29 ก.พ. 2020 เวลา 15:01 • ข่าว
บทวิเคราะห์ : ธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมปรับลดดอกเบี้ยรับมือวิกฤต COVID-19 เรื่องนี้ส่งผลกับเรายังไงบ้าง ?
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
Session 1 : ลดดอกเบี้ยรับวิกฤต
สภาวะตลาดที่รุนแรงเช่นนี้กระตุ้นให้เหล่าธนาคารกลางในหลายประเทศเกิดความวิตกกังวลและต้องปรับใช้มาตรการเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
จากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักไป ส่งผลให้ความกดดันถูกส่งต่อมาที่ธนาคารกลาง ซึ่งแม้แต่พวกนักลงทุนทั้งหลายก็เรียกร้องให้ธนาคารกลางทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้
1
ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางหลายแห่งก็ได้ปรับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วหลายครั้ง สาเหตุมาจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน ฉุดเศรษฐกิจตกต่ำนั่นเอง ก่อนที่พวกเขาจะต้องมาเจอกับวิกฤตที่ไม่คาดฝันคือ COVID-19
1
ตลาดหุ้นตกระเนระนาดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และนับเป็นการร่วงลงที่ "รุนแรงที่สุด" นับตั้งแต่ "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" ในปี 2008 เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวในระยะยาว หรือแม้แต่การถดถอยในระยะสั้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วใน 58 ประเทศทั่วโลก
Source : Investing.com
FED กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหาที่น่ากังวลว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำไปมากกว่านี้
ในช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ Jerome Powell ประธานของ FED ออกมาแถลงการณ์ว่า "ขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง แต่การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น และ FED เตรียมพร้อมที่จะปรับใช้มาตรการต่าง ๆ ทันทีเมื่อจำเป็น ซึ่งการประชุมครั้งหน้าของ Fed จะจัดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์หลังจากนี้ หรือในวันที่ 18 มีนาคม 2563 นั่นเอง
1
Jerome Powell กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "FED กำลังติดตามพัฒนาการและผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และเราจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของเราอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจโลก"
Source : Investing.com
Session 2 : FED จะสามารถลดดอกเบี้ยได้มากแค่ไหน ?
อัตราการดอกเบี้ยของ FED ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้ว โดยในปีที่แล้ว FED ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทางฝั่งของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่มีอัตราดอกเบี้ยติดลบก็ต้องดิ้นรนหามาตรการเพื่อตอบสนองกับวิกฤตครั้งนี้
อย่างไรก็ตามธนาคารกลางทั่วโลกก็ยังยืนยันที่จะใช้มาตรการเช่นนี้ แม้ในบางครั้งจะเป็นที่ถกเถียงกันมากก็ตาม กรณีพื้นฐานเช่นการระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอจะปรับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากตลาดทั่วโลกกำลังตกต่ำ
อ้างอิงจาก FedWatch Tool ของ CME ระบุว่ามีโอกาสมากกว่า 90% ที่ FED จะทำการลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า FED อาจปรับลดถึง 0.5% ในครั้งเดียว
Source : cmegroup.com
นักยุทธศาสตร์ตลาดเงิน (Forex) ของ Citi วิเคราะห์ว่าธนาคารกลางอาจหันไปใช้มาตรการเชิงรุกมากขึ้น "หากเราเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่วิกฤตเช่นนี้ FED อาจลดลง 0.5% ในคราวเดียว” Ebrahim Rahbari และ Xiaojin Lin เขียนไว้ในรายงานการวิจัยให้กับลูกค้าของเขา
Goldman Sachs วิเคราะห์ว่า FED จะมีการปรับลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงมิถุนายน ซึ่งอาจลดมากสุดถึง 0.75%
1
ทางฝั่ง Bank of America คาดการณ์ว่า FED จะลดดอกเบี้ยถึง 0.5% ในการประชุมครั้งหน้า
ในทางกลับกัน Robert Kaplan ประธานธนาคารกลาง Dallas ในรัฐ Texas กล่าวว่าเขาจะตัดสินใจในเร็ว ๆ นี้ว่าควรจะลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดตั้งอยู่ในช่วง 1.5% ถึง 1.75% การลดลงต่อไปจะผลักดันให้ดอกเบี้ยเข้าใกล้ระดับ 0 ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องการหลีกเลี่ยงการมีดอกเบี้ยอยู่ใกล้ 0%
Session 3 : การลดดอกเบี้ยส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง ?
แน่นอนว่าเมื่อธนาคารกลางต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่นนี้แล้ว ผลกระทบที่เกิดก็ย่อมมี โดย World Maker ขอชี้แจงเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. จุดมุ่งหมายของการลดดอกเบี้ย
FED "ลดอัตราดอกเบี้ย" ลงเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจะกระตุ้นให้เกิดการ "กู้ยืม" และ "การลงทุน" มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่มากเกินไป กลายเป็นภาวะเงินเฟ้อที่ตามมา ซึ่งลดกำลังซื้อและบ่อนทำลายความยั่งยืนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจมีการเติบโตมากเกินไป FED สามารถปรับ "ขึ้นอัตราดอกเบี้ย" เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อและทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตในระดับที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นในระยะยาว
2. อัตราการกู้ยืมจากธนาคาร
อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรต่าง ๆ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนทุกอย่างจากคลังของสหรัฐฯไปจนถึงหุ้นกู้ของบริษัท มีแนวโน้มลดลงตามอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดึงดูดนักลงทุนได้น้อยลง ซึ่งมักจะนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากตลาดพันธบัตรเข้าสู่ตลาดหุ้น (นักลงทุนย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า)
Source : cnbc.com
สำหรับตลาดหุ้นและการลงทุนนั้นการ "ลดอัตราดอกเบี้ย" ดูจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เพราะหมายถึงการที่ "ผู้กู้" จะประหยัดเงินโดยการที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง สำหรับการจัดหาและระดุมเงินทุนบางประเภท ก็มีอัตราราคาพิเศษหรืออัตราอื่น ๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงตามอัตราดอกเบี้ยของ FED
1
3. บัตรเครดิต
บัตรเครดิตส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยผันแปรและธนาคารต่าง ๆ จะเชื่อมโยงกับ Prime Rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้าที่ต้องการ ซึ่ง Prime Rate แต่ละรายจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับเครดิตที่มี ใครมีเครดิตดี Prime Rate ก็จะลดลง (เครดิตดี เช่น ชำระหนี้ตรงเวลาเสมอ) ส่วนใครที่เครดิตไม่ดี เช่น จ่ายเงินไม่ตรงเวลา ก็จะต้องใช้บัตรเครดิตในอัตรา Prime Rate ที่สูงขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม Prime Rate นี้จะขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED เป็นหลัก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่ว่า FED จะลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ก็จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง การลดดอกเบี้ยครั้งนี้จึงเป็นข่าวดีสำหรับนักรูดบัตรทั้งหลาย
4. บัญชีออมทรัพย์
เมื่อ FED ลดอัตราดอกเบี้ย ผู้คนที่ "ออมเงิน" จะได้รับผลตอบแทนน้อยลงจากการออม ธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายสำหรับบัตรเงินฝาก (CD), บัญชีตลาดเงิน และบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป
อัตราผลตอบแทนจากบัตรเงินฝาก (CD)โดยทั่วไปจะลดลงเมื่อเฟดลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมหภาคอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลด้วย เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี
5. กองทุนรวมตลาดเงิน
กองทุนตลาดเงิน (MMF) เป็นบัญชีการลงทุน ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ปกติ แต่การปรับลดดอกเบี้ยของ FED อาจส่งผลให้มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นน้อยลงด้วย
การตอบสนองของอัตราเงินปันผลต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED นั้นขึ้นอยู่กับว่ากองทุนนั้นต้องเสียภาษีหรือปลอดภาษี (เช่นเดียวกับที่ลงทุนในพันธบัตรต่าง ๆ) กองทุนที่ต้องเสียภาษีมักจะปรับให้สอดคล้องกับ FED ดังนั้นในกรณีที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ผู้ถือหุ้นควรคาดการณ์ว่าจะได้รับผลตอบแทนน้อยลงจากหลักทรัพย์เหล่านี้
6. สินเชื่อรถยนต์
บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของ FED ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่น่าแปลกใจที่สินเชื่อรถยนต์ไม่ได้ขยับตัวมากนักจากการปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยของ FED เนื่องจากเงินกู้สินเชื่อรถยนต์นั้นส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะยาว
7. อสังหาริมทรัพย์
การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นผลดีต่อการจัดหาเงินทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับ "ประเภทของสินเชื่อ" ที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ไม่ว่าจะแบบ "คงที่" หรือแบบ "ปรับได้" และอัตราการจำนองมักสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยของ FED ด้วย
สำหรับการจำนองที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ การลดอัตราดอกเบี้ยของ FED จะไม่มีผลกระทบต่อจำนวนเงินที่ต้องชำระรายเดือน
อัตราดอกเบี้ยต่ำอาจเป็นผลดีต่อผู้จำนองที่มีศักยภาพ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED จะเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น แต่การจำนองอัตราดอกเบี้ยคงที่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวซึ่งไม่ผันผวนเท่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
โดยทั่วไปเมื่อ FED มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยการชำระเงินจำนองแบบปรับได้ (ARM) จะลดลง ARM หลายแห่งเชื่อมโยงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยของ FED
Session 4 : บทสรุปโดย World Maker
1. โดยทั่วไปแล้วเราจะเห็นว่าการลดหรือเพิ่มดอกเบี้ยของ FED นั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจในหลาย ๆ แง่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลกระทบที่รุนแรงจะเกิดจาก Effect ทางอ้อมของนโยบายทางการเงินของ FED มากกว่า
2. ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่การลดดอกเบี้ยของ FED นั้นไม่ได้ส่งผลโดยตรงมากนัก แต่ทำไมมักจะเกิดวิกฤตขึ้นกับตลาดเหล่านี้จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของ FED ล่ะ ? สาเหตุมาจากความโลภและการเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่งนั่นเอง ผู้คนต่างคิดว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเช่นนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะทำกำไร จึงแห่กันกู้เงินมาเทลงในตลาดเหล่านี้ "มากเกินไป" ทำให้ตลาดไม่สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริง เมื่อนั้น...ตู้ม !!! เกิดเป็นโกโก้ครั๊นซ์ แน่นอน
3. สิ่งที่อยากให้พึงระวังคือ "อย่าโลภ" มากนักในโอกาสที่ดูเหมือนจะเป็นโอกาสทองเช่นนี้ เพราะวิกฤตเกิดมาหลายครั้งแล้ว และอีกอย่างอย่าลืมว่าตอนนี้ "หนี้" กำลังล้นโลกอยู่แล้ว และการที่ FED มาผ่อนคลายนโยบายทางการเงินแบบนี้อีก ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการกู้และการลงทุนมากขึ้น....ลองคิดดูถึงในแง่ของหนี้ที่เพิ่มขึ้นด้วย แล้วคุณจะเห็นภาพอะไรมากขึ้น...
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา