13 ก.พ. 2020 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! หน้ากากอนามัย
เรื่องเด็นประเด็นร้อนตอนนี้คงหนีไม่พ้น “ไวรัสโคโรนา” ที่กำลังระบาดในหลายพื้นที่ การป้องกันที่ดีที่สุดตอนนี้คือ “การสวมใส่หน้ากากอนามัย” ซึ่งเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของคนไทยที่เชื้อโรคก็มาระบาดในขณะที่ปริมาณฝุ่นPM 2.5 ก็ยังไม่คลี่คลายแต่อย่างใด เหตุนี้ความต้องการ “หน้ากากอนามัย” ของคนในประเทศจึงสูงมาก แม้ภาครัฐจะยืนยันว่าไม่ขาดแคลนแต่ความเป็นจริงของชาวบ้านตอนนี้คือ “หาซื้อไม่ได้เลย” แถมยังมีราคาสูงในบางพื้นที่อีกต่างหาก
 
www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าเรื่องของ “หน้ากากอนามัย” เป็นสิ่งที่คนสนใจและกลายเป็นของที่ “ต้องมี” แต่ถึงแม้จะรู้ว่าสำคัญ ก็ยังมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “หน้ากากอนามัย” ที่น่าสนใจอีกหลายประการ
1. หน้ากากอนามัยกับการเปิดตัวครั้งแรกในโลก
ช่วงไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดในปี 1919 ภาพจาก bit.ly/374jRoc
การใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ที่เห็นเด่นชัดในช่วงนี้ก็คือในประเทศจีนที่กำลังเผชิญปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากดูจากข้อมูลอ้างอิงพบว่าหน้ากากอนามัยถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ทว่ายังไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปจนกระทั่งเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1919 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 50 ล้านคน
2. หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรคดีแค่ไหน?
ภาพจาก bit.ly/2Sp6WYD
ดร.เดวิด แคร์ริงตัน จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้ข้อมูลว่า "หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาที่คนทั่วไปใช้กันนั้นไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่แพร่อยู่ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไม "เชื้อไวรัสส่วนใหญ่" จึงถ่ายทอดสู่กันได้ เนื่องจากหน้ากากชนิดนี้หลวมเกินไป และไม่มีตัวกรองอากาศ อีกทั้งยังไม่มีการป้องกันที่ดวงตา
 
อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัยแบบนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสจากการไอหรือจาม และติดเชื้อจากมือสู่ปากได้ในระดับหนึ่ง สอดคล้องกับงานวิจัยเมื่อปี 2016 จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียบ่งชี้ว่า คนเราใช้มือสัมผัสใบหน้าราว 23 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งการใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยลดสัมผัสของมือที่กระทำต่อใบหน้ามีผลต่อการลดโอกาสนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าเดิม
3. ชนิดของหน้ากากอนามัย
 
