28 ก.พ. 2020 เวลา 09:42 • ท่องเที่ยว
• คิงคอง ณ พาต้า •
🦍🦍🦍........❤️
“พวกมันมีความสุขรึเปล่า ผมไม่รู้ แต่ที่ผมรับรู้ได้ พวกมันร่าเริงขึ้น เมื่อมีคนผ่านมาเยี่ยมชม มันกวักมือเรียกและเขยิบเข้ามาแนบชิดกรง แสดงปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์”
🦍🦍🦍.......❤️
1
‘เจาะเวลาหาอดีต’ พาย้อนวันวานวัยเด็กสู่สวนสัตว์ในตำนาน “สวนสัตว์พาต้าปิ่นเกล้า”
ภาพจากวิกิพีเดีย ‘บัวน้อย’
ลิงชิมแปนซีแก่ เขยิบเข้าใกล้กรง
สวนสัตว์พาต้าปิ่นเกล้า เปิดให้บริการบนชั้น 6 และ 7 ของศูนย์การค้าพาต้าปิ่นเกล้า ตั้งแต่ พ.ศ.2526 ซึ่งผ่านมาจนวันนี้ก็ 37 ปีแล้ว กิจการของสวนสัตว์พาต้าอยู่ในช่วงซบเซามาก มีผู้เข้าชมลดน้อยลงจากเดิม เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ถ้าหากพูดถึงความทรงจำในช่วงวัยเด็กที่คิดถึงทีไรแล้วมีความสุขทุกครั้ง หนึ่งในนั้นก็คือ ครอบครัวได้มาเที่ยวสวนสัตว์แห่งนี้เพื่อดูคิงคองและสัตว์ต่างๆ เด็กและผู้ใหญ่ต่างสนุกสนานกับสวนสัตว์ลอยฟ้าแห่งนี้
พอตัดภาพมายังปัจจุบัน บรรยากาศที่พาต้าเคยรุ่งเรืองนั้นได้หายไป สภาพทรุดโทรมของอาคาร บรรยากาศที่อึมครึมของชั้น 6 แม้สัตว์จะเหลือน้อย แต่ทางสวนสัตว์ก็ยังจัดให้มีโชว์การแสดงความสามารถของสัตว์
สวนสัตว์พาต้าบนชั้นดาดฟ้า ภาพจาก Mangozero
ในช่วงวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีพ่อแม่ยุค 80-90 พามาเยี่ยมชมการแสดงพอทำให้สวนสัตว์แห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นได้บ้าง
ภาพจาก: https://m.pantip.com/topic/32648513?
เมื่อเดินขึ้นไปบนชั้น 7 ดาดฟ้าของตึกจะพบสถานที่อาศัยของกอริลลาตัวเดียวของไทย ท่ามกลางมรสุมจากสังคม ที่ห้างต้องเผชิญกับกรณีการเรียกร้องให้ย้ายกอริลลาตัวดังกล่าวรวมทั้งสัตว์ต่างๆ ออกจากพื้นที่แห่งนี้
‘บัวน้อย’ คิงคองตัวสุดท้ายของไทย
ยอมรับว่ามันดูน่าสงสารจับใจ หากคิดถึงสถานที่อันคับแคบและแออัด แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง สัตว์หลายตัวที่ใช้ชีวิตที่นี่มาทั้งชีวิต ซึ่งบางตัวอายุเกิน 30 ปี เช่น เจ้าบัวน้อยกอริลลาตัวนี้ มันใช้ชีวิตบนพาต้าแห่งนี้ตั้งแต่ 2 ขวบ
มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เสี่ยงเกินหากทำการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปอยู่ที่อื่น แม้กระทั่งองค์การสวนสัตว์เองหากจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
ภาพจากkhaosod online
ข่าวกอริลลาทั้งฝูงตายในสวนสัตว์ที่สิงคโปร์ เป็นเรื่องหนึ่งที่สามารถอธิบายถึงเรื่องนี้ กอริลลาเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะบริเวณแอฟริกาตะวันตก มันใช้ชีวิตอยู่ได้เฉพาะบริเวณแห่งนั้น หากนำมันออกมาจากระบบนิเวศเดิมก็ต้องจำกัดพื้นที่ให้อยู่ภายใต้ผู้มีความรู้เกี่ยวกับกอริลลาโดยตรง
โดยส่วนมากร่างกายของกอริลลาจะไวต่อเชื้อโรคในดินที่มีความแตกต่างจากถิ่นที่อยู่เดิมของมัน เมื่อกอริลลาได้สัมผัสเชื้อโรคที่พบได้ในดินของทวีปเอเชีย มันจะค่อยๆป่วยและตายในเวลาต่อมา อย่างเช่นกรณีสวนสัตว์ที่สิงคโปร์
เคสศึกษานี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่แสดงถึงความสุ่มเสี่ยงต่อกอริลลาที่มีเพียงตัวเดียวของไทย หากทำการเคลื่อนย้ายควรจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความรู้และช่วยออกแบบที่อยู่ใหม่ให้ได้
องค์การสวนสัตว์
ซึ่งทางหน่วยงานภาครัฐยังขาดทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรในด้านอื่นๆ เกี่ยวกับสัตว์อีกมาก นี่คือหนึ่งเหตุผลที่สวนสัตว์พาต้าสามารถอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
หากถามว่าสภาพแวดล้อมของสวนสัตว์ดีไหม ผมตอบเลยว่าไม่ดีและไม่เหมาะ แต่หากถามว่าทางสวนสัตว์ดูแลดีไหม คำตอบคือสัตว์สามารถอยู่มาได้สามสิบกว่าปี และสัตว์บางชนิดยังสามารถขยายพันธ์ได้อีก
นี่อาจจะเป็นเครื่องยืนยันว่าทางสวนสัตว์ทุ่มเทแค่ไหนท่ามกลางยุคที่ซบเซาขนาดนี้
คนทำธุรกิจต้องใจรักและไม่มองผลตอบแทนถึงจะทำได้ คิดๆแล้วคงไม่คุ้มกับราคาค่าบัตรเข้าชม 50,80 บาท เสียด้วยซ้ำ
วันนี้ได้เห็นรอยยิ้มเด็กๆ ที่สนุกสนาน เมื่อได้อยู่ท่ามกลางสัตว์บนพาต้าแห่งนี้
พวกสัตว์ล่ะ มันมีความสุขรึเปล่า ! ผมไม่รู้ ! แต่ที่ผมรับรู้ได้...พวกมันร่าเริงขึ้น เมื่อมีคนผ่านมาเยี่ยมชม มันกวักมือเรียกและเขยิบเข้ามาแนบชิดกรง แสดงปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์
เสียงหัวเราะของเด็กๆในขณะที่พยายามยื่นอาหารให้พวกมัน พวกมันยื่นมือออกมารับอาหารจากมือของเด็ก มันเป็นภาพที่ประทับใจและนี่คือมนต์ขลังและเสน่ห์ของคำว่า’สวนสัตว์’
❤️🦍รักและคิดถึงเสมอนะ🦍❤️
“สวนสัตว์พาต้าปิ่นเกล้า”
กดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ🙏❤️
โฆษณา