17 ก.พ. 2020 เวลา 09:38 • กีฬา
ทำไมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึงโดนแบนห้ามแข่งแชมเปี้ยนส์ลีก 2 ปี เหตุผลคืออะไร ที่มาที่ไปคือแบบไหน เราจะอธิบายให้ฟังแบบเข้าใจง่ายโพสต์เดียวจบ
นับจากปี 2000 เป็นต้นมา ยูฟ่ามีความไม่สบายใจ เรื่องการที่นักธุรกิจจากประเทศต่างๆ เริ่มลุยเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรต่างๆในทวีปยุโรป
การเทกโอเวอร์นั้นไม่ใช่แค่เปลี่ยนเจ้าของเท่านั้น แต่สิ่งที่เราเห็นคือ เศรษฐีที่มาเทกโอเวอร์นั้นมักจะเอาเงินมหาศาลของตัวเอง อัดฉีดให้สโมสร เพื่อให้ทีมจะได้เอาไปซื้อนักเตะคนไหนก็ได้ที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น กรณีของโรมัน อบราโมวิช กับเชลซี ที่เทกโอเวอร์ในปี 2003 เป็นต้น
ในฤดูกาล 2002-03 ซีซั่นก่อนอบราโมวิชจะเทกโอเวอร์ เชลซีใช้เงินซื้อตัวนักเตะในตลาด 5 แสนปอนด์ แต่พออบราโมวิชมาเทกโอเวอร์ ในซีซั่น 2003-04 เชลซีใช้เงินซื้อนักเตะไป 121.5 ล้านปอนด์
แน่นอน ถ้ามีเจ้าของรวย มันทำให้ทีมก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว เชลซีได้แชมป์ลีกสูงสุดครั้งสุดท้ายคือปี 1955 จากนั้นมา 50 ปีพวกเขาไม่เคยได้แชมป์อีกเลย จนเมื่อมีอบราโมวิชเข้ามาซื้อสโมสรนั่นล่ะ จึงคว้าแชมป์ลีกได้สำเร็จในฤดูกาล 2004-05
เมื่อมีนักธุรกิจเข้ามาซื้อสโมสรฟุตบอลยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่ามองว่า การปล่อยให้สโมสรกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของบรรดาเศรษฐีเหล่านี้ มันจะทำให้เกิดปัญหามากมาย
1- ทำให้ระบบนิเวศของทีมฟุตบอลพังทลาย กล่าวคือเมื่อก่อนสโมสรระดับเล็กๆ ถึงกลางๆ จะมีความฝันว่าตัวเองจะปั้นดาวรุ่งขึ้นมาสักคน และดาวรุ่งคนนั้นก็จะเป็นคีย์แมนของทีม เพื่อยกระดับสโมสรให้ประสบความสำเร็จได้ต่อไป
แต่ถ้าหากในลีกมีทีมที่เงินแบบไร้ขีดจำกัด พวกเขาก็จะกว้านซื้อดาวรุ่งฝีมือดีจากทั้งลีกเอามากองรวมไว้กับตัวเอง และแทนที่ทีมเล็กๆจะได้ลืมตาอ้าปาก พริบตาเดียวก็ต้องปล่อยตัวดาวรุ่งที่อุตส่าห์ปั้นให้กับทีมใหญ่อีกแล้ว
2- ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในลีก ทีมที่มีเงินไม่อั้น ก็ประสบความสำเร็จง่ายกว่า มันจะกลายเป็นลีกที่ชนะกันอยู่แค่ไม่กี่ทีม ก่อให้เกิดความน่าเบื่อขึ้นอย่างช่วยไม่ได้
และ 3- ทำให้แต่ละทีมไม่สนใจเรื่องวินัยทางการเงิน คุณจะสนใจบัญชีตัวแดงทำไม ในเมื่อทำสโมสรขาดทุนแค่ไหน เดี๋ยวก็มีเจ้าของมาอัดเงินกลบหนี้ให้หมด ทีมไม่จำเป็นต้องทำการตลาดอะไรเลยด้วยซ้ำ แค่แบมือขอเงินอย่างเดียวกับเจ้าของทีมก็พอ
