16 ก.พ. 2020 เวลา 15:50 • ข่าว
5 รายแข่งประมูล 5G เดือด! ชิงคลื่น 2600 MHz
กสทช.ลุยนำคลื่นรองรับ 5 จีออกมาเปิดประมูล 3 คลื่น จาก 4 คลื่น เหตุคลื่น 1800 MHz ไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล คาดคลื่น 2600 MHz แข่งเคาะราคาเดือด เชื่อเงินจากการประมูลเข้ารัฐสูงถึง 7.3 หมื่นล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศการประมูลคลื่นความถี่ 5 จี ในวันนี้ (16 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นไปอย่างคึกคัก โดยผู้บริหารระดับสูงของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นำทีมประมูลทั้ง 5 รายซึ่งทยอยมาจุดลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 7.30-8.00 น. ซึ่งในเวลา 9.00 น.ผู้เข้าร่วมประมูลได้เข้าห้องประมูล และเริ่มต้นประมูลรอบแรกตั้งแต่เวลา 9.30 น.เป็นต้นไป
ทั้งนี้ คลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5 จี ที่ใช้ประมูลในวันนี้ แบ่งออกเป็น 3 คลื่นความถี่ คือ 700 เมกะเฮิรต์ (MHz) 2600 MHz และ26 กิกะเฮิรต์ (GHz) ส่วนคลื่น 1800 MHz ที่เดิมจะนำออกมาประมูลด้วย แต่ไม่ถูกนำออกมาประมูลในวันนี้ เพราะไม่มีผู้ให้บริการที่เข้าร่วมประมูลให้ความสนใจยื่นประมูล ส่วนคลื่นที่คาดว่าจะมีการแข่งขันราคากันอย่างดุเดือดคือคลื่น 2600 MHz เพราะเป็นคลื่นที่เหมาะกับการทำ 5 จี มากที่สุด และคาดว่าการประมูลรอบนี้จะมีรายได้จากการประมูลเข้ารัฐ 7.3 หมื่นล้านบาท
สำหรับผู้ให้บริการ โทรศัพท์ เคลื่อนที่ รวม 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) , บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอ เรชั่น , บมจ.กสท โทรคมนาคม , บมจ.ทีโอที และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิว เอ็น) ในเครือบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ด้านคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5จี ที่กสทช.นำออกมาประมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 คลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแสดงความประสงค์เข้าร่วมประมูล คือ คลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart city ภายใน 4 ปี
และคลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
โฆษณา