23 ก.พ. 2020 เวลา 13:59 • กีฬา
กินพืชผักผลไม้และห่างไกลเนื้อสัตว์ช่วยให้ฟิตขึ้นจริงไหม?
นับวันเทรนด์การหันมาใส่ใจสุขภาพยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน, การออกกำลังกาย, หรือแม้กระทั่งการเลือกสิ่งที่จะบริโภคเข้าไปในร่างกาย
“มังสวิรัติ” คือหนึ่งในเทรนด์ของการรับประทานอาหารที่กำลังได้รับความนิยม ควบคู่ไปกับการดูแลเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงในส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงการรับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างถ่องแท้ จนเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า
“การที่รับประทานแค่พืช, ผัก, ผลไม้, ธัญญาพืช นั้นดีจริงหรือ?”
“ร่างกายจะได้รับสารอาหารเพียงพอหรือเปล่า?”
ครั้งนี้ Main Stand จะพาไปทำความเข้าใจถึงวิธีการรับประทานอาหารประเภทนี้ให้มากขึ้น ว่าสุดท้ายแล้วการที่มนุษย์ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลยนั้นมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน
มังสวิรัติคืออะไร?
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง อาจจะเข้าใจเพียงว่าการรับประทานอาหารแบบมังสวิรัตนั้นคือการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตามแท้จริงแล้วมังสวิรัติเป็นอะไรที่ยิบย่อยและซับซ้อนกว่านั้นมาก โดยจากข้อมูลของ คณะแพทย์ มหาวิทยาลัย Harvard University พวกเขาได้แบ่งประเภทของการรับประทานมังสวิรัติออกเป็น 5 ประเภทด้วยกัน
Photo : wayofthedogg.com
Vegans : ประเภทที่เคร่งครัดที่สุด โดยจะรับประทานแค่ผลผลิตจากพืช ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชเท่านั้น ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เลยทั้งนม, ไข่, ชีส, หรืออาหารที่มีส่วนผสมของเจลาติน (Gelatin สารที่สกัดได้จากกระดูกหรือหนังของสัตว์)
Lacto-ovo vegetarians : ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น นม, ไข่, หรือชีสได้
Lacto vegetarians: คล้ายกับ Lacto-ovo vegetarians แต่สำหรับประเภทนี้จะไม่รับประทานไข่
Ovo vegetarians: ตรงกันข้ามกับ Lacto vegetarians คือจะรับประทานไข่ แต่ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม
Partial vegetarians: รับประทานเนื้อสัตว์ได้บางชนิด เช่นเนื้อปลาและสัตว์ปีก รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสัตว์
1
ถึงตรงนี้เชื่อว่าทุกคนน่าจะเข้าใจกการรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติกันมากขึ้นแล้ว และถึงแม้การรับประทานมังสวิรัติจะมีมากมายหลายประเภท แต่สุดท้ายแล้วทั้งหมดก็ยังยึดติดอยู่กับกฎเกณฑ์สำคัญที่เหมือนกันคือ “ไม่รับประทานเนื้อสัตว์” (ยกเว้นประเภท Partial Vegetarians) ซึ่งนั่นทำให้ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ผลลัพธ์ที่เกิดกับร่างกายก็ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะในส่วนของประโยชน์ที่มีต่อร่างกายซึ่งเรากำลังจะพูดถึงในหัวข้อต่อไป
มังสวิรัติดีต่อร่างกายอย่างไร?
การรับประทานมังสวิรัตินั้น คือ หนึ่งในประเภทการกินที่ต้องสู้กับกิเลสและความอดทนของร่างกายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ง่ายๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่มันจะมีประโยชน์มากมายตอบแทนความพยายามเหล่านั้นกลับมา
Photo : www.healthline.com
นี่คือข้อดีของการรับประทานมังสวิรัติ จากการศึกษาของ National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases และ The Academy of Nutrition and Dietetics 2 สถาบันจากประเทศสหรัฐอเมริกา และ Oxford the British Medical Journal จากประเทศอังกฤษ
1.ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ - โรคหัวใจถือเป็นหนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุด และสาเหตุหลักของการเกิดก็มาจากปริมาณไขมันและคอเลสตอรอลในร่างกายที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่สารเหล่านี้จะมาจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ดังนั้นการรับประทานมังสวิรัติจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจลงถึง 24% (แต่ถ้าคุณเป็นมังสวิรัติที่รับประทานชีสทั้งวันนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
2.ลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็ง - มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เผยออกมาว่าการรับประทานมังสวิรัตินั้น สัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ หนึ่งในมะเร็งยอดฮิตที่มีสาเหตุหลักมากจากการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรือเนื้อที่มีสารเคมีปนเปื้อนจากกรรมวิธีการเลี้ยง
3.ลดน้ำหนักส่วนเกิน - ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยมายืนยันว่าจากการสำรวจค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายระหว่างผู้ที่รับประทานอาหารปกติกับผู้ที่รับประทานอาหารประเภทมังสวิรัติ พบว่าผู้ที่รับประทานมังสวิรัติมีค่าดัชนีมวลกายเฉลี่ยต่ำกว่าถึง 68% สาเหตุก็มาจากสารอาหารที่บริโภคเข้าไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีไขมันน้อยและกากใยสูง
4.มีชีวิตที่ยืนยาวกว่า - จากผลวิจัยของ Oxford the British Medical Journal รายงานว่าค่าเฉลี่ยอายุของผู้ที่รับประทานมังสวิรัตินั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปอยู่ 6 ปี ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากไฟเบอร์ (Fiber) ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอกระบวนการชรา ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภทพืชผัก
5.ได้รับสารพิษน้อยลง - ถึงแม้ในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นอาหารมังสวิรัติหรือเนื้อสัตว์ทั่วไป ก็มีการใช้สารพิษไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามสารพิษที่ปนเปื้อนมากับพืชผักผลไม้นั้น เราสามารถกำจัดออกไปได้ (ไม่ทั้งหมดแต่ก็เป็นส่วนใหญ่) แต่สารพิษที่ปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์นั้นมีปริมาณที่สูงกว่ามาก และยากที่จะกำจัดออกไป
6.ระบบขับถ่ายดีขึ้น - อาหารมังสวิรัติส่วนใหญ่ที่รับประทานลงไปนั้นเต็มไปด้วยกากใยซึ่งมีส่วนช่วยในระบบขับถ่ายให้ดีขึ้น และสิ่งที่ตามมาหลังจากที่มีระบบขับถ่ายที่ดีคือ ปริมาณสิ่งตกค้างในร่างกายก็จะน้อยลง
Photo : www.thoughtco.com
