16 ก.พ. 2020 เวลา 05:43 • สุขภาพ
🚨 วิธีการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่มีบาดแผลเลือดออกมาก.. ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้..!!
แนะนำวิธีการโดย พยาบาลวิชาชีพอิสระ💉
.. ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว ที่เนิ้ตเล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเบื้องต้น ที่ถูกมีดแทง 2 แผล และเสียเลือดมาก มาถึงตอนนี้ผู้ป่วยปลอดภัยและรู้สึกตัวรู้เรื่องดีแล้วนะคะ
.. วันนี้เนิ้ตเลยถือโอกาสลงบทความต่อเนื่องในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนี้ที่ต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา และเพื่อที่จะแนะนำแนวทางเบื้องต้นในการให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บกรณีแบบนี้ ไม่ว่าจะถูกยิง แทง หรือมีบาดแผลกรณีใดๆที่ทำให้ผู้บาดเจ็บเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ให้มีโอกาสรอดชีวิตมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
ภาพเหตุการณ์ผู้บาดเจ็บถูกแทง ขออนุญาตเบลอภาพเพื่อรักษาสิทธิของคนที่อยู่ในภาพนะคะ แต่ผลคือเบลอแล้วจะทำให้ไม่เห็นเลือดที่ออกมากตามร่างกายผู้ปาดเจ็บไปด้วยค่ะ 🙂
🚨 เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ลักษณะนี้ เนิ้ตคิดว่าสิ่งที่ควรทำตามลำดับมีดังนี้ค่ะ
✔️1. เมื่อได้ยิงเสียงดัง เอะอะโวยวาย ให้ตั้งสติให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรกนะคะ "สติมาปัญญาเกิด" ประโยคนี้ให้จำไว้ใส่หัวใจตัวเองอยู่ตลอดค่ะ
... ตั้งสติแล้วให้พิจารณาว่า เหตุการณ์สงบแล้วหรือไม่ ถ้ายังมีเสียงดังต่อเนื่องโกลาหล หรือมีเสียงปืนติดต่อกันหลายนัด หากอยู่ใกล้ทางออกให้รีบออกไปให้เร็วที่สุด แต่ถ้าอยู่ไกลเกินไปและต้องวิ่งผ่านผู้ก่อเหตุเพื่อไปยังประตูทางออก ควรหาที่กำบังที่ปลอดภัยด้านในจะดีกว่าค่ะ
.. กรณีแบบนี้เราต้องห่วงตัวเองมากกว่าห่วงคนอื่นไว้ก่อนนะคะ เพราะมีคนที่ห่วงเรามากๆดังดวงใจรออยู่ที่บ้านค่ะ การช่วยตัวเองให้รอดก่อนช่วยคนอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอันดับแรกค่ะ 😊
.
การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในช่วงนี้เราควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอาวุธและวิธีการรับมือกับคนร้ายนะคะ
... และแน่นอนเหตุการณ์ผู้บาดเจ็บโดนมีดแทงที่ผ่านมา เนิ้ตได้ประเมินสถานการณ์ว่าเสียงเอะอ่ะโวยวายเงียบลง คนร้ายมีคนเดียว และไม่ได้อยู่ในห้างนี้แล้ว จากการสอบถามพนักงานห้าง และมองดูสถานการณ์เอง นั่นหมายความว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ จึงรีบให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนค่ะ ✌🏻😊
🚨🚨🚨🚨
✔️2. หลังจากแน่ใจว่าตัวเองปลอดภัยแน่นอนแล้ว เมื่อเข้าไปถึงที่เกิดเหตุให้ถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่าโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือยัง ถ้ายัง ฝากให้เขาโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 แจ้งสถานที่ เหตุการณ์ ความรุนแรงของผู้บาดเจ็บ อย่าลืมแจ้งเบอร์ติดต่อกลับไว้ด้วย เขาจะได้สามารถติดต่อกลับได้หากสถานที่เกิดเหตุไม่ได้เป็นที่รู้จักและพบเห็นได้ยากค่ะ
🚨🚨🚨🚨
✔️3. เรารีบประเมินคนเจ็บค่ะ อันดับแรกดูว่าคนเจ็บรู้สึกตัวหรือไม่ค่ะ
👉🏻กรณีรู้สึกตัว :ให้รีบเปิดเครื่องแต่งกายออกเพื่อประเมินบาดแผลค่ะ เปิดพอเห็นบาดแผลไม่ต้องเปิดจนโป๊นะคะ ภาพลักษณ์ของคนเจ็บก็สำคัญค่ะ ระหว่างนั้นอาจจะมีคนถ่ายรูปหรือคลิปไว้ก็ได้
.
หากพบว่าแผลมีเลือดออกจำนวนมากไม่ว่าจะถูกยิงหรือแทง ขั้นตอนแรกคือการห้ามเลือดค่ะ ห้ามใช้การมัดเหนือบาดแผลนะคะเพราะจะทำให้บริเวณที่ต่ำกว่าบริเวณที่ถูกมัดเกิดการขาดเลือดมาเลี้ยง ซึ่งถ้าเป็นเวลานานจะทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะในภายหลังได้ค่ะ วิธีการที่เหมาะสมคือการกดห้ามเลือดค่ะ ถ้ามีอุปกรณ์พยาบาลสามารถใช้ก๊อสหนาๆกดไว้ได้ค่ะ จำนวนที่เหมาะสมก็คือจนกว่าจะสามารถห้ามเลือดที่ทะลักออกมาให้หยุดได้ ถ้าไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้ผ้าที่คิดว่าสะอาดที่สุด ณ เวลานั้นกดห้ามเลือดค่ะ
.
หากผู้ป่วยยังพอมีสติ อย่าลืมพูดคุยให้กำลังใจ บอกว่าเราได้ให้การช่วยเหลืออย่างไรบ้าง และเขามีส่วนช่วยตัวเองอย่างไร อย่างเช่นการหายใจเข้าออกลึกๆ ไม่ให้กลั้นหายใจ เป็นต้นค่ะ
ตำแหน่งการคลำชีพจรค่ะ https://www.slideshare.net/mobile/rpoom/2010cardiovascular-assessment
👉🏻กรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว : ให้ตบบริเวณไหล่ทั้ง 2 ข้างแรงๆเพื่อเรียกค่ะ หากยังไม่ตื่นให้จับชีพจร บริเวณที่ชัดเพราะเป็นเส้นเลือดใหญ่จะอยู่ที่คอค่ะ วิธีการคือใช้ 2 นิ้ว ชี้กับกลาง ลากจากจุดกลางลำคอมาด้านข้างเล็กน้อยจะเห็นจุดที่เป็นชีพจรค่ะ (ลองจับของตัวเองดูก่อนตอนนี้เลยค่ะ ยินดีด้วยนะคะ คุณจับตำแห่งชีพจรของตัวเองได้แล้วค่ะ 😁) เมื่อจับจนรู้ตำแหน่งชีพจรของตัวเองแล้ว ก็จะสามารถกะตำแหน่งชีพจรของคนอื่นได้ค่ะ ที่เนิ้ตแนะนำแบบนี้เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ต้องอ้างอิงถึงหลัก Anatomy ใดๆนะคะ
.
คลำดูสัก 10 วินาทีค่ะ ถ้าคลำแล้วไม่พบชีพจร แสดงว่าคนเจ็บหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำการกดหน้าอก ทำ CPRทันทีค่ะ ( อย่าลืมฝากคนแถวนั้นให้หาอุปกรณ์ห้ามเลือดด้วยนะคะ เพราะการเสียเลือดมากก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ ) จับเวลาการกดหน้าอก 2 นาที ให้หยุด และจับชีพจรที่จุดเดิมค่ะ
.