สามารถแยกได้เป็น 6 ชนิดคือ
 
1) หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น แบบนี้นิมยมากที่สุด หาซื้อได้ง่ายที่สุด และราคาถูกที่สุด เป็นหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
2) หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้า มีคุณสมบัติเพิ่มเติมคือสามารถทำความสะอาดนำกลับมาใช้ใหม่ได้
3) หน้ากากอนามัย N95 เป็นหน้ากากที่กรองได้ทั้งเชื้อโรคและฝุ่นควันป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ถึง 0.3 ไมครอน ราคาจะแพงกว่าหน้ากากธรรมดาทั่วไป
4) หน้ากากคาร์บอน คล้ายกับหน้ากากเยื่อกระดาษ 3 ชั้น แต่พิเศษตรงที่มีชั้นคาร์บอน สามารถกรองเชื้อแบคทีเรีย ฝุ่นละออง ได้ดีกว่า
5) หน้ากาก FFP1 เป็นหน้ากากที่ให้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย N95 ป้องกันทั้งฝุ่น เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดักจับอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM10 ไม่น้อยกว่า 94% แต่นอกเหนือจาก N95 คือ สามารถป้องกัน สารเคมี ได้อีกด้วย
6) หน้ากากฟองน้ำ ผลิตจากโพลียูรีเทนคาร์บอนสำหรับกรองอากาศโดยเฉพาะ สามารถซักทำความสะอาดได้ แห้งเร็ว พับเก็บไม่ยับสามารถคืนรูปเดิมได้ไม่เสียทรง ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันสามารถกันฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กและเกสรดอกไม้ได้
4. ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด
ภาพจาก bit.ly/399YEe0
ในภาวะปกติความต้องการใช้หน้ากากอนามัยจะอยู่ที่ประมาณ 30 - 40 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นราว 50 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยผู้ผลิตรายใหญ่ 3 รายในประเทศสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้เกิน 100 ล้านชิ้น ภายใน 4-5 เดือน ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่มีโรงงานผลิตรวมกันกว่า 10 แห่งทั่วประเทศ ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาดส่วนหนึ่งเกิดจากการกักตุนสินค้า ส่งผลให้สินค้าขาดแคลน และเป็นปัญหาที่คนไทยกำลังเจออยู่ในขณะนี้
5. คนจีนต้องการ “หน้ากากอนามัย” สูงมากตั้งแต่ปี 2012
ภาพจาก bit.ly/2SmWr8g
อุตสาหกรรมผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศจีนเริ่มต้นจากเหตุการณ์โรคซาร์ส ในปี 2003 และเริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศจีนในช่วงเดือนเมษายนในปีนั้น แต่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่งจะมาบูมจริงๆ นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
 
ด้วยปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 และสภาพอากาศที่เป็นมลพิษอันเกิดจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศจีน และในปี 2013 มีบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากกันฝุ่น จำนวน 500 บริษัท จากนั้นอีก 2 ปีต่อมาจำนวนบริษัทในธุรกิจนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
6. “หมู่บ้านหน้ากาก” แห่งเมืองจีน
ภาพจาก bit.ly/3bj2pzB
ในปี 2015 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหรรมหน้ากากอนามัยสูงถึง 4 พันล้านหยวนหรือประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยโดยมีเขตอุตสาหกรรมหลักอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ในแถบเขตเศรษฐกิจป๋อไห่ โดยเฉพาะในมณฑลซานตง ซึ่งถือเป็นจุดศุนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตหน้ากากอนามัยของจีน
 
นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านต้าเตียน ในเมืองเจี่ยวโจว มณฑลซานตง ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘หมู่บ้านหน้ากาก’ ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตหน้ากากอนามัยที่ถูกที่สุดในประเทศจีน โดยมีกำลังผลิต 1 พันล้านชิ้น/ปี โดยมีมูลค่า 1.1 พันล้านหยวน หรือ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือถือเป็น 80% ของส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมดในประเทศ
7. ทำไม หน้ากากอนามัย “ขาดตลาดในจีน”
ภาพจาก bit.ly/2S5zuaW
อาจจะฟังดูย้อนแย้งเมื่อบอกว่าจีนมีกำลังการผลิต “หน้ากากอนามัย” ได้ปริมาณมากแต่จากข่าวที่ปรากฏคือ มีคนจีนกว้านซื้อหน้ากากอนามัยกลับไปยังประเทศจีนจำนวนมาก เรื่องนี้จากรายงานกระทรวงอุตสาหกรรมประเทศจีน ระบุว่า กว่า 40% ของโรงงานผลิตหน้ากากในประเทศจีนเน้นการส่งออก เมื่อความต้องการมีมาก สินค้าจึงไม่เพียงพอถึงกับต้องสั่งนำเข้าจากตุรกีที่มีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยอยู่ที่ 150 ล้านชิ้นต่อปี แต่จีนมีความต้องการมากถึง 200 ล้านชิ้น จึงต้องสั่งนำเข้าจากประเทศอื่นควบคู่ด้วยทั้งจากอิตี เนเธอแลนด์ ฝรั่งเศส โปแลนด์ และเยอรมนี เป็นต้น
8. จีน “เอาจริง” ปรับเงินสุดโหดคนขาย “หน้ากากอนามัย” เกินราคา
ภาพจาก bit.ly/2SkpBoA
สถานนีโทรทัศน์จีน รายงาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 132 คน และมีผู้ติดเชื้อเกือบ 6,000คนในจีน ล่าสุดทางการจีน มีหนังสือแจ้งปรับไปยังร้านขายยา ปักกิ่ง จื้อหมิ่น คังไถ่ เป็นเงิน 3 ล้านหยวนหรือ 434,530 ดอลลาร์ โทษฐานจำหน่ายหน้ากากอนามัยยี่ห้อ 3M รุ่น N95 แพงเกินจริงถึง 6 เท่าตัว หรือราคากล่องละ 850 หยวน ทั้งที่ราคาขายในออนไลน์อยู่ที่ 143 หยวน
 
