18 ก.พ. 2020 เวลา 11:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักวิทย์ค้นพบเหาไดโนเสาร์ในก้อนอำพัน
#ChevronEnjoyScience #KenanAsia
(เรียบเรียง โดย ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์ ,ภาพโดย ศิริญพร เจตบรรจง)
สมัยก่อน เด็กๆที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพเส้นผม คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับ ‘เหา’
เหาเป็นแมลงปรสิตที่อยู่คู่กับสัตว์ชนิดต่างๆ มาเป็นเวลาหลายล้านปี ย้อนกลับไปถึงยุคที่โลกยังเต็มไปด้วยสัตว์ขนาดใหญ่อย่างไดโนเสาร์ แต่ก็ยังไม่มีใครพบหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันว่าเหาที่กำลังหากินอยู่กับไดโนเสาร์อยู่นั้นมีสภาพเป็นอย่างไร
เมื่อเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยนำโดยไทปิง เกา (Taiping Gao) จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพและศูนย์การศึกษาสหวิทยาการ (College of Life Sciences and Academy for Multidisciplinary Studies) กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้ประกาศผลการค้นพบสำคัญผ่านวารสาร Nature Communications ว่าด้วยขนของไดโนเสาร์พร้อมกับเหาที่ฝังอยู่ในก้อนอำพันจากประเทศพม่า
ทีมนักวิจัยศึกษาอำพันสองก้อนจากรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ซึ่งเป็นแหล่งเหมืองอำพันสำคัญของโลกอัญมณี (และของนักบรรพชีวินวิทยา) โดยก้อนอำพันดังกล่าวมีอายุราว 100 ล้านปี ย้อนไปในสมัยครีเทเชียสยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ ก่อนที่มันจะสูญพันธุ์ไปเกือบทั้งหมดจากเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลก
ภายในก้อนอำพันพบตัวอ่อนเหาชนิดใหม่ทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า Mesophthirus engeli พร้อมกับขนซึ่งมีลักษณะคล้ายขนนกในปัจจุบันจำนวนสองเส้น ความยาว 12.7 และ 13.6 มิลลิเมตร ตามลำดับ
นักบรรพชีวินยังไม่สามารถระบุได้ว่าชนดังกล่าวมาจากไดโนเสาร์ชนิดใด แต่ระบุกว้างๆ ได้ว่าเป็นของพวกซีรูโลซอเรีย (Coelurosauria) ซึ่งไทแรนโนซอรัสเองก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
โฆษณา