4 มี.ค. 2020 เวลา 08:17 • ไลฟ์สไตล์
ว่าด้วยเรื่องของ บอดี้ (body)
บอดี้ของไวน์คืออะไร
หลายๆ คนคงเคยได้ยินการบรรยายสรรพคุณของไวน์ด้วยคำว่า ฟูลบอดี้ (full body) มีเดียมบอดี้ (medium body) หรือ ไล้ท์บอดี้ (light body) กันมาบ้าง... แต่เคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับว่าจริงๆ แล้ว บอดี้ มันคืออะไรกันแน่
ว่ากันตามทฤษฎีที่หาได้จากแหล่งอ้างอิงทั้งตำราและเหล่าผู้รู้ในแวดวงไวน์กันก่อน อันคำว่า บอดี้ เขาอธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุดว่า บอดี้นั้นก็คือแอลกอฮอล์นั่นแหละ ...ขยายความเพิ่มอีกนิด โครงสร้างหลักของน้ำไวน์ และมีหน้าที่อุ้มชูห่อหุ้มองค์ประกอบทุกอย่างให้ยังคงมีความเป็นไวน์ไว้นั่นก็คือ แอลกอฮอล์ นั่นเอง
ทีนี้ การแบ่งระดับของบอดี้ตามกะเกณฑ์ในตำรา ว่ากันไว้อย่างนี้ครับ
ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์มากว่า 13.5% ถือว่าเป็นไวน์ฟูลบอดี้
หากมีแอลกอฮอล์ระหว่าง 12.5%-13.5% ให้เป็นไวน์มีเดียมบอดี้
และที่ต่ำกว่า 12.5% ก็นับเป็นไวน์ไล้ท์บอดี้ไป
ดังนั้น ไวน์ยิ่งมีแอลกอฮอล์สูง บอดี้ก็จะหนักขึ้นตามไปด้วย
แต่กับไวน์ทุกวันนี้ ในยุคที่ global warming ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในผลองุ่น เรากลับได้เห็นไวน์ที่มีระดับแอลกอฮอล์ที่ 14%-15% จนเป็นปกติไปแล้ว บางครั้งเลยเถิดไปเป็น 16%-17% ก็มีให้เห็นบ่อยๆ จนอาจจะกล่าวได้เลยว่าไวน์ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นไวน์ฟูลบอดี้ทั้งนั้น
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าไวน์ที่เราดื่มมีบอดี้ในระดับไหน
วิธีแรก ง่ายที่สุดคือการอ่านฉลากครับ ดูที่เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ที่ระบุไว้
วิธีที่สองคือ ดื่มครับ ดื่มเพื่อรับรู้สัมผัสของน้ำไวน์ในปากว่าเป็นอย่างไร โดยมีหลักเปรียบเทียบง่ายๆ กับการดื่มนมกับดื่มน้ำเปล่า ฟีลลิ่งของการดื่มนมก็คือฟูลบอดี้ ฟีลลิ่งของการดื่มน้ำเปล่าก็คือไล้ท์บอดี้ ส่วนมีเดียมบอดี้ ก็คือนมกับน้ำผสมกันอย่างละครึ่ง
เปรียบเทียบการรับรู้บอดี้
อีกมุมหนึ่ง อยากให้ท่านๆ ทั้งหลายอย่าได้สับสนกับการรับรู้บอดี้ของไวน์ในปาก กับคุณภาพของไวน์ เพราะบอดี้นั้นบ่งชี้ไปที่ระดับของแอลกอฮอล์เป็นหลัก
แต่หากจะพิจารณาเฉพาะคุณภาพของแอลกอฮอล์ ก็พอจะดูคร่าวๆ ได้จากการแสดงตัวของแอลกอฮอล์ขณะดื่ม นั่นคือ ถึงแม้ระดับแอลกอฮอล์จะสูง แต่กลับไม่เสนอหน้า ปล่อยให้องค์ประกอบอื่นๆ ได้แสดงตัวอย่างเต็มที่ แบบนี้ถือเป็นแอลกอฮอล์ผู้ปิดทองหลังพระ ทำหน้าที่ของตนได้อย่างดีเยี่ยม
แต่หากแอลกอฮอล์ดันเจ๋อออกมายืนแถวหน้า บดบังอย่างอื่นจนหมดสิ้น
ก็เป็นแอลกอฮอล์จิ๊กโก๋ปลายแถว ทำให้ไวน์นั้นหมดเสน่ห์กันไป
ครั้งหนึ่ง มีโอกาสได้ดื่มไวน์ที่แอลกอฮอล์ไม่สูง (เมื่อเทียบกับสมัยนี้) เป็นไวน์บอร์กโดซ์ปีเก่าที่มีแอลกอฮอล์ระดับ 11% เท่านั้น แต่กลับเป็นโครง(รวมถึงแทนนิน) ที่สามารถโอบอุ้มองคาพยพอื่นๆ ให้ผ่านร้อนผ่านหนาวจนไวน์มีอายุยืนยาวมากกว่า 30-40 ปีได้ ก็นับได้ว่าเป็นแอลกอฮอล์คุณภาพคับขวดโดยแท้ นี่ก็บ่งชี้ไปถึงคุณภาพขององุ่นและฝีมือของคนทำไวน์ด้วยเช่นกัน
อีกสองประการ หากพบเจอไวน์ที่แอลกอฮอล์ยังร้อนแรงเกรี้ยวกราด อย่างพวกไวน์ Barolo, Chateauneuf du Pape หรือไวน์จากเขต Priorat ของสเปน ก็อย่าเพิ่งทึกทักว่าเป็นไวน์ไม่ดีเอานะครับ เพราะไวน์เหล่านี้ในวิเทจใหม่ๆ แอลกอฮอล์เขายังไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนแรง ด้วยยังไม่ถึงช่วงเวลาที่ไวน์อายุได้ที่พร้อมดื่มและเกิดความสมดุลระหว่างองค์ประกอบสำคัญต่างๆ ในไวน์เท่านั้น
หรือการพบเจอไวน์แดงน้ำบางใสอย่าง Pinot Noir หรือไวน์แดงจากองุ่นเปลือกบางทั้งหลาย รวมถึงไวน์ขาวอย่าง Chardonnay ก็อย่าเพิ่งเผลอปล่อยไก่บอกว่าเป็นไวน์ไล้ท์บอดี้หรือมีเดียมบอดี้นะครับ
เห็นสีบางใส แต่อาจไม่ใช่ไล้ท์บอดี้
ขอเสริมทิ้งท้ายไว้อีกนิดว่าไวน์ฟูลบอดี้หรือแอลกอฮอล์สูงนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นไวน์ที่ดรายเสมอไป
นี่ข้ามไปอีกเรื่องละ เอาไว้มาต่อตอนหน้านะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา