11 ก.พ. 2020 เวลา 12:09 • ความคิดเห็น
✈มาเข้าสู่ตลาดโลกกันเถอะ🌍
หลายท่านสงสัยเรื่องการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศหรือเข้าสู่ตลาดโลก
ขอเรียนค่ะว่า การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ มีกลยุทธ์ 3 หมวดใหญ่ๆ คือ
หมวดแรกคือ Trade-based entry mode หรือใช้การค้าขายกับต่างประเทศเป็นหลัก
หมวดที่สองก็เป็น Contract-based entry mode หรือการยึดตามหลักสัญญา
และหมวดที่สามคือ Investment entry mode หรือใช้การลงทุนทางตรงกับประเทศนั้นเป็นหลัก
สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กๆ ก็อาจจะเริ่มต้นด้วย Trade-based entry mode หรือใช้การค้าขายเป็นหลัก
ท่านสามารถส่งออกทั้งทางตรงแบบขายโดยตรงกับลูกค้า หรือทางอ้อมที่ขายผ่านคนกลาง หรือรับจ้างให้บริการแบบที่เรียกว่าเอาท์ซอร์ส ก็ได้ค่ะ
ส่วนลักษณะของ Contract-based entry mode หรือการยึดตามหลักสัญญานั้น ทำได้ในหลายลักษณะ
อย่าง Licensing  ก็คือการที่บริษัทของท่านอนุญาตให้บริษัทคู่ค้าได้สิทธิในการผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้า หรือลิขสิทธิ์ และสิทธิทางการตลาดอื่นๆ ของท่านในประเทศเป้าหมาย
อีกรูปแบบคือ Franchising หรือการที่บริษัทของท่านขายสินค้าหรือบริการในประเทศแล้วประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
ท่านเกิดอยากจะขยายธุรกิจนั้นไปต่างประเทศ ท่านก็อาจจะตกลงทำสัญญาให้สิทธิแก่ franchisee หรือบริษัทผู้ซื้อสิทธิ (ผู้ถือสิทธิ) เพื่อประกอบธุรกิจ ขายสินค้าและบริการ ภายใต้ตราสินค้า เครื่องหมายการค้า หรือบริการของท่าน ซึ่งเป็นผู้ให้สิทธิ หรือ franchisor โดยท่านจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข รวมถึงมาตรฐานต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
4
Franchising เป็นการให้สิทธิยกชุด ทั้ง Brand ตัวสินค้า ระบบงาน ความช่วยเหลือทางการตลาด และบุคลากร ท่านต้องถ่ายทอดความรู้ ให้การฝึกอบรม มีการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ให้กับ franchisee หรือบริษัทผู้ซื้อสิทธิในประเทศนั้นๆ ด้วย
ความแตกต่างระหว่าง Licensing กับ Franchising ก็ตรงที่ Licensing จะได้รับลิขสิทธิ์ หรือได้สิทธิเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้ยกชุดเหมือน Franchising
อีกอย่างคือ Management contracts บางบริษัทสามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศได้โดยการรับจ้างบริหารงานตามสัญญา อย่างเช่น การบริหารงานโรงแรม
ท่านจะเห็นว่า โรงแรมในประเทศไทยหลายแห่งได้ออกสู่ตลาดต่างประเทศโดยได้รับสิทธิในการบริหารโรงแรมในต่างประเทศซึ่งยังขาดความรู้ ความชำนาญ  ในการออกไปรับบริหารงานตามสัญญานั้น จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรในประเทศนั้นๆ ในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นอกจากนั้น กลยุทธ์ Contract-based entry mode หรือการยึดตามหลักสัญญา มีอีกมากมายหลายแบบ
ทั้งแบบ Technology transfer projects ที่เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่ทำร่วมกัน
หรือจะเป็นแบบ Contract manufacturing หรือ subcontracting ซึ่งเป็นลักษณะรับจ้างผลิตตามสัญญาจ้าง
ถ้าท่านเป็นบริษัทก่อสร้างก็อาจจะไปทำสัญญาแบบ Turnkey projects ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ เช่น การสร้างโรงงาน เริ่มตั้งแต่การออกแบบ วางแผน ก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างเสร็จ มีการติดตั้งเครื่องจักร ท่านก็ต้องอบรมบุคลากรให้สามารถใช้เครื่องจักรได้ จนกระทั่งเดินเครื่องจักรผลิตสินค้า จากนั้นท่านก็โอนโรงงานนี้ให้แก่เจ้าของโครงการที่จ้างท่าน จึงจะสำเร็จเสร็จสิ้นทั้งกระบวนการค่ะ
ส่วน Investment entry mode ซึ่งใช้การลงทุนในต่างประเทศนั้น เป็นการลงทุนทางตรง (Direct investment) ส่วนใหญ่บริษัทที่จะใช้วิธีการนี้ มักจะเป็นบริษัทที่มีศักยภาพด้านการเงิน บุคลากรมีความสามารถสูง และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพราะวิธีการนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก การลงทุนในต่างประเทศมีหลายรูปแบบ
อย่าง Joint venture หมายถึง กิจการร่วมค้า หรือการร่วมทุน ส่วนใหญ่โครงการที่จะ Joint venture กันนั้น มักจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หรือไม่ก็ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสูงในการผลิต ซึ่งบริษัทเพียงบริษัทเดียวอาจจะไม่มีความสามารถเพียงพอต่อการรับงานนั้นๆ  เช่น การร่วมทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เป็นต้น
หรือ Wholly-owned subsidiary ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทแม่ลงทุนในประเทศนั้นเองทั้งหมด
หรือ Acquisitions คือ การเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ
และ Greenfield investment ซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ เป็นการเริ่มโครงการ หรือธุรกิจใหม่ทั้งระบบ เป็นการลงทุนที่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่แรก
กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศที่กล่าวไปข้างต้น จะมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร มาคุยกันในตอนต่อไปค่ะ
ขอกำลังใจเพื่อนๆ Blockdit
ฝากกดติดตาม🙇 ชอบถูกใจ👍 ใช่กดแชร์👌 เพจ "ตะลุยตลาดโลก" กันนะคะ
ขอบคุณมากๆ ค่ะ🙏😊
โฆษณา