15 ก.พ. 2020 เวลา 15:32 • ประวัติศาสตร์
รู้หรือไม่! สะพานพุทธ เคยโดนบอมบ์จนขาด โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร
ภาพถ่ายสะพานพระพุทธยอดฟ้าได้รับความเสียหาย
สวัสดีท่านผู้อ่าน วันนี้ผมจะมาเล่าเกร็ดเรื่องสั้น ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวกับที่มาของเหตุการณ์สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือ สะพานพุทธ โดนระเบิดทำลายจนเสียหาย เมื่อนานมาแล้ว
ย้อนกลับไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2485-2488 เนื่องจากไทยได้ร่วมกับญี่ปุ่นฝ่ายอักษะทำสงครามกับกลุ่มพันธมิตร-อังกฤษและอเมริกา
ชาวบ้านในยุคนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าผลกระทบของสงครามโลก จะอุบัติขึ้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก และตั้งฐานทัพในประเทศไทย
ผลจากการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้น ญี่ปุ่นแจ้งว่าไม่ต้องการยึดเมืองไทย เพียงขอใช้เมืองไทยเป็นทางผ่านเข้าสู่พม่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและยอมตามที่ญี่ปุ่นร้องขอ ทำให้ไทยต้องประกาศเป็นศัตรูกับอังกฤษและอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถาพถ่ายทางอากาศ โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดสหรัฐอเมริกา ขณะทำการทำลายเส้นทางลำเลียง ขนส่งของทหารญี่ปุ่น
คำประกาศดังกล่าวส่งผลให้ไทยต้องเป็นศัตรูกับอังกฤษและอเมริกา โดยญี่ปุ่นใช้พื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งกองทัพนำกำลังพลไปรุกรานเพื่อนบ้าน เช่น พม่า
กรุงเทพมหานคร จึงตกเป็นเป้าหมายให้อเมริกานำฝูงบินมาทิ้งระเบิด
จะมีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นเป็นระยะๆ สัญญาณเตือนภัยในขณะนั้นมี 2 แห่ง คือ ที่กรมอู่ทหารเรือและบนภูเขาทอง วัดสระเกศ เรียกให้เต็มชื่อคือสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ เสียงที่ดังเป็นเสียง “หวอ”ชาวบ้านทั่วไปเลยเรียกสัญญาณภัยที่ว่านั้นว่า “หวอ” เป็นที่สังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าหากเสียงหวอเตือนภัยเป็นช่วงสั้น ๆ ติดต่อกัน แสดงว่าเครื่องบินกำลังจะเข้าโจมตี หากเสียงหวอเตือนภัยเป็นช่วงยาวแสดงว่าปลอดภัย เครื่องบินได้บินออกไปนอกกรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมฝาผนัง โดย ขรัวอินโข่ง จิตกรประจำในรัชการที่ 4
พระนครและธนบุรีถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทิ้งระเบิดระหว่างปี พ.ศ. 2485 ถึง 2488 รวม 34 ครั้ง
แม้ว่าหนึ่งในเป้าหมายนั้นจะเป็นโรงไฟฟ้าวัดเลียบไม่ใช่ วัดราชบูรณะ หรือ สะพานพุทธ การทิ้งระเบิดผิดเป้าหมาย ได้เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย หลายสถานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก สะพานพุทธถูกทำลายตัดขาด วัดราชบูรณะราชโดนระเบิด ทำให้ภาพวาดของ’ขรัวอินโข่ง’ถูกทำลาย
โรงไฟฟ้าซึ่งติดกับวัดราชบูรณะ(ที่มาชื่อ’วัดเลียบ’)
ภาพแผ่นดินที่เตียนหลังถูกระเบิด วัดราชบูรณะ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเองมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ 2 สะพานด้วยกัน สะพานแรกที่สร้างคือสะพานพระราม 6 ซึ่งเป็นสะพานสำหรับรถไฟ เป็นเส้นทางเชื่อมทางรถไฟสายใต้กับตะวันตกเข้ากับสายเหนือและสายตะวันออก ในเวลานั้นที่ตั้งสะพานพระราม 6 ต้องถือว่าอยู่ห่างไกลตัวเมือง อีกสะพานหนึ่งเห็นจะได้แก่สะพานพุทธที่เป็นสะพานสำหรับยวดยานและคนสัญจร สะพานนี้จัดได้ว่าอยู่กลางเมืองหลวง
ภาพสะพานพระพุทธยอดฟ้า ปัจจุบัน
แม้ภายหลัง ว่ากันว่าคำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การบังคับขู่เข็ญอันเนื่องจากการบุกของกองทัพญี่ปุ่น ต่อมาหลังจากฝ่ายอักษะ(ญี่ปุ่น)แพ้สงครามเป็นเหตุให้พันตรีควง อภัยวงศ์ ได้ออก "ประกาศสันติภาพ"
รวมทั้ง ‘เสรีไทย’ เป็นขบวนการใต้ดินที่ดำเนินการระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วง พ.ศ. 2484–2488 มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย
มีผลให้การประกาศสงครามของไทยต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ
ควง อภัยวงศ์
แม้ว่าสงครามจะจบลง และผ่านไปนานหลายปี แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ยังตราตรึงอยู่ในภาพเก่าของใครหลายๆ คน
มีผู้อ่านท่านใดทันยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้างครับ แสดงตัวในคอมเมนต์หรือช่วยเล่าแบ่งปันเรื่องราวเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้นะครับ
อย่าลืมกดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจนะครับ ขอบคุณคุณผู้อ่านทุกท่าน
โฆษณา