22 ก.พ. 2020 เวลา 08:12 • กีฬา
คอร์สลดคนหัวร้อน : งานปฐมนิเทศแข้งหน้าใหม่เจลีก ที่ ส.บอลไทยน่าศึกษา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบกีฬาอาชีพในปัจจุบัน เปิดโอกาสให้ผู้เล่นอายุน้อยที่มีความสามารถ ก้าวเข้ามาสู่โลกของมืออาชีพได้เร็วขึ้น ชินจิ คางาวะ, ทาคายูกิ โมริโมโต หรือรายล่าสุดอย่าง ทาเคฟุสะ คุโบะ คือตัวอย่างของเหล่านักเตะที่ลงเล่นในเจลีกในตอนที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย
อย่างไรก็ดี การเข้ามาอยู่ในโลกของมืออาชีพ ตั้งแต่อายุยังน้อยก็ถือเป็นดาบสองคม เพราะบางครั้งด้วยฮอร์โมนที่พลุ่งพล่านกว่าวัยอื่น อาจจะทำให้อารมณ์มาเหนือเหตุผล และก่อความผิดพลาดที่กระทบถึงชีวิตนักฟุตบอลอาชีพ เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ “งานสัมมนาแข้งหน้าใหม่เจลีก” จึงได้กำเนิดขึ้นมา
จากโลกแห่งความฝันสู่ความจริง
งานสัมมนาแข้งหน้าใหม่เจลีก เกิดขึ้นมาพร้อมกับการอุบัติขึ้นของลีกอาชีพญี่ปุ่น หรือในปี 1993 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการเตรียมพร้อมนักเตะเหล่านี้สู่ความเป็นมืออาชีพ
ปกติแล้วบริษัทญี่ปุ่นทุกบริษัท มักจะมีการอบรมพนักงานใหม่ก่อนเข้าทำงานเพื่อปรับจูนวิธีการทำงานและความคิดให้เข้ากับระบบของบริษัท รวมไปถึงเตรียมความพร้อมก่อนลุยงานจริง จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะนำระบบนี้มาใช้กับฟุตบอลอาชีพ
โดยช่วงแรกเจลีกให้สโมสรสมัครใจส่งนักเตะเข้าร่วม ก่อนที่ในปี 2004 จะบังคับให้นักเตะสัญชาติญี่ปุ่นที่เล่นเจลีกเป็นปีแรกต้องเข้าร่วมทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้ไม่สะดวกก็จำเป็นต้องเข้าร่วมในปีถัดไป
Photo : J.LEAGUE
“ทุกคนอาจจะรู้สึกว่าฝันอันยิ่งใหญ่ (ในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ) ได้กลายเป็นจริงแล้ว แต่การต่อสู้ที่แท้จริงมันเริ่มจากตรงนี้” มิตสุรุ มุราอิ ประธานเจลีกกล่าวในงานสัมมนาแข้งหน้าใหม่ปี 2018
จากสถิติของเจลีกระบุว่านักเตะหน้าใหม่ของเจลีก 117 คน ที่ลงเล่นในลีกอาชีพครั้งแรกเมื่อปี 2007 ผ่านไป 10 ปี มีถึง 21 คนที่ไม่เคยลงเล่นให้กับสโมสรแม้แต่นัดเดียว ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมโลกของมืออาชีพ และในทุกๆ ปีพบว่า มีนักเตะเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์จากนักเตะหน้าใหม่ทั้งหมด ที่ต้องยุติเส้นทางชีวิตนักเตะอาชีพโดยไม่ได้สัมผัสเกมแม้แต่วินาทีเดียว
“ผมเข้าใจอยู่แล้วว่าชีวิตนักกีฬาอาชีพมันไม่ง่าย แต่พอเห็นตัวเลขที่แท้จริงยิ่งทำให้ผมรู้ว่าอาชีพนี้มันยากแค่ไหน” ริวจิ อุซุมิ แข้งนาโงยา แกรมปัสกล่าว
ลดความผิดพลาดในฐานะมืออาชีพ
แม้จะได้ชื่อว่า “นักกีฬาอาชีพ” แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านักเตะหน้าใหม่ทุกคนเพิ่งจะเปลี่ยนสถานะจากนักเรียนมัธยมปลาย หรือนักศึกษา มาเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ไม่นาน ซึ่งมีโอกาสอย่างมากที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดจากความไม่รู้และด้อยประสบการณ์
Photo : J.LEAGUE
ด้วยเหตุนี้เจลีกจึงได้นำประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ในฐานะนักฟุตบอลอาชีพมาใส่ไว้ในหัวข้อในคอร์สสัมมนาอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เรื่องทั่วไปอย่างกฎระเบียบต่างๆ, การใช้สารกระตุ้น หรือการพนัน ไปจนถึงเรื่องที่ไม่คาดคิดอย่าง การตอบคำถามกับสื่อ, ความรู้ด้านภาษี, สิทธิมนุษยชน, การเข้าสังคม และการใช้โซเชียลมีเดีย
