11 ก.พ. 2020 เวลา 15:43 • บันเทิง
Batman : The Dark Knight (2008)
การเมืองเรื่องก็อตแธม
Batman : The Dark Knight (2008) เป็นภาคต่อของ "Batman Begins" หนึ่งในไตรภาคของหนังชุดแบทแมนอัศวินรัตติกาล ของคริสโตเฟอร์ โนแลน
ในภาคนี้ แบทแมนต้องเจอกับหลายปัญหาที่ประดังเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเหล่าอาชญากรป่วนเมืองที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด แถมยังต้องเผชิญปัญหาหัวใจที่เรเชล (แสดงโดยแมกกี้ จิลเลนฮาล) หนีไปมีใจให้กับอัยการเขตคนใหม่
อีกทั้งเหล่าประชาชนเมืองกอธแธ่มในครานี้ดูรู้สึกไม่ค่อยพอใจกับพฤติกรรมแบบศาลเตี้ยของแบทแมนสักเท่าไรนัก
รวมถึงยังมีเหล่าแบทแมนเก๊ ที่พากันปลอมตัวเป็นแบทแมนตัวจริง สร้างความสับสนเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายที่หนักหนาสุดคงไม่พ้นการที่อาชญากรตัวเอ้ โจ๊กเกอร์ ที่สร้างวีรกรรมสุดโฉดอันนำไปสู่ความวุ่นวายที่ไม่รู้จักจบสิ้น
ประเด็นที่ผู้เขียนอยากนำเสนอจากการชมฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นตอนที่ โจ๊กเกอร์ เอ่ยปากกับอัยการเขตฮาร์วี่เดนท์ ที่ตอนนั้นได้กลายเป็นทูเฟซแล้ว ว่า "ขอต้อนรับสู่อนาธิปไตย" ตรงนี้ได้ทำให้ผู้เขียนฉุกนึกถึงคำว่า "อนาธิปไตย" (Anarchy) และอยากจะบอกเล่าให้ฟังกัน
1
เมื่อกล่าวถึงแนวคิดอนาธิปัตย์นิยม (Anarchism หรือ Libertarian Socialism) ถือได้ว่าเป็นแนวคิดเศรษฐกิจการเมือง แนวสังคมนิยม (Socialism) แบบหนึ่ง ซึ่งมีรากฐานสำคัญโดยมองว่า รัฐหรือสถาบันปกครองไม่มีความเป็นกลาง เป็นสถาบันแห่งการเอารัดเอาเปรียบ และล้วนเป็นต้นตอของการกดขี่ บังคับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ อนาธิปัตย์นิยม จึง "ปฏิเสธอำนาจทางการ" (authority) ทุกรูปแบบ นั่นเพราะว่าการใช้อำนาจทางการของคนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่ง หมายถึงการเอารัดเอาเปรียบ โดยมีรัฐเป็นผู้กุมอำนาจ มีกฎหมายที่บัญญัติเพื่อให้ประชาชนทำตาม อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่คอยบังคับให้กฎหมาย และอำนาจรัฐให้เป็นผล
ดังนั้น เสรีภาพจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากยังมีสถานการณ์ที่มีคนถูกเอารัดเอาเปรียบจากอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมอยู่ ฉะนั้นความสงบเรียบร้อยที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงเป็นสิ่งที่ถูกกดไว้ด้วยอำนาจรัฐ
และถึงแม้ความไม่สงบในสังคมจะเกิดขึ้นบ้างก็ตาม รัฐจะต้องปราบปราม รวมทั้งกำจัด เพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อรักษาอำนาจและความมีอภิสิทธิ์ของตนให้ดำเนินต่อไป
การปฏิเสธอำนาจของสถาบันรัฐ ย่อมหมายถึง การเชื่อในมนุษย์ว่าสามารถที่จะปกครอง และอยู่ร่วมกันเองได้ อนาธิปัตย์นิยมมีความเชื่อในตัวมนุษย์ และเสรีภาพสมบูรณ์ที่จะทำการใดๆ รวมถึงมองว่า มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลในการยับยั้งชั่งใจในการกระทำชั่ว ในแง่ของสังคม แนวคิดนี้เชื่อว่าในสังคมมนุษย์ ไม่ได้มีวิวัฒนาการภายใต้กรอบทฤษฎีของดาร์วิน (Charles Darwin) ที่มองว่าวิวัฒนาการเป็นเรื่องของการต่อสู้ที่จะดำรงชีวิต ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในเผ่าพันธุ์เท่านั้นจึงจะอยู่รอด
ในทางกลับกัน นักคิดในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะปีเตอร์ โครพอตกิ้น (Peter Kropotkin) ได้พิจารณาจากสังคมสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะมด ปลวก และนกต่างๆ พบว่าโดยพื้นฐานธรรมชาติแล้ว สัตว์ชนิดเดียวกันจะช่วยเหลือกันเพื่อต่อสู้กับธรรมชาติ และจะนำมาสู่โอกาสที่จะรอดชีวิตมากขึ้น มากกว่าที่จะต่อสู้กันเอง สำหรับมนุษย์เช่นเดียวกัน อนาธิปัตย์เชื่อว่ามนุษย์อยากรวมตัวกัน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เสรีภาพในมุมมองของอนาธิปไตย จึงมีความแตกต่างกับเศรษฐศาสตร์ กระแสหลักที่อิงกับอุดมการณ์เสรีนิยม (Liberalism) อย่างสำคัญ โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้นเชื่อในเสรีภาพ แต่เป็นเสรีภาพที่ทุกคนเข้าแข่งขันกัน โดยในแบบจำลองนั้นการแข่งขันกันของหน่วยเศรษฐกิจ จะนำพาไปสู่จุดที่ดีที่สุดของสังคมได้
