6 ต.ค. 2020 เวลา 12:29 • ความคิดเห็น
➡️ "ตุลาคม" ⬅️ 🔸เดือนตุลาคม วนมาให้รำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองบ้านเรา ที่เด็กน้อยวัยนั้นอย่างผม ก็มีมุมที่จดจำไว้ ด้วยทั้ง 2 เหตุการณ์
▪️
🔸องศาเดือดหนนั้น ผมยังเรียนอยู่เพียงชั้นประถม ที่โรงเรียนที่ตั้งขึ้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของในหลวงภูมิพลฯ ไม่ไกลนักจาก ถนนราชดำเนิน - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง สถานที่ชุมนุมหลัก
🔸วัยนั้น เรื่องราวและข่าวสาร ที่เด็กอย่างผมสนใจ ก็ถามเอาได้จากมุมมองของพ่อแม่ รวมถึงเสียงวิทยุยามเช้า ที่พ่อจะเปิดฟัง ระหว่างการขับรถ พาผมไปส่งที่โรงเรียน บวกกับการได้คลี่อ่านหนังสือพิมพ์ เกือบ 10 ฉบับ ที่พ่อจะซื้ออยู่ทุกวัน จากคุณป้าขอยหนังสือพิมพ์ ที่สี่แยกไฟแดง ก่อนจะโยนมันมาทั้งปึก มาที่เบาะด้านหลัง ที่มีผมนอนอยู่
▪️
🔸ไอ้หัวสีส้มชื่อดาวสยาม โรงพิมพ์นี้อยู่บนถนนซุเปอร์ไฮด์เวย์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อถนนวิภาวดีรังสิต หัวสีเขียวนี่ก็ไทยรัฐ สีขาวดูสะอาดตา ก็สยามรัฐ ของ อาจารย์หม่อม คึกฤทธิ์ ออฟฟิสอยู่บนถนนราชดำเนิน สีเลือดหมูก็บ้านเมือง สีชมพูก็เดลินิวส์ และก็มีไทยเดลลี่อีกฉบับที่ร้อนแรง
🔸14 ตุลาฯ เมื่อเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้น ในที่สุดโรงเรียนก็ประกาศปิด คุณหญิงพวงรัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ประกาศหนักแน่นหน้าแถว ก่อนจะให้เด็กๆแยกย้ายกลับบ้าน โดยมีผู้ปกครองมารับว่า ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม ทั้งที่สนามหลวง ถนนราชดำเนิน และที่ มธ. เพราะเกรงว่าเหตุการณ์จะลุกลามบานปลาย
▪️
🔸ในที่สุด เหตุการณ์ที่หลายคนไม่อยากให้เกิด ก็ได้เกิดขึ้น ในเช้ามืดของวันที่ 14 ตุลาฯ ปีนั้น ชนวนถูกจุดที่ถนนราชวิถี ริมคูคลองรอบวังสวนจิตลดา จากการขวางกั้นการกลับบ้าน ของมวลชนของแถวตำรวจกลุ่มหนึ่ง และแค่นั้น มันก็เป็นพอให้เป็นสายชนวน ที่แฝงนัยยะ กับเรื่องราวที่ผูกเดินมาก่อนหน้า และทอดยาวตามมาอีกด้านหลัง พร้อมกับเหตุผล ที่ทุกฝ่ายตั้งเอาไว้ รองรับความเชื่อของตัวเอง
▪️"บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" - the bookbun▪️
นับจากกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกที่นครปฐม และสาดซากสัตว์ป่าไว้เต็มท้องทุ่งนา ขยายมาเป็น "สภาสัตว์ป่า" จนมีการคัดชื่อนักศึกษาแกนนำการชุมนุมออก ของมหาวิทยาเปิด อย่างรามคำแหง ที่เรานำต้นแบบมหาวิทยาลัยแนวนี้ มาจากประเทศฝรั่งเศส จนขยับมาเป็นการชุมนุม ขับไล่อธิการบดี ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ และขยายมาเป็นการลงชื่อของ 100 บุคคล เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนมาถึงการเดินแจกใบปลิว และถูกจับกุมที่ประตูน้ำ
