14 ก.พ. 2020 เวลา 03:10 • ธุรกิจ
ทฤษฎี 80/20 ทำไมหลายเหตุการณ์บนโลก อธิบายได้ด้วยทฤษฎีนี้
เราเคยสงสัยไหมว่า ในโลกของเรานั้น บางอย่างถึงแม้จะมีจำนวนน้อย
แต่กลับมีอิทธิพลต่อสังคมส่วนรวม
มากกว่าสิ่งเดียวกันที่มีจำนวนมากกว่า
มูลค่า GDP ของทั้งโลก 2,617 ล้านล้านบาท
แต่กว่า 80% มาจากเพียงแค่ 7 ประเทศจากทั้งหมด 195 ประเทศ
มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ของไทยเท่ากับ 16.6 ล้านล้านบาท
1
แต่กว่า 80% เกิดจากมูลค่าของบริษัทขนาดใหญ่แค่ 100 บริษัทจากทั้งหมดมากกว่า 600 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์
ในปี 2019 โลกเราผลิตน้ำมันวันละ 80.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ซึ่งกว่า 80% นั้นผลิตมาจากเพียง 11 ประเทศจากทั้งหมด 96 ประเทศทั่วโลก
เรื่องเหล่านี้อาจอธิบายได้ด้วยทฤษฎี 80/20
ทฤษฎีนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ทฤษฎี 80/20 ถูกคิดค้นโดยวิลเฟรโด พาเรโต
ซึ่งเป็นทั้งวิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี
เขาเริ่มจากการสังเกตสิ่งใกล้ตัวไปจนถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมและภาวะเศรษฐกิจ
ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญหรือมีประโยชน์จะมีจำนวนน้อยกว่าสิ่งที่ไม่สำคัญ
อธิบายง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่มีสัดส่วนแค่ 20% จากจำนวนทั้งหมด มักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ในสัดส่วนถึง 80%
แล้วพาเรโต เขาสังเกตเห็นอะไร? จึงทำให้เขาเชื่อแบบนั้น
วันหนึ่งระหว่างที่พักอยู่ในบ้าน พาเรโตสังเกตเห็นว่า
ประมาณ 20% ของต้นถั่วลันเตาทั้งหมดที่เขาปลูกในสวนนั้น ออกผลได้ดีถึง 80% ของผลถั่วลันเตาทั้งหมด
ต่อมาเขายังพบว่า ประชากรของอิตาลีเพียง 20% สามารถสร้างรายได้ถึง 80% ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ
หรือแม้แต่ที่ดินในประเทศอิตาลีกว่า 80% นั้นถูกถือครองโดยกลุ่มคนเพียง 20% ของประชากรในประเทศทั้งหมด
เมื่อเป็นแบบนี้ เขาจึงเรียกมันว่า “ความเป็นจริงที่ไม่สมดุล” และตั้งชื่อมันว่า ทฤษฎี 80/20 ขึ้นในปี ค.ศ. 1896
แม้ว่าทฤษฎีจะกำเนิดมากว่า 124 ปี
แต่แนวคิดนี้ก็ยังสามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ในโลกปัจจุบันได้ดี
แม้ว่าในความเป็นจริงนั้น สัดส่วนตัวเลขดังกล่าวจะไม่ได้อยู่ที่ 80/20 พอดี แต่แนวคิดโดยรวมก็ยังใช้ได้ ก็คือ สิ่งของเพียงไม่กี่อย่างกลับมีความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นที่มีจำนวนมากกว่า
อย่างในโลกธุรกิจนั้น
เราก็น่าจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า
ผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทอาจมาจากผลิตภัณฑ์ไม่กี่ตัว
Alphabet บริษัทแม่ของ Google นั้นมีรายได้กว่า 83% ที่มาจากรายได้ค่าโฆษณาของ Google
ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ที่รายได้กว่า 71% เกิดมาจากสินค้าประเภทของกิน อาหารพร้อมทานและเครื่องดื่ม
แม้แต่ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนทั่วโลกในปัจจุบันนั้น กว่า 76% มาจากผู้ผลิตรายใหญ่เพียงแค่ 6 ราย นั่นคือ Samsung, Apple, Huawei, Oppo, Xiaomi และ Vivo
Cr. Financial Times
ขณะที่ในระดับประเทศ
มูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศไทยในปี 2019 มีมูลค่าประมาณ 7.6 ล้านล้านบาท ประมาณ 72% เกิดมาจากสินค้าเพียงแค่ 10 รายการเท่านั้น
ถ้าเป็นแบบนี้ เราสามารถเอาหลักการหรือแนวคิดนี้
มาบริหารจัดการกับชีวิตเราอย่างไรได้บ้าง?
แน่นอนว่าในชีวิตของเรานั้น เราคงไม่สามารถที่จะทำทุกอย่าง หรือทุ่มเทชีวิตเราไปให้กับทุกเรื่อง เนื่องจากทรัพยากรของเราไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือเงินทุนนั้นมีจำกัด
ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ
เราควรจะรู้ว่า ในชีวิตของเรานั้น อะไรคือเรื่องสำคัญ
และอะไรคือเรื่องที่ไม่สำคัญ
เมื่อรู้แล้วว่าอะไรที่ไม่สำคัญต่อชีวิต ก็อย่าไปสนใจหรือทุ่มเทกับสิ่งที่ไม่สำคัญมากนัก
ขณะที่เรื่องไหนสำคัญ ก็พยายามทุ่มเททรัพยากรที่มีของเราให้กับเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด
ซึ่งภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การเลือกที่จะ “โฟกัส” นั่นเอง
ถ้าเรารู้ว่าจะโฟกัสอะไร
ขอให้โฟกัสกับเรื่องไม่กี่อย่าง 20%
แต่มันอาจสร้างผลลัพธ์ได้ดีเป็นสัดส่วนมากถึง 80%
คำถามที่น่าคิดปิดท้ายก็คือ
แล้วอะไรเป็น สิ่งสำคัญ กับชีวิตเราตอนนี้?..
1
Cr. Medium
โฆษณา