17 ก.พ. 2020 เวลา 11:30
ทำไมเพชร ถึงเป็นสัญลักษณ์ของความรัก / โดย ลงทุนเกิร์ล
หนึ่งในสัญลักษณ์แทนความรักและการแต่งงาน ก็คือ “แหวนเพชร”
เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมแหวนแต่งงานถึงนิยมประดับด้วยเพชร
ทั้งๆ ที่โลกของเรามีอัญมณีประเภทอื่นอีกจำนวนมาก
เพราะว่าเพชรสีขาวแทนถึงความรักที่บริสุทธิ์?
หรือเพราะว่าความแข็งของเพชรแสดงถึงความรักที่มั่นคง?
คำตอบของเรื่องนี้เป็นอย่างไร? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องโรแมนติกอย่างที่หลายคนกำลังคาดหวัง
เพราะจริงๆ แล้ว เรื่องนี้เกิดจากแคมเปญการตลาดของบริษัทค้าเพชรรายใหญ่ชื่อ De Beers และเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
ในยุคเริ่มแรก เพชรเป็นสิ่งหายากจริง
โดยตลาดค้าเพชรยังมีเพียงไม่กี่ที่ ซึ่งก็คืออินเดีย และบราซิล
จนกระทั่งพบแหล่งเพชรที่แอฟริกาใต้
การค้าเพชรจึงเริ่มขยายวงกว้างขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาขายและกำไรที่ลดลงเช่นกัน
นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ De Beers หนึ่งในบริษัทค้าเพชรที่ใหญ่สุดในโลก
De Beers ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวอังกฤษ Cecil Rhodes ในปี 1888
คุณ Rhodes ได้ไปลงทุนซื้อเหมืองเพชรในแอฟริกาใต้
แต่ที่น่าสนใจคือ นอกจากเหมืองเพชรแล้ว คุณ Rhodes ยังค่อยๆ ควบรวมกิจการของคู่แข่งด้วย
ทำให้หลังจากก่อตั้งไม่กี่ปี De Beers ก็กลายเป็นผู้ขุดและค้าเพชรที่ใหญ่สุดของแอฟริกา
สามารถควบคุมปริมาณการผลิตและราคาของของเพชรไว้ได้แทบทั้งหมด
โดยในปี 1902 De Beers คุมการผลิตและการจัดจำหน่ายเพชรประมาณ 90% ของโลก
ราคาของเพชรจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่น อย่างทองคำหรือน้ำมัน ที่ราคาจะผันผวนอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ช่วงทศวรรษ 1930 ราคาเพชรเริ่มตกลงจากพิษของวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับตลาดในยุโรปก็เริ่มอิ่มตัว
De Beers จึงมองหาตลาดใหม่ ซึ่งก็คือ สหรัฐอเมริกา
แต่การบุกตลาดใหม่ครั้งนี้ De Beers ไม่ได้เข้าไปแบบธรรมดา
De Beers ได้ติดต่อบริษัทเอเจนซีชื่อดัง เพื่อสื่อสารว่า เพชร คือสัญลักษณ์ของความรัก
ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาที่ทำให้ผู้ชายเชื่อว่า ขนาดเพชรยิ่งใหญ่ ยิ่งแสดงถึงปริมาณความรักที่มาก
หรือ การให้ดารานักแสดง สวมเครื่องประดับเพชรในภาพยนตร์
รวมถึงการออกแคมเปญ “A diamond is forever” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก
จนกลายเป็นสโลแกนของบริษัทมาจนถึงทุกวันนี้
ทั้งหมดนี้ทำให้เจ้าสาวในสหรัฐอเมริกา ต่างได้รับแหวนเพชรเป็นของแทนใจ
และที่สำคัญก็คือ เมื่อความต้องการเพชรเพิ่ม ก็ส่งผลให้ราคาเพชรเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
กลยุทธ์นี้ยังสำเร็จในอีกหลายๆ ประเทศ เช่น เยอรมนี บราซิล
ที่เห็นได้ชัดคือ ญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมการมอบแหวนเพชรแก่เจ้าสาวมาก่อน รวมถึงแทบไม่เคยมีการนำเข้าเพชรหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่ De Beers เริ่มเข้ามาทำการตลาดในญี่ปุ่น
ยอดขายของแหวนเพชรก็เพิ่มจาก 5% ในปี 1967 เป็น 60% ภายในปี 1981
เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
และถือเป็นแคมเปญการตลาดที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
เพราะแม้ว่าในปัจจุบันคนจะไม่รู้จักบริษัทที่ชื่อว่า De Beers
แต่สิ่งที่พวกเขารู้ก็คือ ถ้าจะแต่งงาน สิ่งที่ต้องมีคือ แหวนเพชร
ซึ่งเมื่อมีคนซื้อแหวนเพชร แน่นอนว่าคนที่ได้ประโยชน์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
นั่นก็คือบริษัท De Beers ผู้ค้าเพชรอันดับต้นๆ ของโลกนั่นเอง..
References: Business Insider, The Atlantic, Refinery29
โฆษณา