1 มี.ค. 2020 เวลา 12:30 • หนังสือ
ซีรี่ส์ : ชั้นหนังสือ [เล่มที่ 06]
บาร์เทิลบี (Bartleby) : หากเราไม่ทำในเรื่องที่ควรทำ อะไรจะเกิดขึ้น?
...
บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener) เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่ถูกตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1853 เขียนขึ้นโดย ‘เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville)’ นักเขียนชาวอเมริกัน
...
เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) : เครดิตภาพ https://www.thenation.com/article/archive/what-herman-melville-can-teach-us-about-the-trump-era/
ที่ก่อนหน้านี้เจ้าตัวได้เขียนนวนิยายเล่มสำคัญอย่าง ‘วาฬยักษ์แห่งสมุทร (Moby Dick)’ ที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1851 ที่แม้ ณ ช่วงเวลาที่หนังสือถูกพิมพ์นั้น จะไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการตลาดเท่าที่ควร เนื่องจากมีเนื้อหาที่ละเอียดและค่อนข้างจริงจังซึ่งไม่ตรงใจผู้อ่านทั่วไป
...
แต่ทว่าในเวลาหลายปีต่อมา นวนิยายวาฬยักษ์แห่งสมุทร (Moby Dick) ก็ถูกสถาปนายกขึ้นหิ้งให้เป็นหนึ่งในงานเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
...
นวนิยายสร้างชื่อให้เมลวิลล์ ‘วาฬยักษ์แห่งสมุทร (Moby Dick) : เครดิตภาพ https://literary-arts.org/product/delve-fall-2018-herman-melville-moby-dick/
วาฬยักษ์แห่งสมุทร (Moby Dick) เป็นงานเขียนที่เมลวิลล์เขียนขึ้นจากจินตนาการและแรงบันดาลใจ ครั้งเมื่อเขาเคยทำงานเป็นลูกเรือบนเรือล่าวาฬมาก่อน
...
ข้อมูลเพิ่มเติม
...
ซึ่งต่างจากนวนิยายอีกเรื่องที่มีชื่อว่า ‘In the Heart of the Sea’ เขียนขึ้นโดย ‘นาธาเนียล ฟิลบริค (Nathaniel Philbrick)’ ที่เล่าถึงเหตุการณ์จริงของเรือเอสเซกส์ (Essex) ที่ถูกปลาวาฬหัวทุยจู่โจมจนเรือแตก
...
ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ที่แสดงนำโดย ‘คริส เฮมส์เวิร์ท (Chris Hemsworth)’ และเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2558
...
ชื่อไทย ‘หัวใจเพชฌฆาตวาฬมหาสมุทร’ : เครดิตภาพ https://www.tv.nu/program/in-the-heart-of-the-sea
แต่หลังจากนั้นกราฟชีวิตของเมลวิลล์ก็ทิ้งดิ่งลงมาอย่างน่าใจหาย เขากลายเป็นนักเขียนไส้แห้งโดยสมบูรณ์แบบ
...
ซึ่งว่ากันว่าเมลวิลล์ถึงกับต้องเบนเข็มชีวิตไปเขียนเรื่องสั้นลงตามนิตยสารแทนเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ และวรรณกรรมเรื่องสั้นอย่างบาร์เทิลบี ก็คือหนึ่งในนั้น
...
แต่เมื่อปัญหาด้านการเงินเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้เมลวิลล์ต้องยอมหันหลังให้กับงานเขียนที่ตัวเองรัก แล้วหันไปเป็นครู หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อหาเงินมาจุนเจือและเลี้ยงดูครอบครัวของเขาเอง
...
1
เมลวิลล์ใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตตัวเอง ย้อนกลับมาทำในสิ่งที่เขารักอีกครั้งนั้นก็คืองานเขียน ซึ่งครั้งนี้เมลวิลล์กลับมาในฐานะนักเขียนบทกวี
...
และก็อีกนั้นแหละ บทกวีของเมลวิลล์ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายอยู่ดี ชื่อเสียงในฐานะนักเขียนของเขาจึงแทบจะเป็นศูนย์ในสังคมชาวอเมริกันยุคนั้นเลย
...
