1 มี.ค. 2020 เวลา 01:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รีวิวสั้น “คอนโด ฟาร์มเกษตรแนวตั้ง” เพื่อการอยู่อาศัยแห่งอนาคต !!
จะทำอย่างไร ? เมื่อ “อาหาร” และ “อากาศบริสุทธิ์” เป็นสิ่งที่มนุษย์กำลังจะขาดแคลนในอีก 30 ปีข้างหน้า..
หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจที่สุด มาจาก Fei และ Chris Precht สองสถาปนิกชาวออสเตรีย ผู้ออกแบบคอนโดสูง ที่มาพร้อมระบบยังชีพ สามารถทำการเกษตรได้ในตัว เพื่อเพิ่มทั้งพื้นที่อยู่อาศัย ฟาร์มสำหรับผลิตอาหาร และเปลี่ยนให้ป่าคอนกรีตทั่วโลก กลายต้นไม้ใหญ่ ช่วยผลิตออกซิเจนให้กับคนเมืองในอนาคตนั่นเอง
แนวคิดนี้เริ่มจากที่ว่า หากจำนวนประชากรโลกมีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 9,700 ล้านคนในปี 2050 (ข้อมูลวิจัยจาก UN) ปัจจัยสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยคือเรื่อง อาหาร และด้วยสภาพอากาศของโลกที่แปรปรวนจากสภาวะโลกร้อนเช่นนี้ การเกษตรแบบเดิมๆ อาจจะได้ผลผลิตที่น้อยลง จนไม่สามารถเลี้ยงผู้คนได้เพียงพออีกต่อไป
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องมีการ “ปฏิวัติเกษตรกรรม” ครั้งใหม่
ซึ่งหลายทฤษฎีจากนักวิชาการนั้นเห็นว่า คงหนีไม่พ้นการสร้างสถาปัตยกรรมแนวตั้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย เหมือน “คอนโด” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาหลายศตวรรษ
Credit : Architizer
Fei และ Chris Precht จึงเริ่มต้นโปรเจคในการดีไซน์โครงสร้างตึกต้นแบบ ที่มีชื่อว่า “The Farmhouse” แห่งนี้ขึ้นมา
ด้วยแนวทางที่ว่า ตึกคอนโดฟาร์มต้นแบบ จะต้องสามารถปลูกสร้างได้ในทุกๆ เมืองใหญ่ทั่วโลก ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้แต่ละ Unit เป็นโครงสร้างแบบ“โมดูล่า”
ในทางสถาปัตยกรรมนั้น โมดูล่า คือการที่โครงสร้างแต่ละ Unit สามารถเชื่อมต่อกันได้เป็น Pattern ซ้ำๆ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง และกำหนดปริมาณให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้
Credit : Architizer
จึงเป็นที่มาของ “A-Modula” ห้องพักที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างรูปสามเหลี่ยมประกบกันหลายกล่อง เป็นวิธีใช้รูปทรงเรขาคณิตที่มีความแข็งแรงสูงสุด สามารถรับน้ำหนักได้ดี
ภายในประกอบไปด้วยพื้นที่พักอาศัย ที่มีฟังก์ชั่นเหมือนคอนโดทั่วไป มีห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องครัว แต่จะพิเศษตรงที่มีการเพิ่มระเบียง และพื้นที่เพาะปลูกแนวตั้งเข้าไปนั่นเอง
Credit : Architizer
ด้วยรูปทรงเช่นนี้ ช่องว่างระหว่างกล่อง จะเกิด Space แนวเฉียงขึ้น 2 ด้าน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมกับการติดตั้งระบบการปลูกพืชแบบ “Hydroponic” มากที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้พืชได้รับแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึงแล้ว การออกแบบในลักษณะขั้นบันได ยังช่วยให้สะดวกแก่การเก็บเกี่ยวผลผลิตอีกด้วย
Credit : Archdaily
Credit : Archdaily
ข้อดีของการปลูกพืชแบบ “Hydroponic” คือไม่ต้องใช้ดิน หมดปัญหาเรื่องศัตรูพืช สามารถควบคุมผลผลิตให้คงที่ มีมาตรฐาน และได้ปริมาณมากกว่าการปลูกแบบเก่า 50-70% ซึ่งอย่างน้อยจะช่วยให้ทุกบ้านมีผักสดสำหรับบริโภคอย่างสม่ำเสมอ
Credit : Archdaily
ที่สำคัญคือการมีระเบียงสีเขียว เต็มไปด้วยพืชพันธุ์เช่นนี้ จะเป็น Buffer ช่วยดูดซับฝุ่น และกรองอากาศบริสุทธิ์ให้กับผู้อยู่อาศัยภายในบ้านได้เป็นอย่างดี
Credit : Archdaily
Credit : Archdaily
นอกจากจะได้ผักสดสำหรับเป็นอาหารภายในครอบครัวแล้ว ชุมชนในคอนโดยังสามารถนำผลผลิตที่เหลือ มาจำหน่ายที่ "Plan Market" บริเวณชั้นล่างของอาคารได้
แน่นอนว่าหากภายในเมือง มีการสร้าง “The Farmhouse” มากขึ้น และการแชร์ผลผลิตร่วมกัน สามารถรองรับความต้องการของคนเมืองได้อย่างเพียงพอแล้ว ก็จะช่วยลดการขนส่งอาหารประเภทธัญพืชจากภายนอก ซึ่งเป็นการสร้างมลพิษทางอากาศให้น้อยลงไปในตัวนั่นเอง
Credit : Archdaily
Credit : Archdaily
Credit : Archdaily
Credit : Archdaily
Credit : Archdaily
โดยการออกแบบ “คอนโด ฟาร์มเกษตรแนวตั้ง” ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกแนวคิดที่เอกชน และรัฐบาลหลายประเทศกำลังให้ความสนใจ ที่จะนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองใหญ่อย่างจริงจัง นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้ ในการสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิตมนุษย์ในยุคต่อไป
สำหรับสาย Eco หวังว่าจะชอบรีวิวนี้กันนะครับ ลองคิดกันเล่นๆ ว่าถ้ามีนวัตกรรมแบบนี้ซัก 100 แห่งทั่วกรุงเทพ เราจะได้เห็นต้นไม้ยักษ์สีเขียวเต็มไปหมด คงจะสดชื่นขึ้นไม่น้อยเลยแน่ๆ ยังไงฝากติดตามตอนต่อๆ ไปกันด้วยนะครับ แล้วแจกันครับ
เรียบเรียงโดย : BETA SPACE
โฆษณา