6 มี.ค. 2020 เวลา 10:23 • ข่าว
ผีน้อย odds ความจริงใต้ปัญหา
ปีนี้เรากุมขมับได้ไม่เว้นวัน เรื่องผีน้อยคงจะสะกิดต่อมหลายคนให้โกรธ งง สงสัย หรือช็อก!
ผมรู้...คุณก็ช็อก
ผีน้อย แปลว่าคนไทยที่เดินทางจากประเทศเกาหลีใต้ที่อยู่เกินกำหนดอนุญาต (กำหนดอนุญาตเกาหลีนะครับ) ซึ่งเขาทำผิดกฎหมายเกาหลี ไม่ได้ผิดกฎหมายไทย เราไม่สามารถดำเนินคดีใด ๆ กับคนกลุ่มนี้ได้
ผีน้อยหรือผีชีวะ?
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าผีน้อยมีความเสี่ยงอะไรมากกว่าชาวเกาหลีใต้ หรือชาวอิตาลีที่เดินเข้ามาเที่ยวบ้านเราชิลๆ ไปกินอาหารตามร้านแบบไม่ต้องมีคนมาตามล่า ด่าทอ
ที่ผ่านมาก่อนประกาศรายชื่อ "เขตติดโรคติดต่ออันตราย" เราอนุญาตชาวเกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี และจีน มาเที่ยวไทยได้แบบฟรีสไตล์มาโดยตลอด ไม่มีการกักตัวหรือคำแนะนำให้กักตัวเอง 14 วัน แต่มาโฟกัสผีน้อยเฉยเลย
วันนี้บุ๊คโดโจมาวิเคราะห์เรื่องนี้ ด้วยหลักการวิจัยครับ
การจะบอกว่า"ปัจจัย"ใด เพิ่มความเสี่ยงต่อ "ผลลัพธ์" อย่างน่าเชื่อถือ ควรมาจากงานวิจัย เช่น การดื่มเหล้าเพิ่มความเสี่ยงโรคตับแข็ง ต้องมีการคำนวนเปรียบเทียบกลุ่มดื่มเหล้า กลุ่มไม่ดื่มเหล้า ตัดตัวกวนด้วยการสุ่ม(และอีกหลากหลายวิธี) แล้วจึงสรุปว่าการดื่มเหล้า เพิ่มความเสี่ยงเท่าใด อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ(เชื่อถือได้) ในระดับใด
1
ยกตัวอย่างการวิจัยแบบ cross sectional (งานศึกษาแบบตัดขวาง) ผู้วิจัยเลือก"จุดเวลาที่เหมาะสม"ช่วงหนึ่ง เพื่อสังเกต "ปัจจัยเสี่ยง" และ"ผลลัพธ์" ไปพร้อมๆกัน แล้วคำนวน ว่าปัจจัยเสี่ยงที่เราสนใจ เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลลัพธ์หนึ่ง ๆ เทียบกับการไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวกี่เท่าตัว โดยประมาณ (odds ratio)
"การเป็นผีน้อย เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ COVID-19 เท่าใด เมื่อเทียบกับผู้เดินทางจากเกาหลีใต้ทั้งหมด" หรืออาจเทียบกับผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงทั้งหมด
หากจะวิจัยศึกษาหัวข้อดังกล่าว เราคงต้องไล่เทียบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การศึกษา เศรษฐานะ หรือการเป็นชาวคริสต์ การเชื่อลัทธิป้า ว่าความจริงแล้วปัจจัยใดกันแน่ที่เพิ่มความเสี่ยงมีเชื้อ COVID-19 อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ
เช่นอาจทำการสุ่มนักท่องเที่ยวจากพื้นที่เสี่ยง 500 คน และสุ่มผีน้อย 500 คน ตรวจหาเชื้อ แล้วเทียบว่าพบผู้ติดเชื้อในกลุ่ม (โดยเก็บปัจจัยอื่นมาด้วยนะ)
จากนั้นเราคำนวนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ไปด้วย
เราจึงจะสามารถสรุปได้(ในระดับหนึ่ง) ว่าจริง ๆ แล้วปัจจัยดังกล่าวมีผลจริงหรือไม่ ไม่ใช่คืนหนึ่งฝันร้าย ผีอำ แล้วออกมาบอกว่าเห้ย ผีน้อยทุกคนต้องถูกกักตัวนะ
จะบ้าเหรอ กว่าจะทำวิจัยเสร็จ COVID-19 เลิกระบาดไปแล้วกระมัง
จริงครับ เราก็ไม่อาจนิ่งรองานวิจัยยืนยัน ก่อนจะออกมาตรการหนึ่ง ๆ ได้เลย จึงต้องวิเคราะห์อย่างมีหลักการ ว่าจะมีเหตุผลใดหนอ ที่ผีน้อยจะมีความเสี่ยงมากกว่านักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ หรือจากพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ
ความจริงการเป็นผีน้อยอาจไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยง (risk factor) แต่กลายเป็นปัจจัยป้องกัน (protective factor) ซะงั้น
เช่นจากสมมติฐานว่า ผีน้อยไทยเป็นคนพุทธไม่มีแนวโน้มไปโบสถ์ หรือเข้าร่วมลัทธิในเกาหลีใต้ (intervening factor) จึงมีความเสี่ยงน้อยกว่านักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ด้วยซ้ำ
แล้วเราสงสัยจริง ๆ หรือครับ ว่าปัจจัยการเป็นผีน้อย เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19?
สถานการณ์บ้านเราตอนนี้ การวิเคราะห์มาตรการต่างๆ การอ่านงานวิจัยและนำมาใช้ หากนำข้อมูลและหลักการมาใช้เป็นจุดกำเนิด เพื่อผลักดันนโยบาย คงจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเจ้าหน้าที่หน้างาน และประชาชนทั่วไป
แทนที่จะต้องเต้นเร่าไปตามคำสั่งการของใครก็ไม่รู้
โฆษณา