และเหมือนโชคชะตาเล่นตลกกับเมลวิลล์อีกครั้ง เมื่อวรรณกรรมเรื่องสั้นอย่างบาร์เทิลบีถูกยกให้เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่สำคัญที่สุดของอเมริกัน ซึ่งนั้นก็หลังจากที่เมลวิลล์เสียชีวิตไปได้กว่า 29 ปีแล้ว
...
เมลวิลล์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักเขียนผู้มีผลงานที่ล้มเหลว (ในช่วงชีวิตของเขา) และผลงานเป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง (ในช่วงหลังจากที่เขาเสียชีวิต) ในวงการวรรณกรรมอเมริกัน
...
โดยวรรณกรรมเรื่องสั้น ‘บาร์เทิลบี’ ได้สำนักพิมพ์สมมตินำเข้ามาแปลเป็นภาษาไทย และจัดจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
...
นานมาแล้ว ณ ทวีปแอนตาร์กติกา
...
นักชีววิทยาสังเกตเห็นพฤติกรรมสุดแปลกประหลาดของเหล่าเพนกวินจักรพรรดิ เพนกวินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเพนกวินทั้งหมดบนโลก
...
พวกมันรวมตัวกันเป็นวงกลมเบียดเสียดกระจุกกันเป็นกลุ่มก้อน มองดูแล้วชวนน่าอึดอัดแทน
...
เครดิตภาพ : https://physicsworld.com/a/huddling-emperor-penguins-undergo-phase-transition/
พวกมันหนาวกันอย่างนั้นหรือ?
...
เมื่อมานึกดูแล้วในขั้วโลกใต้ช่วงฤดูหนาว อาจมีอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า -45 องศาเซลเซียสได้ง่ายๆ ประกอบกับอาจมีลมโหมพัดกระหน่ำได้ถึง 50 เมตรต่อวินาที
...
พวกมันคงสร้างความอบอุ่นให้กันและกันจริงๆ ก็เป็นได้ แต่อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เมื่อนักชีววิทยาได้ลองค้นหาคำตอบให้ลึกกว่านั้น แล้วพวกเขาก็พบว่า
...
นี่คือช่วงฤดูผสมพันธุ์ของเหล่าเพนกวินจักรพรรดิ โดยตัวเมียจะทำหน้าที่คอยออกไปหาอาหาร และตัวผู้ทำหน้าที่คอยกกไข่โดยที่ระหว่างนั้นจะไม่มีอาหารตกมาถึงท้องเลย
...
และภายใต้สภาพอากาศที่เลวร้ายเช่นนี้ การที่ตัวผู้กกไข่ให้ความอบอุ่นเพียงลำพัง ก็เกรงว่าลูกน้อยในไข่อาจไม่มีโอกาสได้ลืมตามาดูโลกเป็นแน่ท่ามกลางสภาพอากาศสุดโหดร้ายแห่งนี้
...
พวกมันจึงสร้างระบบสังคมขึ้นมา ด้วยการที่บรรดาตัวผู้จะมารวมตัวเป็นกลุ่มก้อน และอาศัยไออุ่นของกันและกันเพื่อให้ไข่ทุกฟองนั้นได้รับความอบอุ่นอย่างเพียงพอ (โดยอุณหภูมิกลางวงนั้นอาจอบอุ่นได้ถึง 37 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว)
...
แต่แบบนี้บรรดาพ่อเพนกวินที่อยู่วงนอกสุดก็ต้องทนรับกับสภาพอากาศที่หนาวเหน็บมากที่สุดน่ะสิ นั้นหมายความว่าตัวที่อยู่วงในสุดก็จะสบายอุราไปตลอดสินะ
...
ช้าก่อนครับ! พวกมันรับรู้ในเรื่องนี้ดี และพวกมันก็จะคอยสลับที่ให้กันและกันอยู่ตลอด ตัวที่อยู่วงในสุดจะค่อยๆ เคลื่อนตัวเองออกมาเรื่อยๆ จนถึงวงนอก และตัวที่อยู่วงนอกสุดก็จะค่อยสลับเข้าไปแทน
...
พวกมันจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกน้อยของพวกมันจะกะเทาะเปลือกไข่ออกมาลืมตาดูโลก ซึ่งพฤติกรรมลักษณะเช่นนี้นักวิวัฒนาการเรียกมันว่า ‘พฤติกรรมเห็นแก่ผู้อื่นทางชีววิทยา’
...