▪️
🔸ด้านใน ... วันเวลาของโลกใบสีฟ้า ได้นำพาสถานการณ์ มาผูกโยง ให้มันดำเนินมาอย่างมีที่มาที่ไป ส่วนด้านนอก ก็มีค่ายฆ้อนเคียวคอมมิวนิสต์ กับค่ายทุนเสรีประชาธิปไตย ที่ต่างแย่งชิง กลืนกินพื้นที่ ไล่ล่ากันมา จากหลังสงครามโลกหนที่ 2 จนมาสู่ยุคสงครามเย็น
▪️
🔸หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พ่อพาพวกเราพี่น้อง นั่งรถ Hilman Hunter คันเดียวที่มีของบ้าน ไปดูสถานที่เกิดเหตุ ยาวไปตามถนนราชดำเนิน ... ภาพของกองสลากฯ ที่ถูกเผา โดยมีเจ้าหน้านักการ ติดอยู่บนอาคารนั้นจนเสียชีวิต ก็เป็นข่าวหนึ่งที่ใหญ่โตของเหตุการณ์ โดยที่ผู้ชุมนุม ต่างก็พยายามจะเข้าช่วย แต่ก็ไร้ผล หรืออาคารกรมประชาสัมพันธ์ อีกสถานที่ ที่มักจะถูกเผาอยู่ทุกสมัย ยามมีการชุมนุมทางการเมือง ก็ถูกเผาเหลือแต่เถ้า
▪️
🔸ภาพรถเมล์สีขาวของนายเลิศ หนึ่งในอาวุธใช่พุ่งชนกับรถถัง หัวเสียบปักคาอยู่ในป้อมตำรวจ และจุดสำคัญ อย่างหน้าโรงแรมรอยัลฯ ที่ไอ้ก้านยาว ถือไม้ยืนจังก้า ท้าสู้อยู่กับรถถัง และปืนกลทหาร รวมถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ผมต้องแหงนหน้าขึ้นดูอย่างตั้งใจ เพราะนี่คือจุดที่มีการนำร่างของของ จีระ บุญมาก นำใส่ไว้ในโลงไม้ และถูกยกขั้นไปตั้งวางไว้บนพานสีทองบนนั้น
🔸หนังสืองาน พระราชทานเพลิง วีรชน 14 ตุลาฯ 16 - สะสม admin
🔸3 ปีให้หลัง ไม่ทันนานจาก 14 ตุลาฯ เหตุการณ์อันสุกงอม ของ 6 ตุลาฯ ก็เข้ามาให้เด็กแบบผม ต้องรับรู้อีกหน แต่หนนี้กลับแปลก ที่พ่อไม่ยอมพาพวกเราออกไปดูสถานที่เกิดเหตุแบบเดิมอีก ซึ่งนั่นก็คงเป็นการบอกอะไรลึกๆ ไว้ให้พวกเราได้รู้แล้ว
🔸รายละเอียดของทั้ง 2 เหตุการของเดือนตุลาฯนั้น สำหรับผมแล้ว มันผูกอยู่ในเนื้อหา และเรื่องราว ที่ทอดยาวมาอันเดียวกัน และทั้ง 2 เหตุการณ์รวมใหญ่นี้ ก็มีรายละเอียดของเหตุการณ์อันยิบย่อย ปูไว้เป็นพื้น มีที่มาที่ไป ทั้งก่อนหน้า และทอดยาวไว้ด้านหลังอยู่ อยู่กับเหตุผลรองรับตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย
▪️ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ หนึ่งในชนวนสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19▪️
🔸ไม่ว่าจะการยื่นส้ม ส่งไปให้ทหารบนรถถังเพราะความหวังดีของคุณจีระ บุญมาก ก่อนจะถูกยิงเสียชีวิต หรือการต้องขยับขบวนมวลชน ออกจากธรรมศาสตร์สู่คูคลองรอบสวนจิตลดา ของ "อจ.เสกสรร ประเสริฐกุล รวมถึงทุกคำพูดอันกล้าหาญ ของโฆษกเวทีอย่างคุณ เสาวนีย์ ลิมมานนท์ ต่างก็มีเรื่องราว มีเหตุผลของการกระทำ ไปตามความเชื่อของตน.
🔸หรือฉากละครแขวนคอ ของคุณอภินันท์ บัวหะภัคดี นักถ่ายภาพสารคดี และธรรมชาติมือดีที่สุดของบ้านเราในวันนี้ ที่ในวันนั้นบังเอิญ เดินผ่านมาที่ลานโพธิ์ จนเจอเข้ากับ อจ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ กูรูภาษาจีนในวันนี้ ที่ขี้นแสดงฉากแขวนคอ ล้อการเมือง กรณี 3 ศพที่นครปฐม จนเจ็บหลัง และมีการเปลี่ยนตัวนักแสดง มาเป็นคุณอภินันท์ ที่เดินผ่านมาพอดี จนเรื่องนี้ ลุกลามบานปลาย เป็นชนวนแตกหักสำคัญ มันก็มีที่มาที่ไป และมีเหตุผลรองรับของเรื่องราว อยู่ในตัว
▪️admin - วิทยา แก้วภราดัย▪️
🔸หรือคราวที่ "วิทยา แก้วภราดัย" นิสิตจุฬาฯในวันนั้นคนนี้ และ รมต.สาธารณสุข ในเวลาต่อมาคนนี้ ถูกยิงเข้าที่ขา นั่งจมกองเลือด ในวันบุกเข้าธรรมศาสตร์ ของกลุ่มกระทิงแดงและนวพล
🔸6 ตุลาฯ วันนั้น "วิทยา แก้วภราดัย" ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ และเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมมาโดยตลอด วันเกิดเหตุบุกเข้า มธ. "วิทยา" ถูกยิงร่วงลงเป็นคนแรกๆ ภายในรั้วธรรมศาสตร์ และโชคดีบนความโชคร้าย เพราะเมื่อชุดแรกที่บุกเข้ามาของกระทิงแดง-นวพล เมื่อเห็นแกนั่งจมกองเลือดอยู่แบบนั้น ก็คิดว่าเป็นพวกเดียวกัน ที่บุกเข้ามาก่อนหน้า และถูกยิงโดยนักศึกษาในรั้ว มธ.
▪️
🔸จึงก็กุลีกุจอ ช่วยกันอุ้ม พาแกออกมาด้านนอก ส่งขึ้นรถพยาบาล แต่พวกฮาร์ดคอร์ด้านนอกกลุ่มใหญ่ เมื่อเห็นว่าแกเป็นนักศึกษาแน่ๆ ไม่ใช่สายช่างกล นักรบพวกเดียวกัน จึงพยายามจะเข้ามารุมที่รถพยาบาล หวังดึงแกลงจากรถ เอามานั่งยางเผาเสียที่สนามหลวง
🔸จนท.พยาบาลในรถไม่ยอม สู้ยื้อยุดกันอยู่ตรงนั้น ก่อนจะปิดประตู และเร่งเครื่องพาแกหนีออกมาได้ นำส่งศิริราชจนพอจะปลอดภัย ก่อนพ่อของแก จะพาแกกลับลงใต้ หวุดหวิดได้เป็นผีเฝ้าสนามหลวง ไปเสียแล้วตั้งแต่วัยนั้น
▪️
🔸จะวันนี้หรือวันไหน เหตุการณ์นี้หรือเหตุการณ์ใด ทุกเรื่องราวก็มีที่มาที่ไป และมีเหตุผลทั้งก่อนหน้า และจะทอดยาวไว้ด้านหลัง สานเชื่อมมาเป็นเรื่องเดียวที่เกี่ยวพัน รองรับเอาไว้อย่างนี้เสมอ
🔸จะคราวยื่นส้ม ไปให้ทหารบนรถถังของคุณจีระ ก่อนจะถูกยิง หรือฉากละครแขวนคอของคุณอภินันท์ ที่ลานโพธิ์ หรือคราวที่ วิทยา แก้วภราดัย นิสิตจุฬาฯในวันนั้นถูกยิง มันคือเรื่องราวจากวันเวลา ที่จะเดินไปข้างหน้าอยู่เป็นสัจธรรม โดยมีหน้าประวัติศาสตร์ คอยติดตามจดบันทึกไว้ กับ รายละเอียดอันมากมาย ที่มีเรื่องทอดไว้ยาวด้านหน้า และเรื่องราวที่ทอดผ่านมาจากเบื้องหลัง กับเหตุผลรองรับไว้เป็นบทเรียนให้ทุกชีวิตได้ทบทวน
▪️
🔸ซึ่งรวมถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมคนไทยด้วยกัน ในวันที่ 6 ตุลาฯ วันนั้น ถึงได้ลากคนไทยด้วยกัน ออกมาเข่นฆ่า แขวนไว้กับต้นไม้ ตบตี เผานั่งยางบนท้องถนน อย่างสุดโกรธแค้นได้ นั่นก็มีเหตุผล รองรับการกระทำนั้น ของมันอยู่เช่นกัน.
▪️
🔸 หลายปีก่อน ผมไปร่วมงานบวชที่ จ. สิงห์บุรี และขณะแห่นาครอบพระอุโบสถ สายตาผมก็พบเข้ากับรูปขาวดำรูปหนึ่ง ที่ผมคุ้นตาภาพนี้มาตั้งแต่เด็ก มันคือภาพของ “คุณจีระ บุญมาก” หนึ่งในวีระชนท่านแรกๆ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 🔸... คุณจีระ เสียชีวิตในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จากการเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม ขณะถือธงชาติเข้าไปขอร้องไม่ให้ทหารยิงนักศึกษาประชาชนที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ คุณจีระถูกยิงเข้าที่ขมับขวา และเสียชีวิตทันที (อีกข้อมูล - คุณจีระซื้อส้มมาเต็มถุง เพื่อแบ่งปันให้ผู้ร่วมชุมนุม และเดินถือส้มเข้าไปหาทหาร เพื่อจะส่งส้มนั้นให้ หวังให้เหตุการณ์ผ่อนคลาย จากนั้นคุณจีระก็ถูกยิงล้มลง) ร่างของคุณจีระถูกนำขึ้นวางบนพานรัฐธรรมนูญ ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเป็นภาพสัญลักษณ์สำคัญหนึ่ง ของเหตุการณ์14ตุลาฯ ... ปัจจุบันชื่อของคุณ จีระ บุญมาก ตั้งเป็นชื่อหอประชุมของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 🔸 และวันนั้นที่สิงห์บุรี ผมถามไปหลายคน ร่วม 20 คน ว่า “รู้มั๊ยว่า รูปขาวดำนี้คือใคร ? และคำตอบคือ การส่ายหน้า "ไม่รู้" ของทุกคน และนั่นเอง สัจธรรมสำคัญของชีวิตหนึ่ง ก็แล่นสว่างขึ้นมาในใจผมทันที.
🎶 ... เจ้าเหิร ไปสู่ ห้วงหาว ... เมฆขาว ถามเจ้า คือใคร ... อาบปีก ด้วยแสง ตะวัน ... เจ้าฝัน ถึงโลก สีใด ฯลฯ เพลง"นกสีเหลือง" คาราวาน
✅ ภาพถ่ายต่างกรรมต่างวาระ
📸 ☀️ Photos by Tui Kajondej
ภาพอื่น ระบุตามแหล่งที่มาไว้
✔️ ติดตาม - ติชม ด้วยความยินดี
✅ เขียนตามความจำจด และมุมมองทางการเมืองส่วนตัว สามารถแลกเปลี่ยนมุมมอง ด้วยความสุภาพ และมี "ความรู้จริง" อยู่เป็นทุน.
⭕ น่าน-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
⭕ Performance Art
⭕ ศาลาไทย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา