18 ก.พ. 2020 เวลา 03:03 • ความคิดเห็น
การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) : หลักการที่มีมานานกว่า 2,500 ปี
เมื่อเรามีสินทรัพย์ สินทรัพย์จะต้องถูกจัดสรรเป็นส่วน ๆ เพื่อใช้ในการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่มีการสอนมากในยุคปัจจุบัน หรือการอื่น ๆ แต่พวกเราเชื่อไหมครับว่าแนวคิดนี้หรือหลักการนี้มีมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว ผมขอแสดงหลักฐานให้ดูดังนี้ครับ
ข้อความนี้ปรากฎอยู่ใน พระไตรปิฎก (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้าที่ ๑๔๔ ข้อที่ ๑๙๗ มีเนื้อความว่า
" บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ว่าเป็นมิตรแท้ ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเหมือนมารดากับบุตรฉะนั้น บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็นสี่ส่วน เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วยหมายว่าจักมีไว้ในยามอันตราย ดังนี้ ฯ "
เราจะเห็นความอัศจรรย์อะไรบางอย่างซ่อนอยู่ในนี้ครับ
หากมองผ่าน ๆ จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าสอนเราเรื่องมิตรแท้ (เพื่อนแท้) ว่ามี 4 จำพวกนะ ได้แก่
1. มิตรมีอุปการะ
2. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
3. มิตรแนะประโยชน์
4. มิตรมีความรักใคร่
เมื่อเราเจอเพื่อนที่เข้าได้กับมิตรแท้ 4 จำพวกนี้แล้วทำอย่างไร พระองค์ให้เราเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเหมือนมารดากับบุตร อุปมานี้ลึกซึ้งมากครับ
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือข้อความหลังจากนี้ครับ เพราะพระองค์พูดถึงเรื่องโภคสมบัติหรือสินทรัพย์ โดยเริ่มจากการ "ออม"
"บุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง"
พวกเราคงเคยเห็นผึ้งทำรังนะครับ เริ่มจากมี 1 ห้องหรือ 1 ช่องแล้วรวมกันไปเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดรังผึ้งขนาดใหญ่
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
จากนั้น "พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็นสี่ส่วน" หลักการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) อยู่ที่ตรงนี้แหละครับ ผมขออนุญาตอธิบายพร้อมยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นนะครับ
พระพุทธเจ้าจะสอนให้เราแบ่งโภคสมบัติ สินทรัพย์ หรือเงินที่เราเก็บหรือหามาได้ ออกเป็น 4 ส่วน เช่นสมมตินะครับว่าเรามีเงินเดือน 10,000 บาท
1️⃣ "พึงใช้สอยโภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง" จำนวนนี้คือ 25% ของเงินที่เรามีนั่นคือ 2,500 บาท เงินจำนวนนี้เราจะใช้เพื่อเลี้ยงชีวิต เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เลี้ยงดูตนเอง พ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก ถ้าส่วนนี้เหลือเราสามารถนำไปทำบุญ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้ครับ ซึ่งจะมีที่พระองค์สอนเรื่องการนำเงินไปใช้โดยตรง ว่าเราจะใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ไว้มีโอกาสจะนำมาเขียนให้ได้อ่านกันครับ
บางคนสงสัยเงิน 2,500 บาททำได้ขนาดนี้เลยหรือ ก็นี่มันคิดจากเงิน 10,000 บาท ถ้าเรามี 20,000 บาท เงินส่วนนี้ก็ 5,000 บาท หรือเรามี 30,000 บาท เงินส่วนนี้ก็ 7,500 บาท สัดส่วนตรงนี้จึงคิดจาก 25% ของเงินที่เรามีนั่นเองครับ
2️⃣ "พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน" จำนวนนี้คือ 50% ของเงินที่เรามีนั่นคือ 5,000 บาท เงินส่วนนี้ใช้ไปเพื่อการทำงาน หากจะมองในยุคปัจจุบันการทำงานเราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การทำงานที่เป็น Active และ Passive เช่นอะไรบ้าง ใช้เงินเพื่อเป็นค่าที่พัก ค่าเดินทาง เพราะเป็นลูกจ้างประจำ แบบนี้ก็เป็น Active หรือใช้เงินเพื่อการลงทุน ซื้อหุ้น ซื้อกองทุน ซื้อตราสารหนี้ โดยหวังให้เงินทำงานให้ แบบนี้ก็เรียก Passive
หรือใครจะใช้เงิน 5,000 บาทในส่วนนี้เป็นทั้ง Active และ Passive ก็ทำได้นะครับ เช่น ค่าที่พัก 3,000 บาท ค่าเดินทาง 1,000 บาท เหลืออีก 1,000 บาทก็นำไปซื้อหุ้น ซื้อกองทุน เป็นต้น หลัก ๆ คือ 50% นี้เราจะใช้เพื่อการทำงานครับ
3️⃣ "พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วยหมายว่าจักมีไว้ในยามอันตราย" จำนวนนี้คือ 25% ของเงินที่เรามีนั่นคือ 2,500 บาท มันคือ "เงินเก็บฉุกเฉิน" นั่นเอง พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้มา 2,500 กว่าปีแล้ว
ไม่ว่าเราจะมีเงินมากน้อยแค่ไหนก็ตามเงินเก็บเป็นสิ่งจำเป็นครับ พระพุทธเจ้าให้น้ำหนักถึง 1 ส่วนใน 4 ส่วนที่เรามีเลยนะครับ โดยมีเป้าหมายเพื่อไว้ใช้ยามอันตราย
ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีเงินต่อเดือนมากเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่เรามีการจัดสรรเงินนั้นอย่างไรมากกว่าครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
Asset Allocation ในแบบฉบับที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นจึงแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน โดยใช้ 3 ส่วน (ส่วนตัว 1 การงาน 2) และอีก 1 ส่วนคือเงินเก็บ (ใช้ยามอันตราย)
ผมลองสำรวจการจัดสรรเงินของผมแล้วพบว่า
1. ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็นสัดส่วน 35%
2. ค่าใช้จ่ายในการทำงาน เป็นสัดส่วน 40%
3. เงินเก็บ เป็นสัดส่วน 25%
บางคนมีหนี้แล้วสงสัยว่าหนี้ไปอยู่ตรงไหน ก็ต้องมองครับว่าเป็นหนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับอะไร เช่น หนี้ผ่อน iphone 11 ส่วนนี้อาจมองเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือ หนี้ผ่อนรถเพื่อใช้ในการทำงาน ส่วนนี้ก็อาจมองเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานครับ
ลองนำไปประยุกต์ใช้ดูนะครับ ขอทุกท่านมีความสุขกับ Asset Allocation แล้วรับรองได้ว่าเราจะไม่เดือดร้อนเรื่องเงินเลยครับ เพราะหลักใหญ่ของการใช้เงินที่พระพุทธเจ้าพูดคุมไว้อีกทีคือ
🌟 "รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายได้" เปรียบเหมือนคนถือตาชั่งหรือลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า “ยังขาดอยู่เท่านี้หรือเกินไปแล้วเท่านี้” 🌟
โฆษณา