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นกับพฤติกรรมเช่นนี้ของเพนกวินจักรพรรดิใช่ไหมล่ะครับ ถึงแม้ตัวเรานั้นจะเฝ้ามองจากวงนอกที่ไกลออกมามากก็ตาม
...
1
แต่หากเรามาตั้งคำถามเล่นๆ ว่า ถ้ามีเพนกวินหนึ่งตัวหรือมากกว่านั้น ‘เพิกเฉยและเห็นแก่ตัว’ ไม่เคลื่อนตัวออกจากกลางวงเพื่อไปสลับที่กับเพื่อนที่อยู่วงนอกล่ะ
...
อะไรจะเกิดขึ้น?
...
เครดิตภาพ : https://antarctic-logistics.com/huddling-in-the-storm/
วรรณกรรมเรื่องสั้นอย่างบาร์เทิลบีของเฮอร์แมน เมลวิลล์นี้ อาจพอเป็นกระจกสะท้อนให้กับคำถามนั้นได้ครับ
...
เรื่องราวว่าด้วยความชวนหัวบังเกิดที่สำนักงานทนายความแห่งหนึ่งบนถนนวอล์สตรีท ท่ามกลางย่านธุรกิจชื่อดังของมหานครนิวยอร์ก
...
ทนายความเจ้าของสำนักงานนั้น ที่ผู้อ่านอย่างเราจะไม่มีวันรู้ชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริงของเขาตลอดไป เพราะเขาชอบแทนตัวเองด้วยคำว่า ‘ข้าพเจ้า’
...
ใช่ครับ เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองและความรู้สึกของตัวละครเจ้าของสำนักงานทนายนี้เป็นหลัก
...
วันหนึ่ง เมื่อกิจการของสำนักงานดีมากจนงานล้นคน ข้าพเจ้าจึงประกาศรับสมัครเสมียนทนายคนที่ 4 เพิ่มเติม
...
1
และเขาผู้นั้นก็มายืนปรากฏตัวที่หน้าสำนักงาน เขามีชื่อว่า ‘บาร์เทิลบี’ ข้าพเจ้ารู้สึกชอบใจในความสุภาพและพูดน้อยของบาร์เทิลบี จึงตัดสินใจรับเข้ามาทำงาน
...
แต่ทว่าบาร์เทิลบีกลับมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด เพราะเขาไม่สนใจที่จะทำงานอื่นใดเลยนอกจากนั่งคัดสำนวนอย่างเดียว โดยเวลาที่มีคนมาขอให้เขาช่วยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการคัดสำนวน บาร์เทิลบีก็จะตอบกลับอย่างสุภาพว่า
...
“ผมไม่ประสงค์ที่ทำ”
...
แม้งานนั้นจะเป็นงานในหน้าที่ของเสมียนก็ตามที
...
เครดิตภาพ : https://birinindunyasi.wordpress.com/2016/07/15/katip-bartleby-herman-melville/
และความไม่ประสงค์ที่จะทำของบาร์เทิลบีนั้น ก็เริ่มส่งแรงกระเพื่อมขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมันเริ่มลุกลามไปทั้งสำนักงาน
...
“ผมคิดว่าพฤติกรรมเขาไม่ปกติ และไม่ยุติธรรมต่อพวกผมเลย” เสมียนคนหนึ่งพูดกับข้าพเจ้า เมื่องานตรวจสำนวนของบาร์เทิลบี ถูกถ่ายโอนมาให้พวกเขาทำแทน
...
หากแต่ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเราลองมองภาพในมุมกว้างมากขึ้น การเพิกเฉยของตัวละครอย่างข้าพเจ้าเอง ก็กำลังสร้างผลกระทบบางอย่างให้กับสำนักงานเช่นกัน
...
หากทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้ คงต้องสงสัยกันบ้างใช่ไหมครับว่า ‘ทำไมข้าพเจ้าถึงไม่ทำอะไรกับบาร์เทิลบีเลย ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นถึงเจ้าของสำนักงานแท้ๆ’
...
เพราะตัวข้าพเจ้านั้น มีทัศนคติในการเป็นหัวหน้าที่ดี คือจะไม่ตัดสินอะไรด้วยอารมณ์ จะพยายามใช้เหตุผลและคำพูดดีๆ กับผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอ
...
เมื่อบาร์เทิลบียังคงคัดสำนวนให้อยู่ และได้ปริมาณที่เยอะกว่าเสมียนอีก 3 คนที่เหลืออีกต่างหาก ถ้าเทียบปริมาณแบบตัวต่อตัว
...
และปรัชญาชีวิตที่ข้าพเจ้ายึดถือคือ ‘ชีวิตที่สบายคือชีวิตที่ดีที่สุด ดังนั้นต้องไม่ให้เรื่องวุ่นวายรุกล้ำเข้ามาในชีวิต’
...
ซึ่งนั้นกลับกำลังช่วยก่อร่างซ้ำเติมผลกระทบร้ายๆ ให้เกิดขึ้นกับสำนักงานของเขาในบั้นปลาย
...
เพราะในสายตาของเสมียนคนอื่น เจ้านายของเขาดูจะเพิกเฉยกับพฤติกรรมสุดประหลาดของบาร์เทิลบีเอาเสียมากๆ
...
เมื่อบาร์เทิลบีเลือกที่จะไม่ประสงค์ที่จะทำการใดๆ รวมไปถึงคำขอร้องของตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นหัวหน้าด้วย
...
ประกอบกับตัวข้าพเจ้านั้น ก็เพิกเฉยด้วยการเลือกที่จะพาตัวเองหลีกหนีปัญหาที่อยู่ตรงหน้า เพื่อรักษาปรัชญาในการดำเนินชีวิตของเขานั้นให้มั่นคงแข็งแรง
...
เรื่องราวจึงนำไปสู่ความสุดอลวน ที่เริ่มลุกลามไปถึงภายนอกสำนักงานอย่างช่วยไม่ได้ (เสียอย่างนั้น)
...
พี่บี แห่งเพจให้เพลงพาไป คอมเม้นตอบในบทความ ‘ในสถานการณ์ที่เลวร้าย เราอย่าเลวร้ายตามสถานการณ์’ ที่เขียนโดยพี่มูฟ แห่งเพจ MovieTalk มูฟวี่ชวนคุย เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 63
ดูเหมือนว่าเมลวิลล์จะเขียนเรื่องบาร์เทิลบี โดยอิงแนวคิดแบบลัทธิซีนิก (Cynicism) ที่มีแนวคิดเชิงลบว่ามนุษย์ทุกคนนั้นล้วนเห็นแก่ตัวและเชื่อถือไม่ได้ ก็เป็นได้
...
เพราะมันสะท้อนมาจากพฤติกรรมของตัวละครหลักอย่างบาร์เทิลบีกับข้าพเจ้า ที่ล้วนแสดงความเห็นแก่ตัวด้วยการทำตัวเพิกเฉย (ในเหตุผลเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน)
...
แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่แค่ตัวละคร 2 ตัวนี้ที่แสดงความเห็นแก่ตัว เสมียนที่เหลืออีก 3 คนก็อาจแสดงความเห็นแก่ตัวด้วยเช่นกัน ดั่งคำพูดของเสมียนคนหนึ่ง
...
“ขอประทานโทษครับ มันเป็นเรื่องที่ท่านต้องตัดสินใจ” เสมียนคนหนึ่งตอบกลับข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องบาร์เทิลบี
...
เมื่อบาร์เทิลบีเลือกที่จะใช้เสรีภาพของตัวเอง ในการปฏิเสธกฎเกณฑ์ หรือแม้กระทั่งค่านิยมในสังคม
...
“เขาเป็นบุคคลที่ทำตามประสงค์มากกว่าทึกทักทำตามกะเกณฑ์คนอื่น” ตัวละครข้าพเจ้าพรรณนาถึงบาร์เทิลบี
...
เมื่อข้าพเจ้าเลือกที่จะเอาความสบายของตัวเอง โดยการพาตัวเองออกห่างจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นผู้มีอำนาจ
...
และเสมียนที่เหลือเลือกที่จะขอไม่ยุ่งไม่ข้องแวะด้วย โดยการโบ้ยว่ามันเป็นหน้าที่ของเจ้าของสำนักงานอย่างข้าพเจ้า ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่พอจะช่วยว่ากล่าวตักเตือนบาร์เทิลบีได้
...
เมื่อต่างฝ่ายต่างเพิกเฉยไม่ทำในสิ่งที่ควรทำเพื่อส่วนรวม จึงทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสำนักงานลุกลามออกไปถึงนอกสำนักงาน
...