ข้อ 3 เรื่องวินัยทางการเงิน เป็นสิ่งที่ยูฟ่ากังวลอย่างหนัก เพราะจากผลสำรวจ สโมสรฟุตบอล 655 ทีมของทวีปยุโรปนั้น "ขาดทุน" ถึง 65% สาเหตุหลักคือไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมา เพื่อเอามาซื้อนักฟุตบอลใหม่
เพราะเมื่อบรรดาทีมใหญ่ๆ มีเงินมหาศาลซื้อนักเตะ พวกสโมสรเล็กๆอยากแข่งขันด้วย จะทำยังไง? ก็ต้องเอาเงินมาสู้เพื่อซื้อผู้เล่นเสริมทัพเหมือนกัน และถ้าไม่มีเงินสดในมือก็ไปกู้คนอื่นมาซื้อ คือหวังเอาความสำเร็จก่อน โดยไม่สนปัญหาหนี้สะสมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นาทีนั้นไม่มีใครแคร์เรื่องผลประกอบการอีกแล้วจะขาดทุนก็ช่าง ขอให้ทีมแกร่งก่อนเป็นพอ
ไม่แปลก ที่เราเห็นกรณีของลีดส์ ยูไนเต็ด ที่สโมสรกู้หนี้ยืมสิน มาอัดซื้อนักเตะคนแล้วคนเล่า กะสร้างทีมให้แข็งแกร่ง คือถ้าทีมประสบความสำเร็จ มันก็ยังพอไหว พอมีเงินประคองตัว แต่พอลีดส์ไม่ได้ไปแชมเปี้ยนส์ลีก ทีมก็เงินสดขาดมือ ไม่มีเงินจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะ สุดท้ายก็ต้องทยอยขายผู้เล่นทิ้ง และทีมก็ล้มละลายจนร่วงตกชั้นในที่สุด
ยูฟ่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ดังนั้นจึงออกกฎใหม่ขึ้นมาชื่อ Financial Fair Play (FFP)
ชื่อก็แปลตรงตัวเลยว่า แฟร์เพลย์เรื่องการเงิน การจะเล่นฟุตบอลแบบบริสุทธิ์ยุติธรรมไม่ได้มีแต่แค่ในสนามเท่านั้น แต่นอกสนามก็สำคัญ มันไม่แฟร์เลยที่บรรดาทีมใหญ่ที่มีมหาเศรษฐีเป็นเจ้าของ จะอัดเงินเท่าไหร่ก็ได้ที่ต้องการ เพื่อซื้อนักเตะทั้งลีกมารวมไว้กับตัว แบบนี้ทีมเล็กๆจะเอาอะไรไปสู้ วิธีเดียวที่จะสู้ได้คือกู้เงินมาซื้อนักเตะ แล้วพอกู้ปั๊บ พอทีมล้มเหลวเมื่อไหร่ก็ล้มละลาย
FFP มีกฎเรียบง่ายที่สุดคือ สโมสรต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินทุกอย่างให้ยูฟ่าได้รับรู้ และเงินที่เอาไปซื้อนักเตะในแต่ละฤดูกาล "จำเป็น" ต้องมาจากผลกำไรของสโมสรเท่านั้น ห้ามเป็นเงินส่วนตัวจากเจ้าของทีมเป็นอันขาด
กำไรของสโมสรเกิดจาก บัตรเข้าชม ค่าสปอนเซอร์ ค่าถ่ายทอดสด ค่าของที่ระลึก และเงินที่ได้จากการขายนักเตะ แต่ละปีสโมสรหาเงินได้เท่าไหร่ ก็จะมีงบในการซื้อนักเตะเท่านั้น
ถ้าสโมสรได้กำไรในปีนี้ 80 ล้านปอนด์ ก็มีงบในการซื้อผู้เล่นใหม่ 80 ล้านปอนด์ ง่ายๆแบบนี้เอง
สโมสรห้ามอัดฉีดเงินนอกระบบเข้ามาเพื่อทำการซื้อผู้เล่น ห้ามเอาเงินส่วนตัวของเจ้าของมอบให้สโมสรแบบดื้อๆ เพื่อทำให้บัญชีจากตัวแดง กลายเป็นตัวเขียวในพริบตา
เมื่อยูฟ่าประกาศใช้กฎนี้ในปี 2009 หลายๆสโมสรออกมาชื่นชมการตัดสินใจครั้งนี้ โดยคาร์ล ไฮน์ซ รุมเมนิกเก้ ประธานสโมสรบาเยิร์น มิวนิค กล่าวว่านี่คือ "การก้าวหน้าครั้งสำคัญของฟุตบอลยุโรป" นั่นเพราะทุกๆทีมควรสนใจเรื่องการตลาดของตัวเอง ไม่ใช่หวังน้ำบ่อหน้า หวังเป็นหนูตกถังข้าวสาร ขอให้มีเศรษฐีต่างแดนมาเทกโอเวอร์ก็สบายตัวแล้ว คือนั่นไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของคนทำทีมฟุตบอล
ยูฟ่า ประกาศในปี 2009 ให้ทุกทีมเตรียมตัวให้พร้อม และในปี 2011 ก็บังคับใช้ FFP อย่างเป็นทางการ
หลายๆสโมสร เมื่อเจอกฎ FFP ก็พยายามหาทางรายได้เพิ่ม อย่างเช่นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็รับโฆษณามากขึ้นกว่าเดิม นอกจาก Global Partners แล้วมีการรับ Region Partners หรือสปอนเซอร์แยกย่อยในแต่ละประเทศ
แมนฯยูไนเต็ด มีการเซ็นสัญญากับแบรนด์ต่างๆ นับชนิดไม่ถ้วนเพื่อทำเงินให้มากที่สุด และด้วยฐานะของแมนฯยูไนเต็ดปัจจุบันพวกเขาสามารถซื้อบิ๊กเนมได้โดยไม่ต้องสนใจเรื่อง FFP เลย เพราะมีรายได้เข้ามามหาศาลอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม คำถามก็คือทีมใหญ่ทีมอื่น ที่ไม่ได้มีระบบการตลาด และฐานแฟนบอลหนาแน่นเหมือนแมนฯยูไนเต็ดจะทำอย่างไร นักเตะก็อยากได้ ทีมจะได้ประสบความสำเร็จได้ทันที แต่ก็มีกฎ FFP คอยบล็อกเอาไว้อีก
ดูเผินๆเหมือนแนวคิดของยูฟ่าจะได้ผล แต่ปัญหาคือสัจธรรมของโลกนี้ คือทุกกฎย่อมมีช่องว่างเสมอ
มันมีทริกอย่างหนึ่งที่ทีมเศรษฐีใช้กันเสมอในการเอาตัวรอดจากกฎ FFP นั่นคือ "กระเป๋าซ้าย ย้ายไปกระเป๋าขวา"
ทริกนี้คือ ถ้าหากเจ้าของอัดฉีดเงินให้สโมสรไม่ได้ งั้นก็ใช้วิธี เอาเงินไปยัดใส่แบรนด์สินค้าสักตัวสิ แล้วให้แบรนด์นั้นกลายมาเป็นสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนสโมสร
หลายๆทีม เจ้าของมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับแบรนด์สินค้าบางอย่าง ดังนั้นวิธีการนี้จึงสามารถทำได้ง่ายมาก
ตัวอย่างเช่นเมื่อชีค มันซูร์ เจ้าของแมนฯซิตี้เอาเงินตัวเองมาโปะให้สโมสรโดยตรงไม่ได้ เขาก็ให้เอติฮัด แอร์เวย์ส สายการบินแห่งชาติ ที่มีความสนิทสนมกับตัวเองไปเป็นสปอนเซอร์ให้แมนฯซิตี้ซะ
ซีอีโอของเอติฮัด คือชีค ฮาเหม็ด บิน ซาเย็ด เป็นพี่ชายของชีค มันซูร์ เจ้าของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ดังนั้นความสัมพันธ์ของสองคนนี้ย่อมทำให้การเปลี่ยนกระเป๋าซ้าย ไปสู่กระเป๋าขวาสามารถทำได้แน่ๆ
ชีค มันซูร์ เอาเงินตัวเองโยกไปให้เอติฮัด แอร์เวย์สทางใดทางหนึ่ง แล้วเอติฮัด แอร์เวย์ส ก็เอาเงินก้อนนั้นมาเป็นสปอนเซอร์ให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือโยกย้ายกันไปมา แค่ไม่ได้ผ่านตัวเองโดยตรงแค่นี้ยูฟ่าก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว
ในปี 2011 เอติฮัด แอร์เวย์ส ขอเป็นสปอนเซอร์ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในระยะเวลา 10 ปี ด้วยจำนวนเงิน 400 ล้านปอนด์ ซึ่่งจะได้สิทธิทั้งเปลี่ยนชื่อสนามแข่ง (จากซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ สเตเดี้ยม เป็นเอติฮัด สเตเดี้ยม และจะเป็นเมนสปอนเซอร์คาดหน้าอกเสื้อ)
ซึ่งตัวเลข 10 ปี กับ 400 ล้านปอนด์คือมันมหาศาลมากๆ ในปี 2004 ตอนอาร์เซน่อลเซ็นสัญญากับสายการบินเอมิเรตส์ เซ็นสัญญากัน 15 ปี ได้เงิน 90 ล้านปอนด์แค่นั้นเอง แต่ในดีลของแมนฯซิตี้มันก้าวกระโดดในตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อ
ผู้คนก็วิจารณ์กันเซ็งแซ่ ว่าเงินก้อนนี้จริงๆ เอติฮัด แอร์เวย์ส อาจมีส่วนร่วมแค่นิดเดียวเท่านั้น แต่เจ้าของเงินหลักๆก็น่าจะเป็นชีค มันซูร์เจ้าของทีมมากกว่า เพียงแต่โยกย้ายเงิน เพื่อถ้ามาอยู่ในรูปแบบของสปอนเซอร์ก็จะได้ไม่ผิดกฎของยูฟ่า
นอกจากเอติฮัด แอร์เวย์สแล้ว สปอนเซอร์ที่มาสนับสนุนแมนฯซิตี้ ยังมี องค์การท่องเที่ยวแห่งเมืองอาบูดาบี รวมถึงบริษัท Aabar Investment หรือ Arabtech ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศยูเออี
ซึ่งแต่ละบริษัทเหล่านี้ เข้ามาซัพพอร์ทแมนฯซิตี้ด้วยจำนวนเงินหลายล้านปอนด์ คำถามคือนั่นมันเงินของพวกเขาเอง หรือเงินของชีค มันซูร์ ที่ใช้บริษัทเหล่านี้เป็นเครื่องมือกันแน่
แน่นอนกฎ FFP นั้นมีจริง แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ง่ายที่จะเอาผิดทีมใหญ่ๆได้ เพราะพวกเขามีทางหนีทีรอดกันหมด
ฤดูกาล 2016-17 แมนฯซิตี้ ใช้เงินซื้อนักเตะ 171.5 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 2017-18 แมนฯซิตี้ ใช้เงินซื้อนักเตะ 255.7 ล้านปอนด์
ถามว่าแต่ละปีแมนฯซิตี้ ทำกำไรได้ระดับเป็นร้อยล้านปอนด์ต่อปีขนาดนั้นเลยหรือ? ระบบการตลาดของแมนฯซิตี้ สุดยอดขนาดนั้นจริงๆหรือเปล่า? แน่นอน คำตอบอาจไม่ใช่อย่างนั้น แต่พวกเขารู้วิธีว่าจะหาเงินเข้าสโมสรอย่างไร โดยไม่ผิดกฎต่างหาก
ยูฟ่ารู้ทั้งรู้แต่ไม่มีหลักฐานในการเอาผิด แค่เขาอ้างว่า "เงินไม่ได้มาจากชีค มันซูร์" ทุกอย่างก็จบแล้ว
ไซม่อน เพียร์ซ หนึ่งในบอร์ดบริหารของแมนฯซิตี้ เคยกล่าวว่า "แน่นอน เราทำได้ทุกอย่างที่เราต้องการนั่นแหละ"
แต่จุดเริ่มต้นสิ่งที่ทำให้กลยุทธ์ กระเป๋าซ้าย-ขวา ของแมนฯซิตี้ต้องพังทลาย เกิดขึ้นในปี 2015
เมื่อมีแฮกเกอร์คนหนึ่งชาวโปรตุเกสชื่อรุย ปินโต้ เขาไปแฮ็กข้อมูลเอกสารสำคัญจากทีมฟุตบอลชั้นนำทั่วยุโรป และก่อตั้งเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาชื่อ Football Leaks ซึ่งแน่นอนว่าเลียนแบบชื่อมาจาก WikiLeaks โดยรุย ปินโต้เอาข้อมูลลับๆที่แต่ละสโมสรซ่อนเอาไว้ออกมาเผยแพร่
ในตอนแรกไม่มีใครรู้ว่าแฮ็กเกอร์คนนี้เป็นใคร แต่เอกสารที่เขาปล่อย เชื่อได้ว่ามันคือของจริงเพราะมีลายเซ็นของผู้เกี่ยวข้องแบบชัดเจนมาก มันไม่ใช่เอกสารที่ปั้นแต่งขึ้นมาแน่นอน