แต่อนาธิปัตย์นิยม กลับเชื่อในเสรีภาพของมนุษย์ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมิต้องมีรัฐเข้ามาใช้อำนาจแทรกแซง จะนำไปสู่ความผาสุกที่แท้ของมวลมนุษย์
อย่างไรก็ตาม การให้ภาพของสังคมแบบอนาธิปไตยโดยโจ๊กเกอร์ในภาพยนตร์นั้น ดูห่างไกลจากความเป็นอนาธิปไตยที่แท้นัก เพราะสังคมแบบอนาธิปไตยคงไม่ได้หมายความว่า ใครจะทำอะไรก็ได้ หรือความชั่วร้ายเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา และทุกคนสามารถก่ออาชญากรรมได้โดยสะดวกโยธิน
แม้ว่าผู้เขียนจะมีความเชื่อว่าภาพยนตร์สามารถเป็นกระจกสะท้อนภาพเป็นจริงทางสังคม เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรมได้ไม่มากก็น้อย แต่การให้ความหมายของบางมโนทัศน์บิดเบือนไปคงเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก เพราะจะนำมาสู่การสร้างโลกทัศน์ที่บิดเบือนต่อมโนทัศน์นั้นให้กับผู้รับสารอีกต่อหนึ่ง
แต่ถึงกระนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดแบบอนาธิปัตย์นิยมนั้นมีสมมติฐานที่สุดขั้วเกินไป โดยมองพื้นฐานของธรรมชาติมนุษย์ ว่าเป็นผู้ที่แสนดีไปเสียหมด โดยรัฐเป็นตัวละครร้ายแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการประเมินมนุษย์ที่มองข้ามมิติด้านกิเลส ตัณหา ที่ชักนำไปสู่ความเห็นแก่ตัว รวมถึงละเลยสัญชาตญาณความโหดร้ายดิบ ที่แฝงอยู่ภายในตัวมนุษย์เองด้วย
อีกทั้งในแง่ภาคปฏิบัติแล้ว การจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวในอุดมการณ์แบบอนาธิปไตยคงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะการจัดลำดับขั้นการบัญชาก็เท่ากับเป็นการใช้อำนาจซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานสำคัญเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผู้เขียนสังเกตดูพบว่าในประเทศไทย ก็มีการเคลื่อนไหวที่ค่อนไปทางอนาธิปไตยเช่นกัน อาทิเช่น พรรคศิลปิน ที่มีสโลแกนว่า "หัวใจคือไม่ปกครอง" โดยไม่ต้องให้ใครเป็นผู้นำใคร
ทุกคนมีจิตสำนึกในหน้าที่ของชีวิตตน และการวางตัวข่มเหงใช้อำนาจเหนือผู้อื่นถือเป็นปีศาจร้าย ซึ่งมีความสอดคล้องกับพื้นฐานแนวคิดที่ได้กล่าวไปแล้ว รวมถึงเป็นขบวนการที่ไม่ลำดับชั้น โดยการตั้งหัวหน้าพรรค หรือจัดรูปแบบการบริหารพรรคขึ้นมานั้น ทำเพียงเพื่อให้เข้ากฎเกณฑ์ของ กกต.เท่านั้น รวมถึงการพยายามเคลื่อนไหว เพื่อรณรงค์ประเด็นทางสังคม โดยที่ไม่สนใจที่จะสมัครรับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ
ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรคแต่อย่างใด ที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อต้องการแสดงให้ถึงความหลากหลายของแนวคิดเศรษฐกิจการเมือง
สำหรับผู้เขียนแล้ว การมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ได้หมายถึงแค่การเข้าคูหากากบาทเลือกตั้งเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การเข้าใจในอุดมการณ์ ความคิดทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่หลายหลากจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกันได้
นั่นเพราะว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ล้วนมาจากความที่ต่างฝ่ายต่างผลักดันเรื่องของตนเอง โดยไม่ยกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งสิ้น
หมายเหตุ : ปัจจุบันพรรคศิลปินสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2552
เครดิตบทความ :
คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน
กรุงเทพธุรกิจ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
ผู้เขียน : นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทความนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากผู้เขียนเพื่อเผยแพร่บนเพจหนังหลายมิติ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา