20 ก.พ. 2020 เวลา 01:45 • ธุรกิจ
จะทำอย่างไรเมื่อธุรกิจกำลังจะไปไม่รอด!!!
มีสักกี่คนพูดถึงการรับมือในช่วงที่ธุรกิจกำลังเจอกับวิฤติ บทความนี้เรามีคำแนะนำ
สงครามการค้า ไวรัสโคโรน่า และมีปัจจัยอีกหลายอย่างกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งในภาคการท่องเที่ยว การผลิต ธุรกิจค้าปลีก และอีกหลายๆธุรกิจ ที่กำลังประสบปัญหา
เรามักจะเห็นแต่ภาพคนที่ประสบความสำเร็จผ่านทางสื่อมากมาย และรู้สึกกดดันกับธุรกิจตัวเองที่ง่อนแง่นขึ้นทุกวัน จะรอดหรือไม่ก็ยังไม่รู้
เชื่อเถอะว่า นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมายมหาศาลก็เคยล้มเหลวมาก่อน แต่คนที่สำเร็จคือคนที่ได้บทเรียนจากความล้มเหลวและเดินหน้าต่อไป
90% ของธุรกิจขนาดเล็กล้มเหลว
50% ล้มเหลวภายใน 5 ปีแรก
ธุรกิจแรกของมาร์ค ซัลเคิลเบิร์ก ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเปรี้ยงป้างเหมือน Facebook ก็เช่นกัน
ขั้นตอนในการเอาตัวรอดในช่วงธุรกิจขาลง?
1. สำรวจปัญหาที่แท้จริงของปัญหา เพื่อหาวิธีการแก้ไขให้ถูกต้อง
-คุณขายไม่ได้ แต่คู่แข่งขายดี - สินค้าและบริการของคุณมีปัญหา?
-สินค้ายังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไป - ปรับช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้ากับลูกค้า
1
-สินค้านั้นล้าสมัยแล้วจริงๆ ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการในปัจจุบัน - โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง
นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆให้คุณสำรวจธุรกิจของคุณว่ามีปัญหาตรงไหน ในแต่ละธุรกิจก็อาจจะมีปัญจัยหลายด้านให้คิดวิเคราะห์แตกต่างกันออกไป ไม่มีใครรู้ธุรกิจดีเท่าตัวของคุณเอง
2. เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
ธุรกิจที่ไปไม่รอดมักเกิดจากกระแสเงินสดหยุดชะงัก เงินหมุนไม่ทันจ่าย supplier ค่าจ้างพนักงาน
เงินฝืดเกิดจากหลายสถานการณ์เช่น เงินจมในทรัพย์สิน หรือสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร การให้เครดิตลูกค้าระยะยาวจนเกิดหนี้สูญ
เจ้าของธุรกิจบางคนตัดใจขายทรัพย์สินบางส่วนทิ้งเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของเงินทุน หรือการเข้าไปเจรจากับลูกค้าเกี่ยวกับผ่อนชำระสินค้าเพื่อเอาเงินบางส่วนมาหมุนในธุรกิจไปก่อน
เรื่องเงินหมุนเวียนเป็นเรื่องที่ต้องรีบแก้ไข ถ้าปล่อยให้เกิดสภาวะเงินฝืดไปเรื่อยๆ ธุรกิจของคุณกำลังใกล้กาลอวสานอย่างแน่นอน
3. สื่อสารกับพนักงานอย่างตรงไปตรงมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ให้พนักงานเข้าใจถึงภาวะที่บริษัทต้องการลดค่าใช้จ่าย เช่นลดการใช้จ่ายปลีกย่อยเช่น ค่าใช้จ่ายการสันทนาการ การควบคุมให้ทำงานเสร็จตรงเวลาเพื่อลดการจ่าย OT
