18 ก.พ. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา ฝั่งธนฯ เป็นทำเลทองด้วยรถไฟฟ้า
หากย้อนกลับไป 10 กว่าปีที่แล้ว ที่ดินย่านฝั่งธนฯ
ทำเลระดับ 5 ดาวอาทิเช่น ติดถนนเจริญนคร,ถนนกรุงธนบุรี,
มีราคาขายอยู่ที่ 85,000-130,000 บาท/ตารางวา
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ณ ปัจจุบันกรมธนารักษ์ประเมินราคาที่ดิน 2 ถนนนี้
อยู่ที่ 135,000 - 450,000 บาท/ตารางวา
จะเห็นว่าในเวลา 10 กว่าปีราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 59% - 246% เลยทีเดียว
และไม่ใช่แค่นั้น...ข้อมูลจากกรมธนารักษ์ยังระบุว่า
ทำเลอื่นๆ ในย่านฝั่งธนฯ ราคาขายก็ขยับขึ้นตามๆ มาด้วย
แน่นอนเรื่องนี้ย่อมต้องมี “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้ทำเลย่านฝั่งธนฯ ถูกตาต้องใจ
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ให้ชอปปิงที่ดินกันเป็นว่าเล่น
พร้อมกับมองเกมว่า “ฝั่งธน” กำลังจะเปลี่ยนไป อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งตัวแปรนั้นคือ “รถไฟฟ้า มาหาฝั่งธน”
จุดเปลี่ยนแรกสุดคือในปี 2552 ที่รถไฟฟ้า BTS วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้วยส่วนต่อขยายจากสถานีตากสิน - วงเวียนใหญ่
ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดประตูเชื่อมต่อให้คนย่านฝั่งธนไปยังฝั่งพระนครได้สะดวกขึ้น
จากแต่เดิมการที่คนฝั่งธนจะขึ้นรถไฟฟ้า BTS ต้องนั่งรถประจำทางแล้วมาต่อเรือข้ามฝากมายังสถานี ตากสิน
เหลือแค่เดินทางด้วยรถอย่างเดียวหรือบางคนที่อยู่ใกล้สถานีกรุงธน, วงเวียนใหญ่
ก็สามารถเดินมาขึ้นรถไฟฟ้า BTS ได้เลย
1
แต่ที่ทำให้ใครๆ ก็เริ่มสนใจฝั่งธนฯ ก็คือการเปิดตัว “ไอคอน สยาม” บนถนนเจริญนคร
มูลค่า 54,000 ล้านบาท ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง สยามพิวรรธน์, CP, และ แมกโนเลีย
ซึ่ง ณ วันนี้ถือเป็นโครงการที่สร้างเสร็จและมีมูลค่าแพงที่สุดในประเทศไทย
อีกทั้งทาง “ไอคอนสยาม” ยังผลักดันให้ทาง กทม.สร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเชื่อมต่อ
กับรถไฟฟ้า BTS สถานีกรุงธนวิ่งเข้าสู่ ไอคอนสยาม
โดยจะเป็นผู้ออกค่าก่อสร้างเองทั้งหมด 2 พันล้านบาท โดยมีบริษัท กรุงเทพธนาคม
เป็นผู้ก่อสร้างซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้
แต่...เชื่อหรือไม่ว่าปรากฎการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นเพียงแค่หยดน้ำสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ เท่านั้น
เพราะฝั่งธน ณ วันนี้ มีสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT รวมๆ กันเกือบ 20 สถานี
จากแต่เดิมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วไม่มีสักสถานีเดียว
แล้วเกือบๆ 20 สถานี ก็ทำให้คนฝั่งธนเดินทางไปไหนได้สะดวกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ไม่ว่าจะเดินทางเข้าตัวเมืองไปยังฝั่งพระนครเช่น สีลม, สยาม, อโศก, หมอชิต
หรือจะเดินทางมาถึงสถานี เตาปูน เพื่อเปลี่ยนสถานีมายังรถไฟฟ้าสายสีม่วงเดินทางไปยัง นนทบุรี
สรุปง่ายๆ ก็คือ รถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT
ได้เปลี่ยนการเดินทางไปไหนต่อไหนของคนฝั่งธนให้ง่ายขึ้น อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้เราเห็นการเลี่ยนแปลงอะไรบ้างในย่านฝั่งธน ?
ที่เห็นชัดสุดคือ โครงการคอนโดเกิดขึ้นมากมาย แทนที่อาคารพาณิชย์เก่าๆ, ที่ดินว่างเปล่าริมถนน
หรือแม้ตลาดสดและตลาดนัดที่ประสบปัญหาขาดทุน
จนทำให้ในปี 2559 - 2560 เขตธนบุรี ที่เป็นหนึ่งใน 15 เขตของฝั่งธน
ครองอันดับ 1 ในการเปิดตัวคอนโดมิเนียมมากที่สุดในกรุงเทพปริมณฑล
แล้วภาพในอนาคตของฝั่งธนฯ ที่มี 15 เขตมีประชากร 1.76 ล้านคน
และมีพื้นที่ 450 ตารางกิโลเมตร จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน
แน่นอน ความเจริญจะยังเข้ามาอีกอย่างไม่ขาดสาย
เพียงแต่คงไม่ทัดเทียมกับพื้นที่ฝั่งพระนครที่มี 35 เขต
ที่ทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนพัฒนาที่ดินและคมนาคมมาก่อนหน้านี้
แต่...สิ่งที่ฝั่งธน ดูเหนือกว่า ฝั่งพระนคร
นั้นคือความคลาสสิกที่ผสมผสานกับความเป็นเมืองได้อย่างดูเนียนตา
เราได้เห็นร้านอาหารต้นตำรับแสนอร่อยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีอยู่หลายร้าน
เราสามารถเดินทางไปชอปปิงตลาดน้ำตลิ่งชันที่เสมือนหลุดไปอยู่ในอดีต
อีกทั้งเรื่องที่ใครหลายคนยังไม่รู้คือฝั่งธนฯ ยังมีพื้นที่เกษตรกรรมรวม
กว่า 4,000 ไร่ และมีบ่อปลา นากุ้ง หลายแห่งในเขตบางขุนเทียน ให้เราไปชื่นชมวิถีชีวิต
เพราะฉะนั้นหากเปรียบทำเลย่านฝั่งธนฯ ในเวลานี้ เป็นอาหารจานหนึ่ง
รสชาติอาหารจานนี้ เป็นความเจริญที่ Mix กับความคลาสสิก ได้อย่างมีรสชาติกลมกล่อม
ปิดท้ายข้อมูลที่น่าสนใจ : ศุภาลัย ถือเป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับต้นๆ ที่ให้ความสนใจย่านทำเลฝั่งธนฯ มายาวนานเพราะมีทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว ขายอย่างต่อเนื่อง
โดย ณ เวลานี้ ศุภาลัย มีโครงการที่เปิดขาย 27 โครงการย่านฝั่งธนฯ แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 18 โครงการและคอนโด 9 โครงการ
Reference :
กรมธนารักษ์
วิกิพีเดีย
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
โฆษณา