โดยทางการจีนได้ควบคุมราคาสินค้าและอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสอย่างเข้มงวด รวมทั้งมีการเพิ่มโทษทางกฎหมายกับผู้ฉวยโอกาสกักตุนสินค้า และรับแจ้งข้อมูลร้องเรียนเกี่ยวกับขายสินค้าแพงเกินจริง โดยที่ผ่านมา มีการสืบสวนสอบสวนเอาผิดผู้กระทำความผิดแล้ว 31 คดี และได้ขอให้ทางร้านคืนเงินให้ผู้ซื้ออีกด้วย
9. หน้ากากอนามัย-เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ กลายเป็นสินค้าควบคุม
ภาพจาก bit.ly/3bj2pzB
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.63 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่า ด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2563 เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม โดยที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าสถานการณ์ ที่หน้ากากอนามัย เจล และแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นสินค้าที่หลายคนมีความต้องการสูงมากจึงจำเป็นจะต้องเพิ่มเติมการกำหนดสินค้าควบคุม เพื่อดูแลป้องกัน การกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม โดยประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เว้นแต่จะมีการออกประกาศใหม่
10. ราคา “หน้ากากอนามัย” ในประเทศไทย (ช่วงความต้องการสูง)
ภาพจาก bit.ly/2vg46NF
แม้กรมการค้าภายในจะประกาศว่าหน้ากากอนามัยในประเทศไทยจะไม่ขาดแคลน เนื่องด้วยโรงงานมีการผลิต 24 ชั่วโมงและจะผลิตได้เกือบ 100 ล้านชิ้น ในเวลา 4 เดือน สวนทางกับเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่หลายเสียงตรงกันว่า “หาซื้อไม่ได้เลย เดินหากี่ร้าน กี่ร้าน ก็ไม่มีของ พอจะสั่งในเน็ต ราคาก็แพงขึ้นไปมากๆ” จากข้อมูลตามหน้าข่าวของผู้ซื้อจากที่เคยซื้อ 4 ชิ้น 20 บาท กลายเป็น 4 ชิ้น 50 บาท หรือร้านขายยาบางแห่งเช่นองค์การเภสัชกรรมตรงข้าม โรงพยาบาลรามา ขายราคาปกติกล่องละ 50 ชิ้น 46 บาท แต่จำกัดคนละ 1 กล่อง และต้องมาเข้าคิว มีบัตรคิว บางทีมีถึง 200 คิว คนที่อยากซื้อต้องมาต่อคิวก่อนร้านเปิด เป็นต้น
 
ถึง ณ ตอนนี้ความต้องการ “หน้ากากอนามัย” ก็ยังมีสูง แต่สินค้ากลับมาไม่ถึงผู้บริโภค ซึ่งก็ไม่รู้ว่าไปอุดตันกันอยู่ตรงไหน แม้ภาครัฐจะยืนยันว่าไม่ขาดแคลน ยืนยันว่าราคาไม่แพง แต่ข้อมูลที่ได้รับรายงานกับความเป็นจริงของประชาชนบางทีมันสวนทางกัน ในภาวะที่สินค้ามีคนต้องการสูงย่อมต้องมีคนไม่หวังดีและคิดกอบโกยผลประโยชน์จากความทุกข์ยากนี้ ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะจัดการในเรื่องนี้ให้จริงจังเพราะลำพังชาวบ้านคงไม่มีอำนาจไปต่อรองหรือทำอะไรใครได้
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaisme
อ้างอิงจาก - https://bit.ly/2w830UP
โฆษณา