20 ก.พ. 2020 เวลา 12:26 • กีฬา
รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา : การศึกษาจำเป็นแค่ไหนกับนักกีฬาอาชีพชาวไทย?
“มีคนถามอีกว่า ทำไมเด็กในอคาเดมี่ผมต้องเรียนหนังสือ ก็อยากจะบอกว่า คนฉลาดเล่นบอลฉลาด คนโง่เล่นบอลโง่ การศึกษาทำให้เขามีระบบ และโครงสร้างทางความคิดที่ดีกว่าคนไม่ได้เรียน”
เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เคยให้สัมภาษณ์กับทาง Goal Thailand ถึงปรัชญาในการสร้างเยาวชนของตนเอง ที่ทำให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา
เพราะการศึกษาเป็นได้ทั้งภาพสะท้อนของวุฒิภาวะ, ภาพลักษณ์, ความสามารถ รวมถึงเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพมนุษย์ จนกลายเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไป
แต่สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “นักกีฬา” การศึกษาอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญนัก เพราะพวกเขามีการเรียนรู้ในแบบฉบับของตัวเอง นั่นคือการฝึกซ้อม การพัฒนาทักษะ เพื่อสร้างความเป็นเลิศให้กับตัวเอง
ด้วยพื้นฐานของการเป็นนักกีฬา การฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาตัวเอง ให้เป็นผู้ชนะในการแข่งขัน ทำให้นักกีฬาต้องเสียสละหลายอย่าง เพื่อก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือเวลา
ปัจจุบัน การเป็นนักกีฬา ต้องวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่วัยเด็ก เข้าสู่โปรแกรมการเรียนรู้พัฒนาอย่างจริงจัง สิ่งที่ต้องสูญเสียไป คือเวลาที่จะมอบให้ด้านการศึกษา เพราะหากอยากเป็นนักกีฬาอาชีพจริงจัง การนำเวลาไปให้กับการฝึกซ้อม เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลกว่า
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การศึกษามีประโยชน์มากกว่าที่นักกีฬาจะรับรู้ เพียงแต่ถูกซ่อนรูปไว้ โดยที่นักกีฬาอาจไม่รู้สึกตัวเท่านั้น
ตัวช่วยหรือตัวถ่วง
หากมองผ่านๆ “กีฬา” กับ “การศึกษา” ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยืนอยู่ตรงข้ามกันโดยธรรมชาติ ... แน่นอนว่า ไม่ใช่นักกีฬาทุกคนที่จะปฏิเสธการเรียนหนังสือ มีนักกีฬาจำนวนมาก เรียนจบในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่มีการคัดเลือกผู้เล่นเข้าสู่ระบบอาชีพ ผ่านกีฬามหาวิทยาลัย
Photo : www.ncaa.com
แม้ในความเป็นจริงนักกีฬาเหล่านั้น จะเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยจุดประสงค์หลักคือเล่นกีฬาอย่างเดียว และมีการย้ายสถาบันกันเป็นว่าเล่น ไม่ต่างอะไรกับนักกีฬาอาชีพย้ายทีม (แต่ก็มีกฎที่ต้องห้ามลงแข่งขันระยะหนึ่งเป็นข้อแลกเปลี่ยน)
หรือบางคนตัดสินใจออกจากมหา’ลัยกลางคัน เพื่อก้าวมาเป็นนักกีฬาอาชีพเต็มตัว บางคนก็ไม่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเห็นได้ทั่วไป กับนักกีฬาฝั่งยุโรป