นี่คือประโยชน์หลักๆ ที่ร่างกายจะได้รับเมื่อรับประทานมังสวิรัติ นอกจากนั้นการรับประทานมังสวิรัติยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากสาเหตุหลักในการเกิด “ก๊าซมีเทน (Methane)” หนึ่งในก๊าซสำคัญที่เป็นตัวการของภาวะเรือนกระจกนั้นมาจากกระบวนการต่าง ๆ ของปศุสัตว์
ถึงแม้การรับประทานมังสวิรัติจะมีข้อดีมากมาย แต่สุดท้ายแล้วมันก็มีข้อเสียที่ต้องคำนึงถึงอยู่เหมือนกัน ซึ่งเราจะมาอธิบายในหัวข้อถัดไป
ข้อควรระวังในการรับประทานมังสวิรัติ
หลักใหญ่ใจความของการรับประทานมังสวิรัติคือการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตามในเนื้อสัตว์นั้นก็มีสารอาหารที่ไม่สามารถทดแทนได้จากอาหารมังสวิรัติอยู่เหมือนกัน เช่น ไอโอดีน (Iodine), สังกะสี (Zinc), วิตามินบี 12 (Vitamin B12) ดังนั้นผู้ที่รับประทานมังสวิรัติจึงควรที่จะรับประทานอาหารเสริมที่มีสารอาหารเหล่านี้เข้าไป เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
Photo : veganblackbox.com
อีกหนึ่งข้อควรระวังของการรับประทานมังสวิรัติคือการที่ร่างกายมีแก๊สมากเกินไป ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับเส้นใยในอาหารประเภทพืช เช่น ดอกกะหล่ำ, ดอกบรอคโคลี, และผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีล้วน การบริโภคสิ่งเหล่านี้มากเกินพอดีอาจทำให้คุณทรมานจากแก๊สที่เกิดขึ้นในร่างกาย และอาจจะถึงการที่ต้องขายหน้าในที่สาธารณะก็เป็นได้
นอกจากนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่คาดคิดคือการที่มีผลสำรวจออกมาว่าอย่างเป็นรูปธรรมว่า คนที่บริโภคอาหารมังสวิรัตมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 18% และ 28% สำหรับโรควิตกกังวล อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนชี้ชัดไปถึงสาเหตุของสิ่งนี้
นี่คือข้อดีและข้อเสียของการรับประทานมังสวิรัตที่ Main Stand รวบรวมจากงานสำรวจ, ผลวิจัย, และเอกสารทางการแพทย์จากหลายแหล่ง และนำมาเรียบเรียง ทำให้ทุกคนเข้าใจการรับประทานอาหารประเภทนี้อย่างชัดเจนขึ้น แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง ว่าจะเลือกสิ่งไหนให้กับตัวเอง และจะมีวินัยกับมันมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตามเรายังมีอีกหนึ่งคำตอบของคำถามที่พบเจอบ่อยมาไขให้กระจ่างนั่นก็คือ
“การรับประทานมังสวิรัติจะส่งผลต่อการออกกำลังกายหรือเปล่า?”
มังสวิรัติอย่างไรให้ฟิตด้วย
ในครั้งก่อน Main Stand ได้มีบทความอธิบายไปแล้วว่าการจะออกกำลังกายแล้วให้ได้ผลดีนั้น ร่างกายต้องได้รับสารอาหารสำคัญ 3 ประเภทอย่างเพียงพอ ซึ่งก็คือ โปรตีน, วิตามินแร่ธาตุ, และครีเอทีน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายคนจะสงสัยว่าการที่ร่างกายไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์นั้น จะส่งผลเสียต่อการออกกำลังกายหรือเปล่า?
เบิร์นแล้วกินอะไรดี : กินเนื้อแบบไหนเหมาะกับการออกกำลังกายที่สุด?
Photo : www.healthista.com
“มันเป็นความเข้าใจผิดที่ว่าคุณต้องรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่นเนื้อสัตว์และไก่เพื่อให้ได้โปรตีนที่ตรงตามความต้องการของคุณ”
“มันมีอาหารมังสวิรัติจำนวนมากที่สามารถให้โปรตีนไม่แตกต่างจากเนื้อสัตว์เลย”
“ถั่วประเภทต่างๆ เต้าหู้, ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง (นมถั่วเหลือง, โยเกิร์ตถั่วเหลือง), (เมล็ดเชีย, เมล็ดทานตะวัน, เมล็ดแฟลกซ์, เมล็ดฟักทอง, ข้าวโอ๊ต, ขนมปังโฮลวีต, รวมถึงไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม สิ่งเหล่านี้ล้วนอุดมไปด้วยโปรตีน” รีเบคก้า วาธอร์น นักโภชนาการจากออสเตรเลียกล่าวกับ HuffPost