“เอาเป็นว่า สำหรับปีแรกในการเล่นอาชีพ มันจะเกิดความผิดพลาดมากมายอย่างต่อเนื่องในชีวิตเลยล่ะ” เคงโงะ นาคามูระ แข้งจากคาวาซากิ ฟรอนทาเล กล่าวกับรุ่นน้องผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการอบรมนักเตะใหม่ของเจลีกปี 2017
“แน่นอนว่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันจะทำให้พวกนายใจฝ่อ ท้อถอยไม่น้อย แต่นี่แหละคือประเด็นสำคัญ คือพวกนายจะกลับมาสู้ต่อ แก้ตัวจากความผิดพลาด หรือการต้องเริ่มต้นใหม่ได้รึเปล่า”
เงิน เงิน เงิน
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่คือสิ่งจำเป็น” ไม่ว่าวงการใดๆ ล้วนต้องใช้เงินในการขับเคลื่อน ฟุตบอลก็เช่นกัน
Photo : J.LEAGUE
การก้าวสู่โลกแห่งมืออาชีพ มักจะตามมาด้วยรายได้ที่ก้าวกระโดด ในคอร์สสัมมนา จึงมีเรื่องที่จำเป็นต้องรู้อย่างเรื่องสัญญา การบริหารจัดการเรื่องเงินอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไปจนถึงเรื่องการคิดหาวิธีเพิ่มพูนรายได้ในฐานะนักกีฬาและวงจรการเพิ่มรายได้ของสโมสร
“ถ้าไม่มีเงิน ก็จะดำรงชีวิตไม่ได้ แต่ผมก็ได้รู้ว่ามันไม่ใช่แค่การรับเงินเพียงอย่างเดียว เพราะมันยังรวมไปถึงการบริหารจัดการอย่างจริงจัง” ชุนตะ นาคามูระ แข้งจากโรงเรียนอาโอโมริ ยามาดะ ที่เพิ่งมาร่วมทีมมอนเตดิโอ ยามางาตะ กล่าว
“เพียงแค่เล่นอย่างเดียวมันไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าเพราะมีแฟน และสปอนเซอร์คอยสนับสนุนอยู่ และต้องรู้สึกขอบคุณผู้คนมากมายในขณะที่เราทำงานกับฟุตบอล”
ออกสื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
เมื่อก้าวสู่โลกของนักฟุตบอลอาชีพ แน่นอนว่า มักจะมีแฟนบอล, สปอนเซอร์ หรือสื่อมากมาย ที่เข้ามาให้ความสนใจ ดังนั้น การวางตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันสามารถทำให้เห็นภาพลักษณ์ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือแย่ออกมาได้
Photo : スポニチ
การออกสื่อประชาสัมพันธ์จึงถือเป็นหนึ่งใน “งาน” ในฐานะนักกีฬาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำตัวต่อหน้ากล้อง หรือ การเช็คตัวเองขณะออนแอร์ ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งในงานสัมนาเปิดโอกาสให้เหล่าผู้เล่นหน้าใหม่ได้เรียนรู้และทดลองปฏิบัติจริงในสถานการณ์จำลองทุกขั้นตอน ตั้งแต่วิธีการเปล่งเสียง การแสดงสีหน้า บุคลิกท่าทางในการยืน ไปจนถึงการให้คำสัมภาษณ์ หรือแม้กระทั่งการซ้อมยิ้มและฝึกพูดเร็ว ก็ได้ถูกนำมาสอนในงานสัมมนาครั้งนี้
นอกจากได้ให้ผู้เข้าอบรมทดลองปฎิบัติในสถานการณ์จำลองแล้ว ยังมีการอัดวิดีโอ เพื่อดูพัฒนาการของนักเตะหลังได้เรียนรู้จากผู้บรรยาย พร้อมคอมเมนต์จุดอ่อนของตัวเองอีกด้วย
“เวลาที่ (คนสัมภาษณ์) พูดกับนักเตะคนอื่น ก็เผลอมองต่ำลง ตอนนั้นน่าจะเงยหน้าขึ้นมากกว่า” ดันโตะ ซุงิโมโต แข้งจาก เจฟ ยูไนเต็ด จิบะกล่าว
โซเชียลมีเดียและการบริหารความเสี่ยง
ปัจจุบัน โซเชียลมีเดีย ได้เข้ามามีบทบาทแก่นักกีฬาอาชีพในฐานะช่องทางสื่อสารอีกทางหนึ่ง แต่ก็มีไม่น้อยที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นหอกทิ่มแทงตัวเอง จากการตอบโต้อย่างไม่มีสติ ด้วยเหตุนี้การอบรมเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย จึงเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของงานสัมมนาครั้งนี้
Photo : J.LEAGUE
โดยภายในงานได้ยกตัวอย่าง เคงโงะ นาคามูระ กัปตันฟรอนทาเล ที่มียอดผู้ติดตามในทวิตเตอร์สูงถึง 450,000 คน จากการที่เป็นคนที่ไม่เคยมีดราม่าในทวิตเตอร์ ก่อนที่จะยกตัวอย่างผลเสียจากการใช้โซเชียลมีเดียที่ไม่ถูกต้อง