ดอว์น อควิลินา (Dawn Aquilina) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลูเซิน ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่สนใจในความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับกีฬา ได้เขียนผ่านงานวิจัยของเธอว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกหากนักกีฬา จะมองไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะในความรู้สึกของนักกีฬา สิ่งที่ทำให้นักกีฬาพัฒนา และก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาชั้นนำ คือการทุ่มเวลาให้กับการฝึกซ้อม
หนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่ถูกยกขึ้นมาพูดไม่นานนี้ คือทีม ไมอามี ดอลฟินส์ (Miami Dolphins) ทีมอเมริกันฟุตบอล จากลีก NFL ที่ทั้งผู้บริหารและนักกีฬา ล้วนจบศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับสูง
ยกตัวอย่าง เฮดโค้ชของทีมอย่าง ไบรอัน ฟลอเรส (Brian Flores) จบจากมหาวิทยาลัยบอสตัน หรือผู้เล่นคนสำคัญอย่าง ไรอัน ฟิตซ์แพทริค (Ryan Fitzpatrick) ควอเตอร์แบ็คของทีม จบการศึกษาด้าน เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ซึ่งมีนักกีฬาระดับแถวหน้า ไม่กี่คนในโลกนี้ที่จะทำได้ แต่ผลงานของทีมกลับแย่เป็นอันดับที่ 5 ของลีก ในฤดูกาล 2019
Photo : www.miamidolphins.com
ส่วนที่เมืองไทย มีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัจจัย ที่ช่วยพัฒนานักกีฬาให้ประสบความสำเร็จ ... นักกีฬาส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญของเรื่องการฝึกซ้อมเป็นหลัก และแทบไม่มีนักกีฬาที่มองว่าการศึกษา ช่วยพัฒนานักกีฬาแม้แต่น้อย
อีกทั้งนักกีฬาหลายประเภท แสดงความเห็นว่า พวกเขามีเวลาซ้อมน้อยเกินไป เพราะต้องแบ่งเวลาไปเรียนหนังสือ จนกระทบผลงานในสนาม
สำคัญกว่าที่คิด
แม้ในหลายงานวิจัย และข้อเท็จจริง จะบ่งบอกว่าการศึกษา ไม่ได้ช่วยให้นักกีฬาพัฒนามากขึ้น แต่งานวิจัยของ ดอว์น อควิลินา เปิดเผยว่า การศึกษามีบทบาทกับนักกีฬาอย่างมาก ในเรื่องนอกสนาม
Photo : vecamspot.com
โดยนักกีฬาที่ผ่านการศึกษา จะสามารถบริหารจัดสรรเวลาการใช้ชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น โดยเฉพาะนักกีฬาระดับในระดับอาชีพ ... นักกีฬาที่ผ่านการศึกษา จะสามารถแบ่งเวลาการใช้ชีวิตของตัวเอง ทั้งการฝึกซ้อม, การใช้ชีวิตเวลาว่าง ไปจนถึงการฝึกซ้อมนอกเวลา และการทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างลงตัวขึ้น
ชีวิตของนักกีฬาอาชีพในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่การเล่นกีฬาอีกต่อไป แต่บางครั้งต้องทำกิจกรรมกับสปอนเซอร์ เดินทางไปพบปะแฟนคลับ และกิจกรรมยิบย่อยอีกมากมาย ...