ถ้ามีชีพจรให้หยุด CPR และรีบให้การช่วยเหลืออย่างอื่น เช่นการดูลักษณะการหายใจค่ะ ห้างบางที่จะมีอุปกรณ์ Oxygen ให้รีบนำมาใส่ให้คนเจ็บค่ะ (หรือสามารถใส่ได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบคนเจ็บเลยนะคะ แต่การตรวจชีพจรสำคัญและต้องทำเป็นลำดับดับแรกค่ะ) ถ้าไม่มีชีพจรให้กดหน้าอก CPR ต่อค่ะ หากมีคนอื่นที่สามารถช่วย CPR ได้ ให้เปลี่ยนคนนะคะ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการกดหน้าอกค่ะ แต่ถ้าไม่มีเราก็ต้องสู้ๆกดต่อไป และทำให้ดีที่สุดนะคะ ชีวิตผู้บาดเจ็บอยู่ในมือเราแล้วค่ะ ✌🏻😊
🚨🚨🚨🚨
✔️4. ระว่างนี้ถ้ารถฉุกเฉินยังไม่มาให้โทรประสานงานไปอีกครั้งและแจ้งอาการผู้ป่วย ณ เวลานี้ให้ทราบ เพื่อให้เขาเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือเพิ่มเติมให้พร้อมเมื่อมาถึงค่ะ ถ้ารถฉุกเฉินมาถึงแล้ว ให้รีบเคลียร์ทางเดินให้เปลฉุกเฉินเข้ามารับผู้ป่วยให้สะดวกที่สุดด้วยนะคะ
🚨 สรุปขั้นตอนการช่วยเหลือสั้นๆอีกรอบนะคะ
1. โทรเรียกสายด่วนฉุกเฉิน 1669
2. ประเมินระดับความรู้สึกตัว
3. หากคนเจ็บไม่รู้สึกตัวทำการ CPR และให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วยห้ามเลือดไปด้วยค่ะ CPR ครบ 2 นาที เช็คชีพจรค่ะ
4. ถ้าคนเจ็บกลับมามีชีพจร ให้ช่วยเหลือให้หายใจได้สะดวกที่สุดเพื่อรอรถฉุกเฉิน ระหว่างที่รอให้พูดให้กำลังใจผู้ป่วยไปด้วยนะคะ เพื่อเรียกขวัญกำลังใจให้เขาสู้ต่อค่ะ 😊
5. ถ้าคนเจ็บยังไม่มีชีพจร ให้ทำการ CPR ต่อ และเช็คชีพจรดูทุกๆ 2 นาทีค่ะ ถามหาคนสลับตัวกดหน้าอกด้วย เพื่อให้ได้แรงกดหน้าอกที่มีประสิทธิภาพนะคะ (กดคนเดียวเราจะเหนื่อยและแรงเราลดลงไปด้วยค่ะ)
💗💗💗
เพิ่มเติมการทำ CPR อย่างถูกวิธีค่ะ
😍 เห็นคุณหมอน่ารัก เนิ้ตขอเพิ่มเติมการปฐมพยาบาลอื่นๆให้ด้วยนะคะ ดูเพลินเกินห้ามใจจริงๆ
😊 ลองทบทวนดูจนเข้าใจและจำได้นะคะ หากพบเห็นเหตุการณ์และสามารถช่วยชีวิตคนได้ จะติดตรึงเป็นความภาคภูมิใจของเราไปตลอดชีวิตเลยค่ะ
💉เป็นบทความที่ยาวมากๆ แต่มีประโยชน์ต่อทุกๆคนแน่นอนค่าา ขอบคุณสำหรับการติดตาม และให้กำลังใจเนิ้ต และเพจพยาบาลวิชาชีพอิสระด้วยนะคะ 🙏🏻
#เนิ้ต #พยาบาลวิชาชีพอิสระ 💉
โฆษณา