ข่าวหลาย่อย่างที่ Football Leaks ถูกปล่อยออกมา คอนเฟิร์มได้ว่าเป็นเรื่องจริง ตัวอย่างเช่น ค่าตัวของแกเร็ธ เบล ที่เรอัล มาดริดจ่ายให้สเปอร์ส จริงๆสูงกว่า 100 ล้านยูโร ซึ่งแพงกว่าค่าตัวของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่เรอัล มาดริดจ่ายให้แมนฯยูไนเต็ด (96 ล้านยูโร) แต่ในเอกสารซื้อขายระบุว่า ห้ามสเปอร์สเปิดเผยค่าตัวที่แท้จริง เพราะสโมสรต้องการให้โรนัลโด้เชื่อว่า เขายังเป็นนักเตะที่มีราคาซื้อขายแพงที่สุดในโลกอยู่
หรืออย่างข่าวที่ว่า บาร์เซโลน่าคว้าตัวเนย์มาร์จากซานโตสได้สำเร็จ เพราะสโมสรจ่ายเงินกินเปล่าให้เนย์มาร์ ถึง 8.5 ล้านยูโร ก็ยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงเช่นกัน
เอกสารที่ปินโต้แฮ็กไปได้ มีถึง 70 ล้านหน้า ด้วยความจุ 3.4 เทราไบต์ คือเยอะมหาศาลมาก ซึ่งพอมีเรื่องหลุดออกไป สโมสรต่างๆก็ไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจสากลช่วยกันตามล่าว่าแฮ็กเกอร์คนนี้คือใครกันแน่ ก่อนที่สุดท้ายจะจับตัวได้ ว่าเขาคือ รุย ปินโต้ แฮ็กเกอร์ชาวโปรตุเกส
รายงานว่านอกจากจะแฮ็กแล้ว ยังมีหลักฐานว่า ปินโต้ยังทำการแบล็คเมล์สโมสรต่างๆอีกด้วย นั่นส่งผลให้เขาโดนตำรวจแจ้งความไป 90 ข้อหา ฐานโจรกรรมข้อมูลและแบล็คเมล์ผู้อื่น
แม้ปินโต้จะโดนจับไปแล้ว แต่เอกสาร 70 ล้านหน้า ที่เขาขโมยมาแล้วยังคงอยู่ในโลกออนไลน์ นั่นทำให้แดร์ สปีเกล สื่อมวลชนสายสืบสวนของเยอรมัน ได้นั่งแกะข้อมูลไปเรื่อยๆว่ามีเรื่องอะไร สามารถเอามาขายข่าวได้หรือไม่
และในที่สุดแดร์ สปีเกล ก็ไปค้นเจอเอกสาร 2 ชิ้นสำคัญ ที่ปินโต้แฮ็กมาจากอีเมล์ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
ชิ้นแรกเป็นอีเมล์ ของไซม่อน เพียร์ซ บอร์ดบริหารของแมนฯซิตี้ คุยกับผู้บริหารของ Aabar Investment บริษัทลงทุนของยูเออี โดยในอีเมล์มีเนื้อความระบุว่า Aabar จะเป็นสปอนเซอร์ให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ปีละ 15 ล้านปอนด์ แต่ในรายละเอียดการจ่ายเงินจริง Aabar จะจ่ายแค่ 3 ล้านปอนด์ ส่วนอีก 12 ล้านปอนด์ที่เหลือ "ฝ่าพระบาท" (His Highness) จะจัดสรรมาให้เอง
คำว่า His Highness ในอีเมล์จะตีความเป็นคนอื่นไม่ได้เลย นอกจากชีค มันซูร์ เจ้าของแมนฯซิตี้ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของยูเออี
มันแปลว่า บริษัท Aabar ไปป่าวประกาศได้เลยว่าสนับสนุนแมนฯซิตี้ปีละ 15 ล้านปอนด์ แต่จ่ายจริงๆแค่ 3 ล้าน อีก 12 ล้านเดี๋ยวเราจัดสรรให้เอง