ผู้บรรยายยังเน้นย้ำเรื่องการตระหนักในด้านที่ให้คนอื่นมองเห็น กล่าวคือ แม้จะเป็นบุคคลสาธาณะ แต่ก็มีบางด้านที่เราไม่อยากให้คนทั่วไปเห็น หรือหากเห็นในมุมนี้อาจจะก่อให้เกิดดรามา
นอกจากนี้ภาพลักษณ์ในโซเชียลมีเดียแล้ว การบริหารความเสี่ยงก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญสำหรับนักกีฬาอาชีพ การกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แย่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแล้วขับ หรือ การทะเลาะวิวาท ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกย้ำว่าควรหลีกเลี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น
มองเจลีกแล้วย้อนกลับมามองไทย
แม้ว่าปัจจุบันไทยลีก จะยังไม่มีการอบรมในลักษณะนี้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ล่าสุด สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ผนึกความร่วมมือกับแพลนบี บริษัทด้านสื่อชื่อดัง เปิดอบรมการรับมือโซเชียลมีเดียให้แก่ทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ก่อนศึกฟุตบอลสี่เส้ารายการ GSB Bangkok Cup 2018 ซึ่งหวดกันในระหว่างวันที่ 5-11 กันยายนนี้
"ผมคิดว่าการสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีสำหรับนักเตะทุกคนนะครับ เพราะว่าถือเป็นการย้ำเตือน รวมทั้งได้ข้อคิดในแง่ดีและไม่ดีเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ทำให้เรามีความระมัดระวังมากขึ้นก่อนโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คหรือโซเชียลมีเดียส่วนตัวครับ" สิทธิโชค ภาโส กองหน้ากัปตันทีมชาติไทยชุด U19 กล่าว
Photo : J.LEAGUE
ในขณะที่ เมธี สาระคำ กองหน้าของทีมกล่าวว่า "ถือเป็นการให้คำแนะนำที่ดี ก่อนที่จะลงแข่งขันฟุตบอลรายการ GSB Bangkok Cup 2018 เพราะถ้าเราทำผลงานที่ดี คงมีเสียงชื่นชม หากทำผลงานไม่ดีก็อาจจะถูกวิจารณ์บ้าง ซึ่งผมคิดว่ามันทำให้นักเตะทุกคนมีสติมากกว่าเดิมครับ"
แม้อาจจะไม่ได้เป็นคอร์สสัมมนาอย่างเต็มรูปแบบเหมือนกับเจลีก แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดี สำหรับการเริ่มต้นของสมาคมฯที่จริงจังกับประเด็นนี้ เพราะที่ผ่านมามีนักกีฬาหลายคน ที่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์และออกมาโต้ตอบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนก่อให้เกิดดรามาตามมา จนทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของตัวเอง
มันคงจะดีหากเราได้เห็นการอบรมที่ใหญ่ขึ้น หรือมีเนื้อหาที่มากขึ้นใกล้เคียงกับเจลีก เพื่อให้นักเตะของเราได้เจอกับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความจริง และใช้มันเป็นประสบการณ์ในอนาคต
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า คนที่มีประสบการณ์ไม่ใช่คนที่แก้ปัญหาเก่ง แต่คือคนที่จัดการกับความรู้สึกไม่ให้ร้อนรนเวลาเจอกับปัญหา และรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นควรจะใช้วิธีไหนจัดการ
การเข้าคอร์สสัมนาอาจจะไม่ถึงกับได้เจอสถานการณ์จริงๆอันโหดหิน แต่อย่างน้อย การจำลองสถานการณ์ต่างๆก็ทำให้พวกเขาได้รู้ว่าหากเจอปัญหาแบบนี้ ควรจะจัดการกับมันอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักฟุตบอลทุกคน เช่นเดียวกับนักฟุตบอลชาวไทย
ดีกว่าทำให้มันบานปลายจนไม่สามารถแก้ไขได้อีกแล้ว
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
โฆษณา