู่ในอันดับสูงๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แต่ละสโมสร อย่างไรก็ตามไม่มีการระบุว่า จะเพิ่มให้เท่าไหร่ และเพิ่มให้อันดับใดบ้าง
นโยบายของ พล.ต.อ. สมยศ ไม่ได้เป็นนโยบายใหม่เสียทีเดียว เนื่องจากเป็นสิ่งที่เขาวางโครงสร้างเอาไว้ตั้งแต่การทำหน้าที่สมัยแรกแล้ว และเป้าหมายคือต้องการพัฒนานโยบายดังกล่าวให้ก้าวหน้าขึ้นในวาระที่ 2 ถ้าได้รับเลือก
[ ภิญโญ นิโรจน์ ]
1
ดร.ภิญโญ นิโรจน์กล่าวในการแถลงนโยบายการลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯสมาคมกีฬาฟุตบอลดังนี้
1
"ผมเป็นอดีตรัฐมนตรี เป็นผู้แทนมา 7 สมัย เป็นกรรมาธิการ รองกรรมาธิการ ที่ปรึกษากรรมาธิการ ตั้งแต่ปี 2535-2548 ผมรู้ปัญหาต่างๆ"
โดยนโยบายที่ตั้งใจจะทำ ถ้าได้รับเลือกมีหลายข้อดังนี้
1) อะไรดีอยู่แล้วจะไม่เปลี่ยน ไม่โละทิ้ง
2) ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศ ควรเพิ่มจาก 16 ทีมในปัจจุบันเป็น 18 ทีม เช่นเดียวกับกับบอลระดับ T2 ก็ต้องคงไว้ที่ 18 ทีมเช่นกัน โดยอธิบายว่าถ้ามีทีมน้อย ก็จะมีแมตช์แข่งน้อย สปอนเซอร์ก็หาย
3) เงินรางวัลต้องเพิ่มมากกว่านี้ ปกติแชมป์ T1 ได้เงิน 10 ล้านบาท แต่ปกติ แต่ละทีมลงทุนมากกว่า 100 ล้าน ดังนั้นรางวัลแค่ 10 ล้านจึงถือว่าน้อยเกินไป เช่นเดียวกับเงินสนับสนุนแต่ละซีซั่นก็ต้องเพิ่มมากกว่านี้ แต่จะเพิ่มเท่าไหร่ ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องดูงบประมาณจากโฆษณาที่ได้รับก่อน
4) ตั้งเป้าหมายกลับไปเป็นแชมป์ซีเกมส์อีกครั้งในปี 2021
5) ตั้งเป้าหมายไปถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายในเอเชียนเกมส์
6) ฟุตบอลหญิงต้องไปฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 และจัดลีกบอลหญิงในประเทศให้ได้
7) ต้องโฟกัสที่ฟุตบอลระดับภูมิภาค โดยเฉพาะ T3 และ T4 เพราะเป็นเวทีป้อนนักเตะขึ้นสู่ลีกใหญ่ และทุกจังหวัดควรมีสโมสรฟุตบอลของตัวเอง
8) ให้สวัสดิการนักเตะทีมชาติในช่วงเก็บตัวในฟีฟ่าเดย์ เท่ากับที่ได้รับจากสโมสร
9) จัดอบรมผู้ตัดสินให้มีคุณภาพกว่านี้ จนก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ "ผมเห็นผู้ตัดสินไทยไปฟุตบอลโลกแค่ครั้งเดียว แต่จากนั้นมาไม่เคยเห็น นี่เป็นเรื่องเกียรติศักดิ์ศรีของผู้ตัดสินให้ก้าวไปข้างหน้าให้ได้" ดร.ภิญโญกล่าว
10) ส่งนักเตะเยาวชนไปอยู่ต่างประเทศ โดยไม่ต้องรอสโมสรเอกชน แต่สมาคมต้องมีงบประมาณในการส่งนักเตะไปต่างประเทศ ไปปั้นด้วยตัวเอง
11) ติดต่อกระทรวงต่างประเทศ เพื่อให้ดึงโค้ชต่างชาติฝีมือดีเข้ามาประจำศูนย์ฝึกต่างๆในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสอนฟุตบอลให้กับเยาวชนได้มีฝีเท้าดีขึ้น และมีโอกาสพัฒนาตัวเองให้เหมือนกับเยาวชนที่อยู่ในกรุงเทพ
12) ผลักดันการสร้างสนามขนาดใหญ่มากกว่า 4 หมื่นที่นั่งเพื่อรองรับการร่วมลุ้นเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2034
โดยนโยบายของ ดร.ภิญโญ นิโรจน์ มีสโลแกนการหาเสียงว่า "ถึงเวลาคนฟุตบอลตัวจริง พาฟุตบอลไทย ก้าวไกลสู่ระดับโลก"
นี่คือนโยบายของทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อเทียบกันตรงๆ ซึ่งสโมสรสมาชิกทั้ง 69 คน คงต้องลองพิจารณาว่านโยบายของใครมีความเข้าตามากกว่ากัน และคู่ควรกับการเป็นนายกฯสมาคมฟุตบอลสมัยต่อไป
โดยการเลือกตั้งจะมีวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ไม่มีเลื่อนแน่นอน ระหว่าง สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กับ ภิญโญ นิโรจน์ ใครจะเป็นผู้ชนะ จะได้ข้อสรุปในวันนั้นเลย
และคนที่ได้รับเลือกจะได้กุมทิศทางของฟุตบอลไทย ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567
โฆษณา