การศึกษาจะช่วยเข้ามาปรับกระบวนการทางความคิด ให้เป็นระบบมากขึ้น ทำให้นักกีฬาสามารถจัดสรรเวลาได้อย่างลงตัว บาลานซ์การใช้ชีวิต ในฐานะนักกีฬา และชีวิตนอกสนามได้อย่างสมดุลมากขึ้น
ดอว์น อควิลินา เขียนลงในงานวิจัยของเธอว่า นักกีฬาส่วนใหญ่ที่เธอเข้าไปสำรวจ มักไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา แต่เธอกลับมองเห็นว่า นักกีฬาหลายคนได้รับประโยชน์ จากการศึกษาโดยที่พวกเขาหรือเธอไม่รู้ตัว เกี่ยวกับทักษะความเป็นนักกีฬาทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นผู้นำ (Leadership), ทีมเวิร์ค (Teamwork) หรือการตัดสินใจ (Decision Making) หรือกระทั่งการวางแผนอาชีพของตัวเองในอนาคต (Career Planning)
การค้นพบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตั้งแต่ในช่วงยุคปี 1990’s หลายประเทศได้มีการผลักดัน ให้นักกีฬาที่มีทักษะดีในช่วงวัยรุ่น เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แทนที่จะทิ้งเส้นทางการศึกษา เพื่อพัฒนาสกิลเหล่านี้ หรือในบางประเทศ ได้มีการจ้างโค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปให้ความรู้ในแขนงต่างๆ ถึงศูนย์ฝึกของนักกีฬา เพื่อสร้างความรู้ให้กับนักกีฬา มากกว่าเรื่องทักษะเพื่อความเป็นเลิศ
นอกจากนี้แล้ว นักกีฬาที่ผ่านการศึกษา จะสามารถวางแผนชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น หลังจากเลิกเล่นกีฬา โดยเฉพาะในด้านการบริหารการเงิน การรับมือต่อสภาพจิตใจ หลังเลิกเล่นอีกด้วย ซึ่งทั้งสองปัญหานี้ ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่นักกีฬายุคนี้ต้องพบเจอ
มีตัวอย่างของนักกีฬาชื่อดังมากมาย ที่ได้ประโยชน์จากการจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นคือ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) เขาลาออกจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ในปี 1984 เพื่อร่วมลีกบาสเกตบอล NBA
แต่สุดท้ายเขากลับมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ในปี 1986 เพราะเขาเชื่อว่า การเรียนจบ จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเองในระยะยาว จนได้รับใบปริญญามาในที่สุด
ทุกวันนี้จอร์แดนมีรายได้มากมาย ทั้งการทำแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ, เป็นเจ้าของภัตตาคารอาหารถึง 7 แห่ง รวมถึงเป็นเจ้าของทีมบาสเกตบอล ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์ (Charlotte Hornets) ใน NBA อีกด้วย
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่เขาเป็นผู้เล่น จอร์แดนยังประพฤติตัวได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งการรักษาสภาพร่างกาย การรับมือกับสื่อหรือความกดดัน ทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักกีฬา ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งในและนอกสนาม
อย่าทิ้งการศึกษา
หันกลับมามองที่ประเทศไทย มีนักกีฬาจำนวนไม่น้อยที่ได้รับโอกาสศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยโควต้านักกีฬา ที่สนับสนุนให้ผู้ที่มีความสามารถด้านกีฬาที่อาจจะไม่มีเวลาทุ่มเทกับการเรียน ในระดับมัธยม ได้เข้าศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง นำไปต่อยอดตามที่ตนเองถนัด
Photo : kapook.com
อย่างไรก็ตาม นักกีฬาบางคนอาจไม่ได้ทุ่มเทให้กับการศึกษา เพราะอยากทุ่มเวลาให้กับการฝึกซ้อมมากกว่า หลายคนจึงเลือกไม่เข้าเรียน หรือลาออกมหาวิทยาลัยไปกลางคัน เพื่อหวังเอาดีด้านกีฬาเต็มตัว
หนึ่งในบุคคลที่สนับสนุน ให้เหล่านักกีฬามองเห็นความสำคัญด้านการศึกษา คือเนวิน ชิดชอบ ที่สนับสนุนให้นักฟุตบอลในสังกัด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หันมาสนใจด้านการเรียน เพื่อประโยชน์ของตัวนักกีฬาเอง
