20 ก.พ. 2020 เวลา 01:37 • การศึกษา
สรุปหนังสือ: จีน-เมริกา ... จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น2.0
ในหนังสือเศรษฐกิจโลก 1000 ปี ของลงทุนแมน (แนะนำครับ สนุกมาก) บอกเราไว้ว่า สหรัฐอเมริกา ค่อยก่อร่างสร้างประเทศ จนยิ่งใหญ่อย่างเช่นปัจจุบัน กลายมาเป็น Big Brother ในโลกของเรา ได้อย่างไร
ในกรณีของสหรัฐนั้น เราจะเห็นได้เลยครับ ว่าต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร และได้รับอานิสงค์จากทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ค่อยๆสะสมบารมีจนแซงเจ้าจักรรดิขั้วอำนาจเก่าในทวีปยุโรป ตัดสินศึกสุดท้ายกับโซเวียต ได้รับชัยชนะ กลายมาเป็นเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นทุกวัน
ซึ่งในระหว่างที่สหรัฐกำลังโตวันโตคืนนั้น ประเทศจีนผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต ก็ประสบกับปัญหาสารพัด จากนโยบายภายในที่ผิดพลาด ผู้คนอดอยากล้มตายหลายล้านคน ระบบเศรษฐกิจดิ่งเหว
แต่จีนใช้เวลาเพียงไม่กี่ช่วงอายุคน สามารถ Comeback มาได้อย่างยิ่งใหญ่ กลายมาเป็นเบอร์ 2 ของโลก
ถามว่าทำได้ยังไง? อันนี้แนะนำต้องอ่านหนังสือ China 5.0 ของ อ.อาร์มครับ สนุกมาก
คำถามต่อมา จีนเป็นอันดับ 2 แล้วยังไง?
GDP สหรัฐก็ยังทิ้งห่างจีนอยู่หลายก้าว แถมสหรัฐเองก็มีบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกมากมาย จะต้องกลัวจีนหรือไม่? จีนจะวิธีไหน มาแข่งกับสหรัฐ?
ทำไม 5G ของ Huawei จึงสั่นคลอนสหรัฐ?
Trade war เกิดมาได้ยังไง? ทำไม Trump ทำตัวบ้าๆห่ามๆ?
แข่งกันไปแข่งกันมา จะเกิดสงครามเย็นอีกหรือไม่? โลกจะกลับไปตึงเครียดกันเหมือนยุคอเมริกาแข่งกับโซเวียตหรือไม่?
หนังสือเล่มนี้มีคำตอบครับ
1. สงครามการค้ากับทฤษฎีหมูสามชั้น
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างจีน และอเมริกา?
อ.อาร์ม เสนอว่า มันมีมากกว่าแค่เรื่องการค้า และตั้งชื่อชนวนสาเหตุความขัดแย้งนี้ ว่า “ทฤษฎีหมูสามชั้น”
ชั้นแรก คือชั้นผิวๆ ก็คือ เรื่องการค้า ซึ่งที่เป็นประเด็นหลักคือ สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมาติดต่อกันตลอด แต่อ.อาร์มมองว่าเรื่องการค้านี้คือ ข้ออ้างผิวๆเท่านั้น
ชั้นสอง คือ ความขัดแย้งเรื่อง เทคโนโลยี คือ สหรัฐกำลังกังวลว่าจีนกำลังกระโดดอย่างรวดเร็วเกินไป ทั้ง 5G ทั้ง AI เลยใช้สงครามการค้านี้ เป็นแค่หน้าฉาก
ชั้นที่สาม ซึ่งสำคัญที่สุด คือเรื่องของความมั่นคง เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆนี้มีประเด็นของความปลอดภัยของข้อมูลทั้งสิ้น และเทคโนโลยีต่างๆก็เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการทหารโดยตรง
เช่น หากจีนเป็นผู้นำด้าน IOT ขึ้นมา แล้วข้าวของเครื่องใช้ในสหรัฐก็มาจากจีน หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ มาจากจีนทั้งหมด เมื่อนั้นความเสี่ยงด้านความมั่นคงสหรัฐก็จะมหาศาลทันที
แก่นแท้ของ Trade War ครั้งนี้ จึงมากกว่าเรื่องการค้า แต่คือการแข่งขันกันระหว่างเรื่องเทคโนโลยี และความมั่นคง ที่สหรัฐ จะยอมให้จีนชนะและขึ้นมาเป็นผู้นำ ไม่ได้เด็ดขาด
2. ทรัมป์ กับเกมคนขี้ขลาด
อ.อาร์มนำเสนอว่า เกมคนขี้ขลาด ซึ่งเป็นส่วนถึงของ ทฤษฎีเกมนั้น สามารถใช้อธิบายกลยุทธ์ของจีนและ Donald Trump และพฤติกรรมที่ไม่เหมือนผู้นำปกติ ได้
สิ่งที่ Trump กำลังทำอยู่นั้น คือการแกล้งโง่ และแกล้งบ้า และทำตัวให้เอาแน่เอานอนไม่ได้
เช่น วันดีคืนดีทรัมป์ไปยุ่งกับประเด็นเรื่องไต้หวัน ไปยุ่งกับเกาหลีเหนือ วันหนึ่งดี วันหนึ่งร้าย
การที่ Trump ทำตัวแบบนี้ มันทำให้เขาดูเหมือนพวกอันธพาล ที่มีแต่ลูกบ้าลูกชน ไม่ใช่คนมีเหตุผลตามปกติเช่นวิญญูชนทั่วไป
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ เกมคนขี้ขลาด? (Game of Chicken)
Game of chicken นี้มีหลายรูปแบบ เช่น สมมติว่ามีรถ2คันกำลังพุ่งเข้าหากัน กำหนดให้ในนาทีสุดท้ายก่อนจะชน ให้ผู้เล่นในเกมตัดสินว่า จะชน หรือ หลบ
แย่ที่สุด คือ ชน+ชน เพราะจะตายกันทั้งคู่
ดีที่สุดคือ เรา ชน แต่เขาหลบ อีกฝ่ายยอมแพ้ไป
ดีรองลงมาคือ เรายอมหลบ เพราะอย่างน้อยเราก็ยังรอด
ผู้เล่นในแต่ละฝ่ายจึงต้อง เดาใจ ว่าแต่ละฝั่งจะคิดอย่างไร ซึ่งหากเราไม่แน่ใจ เราก็ควรหลบ จะปลอดภัยต่อตัวเราที่สุด
ถ้าทั้งสองฝ่ายเป็นคนมีเหตุผล มันก็คงไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเท่าไหร่ เพราะ รู้เขา รู้เรา
การที่เราจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในเกมนี้ จึงต้องเป็นฝ่ายประกาศ ให้อีกฝ่ายรู้ ว่า เราจะถอดพวงมาลัยและถอดเบรกออก เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่า เราจะชน เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันอันตราย
และนี่คือสิ่งที่ทรัมป์กำลังทำอยู่
ทรัมป์ กำลังทำตัวเป็นคนไม่มีเหตุผล เพื่อไม่ให้ใครมาคาดเดาเขาได้!
เมื่อประธานาธิบดีของประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก มาเล่นบทเอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้
พวกเราก็เลี่ยงไม่ได้ ที่จะตกในยุค ที่ความผันผวนและไม่แน่นอน
คือ New Normal
3. รายงาน 301 : สหรัฐกล่าวหาว่าจีนขโมยเทคโนโลยี
เสี้ยมหนามที่กำลังทิ่มแทงใจสหรัฐอันสำคัญอันหนึ่ง คือ แผน Made In China 2025
1
แผนดังกล่าวประกาศใช้เมื่อปี 2015 เพื่อพลิกโฉมจีนจาก Made in China ที่แปลว่าแหล่งผลิตของถูก ไปสู่แหล่งอุตสาหกรรมทันสมัย ชั้นนำของโลก
1
เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแผนนี้ คือการขับเคลื่อนจีนให้ครองตลาดโลกในกลุ่มสินค้าไฮเทค
คำถามคือ จีนจะทำยังไง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ?