สื่อสารให้พนักงานเข้าใจว่าการลดค่าใช้จ่ายด้วยเหตุผลทำไปเพราะ บริษัทไม่ต้องการตัดค่าใช้จ่ายโดยการเลิกจ้างพนักงาน การตัดรายจ่ายบางส่วนทำให้พนักงาและบริษัทสามารถอยู่รอดไปด้วยกันได้ในระยะยาว
ร่วมกันคิดหากลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจไปรอดจากพนักงาน เพราะบางครั้งไอเดียก็อาจเกิดจากคนที่ทำงานหน้างานที่เห็นภาพของลูกค้า เพื่อร่วมหาทางแก้ไขในสินค้าและบริการ
ข้อควรระวัง การสื่อสารในการลดค่าใช้จ่ายควรทำไปด้วยกัน เคยมีเคสจากคนรู้จักแชร์ว่า เจ้าของบริษัทตัดโบนัสพนักงานบอกว่าเพราะกำไรลดลง แต่พนักงานเห็นเจ้าของออกรถรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งหากไม่ระวังตรงนี้อาจทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นไปได้เลย
4. ให้ความสำคัญกับลูกค้าเสมอ
แม้ว่าธุรกิจคุณอาจจะอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม การขายสินค้าที่คุณภาพแย่ บริการที่สร้างประสบการณ์น่าสะพรึงให้กับลูกค้าเหมือนกับการกินยาพิษในช่วงที่คุณกำลังโคม่า การรักษาชื่อเสียงก็สำคัญเพื่อให้คุณมีที่ยืนในวันที่ธุรกิจคุณฟื้นได้อีกครั้งหนึ่ง
ควรเข้าไปคุยกับลูกค้าโดยตรง อาจจะได้รู้จุดอ่อนในธุรกิจคุณมากขึ้น เช่น สินค้าราคาแพงไป จัดส่งช้า พนักงานบริการไม่ดี หรือลูกค้าอาจจะมีความต้องการที่นอกเหนือไปจากสินค้าและบริการที่คุณมีอยู่เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้า
5.หาที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ
จากผลสำรวจโดย Sage 93% ของธุรกิจขนาดกลางที่จ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะแนวทางการทำธุรกิจสามารถไปรอดได้
เพราะผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สามารถมองเห็นปัญหา ภาพรวมธุรกิจของคุณ และแนะแนวทางที่ถูกต้องได้ รวมถึงช่วยแนะนำคนที่จะแก้ปัญหาในด้านนั้นๆ
6. ทำสิ่งใหม่ๆจากที่เคยทำ
แม้ว่าสิ่งที่คุณทำในอดีตจะเคยทำให้คุณประสบความสำเร็จแต่วันนี้มันอาจจะไม่ใช่อีกต่อไป การทดลองทำสิ่งใหม่ๆเช่นขยาย products line ขายสินค้าตัวใหม่ ขยายฐานลูกค้า
ตัวอย่างที่เราเห็นบ่อยๆคือ pop-up store หรือการขายสินค้าตัวใหม่ในจำนวนจำกัด ถ้าลงทุนขนาดย่อยแล้วไปได้ดี ทำแล้วมัน work เราก็สามารถเพิ่มเงินทุนขยายในส่วนที่ทำกำไรให้เราได้
7. ยอมรับเถอะว่าคุณล้มเหลว
การล้มเหลวในธุรกิจหนึ่งไม้ได้แปลว่าชีวิตคุณจะล้มเหลวไปซะหมด มันก็แค่ส่วนหนึ่งของชีวิต ล้มแล้วก็ลุกได้ ไม่มีอะไรตายตัว คุณเพียงแค่จบวงจรชีวิตของธุรกิจนั้น ไม่ใช่จบชีวิตของคุณลงทั้งหมด
บทความนี้ขอเป็นกำลังใจให้ทุกธุรกิจที่เจอปัญหา
ปัญหามีไว้ให้แก้
แพ้วันนี้ไม่ได้แปลว่าจะแพ้ตลอดชีวิต
คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่คนที่สำเร็จได้ในครั้งแรก
แต่ยอมรับความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนจนยืนอย่างสง่างามได้
#successjourney
ที่มา
โฆษณา