จากนั้นอีเมล์ฉบับที่ 2 ที่แดร์ สปีเกล พบความผิดปกติ เป็นอีเมล์ที่เกิดขึ้นในปี 2015 เป็นการคุยกันของ ฮอร์เก้ ชูมิลลาส CFO หรือหัวหน้าฝ่ายการเงินของแมนเชสเตอร์ ส่งจดหมายคุยกับไซม่อน เพียร์ซ บอร์ดของสโมสรว่า "เอติฮัด แอร์เวย์ส จะเป็นสปอนเซอร์ให้เราปีละ 67.5 ล้านปอนด์ แต่บันทึกไว้ด้วยว่า 8 ล้านปอนด์จะเป็นเงินของเอติฮัด แอร์เวย์สจริงๆ ส่วนอีก 59.5 ล้านปอนด์ จะเป็นเงินของ ADUG"
ADUG ย่อจากอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ที่มีเจ้าของคือชีค มันซูร์นั่นเอง
ดังนั้นอีเมล์ที่ 2 จึงหมายความว่า เอติฮัด แอร์เวย์ส ประชาสัมพันธ์ให้หน่อยว่าจะเป็นสปอนเซอร์เพิ่มให้แมนฯซิตี้อีกปีละ 67.5 ล้านปอนด์ แต่สนับสนุนจริงๆแค่ 8 ล้านพอ ที่เหลือเดี๋ยวเจ้าของสโมสรโอนเงินให้ แล้วพอได้รับแล้วก็ส่งกลับมาให้เป็นก้อน 67.5 ล้านปอนด์ที
ในอีเมล์ที่รุย ปินโต้ แฮ็กมาได้ มีลายเซ็น มีรายละเอียดข้อมูลครบทุกอย่าง เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญจริงๆที่ทางยูฟ่าจะใช้เป็นไม้ตายในการเล่นงานแมนฯซิตี้ได้
จริงๆแล้ว ยูฟ่าอยากจะจัดการแมนฯซิตี้อยู่แล้ว ที่ใช้ทริกหลอกล่อแบบนี้ แต่ไม่สามารถหาหลักฐานได้เป็นชิ้นเป็นอัน แต่พอมีเคส Football Leaks ขึ้นมาสถานการณ์ก็เปลี่ยนไป และแมนฯซิตี้ ต้องอยู่ในสถานการณ์จนมุมเป็นครั้งแรก
แดร์ สปีเกล เผยแพร่อีเมล์ 2 ฉบับ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2018 จากนั้นทางยูฟ่า จึงเริ่มกระบวนการสืบสวนในเดือนมีนาคม 2019 โดยองค์กรที่ทำหน้าที่สืบสวนในคดีนี้ มีชื่อว่า CFCB (ย่อจาก the Club Financial Control Body - คณะกรรมการควบคุมการเงินของสโมสร)
มิถุนายน 2019 แมนฯซิตี้ ยื่นเรื่องไปที่ศาลกีฬาโลก (Cas) โดยตั้งคำถามว่า ยูฟ่ามีสิทธิที่ลงโทษตามกฎ FFP กับแมนฯซิตี้ได้จริงๆหรือ กับเอกสารแค่ 2 ฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พฤศจิกายน 2019 ศาลกีฬาโลกระบุว่ายูฟ่ามีสิทธิที่จะสืบสวนต่อได้ และคำร้องของแมนฯซิตี้จึงตกไป
แมนฯซิตี้ไม่ให้ความร่วมมือใดๆกับยูฟ่าอย่างสิ้นเชิง ไม่เข้าร่วมกระบวนการสืบสวน และไม่ให้ข้อมูลใดๆกับเจ้าหน้าที่ของยูฟ่า
สุดท้าย 14 กุมภาพันธ์ ยูฟ่าจึงประกาศบทลงโทษออกมาอย่างเป็นทางการว่า
"หน่วยสืบสวนได้พิจารณาจากหลักฐานทั้งหมดแล้วระหว่างปี 2012 ถึง 2016 แล้ว พบว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จงใจฝ่าฝืนกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ของยูฟ่า ด้วยการแสดงผลกำไรเกินจริงในบัญชีของสโมสร"
"นอกจากนั้น ยูฟ่ายังสั่งลงโทษสโมสรเพิ่มด้วยข้อหาไม่ให้ความร่วมมือกับ CFCB ในการสืบสวน"
บทลงโทษของยูฟ่า คือปรับเงิน 30 ล้านยูโร และไม่ให้เข้าร่วมแข่งยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2 ฤดูกาลต่อไป (2020-21 และ 2021-22) ซึ่งถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงมหาศาลมากๆ
อย่างไรก็ตามแมนฯซิตี้ ยังไม่ยอมเรื่องนี้ง่ายๆ โดยแถลงการณ์ของซิตี้ระบุว่า "เป็นผลการตัดสินที่น่าผิดหวัง แต่เราก็ไม่ได้แปลกใจ" และยืนยันว่าจะอุทธรณ์กับศาลกีฬาโลกแน่นอน
จริงๆในกรณีนี้ ก็เคยมีคำถามเช่นกันว่า แล้วทำไมปารีส แซงต์-แชร์กแมง อีกทีมที่ร่ำรวยแบบกะทันหันเช่นกัน ถึงไม่โดนลงโทษจาก FFP ทั้งๆที่ก็ใช้เงินมือเติบไม่น้อย
จริงๆแล้ว ยูฟ่าก็ไม่ได้จะปล่อยปละละเลย พวกเขาก็เตรียมตัวสอบสวนเปแอสเช คล้ายๆกับเคสของแมนฯซิตี้เหมือนกัน
แต่ปัญหาคือยูฟ่าไม่มีหลักฐานอะไรให้เอาผิดเปแอสเชได้เลย ไม่มีเอกสารหลุดมาจาก Football Leaks เหมือนเคสของแมนฯซิตี้ นั่นทำให้ เปแอสเชไปยื่นคำร้องกับศาลกีฬาโลก ว่ายูฟ่ามีสิทธิ์อะไรมาสอบสวนพวกเขาที่ทำถูกกฎทุกอย่าง ซึ่งเมื่อไม่มีหลักฐานสักชิ้น ศาลกีฬาโลกก็สั่งให้ยูฟ่ายุติการสืบสวนซะ
นอกจากจะหาหลักฐานไม่ได้แล้ว เปแอสเชยังเดินเกมด้วยความฉลาดมาก ตัวอย่างเช่นในฤดูกาล 2017-18 ที่พวกเขาจ่ายเงิน 222 ล้านยูโรซื้อเนย์มาร์ มาจากบาร์เซโลน่า และคว้าตัวคีลียัน เอ็มบัปเป้มาจากโมนาโก ซึ่งถ้าว่ากันตรงๆ การซื้อบิ๊กเนมสองคนแบบนี้ ย่อมต้องใช้เงินมากเกินกว่ากำไรที่สโมสรจะหาได้แน่ๆ
แต่เปแอสเชทำการหลบเลี่ยงกฎ FFP ด้วยสองวิธี หนึ่ง เขาใช้การ "ยืมตัว" เอ็มบัปเป้มาจากโมนาโกก่อนในซีซั่นแรก โดยมีอ็อปชั่นว่าจะจ่าย 180 ล้านยูโรในซีซั่นที่ 2 ดังนั้นราคาของเอ็มบัปเป้จึงไม่ถูกนับรวมใน FFP
ขณะที่กรณีของเนย์มาร์ ต้องอธิบายก่อนว่า นักเตะทุกคนในลาลีกา จะมี "ค่าฉีกสัญญาเสมอ" โดยเป็นตัวเลขที่เมื่อนักเตะเอาเงินก้อนนี้มาจ่ายให้สโมสร ก็จะได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระทันที ซึ่งกรณีของเนย์มาร์ค่าฉีกสัญญาคือ 222 ล้านยูโร
ถ้าตามปกติเปแอสเชอยากได้เนย์มาร์ ก็ต้องเอาเงินของสโมสรมาจ่ายค่าฉีกสัญญา แต่กับกรณีนี้ เปแอสเชวางแผนเอาไว้ลึกล้ำกว่านั้น
โดยเจ้าของทีมเปแอสเชในปัจจุบันคือ Oryx Qatar Sports Investments หรือชื่อย่อคือ QSI โดย QSI เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกาตาร์
และด้วยความที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 พอดี ทางรัฐบาลกาตาร์จึงทำการ "จ้าง" เนยมาร์ ให้รับบททูตเพื่อประชาสัมพันธ์ฟุตบอลโลก โดยได้รับค่าจ้างให้เป็นทูต 300 ล้านยูโร
เชื่อกันว่า จริงๆแล้วค่าจ้างเป็นทูตของเนย์มาร์จริงๆคือ 78 ล้านยูโรเท่านั้น แต่อีก 222 ล้านยูโรที่เหลือ เป็นค่าฉีกสัญญากับบาร์ซ่าต่างหาก โดยกาตาร์มอบเงินก้อนนี้เหมือนเป็นค่าตัวให้เนย์มาร์ และเนย์มาร์ก็เอาเงินไปจ่ายบาร์ซ่าด้วยตัวเอง
ดังนั้นการซื้อขายของเนย์มาร์ จึงไม่ถูกนับรวมใน FFP ด้วย เพราะว่ากันตามเอกสาร คือนักเตะฉีกสัญญาเอง ไม่ใช่เปแอสเชเป็นคนจ่ายเงินไปซื้อมา
QSI เจ้าของเปแอสเช มันก็คือหน่วยงานรัฐของกาตาร์นั่นล่ะ ดังนั้นแผนการจ้างเนย์มาร์เป็นทูต ทำไมเปแอสเชจะไม่รู้เห็นแต่แรก มันเป็นการวางแผนกันอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว
ค่าตัวเนย์มาร์ไม่นับรวมใน FFP ส่วนค่าตัวของเอ็มบัปเป้ 180 ล้านยูโร ปีต่อมาปารีสก็ได้เงินมหาศาลจากการขายเสื้อเนย์มาร์ นอกจากนั้นยังปล่อยนักเตะหลายคนได้เงินมาร้อยกว่าล้านยูโร ซึ่งก็เพียงพอต่อการจ่ายค่าตัวเอ็มบัปเป้ให้โมนาโก โดยไม่ติด FFP พอดี
ดังนั้น ยูฟ่าไม่มีเหลี่ยมจะเอาผิดปารีสได้เลย เปแอสเชรอบคอบมาก หลักฐานที่สาวถึงตัวเรื่องการโยกกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาก็ไม่มี พวกเขาเอาตัวรอดไปได้แบบสบายๆ
แมนฯซิตี้ เคยโดนลงโทษมาแล้ว 1 ครั้งในปี 2014 โดยตอนนั้นที่ยุโรปใช้คำว่า The first wave of FFP sanctions คือการแทรกแซงของยูฟ่าเรื่อง FFP ระลอกแรก
นั่นเพราะเป็นกฎ FFP เพิ่งถูกนำมาใช้ อาจมีสโมสรสับสนกับวิธีการ และไม่สามารถคุมเงินซื้อขายนักเตะได้อยู่ โดยไม่ใช่แค่แมนฯซิตี้ แต่มีอีกถึง 7 สโมสรในยุโรปที่โดนยูฟ่าลงโทษ
บทลงโทษในครั้งนั้น แมนฯซิตี้โดนลงโทษปรับเงิน 60 ล้านยูโร (แต่ลดเหลือปรับแค่ 20 ล้านยูโรในเวลาต่อมา) และลดจำนวนผู้เล่นในทีมชุดแชมเปี้ยนส์ลีกจาก 25 คน เหลือ 21 คน
ถือเป็นการลงโทษแบบซอฟต์ๆ เป็นคำตักเตือนของยูฟ่าในครั้งแรก ซึ่งหลายๆสโมสรพอโดนยูฟ่าลงโทษหนแรกก็ปรับปรุงตัว ไม่ทำผิดซ้ำอีก
แต่เมื่อแมนฯซิตี้ เมื่อรอดพ้นการลงโทษครั้งแรกไปได้แล้ว แทนที่จะมุ่งมั่นหารายได้ทางอื่น พวกเขากลับเลเวลอัพในการหลบเลี่ยง FFP คราวนี้ใช้วิธีโยกกระเป๋าซ้ายขวามันซะเลย และก็ได้ผลอยู่นาน จนมาโดนจับได้เพราะหลักฐานจาก Football Leaks
ดังนั้นบทสรุปของเรื่องนี้ แมนฯซิตี้รอดยาก พวกเขาอุทธรณ์ไม่ผ่านหรอก เพราะถ้ายูฟ่ากล้าเปิดหน้าแลกขนาดนี้ แสดงว่าพวกเขาเตรียมใจมาแล้ว
และศาลกีฬาโลกก็คงไม่ Overrule คำตัดสินง่ายๆ เพราะมันต้องมีบทเรียนให้ทีมใหญ่ๆได้เห็นว่า ถ้าคุณซิกแซกกับกฎแล้วจะเป็นอย่างไร
แน่นอนจากนี้ไป จะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับแมนฯซิตี้ เป๊ป กวาร์ดิโอล่าจะอยู่ต่องั้นหรือเมื่อไม่ได้เล่นแชมเปี้ยนส์ลีก เช่นเดียวกับ เดอ บรอยน์, สเตอร์ลิ่ง, แบร์นาโด้ ซิลวา, กาเบรียล เชซุส สตาร์เหล่านี้ไม่เคยได้แชมเปี้ยนส์ลีกเลยสักครั้ง และถ้าไม่ได้เล่นในอีก 2 ปีต่อไปอีก นักเตะระดับนี้คงทนไม่ได้แน่ๆ
จากการลงโทษครั้งนี้ มันแน่นอนว่าโฉมหน้าของพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ฤดูกาลหน้าเป็นต้นไป จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
#Mancity #FFP
โฆษณา