1
ในส่วนของครีเอทีนและวิตามิน B12 ที่มีที่มาจากเนื้อสัตว์เท่านั้น ก็อาจจะต้องรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติมเข้าไป แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าการรับประทานมังสวิรัตินั้นไม่ใช่อุปสรรคในการออกกำลังกาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงแต่อย่างใด
นอกจากจะได้รับการยืนยันแล้วว่าการรับประทานมังสวิรัตินั้นไม่กระทบต่อการออกกำลังกาย ยังมีบรรดานักกีฬาระดับโลกอีกหลายคนที่รับประทานมังสวิรัติเป็นประจำ และพวกเขาและเธอเหล่านั้นเชื่อว่าการรับประทานมังสวิรัติช่วยทำให้ประสิทธิภาพของร่างกายดีขึ้น
1
Photo : www.si.com
“ฉันได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Disease) และฉันต้องการรักษาประสิทธิภาพในคอร์ทเทนนิสไว้ให้เหมือนเดิม ฉันจึงตัดสินใจเลือกสิ่งดีๆ ให้กับร่างกายตัวเองด้วยกันรับประทานอาหารมังสวิรัติ”
“ฉันรู้สึกว่านั่น (การรับประทานมังสวิรัติ) คือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับฉัน” วีนัส วิลเลี่ยมนักเทนนิสหญิงชื่อดังของโลกให้สัมภาษณ์กับ Business Insider
อีกหนึ่งนักกีฬาชื่อดังที่เชื่อมั่นในการรับประทานมังสวิรัติเป็นอย่างยิ่งคือ “ฟาเบียน เดล์ฟ” นักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ และสโมสรเอฟเวอร์ตัน
“ผมตัดสินใจที่จะเพิกเฉยต่อข้อสงสัยของตัวเอง และเริ่มมองร่างกายของตัวเองอย่างจริงจัง”
"ผมศึกษาส่วนที่อ่อนแอของตัวเอง ค้นคว้าเกี่ยวเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของตัวเอง หลังจากนั้นผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนการนำพาพลังงานเข้าสู่ร่างกายตัวเองผ่านอาหารมังสวิรัติ” เดล์ฟ กล่าวในหนังสือ Soccology 2018 ตาม BBC
Photo : www.liverpoolecho.co.uk
บทสัมภาษณ์เหล่านี้จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า
“นอกจากการรับประทานมังสวิรัตจะไม่ลดประสิทธิภาพในการออกกำลังกายแล้ว มันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้วยหรือเปล่า?”
และผู้ที่จะตอบคำถามนี้ก็คือ “ด็อกเตอร์ เดวิด นีแมน” จากมหาวิทยาลัย Appalachian State University ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการทางวิทยาศาสตร์
“ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานมังสวิรัติและทักษะการเล่นกีฬาที่เพิ่มมากขึ้น”
“ประโยชน์เดียวของการรับประทานมังสวิรัติที่เกี่ยวข้องกับการเล่นกีฬาคือต้องเป็นกีฬาที่ใช้ระยะเวลาในการเล่นต่อเนื่องยาวนานมากกว่าหนึ่งชั่วโมง”
“และนั่นก็ต่อเมื่อพวกเขาบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ แต่มีไขมันสูง โดยไขมันเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานของร่างกายที่เพิ่มขึ้น”
“ไม่มีผลลัพธ์ในงานวิจัยใดชี้ให้เห็นว่าถึงประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาที่แตกต่างกันระหว่างการรับประทานมังสวิรัติกับการรับประทานอาหารทั่วไป” ด็อกเตอร์ เดวิด นีแมน กล่าวสรุป
ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองว่าจะเลือกบริโภคสิ่งใดเข้าไป เพราะสุดท้ายหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้โภชนาการจากอาหารก็คือความสุขทางใจที่ได้รับจากการรับประทานแต่ละมื้อ สิ่งนี้คือพลังงานที่จะขับเคลื่อนตัวคุณให้ก้าวไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในอนาคต
บทความโดย เพรียวพันธ์​ แสน​ลาวัณย์​
โฆษณา