“ย้อนไปนึกถึงสมัยหนุ่มๆ เราเตะฟุตบอล โลกของคนเตะบอลสมัยนั้นถูกผลักไปเป็นโลกของเด็กเกเร เรียนแย่ เรียนไม่ได้ เลยเกาะกลุ่มกันไปเตะบอล” เนวิน ชิดชอบ ให้สัมภาษณ์ผ่าน a day BULLETIN เมื่อปี 2018 พูดถึงภาพจำเก่าเกี่ยวกับ นักกีฬาในอดีต
"การเป็นนักกีฬาที่ดี ไม่ใช่มีแค่การรักและเล่นฟุตบอลเพียงอย่างเดียว เหนือสิ่งอื่นใดตัวนักเตะเองต้องมีระเบียบ วินัย ไม่ทำตัวเกเร ผมอยากฝากถึงนักเตะทุกคน ช่วงนี้ต้องร่ำเรียนหนังสือ เชื่อมั่นคำสอนครูบาอาจารย์ และทำตามความฝันให้ได้" เนวิน ชิดชอบ กล่าวเมื่อปี 2014
อันที่จริง มีนักกีฬาไทยหลายคน ที่สามารถเป็นตัวอย่างได้ว่า ถึงจะเป็นนักกีฬาฝีมือเยี่ยม ก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งการเรียน เช่น คีริณ ตันติเวทย์ หนุ่มนักวิ่งลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่เป็นนักวิ่ง 2 เหรียญทองซีเกมส์ 2019 และมีดีกรีเป็นถึงนักศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
Photo : www.matichon.co.th
รวมถึงนักฟุตบอลไทยหลายคนในอดีตที่ผ่านการศึกษา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ สามารถแสดงให้เห็นว่า พวกเขาสามารถจัดการบริหารอาชีพการเป็นนักกีฬาได้อย่างยืนยาว เช่น ธีรเทพ วิโนทัย, ศิวรักษ์ เทิศสูงเนิน, อดุลย์ หมื่นสมาน เป็นต้น
รวมไปถึง ธฤติ โนนศรีชัย ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เมื่อเลิกเล่นฟุตบอล สามารถผันตัวมาทำธุรกิจเป็นเอเยนต์นักฟุตบอล ที่มีชื่อเสียง สามารถส่งนักฟุตบอลไปเล่นที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
หากมองในแง่ดี นักกีฬารุ่นใหม่ เริ่มหันมาให้ความสนใจ ด้านการศึกษามากขึ้น ดูได้จากนักฟุตบอลรุ่นใหม่ ที่มีใบปริญญาติดตัวกันหลายคน กระนั้นเรื่องของการศึกษาดูเหมือนจะยังไม่กระจายเข้าสู่วงกว้าง โดยเฉพาะนักกีฬาที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียง หรือเป็นผู้เล่นทีมชาติ ซึ่งอาจขาดการสนับสนุนในด้านนี้
ขณะที่ประเทศจากฝั่งโลกตะวันตก มีทุนด้านการศึกษาให้กับนักกีฬาจะครอบคลุมมากกว่าประเทศไทย เพราะมีทุนให้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก ขณะที่ประเทศไทย ทุนนักกีฬาแทบทั้งหมด อยู่ในระดับปริญญาตรีเท่านั้น
Photo : www.matichon.co.th
นอกจากนี้ทุนของต่างประเทศ ยังเปิดรับให้กับคนที่ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพอีกด้วย ขอแค่มีความสามารถด้านกีฬา ก็สามารถรับทุนสนับสนุนได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เด็กวัยรุ่นไม่จำเป็นต้องทิ้งการเรียน หากฝึกกีฬาแล้วไปไม่สุดทาง สามารถเอาทักษะที่มี มาต่อยอดด้านการศึกษา
หากมีการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ กระจายการศึกษาสู่นักกีฬาชาวไทยอย่างทั่วถึง วงการกีฬาบ้านเราอาจเติบโตขึ้นโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
การศึกษาแท้จริงแล้ว มีคุณค่า มีความหมายมากกว่าที่หลายคนคิด ... นักกีฬาอาจคิดว่า หากเป็นนักกีฬาอาชีพ สามารถหาเงินให้ตัวเองได้ การศึกษาคงไม่จำเป็น
แต่ประโยชน์ของการศึกษาที่แท้จริง ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้หาเงิน แต่มีเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิต ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้ตรรกะตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ต้องเจอปัญหา การวางแผนที่ผิดพลาดในอนาคตหลักเลิกอาชีพ
บทความโดย ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง
โฆษณา