ย้อนกลับมาดูสภาพปัญหาในบ้านเรา เราจะแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร หากชาวไร่อ้อยปฏิเสธที่ให้ความร่วมมือด้วยการยังเผาไร่อ้อยต่อไป หากรถเมล์สาธารณะยังคงปล่อยควันดำ หากภาครัฐไม่เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และหากภาคประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับมาตรการที่ภาครัฐกำหนดออกมาล่ะ?
...
หากภาครัฐมีมาตรการเหล่าออกมา เราจะให้ความร่วมมือไหมเน้อ? : เครดิตภาพ ‘สางปัญหาฝุ่นควันให้ได้ผล = ต้องเด็ดขาด | จั๊ด ซัดทุกความจริง | ข่าวช่องวัน’ https://www.youtube.com/watch?v=cKaas4g87M4
นักปรัชญาชาวเดนมาร์กอย่าง ‘โซเรน เคียร์เคเกอร์ (Soren Kierkegaard)’ ได้เสนอแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ ผ่านหนังสือที่มีชื่อว่า Either/Or (ระหว่างสิ่งนี้/หรือสิ่งนั้น)
...
หนังสือ Either/Or : เครดิตภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/Either/Or
โดยนำเสนอทางเลือกที่มนุษย์จะต้องเลือก (เลือกอีกแล้ว!!!) ว่าจะยึดแนวคิดของตัวเองอย่างไรระหว่าง
...
1. ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขสำราญและการไล่ตามความงาม (ที่ยึดเอาตามความสะดวก และความสุขของตัวเองเป็นหลัก) หรือ
...
2. ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของศีลธรรมตามประเพณี (ยึดตามกฎระเบียบ และจารีตประเพณีของสังคม)
...
เคียร์เคเกอร์ แสดงความเห็นว่า “หากมนุษย์เลือกที่จะเทิดทูนบางสิ่งอยู่เหนือหน้าที่ทางสังคมตามปกติ (หรือจริยธรรมตามค่านิยม) บางสิ่งที่ว่าอาจหมายความรวมถึงหมายถึง เสรีภาพ, ความสุข หรือความสบาย (ดั่งที่ปรากฏในเรื่องสั้นบาร์เทิลบี) และด้วยเหตุนี้เองที่จริยธรรมจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญของเขาอีกต่อไป”
...
1
เคียร์เคเกอร์มุ่งเน้นมุมมองผ่านระดับสายตาของปัจเจกชน แต่นักปรัชญาอีกคนชวนเรามองในมุมที่กว้างมากขึ้น
...
‘ณอง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau)’ นักคิดและนักเขียนชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้พูดว่า “มนุษย์เราต้องยอมเสียสละเจตจำนงส่วนตัวบางส่วน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม” (ซึ่งรุสโซนิยามประโยชน์ส่วนรวมนี้ว่า ‘เจตจำนงร่วม’)
...
รุสโซ เสนอว่า "เจตจำนงร่วมคือสิ่งที่พวกเราสมควรที่จะต้องการ เพราะมันเป็นผลดีต่อประชาคมโดยรวม ไม่ใช่แค่ดีต่อประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น" ด้วยเหตุนี้รุสโซจึงเชิญชวนให้เรามองข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว และมุ่งความสนใจไปที่ประโยชน์ร่วมกันของสังคม
...
ซึ่งแนวคิดของทั้ง 2 นักปรัชญานี้ นำเราไปสู่สิ่งเดียวกันที่เรียกว่า ‘สิ่งที่เราต้องเสียสละในชีวิต เพื่อสังคมส่วนรวม’
...
เช่น การที่กลุ่มหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่เสียสละเวลาและหยาดเหงื่อของตัวเอง เพื่อลุยเก็บขยะหลังเสร็จสิ้นงานไหลเรือไฟ ที่จังหวัดนครพนม
...
เครดิตภาพ : https://today.line.me/th/pc/article/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A5+%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%A1+5+%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%99+%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%A1-gLzw9G
ภาพของชายคนหนึ่งที่เสียสละความสุขส่วนตัวกับการเป็นผู้นำโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อหาเงินบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ
...
เครดิตภาพ : https://news.kapook.com/topics/%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7
หรือการที่เราได้รับรู้ถึงการเสียสละของ ‘เหล่ามดงานนิรนาม’ ที่ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขันทุกวัน คอยเป็นกำแพงชั้นแรกในการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าตามสนามบินเพื่อป้องกันมิให้โควิค-19 เข้ามาแพร่ระบาดในไทยให้มากที่สุดที่จะทำได้
...