1 ในวิธีการที่จีนเคยทำ  และโดนสหรัฐออกมาร้องทุกกล่าวโทษ ก็คือการที่จีนขโมยเทคโนโลยีของสหรัฐ
ในเดือนมีนาคม 2018 สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐได้ออกรายงานพฤติกรรมการละเมิดทรัพสินทางปัญญาของจีน (USTR section 301 Report)
รายงานนี้แจกแจงวิธีที่จีนใช้ในการขโมย คือ
บังคับให้สหรัฐ ต้องร่วมทุนกับบริษัทจีน และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ มิฉะนั้นก็อย่างหวังจะเข้าถึงตลาดผู้บริโภค 1.4 พันล้านคนของจีน
กฏหมายในเรื่องการจัดการสิทธิการจัดการเทคโนโลยีของจีน ที่เอื้อการได้เทคโนโลยีไปใช้ต่อ
บริษัทจีนกว้านซื้อบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ ด้วยการสนับสนุนทางอ้อมของรัฐบาลจีน เช่น ธนาคารรัฐปล่อยเงินกู้ราคาถูก
สงครามไซเบอร์ เช่น Hack ข้อมูลความลับทางการค้าและเทคโนโลยี ของสหรัฐ
Trump จึงตอบโต้โดยการรีบพิจารณาหามาตรการการควบคุมการลงทุนจากจีน เพื่อยับยั้งทุนจีนมาเข้าซื้อ และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบแรก โดยเน้นไปที่สินค้าตามแผน Made in China 2025
สิ่งที่สหรัฐกำลังทำตอนนี้ จึงอาจมองได้อีกมุม ว่าเป็น วัวหายล้อมคอก
กว่าจะรู้ตัว จีนก็พัฒนาเทคโนโลยีไปมาก และก้าวกระโดด จนแซงสหรัฐในบางเรื่องแล้ว!
สงครามการค้าจีนนั้นจึงอาจจบไปนานแล้ว เพราะจีน ชนะไปแล้ว
เพราะช่วงหลายสิบปีที่ผ่าน เป็นบริษัทสหรัฐนั่นแหละ ที่ยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีน เพื่อแลกกับผลกำไร … ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนี้ ไม่รู้ว่าสายไปหรือยัง
4. อดีต : เศรษฐกิจเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว
อุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีลักษณะเด่นคือ ห่วงโซ่การทำธุรกิจ
ยิ่งเป็นธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ก็จะมีการแบ่งงานหลายทีม แต่ละทีมมีความเชี่ยวชาญต่างกัน กว่าจะได้ product มาสักอันหนึ่ง
ลักษณะเด่นนี้เอง ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐ และ จีน แทบจะกลายเป็นห่วงโซ่เดียวกัน แบ่งแยกไม่ได้
ปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จของอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีอยู่สองอย่าง
R&D ซึ่งในโลกนี้ สหรัฐคือผู้นำ
การผลิต ซึ่งจีนเป็นผู้นำ
R&D นั้นแม้จะได้โมเดลที่ดีเลิศแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถหาวิธีผลิตออกมาจำนวนมากเพื่อรองรับกับตลาดผู้บริโภคได้ มันก็ไม่สร้างกำไร
จึงต้องมีแหล่งผลิตที่มีกำลังพอ ซึ่งตอนนี้ เบอร์หนึ่งของโลก คือ จีน
ทำไมจีนจึงเป็นเบอร์หนึ่ง?
ไม่ใช่เพราะค่าแรงถูก เพราะคนจีนรวยขึ้นแล้ว แต่เพราะจีนมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่
เป็นระบบ มีวงจรการผลิตชิ้นส่วนและประกอบครบถ้วน อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
เปิดกว้าง คือมีการรับจ้างผลิตให้บริษัทภายนอกได้ ต่างกับเยอรมันหรือญี่ปุ่น ที่ผลิตสินค้าได้ดี แต่ไม่ยอมให้บริษัทภายนอกมาจ้างง่ายๆ
ตัวอย่างเช่น Foxconn ที่เสินเจิ้น ซึ่งรับผลิตสินค้าต่างๆให้ APPLE นั้น ก็มีวิศกรถึง 5000 คน ซึ่งมีหน้าที่ออกแบบโมเดลผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้านำเสนอมา ให้ผลิตออกมาได้จริง
ดังนั้น การย้ายฐานการผลิตจากจีน ให้กลับไปสหรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
เพราะสหรัฐไม่มีวิศกร หรือช่างเทคนิคมหาศาลดังเช่นในจีน ไม่มีห่วงโซ่การผลิต การประกอบชิ้นส่วน ที่ดีอย่างจีน และไม่สามารถผลิตออกมาเป็นจำนวนมากและต้นทุนถูกเพื่อรับรองผู้บริโภคทั้งโลกได้
การแตกหักของทั้งสองประเทศ จึงไม่สามารถเป็นไปได้ในชั่วข้ามคืน ต้องค่อยๆปรับตัวในระยะยาวกันไป
5. อนาคต: โลกที่แตกเป็นสองห่วงโซ่
จากเรื่องหัวข้อในอดีต จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา การค้าของโลกเชื่อมโยงกัน เป็น ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) แต่ละประเทศผลิตสินค้าตาม Comparative Advantage ของตน และเกิดการค้าขายเชื่อมโยงกันทั้งโลก
การค้าขายแบบนี้เป็นมากว่า 20 ปี มีผู้แพ้ ผู้ชนะ มีคนได้มาก ได้น้อย แต่ทุกๆคนก็รู้ว่าตนจะผลิตอะไร ขายใคร อยู่ตรงไหนในห่วงโซ่อุปทานของสินค้านั้นๆ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ สงครามการค้าทำให้ห่วงโซ่ของโลกนี้ และการค้าของโลก ไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก
เนื่องจาก
ในมุมมองของบริษัทในจีน : การขึ้นกำแพงภาษีจีน ทำให้ธุรกิจต่างๆต้องมาวางแผนกันใหม่ว่าจะผลิต จะขายของยังไง เพื่อหนีกำแพงภาษี ทำให้ธุรกิจในจีนเริ่มย้ายออกไปหาแหล่งผลิตอื่น หรือ ถ้าจะอยู่จีนต่อ ก็ต้องหาตลาดอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐ
สิ่งที่จะเกิดก็คือ เส้นทางการค้าที่กำลังตาย และกำลังก่อร่างใหม่
ในมุมมองสหรัฐ : ภัยคุกคามจากจีน ทำให้สหรัฐต้องการแยกห่วงโซ่การผลิตสินค้าของตนออกมาจากจีน
การเชื่อมโยงมากไปที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐเสียอำนาจต่อรอง ดังนั้นจึงต้องบีบให้บริษัทสหรัฐที่ตั้งในจีน ต้องย้ายฐานการผลิตออกไปและหาตลาดใหม่ที่ไม่ใช่จีน (ตลาด ABC – Anywhere But China)
โดยรวมแล้ว นี่จึงทำให้โลกกำลังสิ้นยุคโลกาภิวัตน์  เศรษฐกิจโลกที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงแตกออก กลายเป็นยุคที่ห่วงโซ่อุปทาน แบ่งออกเป็นสองส่วน แยกออกจากกัน (กลายเป็น จีน-เมริกา)
6. วันที่โลกมีสองอินเตอร์เน็ต
อนาคตอีกแบบหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ คือ โลกมีสองอินเตอร์เน็ตแยกจากัน
วันหนึ่งเราอาจต้องมีsmartphone 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งซื้อซิมไว้เข้าเน็ตฝั่งจีน เอาไว้ซื้อของใน Alibaba หรือฟังเพลงจาก Joox
ส่วนอีกเครื่อง ก็เป็นซิมใช้เข้าเน็ตเมกา เอาไว้ดู Netflix กับเล่นเฟซบุ้ค
หรืออาจถึงขั้นแต่ละประเทศจะต้องเลือกเอาเลย ว่าจะเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตของจีน หรือสหรัฐ และพ่วงกับ Platform ประเทศนั้นๆไปเลย เช่น ถ้าจะอยู่กับ internet จีน ก็บ้ายบาย Google ใช้ได้แค่ Baidu Search
จากข่าวที่ google ถูกสั่งให้เลิกทำธุรกิจกับหัวเว่ยนั้น ยิ่งทำให้เห็นภาพโลกที่มีสองอินเตอร์เน็ตชัดขึ้น
วันหนึ่ง Huawei ก็คงทำ OS ของตัวเองได้ มี app เป็นของตัวเองทั้งหมดได้ โดยไม่ต้องง้อ android
ในขณะที่ฝั่งสหรัฐ ก็ออกมากดดันประเทศต่างๆ ไม่ให้ใช้เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย โดยอ้างความปลอดภัยของข้อมูล เพราะมีความเป็นไปได้ ว่าจะมีการสอดแนมใส่ malware ไว้ในอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต (Internet of thing)
1
ความกลัวเรื่องเทคโนโลยีสอดแนม จากการมาของ 5G นี้เอง ทำให้ทั้งจีนและเมกาต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี 5 G ของตัวเอง
มันจึงยิ่งผลักดันให้โลกนี้ กลายเป็นโลกสองอินเตอเน็ตได้มากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีในยุคใหม่จึงไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องค้าขาย แต่มีมิติความมั่นคงรวมไว้ด้วย เป็นอีกหนึ่งชนวนของสงครามการค้านี้
7. สงครามเย็น 2.0
กลุ่มชนชั้นนำในสหรัฐ มองว่าจีนในวันนี้ ร้ายกว่า สหภาพโซเวียดในอดีต เนื่องจาก
จีนมาจากอารยธรรมและเชื้อชาติที่แตกต่างจากตะวันตก การปะทะกันครั้งงนี้ จึงเข้าขั้น clash of civilization ครั้งใหญ่
จีนได้เชื่อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก ในขณะที่โซเวียตนั้นเป็นคอมมิวนิสเต็มตัว และแยกจากสหรัฐไป
หลังยุคสงครามเย็น สหรัฐก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเดี่ยวของโลก
ในปี 2001 สหรัฐยอมรับให้จีนเข้ามาเป็นสมาชิกของ WTO ท่ามกลางเสียงคัดค้าน เพราะจีนถูกมองเป็นเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ในตอนนั้นสหรัฐคิดว่า เมื่อจีนพัฒนาเศรษฐกิจ ก็จะเกิดชนชั้นกลางที่เรียกร้องเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือ ถ้าจีนไม่ยอมปฏิรูปปการเมือง สุดท้ายเศรฐกิจจีน จะไปไม่รอด
สหรัฐมองว่า ยังไงจีนก็ไม่สามารถเป็นภัยกับตัวได้ แน่นอนว่าคาดการผิด เพราะจีนรวยเอาๆ และเศรษฐกิจ ก็ไม่พังแม้จะยังเป็นเผด็จการ
ยิ่งช่วงหลังๆ ทุกคนต้องเกรงใจจีน และชาติจีน ยอมผ่อนผันเรื่องสิทธิมนุษย์ชน  เพราะกลัวจะกระทบกับเศรษฐกิจที่พวกเขาค้าขายกับจีน
ในอดีต ถ้าสหรัฐจัดการโซเวียตจนพัง สหรัฐก็ไม่เจ็บตัว แต่วันนี้ ถ้าสหรัฐจัดการจีน สหรัฐจะเจ็บตัวมาก และอาจจะพังกันทั้งโลก
จีนวันนี้ เป็นเผด็จการไฮเทค ที่สามารถควบคุมจัดการสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เผด็จการไฮเทคนั้นท้าทายทฤษฎีทางรัฐศาสตร์
เผด็จการมักอยู่ไม่ได้นาน เพราะขาด feedback จากคนข้างล่าง แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้พรรคคอมมิวนิสได้เครื่องมือในการควบคุมจัดการสังคมได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่ง
จีนยังเป็นชาติเดียวที่มาแข่งขันกับสหรัฐในแพลตฟอมอินเตอเน็ตแบบเต็มตัว ไม่ว่าจะ 5G , Baidu , Tencent, Alibaba  รวมทั้งฮาร์ดแวต่างๆ ทำให้จีนนั้นก็สามารถพึ่งตนเองได้เต็มที่ ยืนหยัดด้วยตัวเองได้
1
สุดท้าย สงครามนี้จะนำไปสู่จุดสมดุลระหว่างสองยักษ์ ที่ต่างฝ่ายไม่มีวันล้มอีกฝ่ายได้ ต่างจากที่สหรัฐ ล้มโซเวียตได้
โลกวันนี้ถึงจุดจบนำเดี่ยวของสหรัฐ  แต่ใม่ใช่จุดจบของสหรัฐ  ถึงจุดที่จีนผงาด แต่ไม่ได้นำเดี่ยวเช่นกัน
สงครามเย็น 2.0 จะแตกโลกเป็นสองแกน และสองห่วงโซ่
ประเทศและคนที่รอดจึงไม่ใช่คนเลือกข้างแบบเชียมวย แต่คือคนเล่นเกมและเล่นตัวไปกับสองมหาอำนาจ อย่างรู้เท่าทัน
โฆษณา