12 ก.พ. 2020 เวลา 01:30 • ความคิดเห็น
💼ข้อดี-ข้อเสียของกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาด🛒
2
เมื่อตอนที่แล้วผู้เขียนได้เล่าถึงกลยุทธ์หรือแนวทางการเข้าสู่ตลาด (Entry mode strategies) ไปแล้วว่ามีทั้งแบบ Trade-based entry mode หรือใช้การค้าขายกับต่างประเทศเป็นหลัก Contract-based entry mode หรือการยึดตามหลักสัญญา และ Investment entry mode หรือใช้การลงทุนทางตรงกับประเทศเป็นหลัก
3
ซึ่งการเข้าสู่ตลาดทั้ง 3 หมวดที่ว่านี้ก็ยังมีรูปแบบย่อยๆ ออกไปอีกมากมายหลายแบบ
วันนี้เรามาดูกันว่า การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในแต่ละแบบนั้น มีข้อดี และข้อเสียอย่างไรกันบ้างค่ะ
การส่งออก (Exporting)
ข้อดีคือ ท่านสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว มีต้นทุนการเข้าสู่ตลาดต่ำ ไม่ต้องลงทุนในการทำตลาด ท่านสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าอยู่ในตลาดเดียว และมีความเสี่ยงต่ำเพราะหากไม่ประสบความสำเร็จ ท่านสามารถถอนตัวออกจากประเทศได้ง่าย
ข้อเสียคือ ท่านต้องระวัง เพราะการส่งออก มีความละเอียดอ่อนต่อการกีดกันทางการค้า เช่น กฎหมาย กฎระเบียบ เงื่อนไขต่างๆ ของประเทศเป้าหมาย นอกจากนั้น ท่านอาจจะต้องใช้ต้นทุนในการกระจายสินค้าสูง และขึ้นอยู่กับเครือข่ายการกระจายสินค้าด้วยว่าจะสามารถกระจายสินค้าท่านได้มาก หรือได้ดีแค่ไหน
การทำข้อตกลงตามสัญญา (Contractual Agreements)
ข้อดีคือ ใช้เงินลงทุนต่ำ สิทธิและความเป็นเจ้าของยังเป็นของท่านอยู่
ข้อเสียคือ ท่านอาจจะเสียองค์ความรู้หรือเคล็ดลับบางอย่างซึ่งมีอยู่ในบริษัทของท่าน และควบคุมการดำเนินงานได้น้อย
พันธมิตรเชิงธุรกิจ (Strategic Alliances)
ข้อดีคือ ท่านจะได้ผลประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ของบริษัทพันธมิตรในประเทศนั้น สามารถสร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริษัทของท่าน
ข้อเสียคือ อาจจะส่งผลให้ท่านสูญเสียความรู้ ทักษะ หรือวิธีการ (know-how) ที่เป็นจุดแข็งของท่านให้กับพันธมิตร และต้องบริหารจัดการประเด็นต่างๆ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจ
การร่วมลงทุน (Joint Ventures)
ข้อดีคือ ลดต้นทุนของท่านในโครงการต่างๆ เพราะสามารถกระจายค่าใช้จ่ายโดยร่วมรับผิดชอบกับบริษัทพันธมิตร รวมทั้งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ทักษะ วิธีการในท้องถิ่นนั้น และใช้ประโยชน์จากบริษัทร่วมทุนนี้เข้าถึงตลาดในประเทศที่กีดกันกันการเข้ามาของบริษัทต่างชาติ
ข้อเสียคือ ต้องระวังวัตถุประสงค์ที่ไม่ตรงกันระหว่างบริษัทท่านกับบริษัทพันธมิตร รวมทั้งท่านอาจจะสูญเสียความรู้ ทักษะ หรือวิธีการ (know-how) ที่เป็นจุดแข็งของท่านให้กับพันธมิตร และมีความเสี่ยงจากการสร้างคู่แข่งที่มีศักยภาพขึ้นมา (หลังจากโครงการร่วมทุนสำเร็จ) และมีความท้าทายในการบริหารจัดการประเด็นต่างๆ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจ
การเป็นเจ้าของทั้งหมด (Wholly owned)
ข้อดีคือ บริษัทของท่านสามารถบริหารจัดการ ดำเนินการ กำกับดูแลกิจการได้ทั้งหมด สามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานต้นทุนต่ำ ลดต้นทุนในการนำเข้า และต้นทุนในการขนส่ง อีกทั้งยังง่ายต่อการเข้าถึงวัตถุดิบและแหล่งสินค้าต่างๆ ในสถานที่ที่ไปลงทุนใหม่ และลดความเสี่ยงในการสูญเสียองค์ความรู้ ทักษะ หรือวิธีการ (know-how) ของท่านให้กับผู้อื่น
ข้อเสียคือ ท่านต้องใช้ระยะเวลานานสำหรับการก่อตั้งเพื่อดำเนินการในธุรกิจนั้น ต้องใช้เงินลงทุนสูง และท่านอาจถูกกีดกันในการเข้าสู่ตลาดเป้าหมาย (ในฐานะบริษัทที่มีเจ้าของเป็นคนต่างชาติ)
รวมทั้งเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในเสถียรภาพทางการเมืองและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในประเทศที่ท่านเข้าไปลงทุน
การเข้าซื้อกิจการ (Acquisitions)
ข้อดีคือ ใช้เวลาในการจัดตั้งน้อยกว่าการลงทุนเปิดบริษัทใหม่ (Greenfield subsidiary) ท่านสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) เช่น ความรู้ความสามารถของบุคลากร ของบริษัทที่ท่านเข้าไปซื้อกิจการมา และสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าเดิมของบริษัทที่ท่านเข้าไปซื้อกิจการมา
ข้อเสียคือ ต้องลงทุนสูง ซึ่งท่านอาจจะเสี่ยงซื้อกิจการนั้นมาในราคาที่สูงเกิน หากพิจารณาแต่แง่มุมที่ดีของบริษัทนั้นมากเกินไป และมีประเด็นที่จะต้องบูรณาการบริษัทที่ซื้อกิจการมาให้เข้ากับบริษัทแม่
ท่านคงจะพอเห็นภาพ และเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของการเข้าสู่ตลาดกันแล้วนะคะ
การออกสู่สากลยังมีเรื่องราวอีกมากมาย เล่าทั้งวันก็ยังไม่หมด
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ
ขอกำลังใจเพื่อนๆ Blockdit
ฝากกดติดตาม🙇 ชอบถูกใจ👍 ใช่กดแชร์👌 เพจ "ตะลุยตลาดโลก" กันนะคะ
ขอบคุณมากๆ ค่ะ🙏😊
โฆษณา