เครดิตภาพ : https://www.komchadluek.net/news/edu-health/413714
ในช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือให้คนไทยหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางไปยังประเทศโควิค-19 กำลังระบาด
...
และขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ จีน (รวม ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
...
ขอให้เฝ้าระวังอาการตัวเองอย่างน้อย 14 วัน ขอให้สวมหน้ากากอนามัย งดไม่ไปในที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ และงดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
...
หากอาการป่วยที่เข้าข่ายให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรคได้ที่หมายเลข 1422
...
เครดิตภาพ : https://www.thansettakij.com/content/422522
และพวกเราเองที่ไม่ได้เดินทางไปในประเทศสุ่มเสี่ยง ก็สามารถร่วมมือร่วมใจได้ ด้วยการสวมใส่มาส์ก ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง และไม่ไปพื้นที่สุ่มเสี่ยง เพราะนอกจากจะเซฟตัวเองแล้ว ยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้อีกด้วย
...
เพราะคำว่า ‘เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม’ มีความชอบธรรมในตัวมันเองในแง่ของเป้าหมายที่สังคมควรนึกถึง
...
และมันฝังตัวอยู่ทั่วทุกอณูในสังคม ไล่ตั้งแต่ ประเทศ, การเมือง, องค์กร, สำนักงาน, มหาวิทยาลัย, โรงเรียน, สื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนภายในครอบครัวของเราเอง
...
ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะปล่อยให้คนเพียงคนเดียว หรือคนเพียงกลุ่มหนึ่งทำ ในขณะที่เราเพิกเฉยที่จะไม่ให้ร่วมมือ
...
หากเราตั้งคำถามว่า ‘การทำเพื่อส่วนรวม’ มีประโยชน์อะไร?
...
นักปรัชญาคงตอบเราว่า “เพื่อความสงบสุข และเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนภายในรัฐ”
...
แต่นักชีวภาพชวนเรามองไปไกลกว่านั้น เมื่อการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมคือ “สัญลักษณ์ของการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์”
...
และคงเป็นการดี หากเราตระหนักแบบที่พี่มูฟแห่งเพจ Movie Talk มูฟวี่ชวนคุย ย้ำเตือนเราในอีกหลายๆ บทความว่า “ในสถานการณ์ที่เลวร้าย เราอย่าเลวร้ายไปกับสถานการณ์” ร่วมไปด้วย
...
พี่มูฟแห่งเพจ Movie Talk มูฟวี่ชวนคุยได้กล่าวไว้ในบทความ ‘The Andromeda Strain : ไวรัสร้าย...ยังไงก็ไม่เท่ามนุษย์’ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.63
เฉกเช่นเดียวกับเหล่าเพนกวินจักรพรรดิ ที่ยอมเสียสละตัวเองคอยเป็นกำแพงให้ลูกๆ ของพวกมัน และคอยสลับตำแหน่งเพื่อเป็นกำแพงให้แก่กันและกัน และไม่ว่าสภาพอากาศที่ทวีปแอนตาร์กติกาจะเลวร้ายแค่ไหน พวกมันก็ไม่เคยทำตัวเลวร้ายตาม
...
ทั้งหมดนี้เพื่อลูกหลาน เพื่อกันและกัน และสุดท้ายเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์
...
เหล่าพ่อๆ เพนกวินจักรพรรดิช่วยกันยืนล้อมกรอบ เพื่อเป็นกำแพงป้องกันลมหนาวให้แก่ลูกหลานของพวกมัน : เครดิตภาพ https://twitter.com/mrvop/status/581275477718921216?lang=da
เรามาจับมือร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตไวรัสโควิค-19 นี้ไปด้วยกันนะครับ
...
และขอเป็นกำลังใจให้กระทรวงสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค, เหล่ามดงานนิรนาม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่านครับ ✌
...
บรรณานุกรม
ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2561). ปรัชญา : ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา. แปลจาก A Little History of Philosophy. แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร. นนทบุรี : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.
ทิม เลเวนส์. (2560). วิทยาศาสตร์ : ปรัชญา ปริศนา และความจริง. แปลจาก The Meaning of Science. แปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา