6 มี.ค. 2020 เวลา 06:01 • การเมือง
#วิเคราะห์ฎีกาใหม่
#ฎีกาที่ 5674/2562
#หนังสือมอบอํานาจติดอากรแสตมป์แต่ไม่ขีดฆ่าก็สามารถเป็นการมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายได้
คำพิพากษาฎีกานี้มีประเด็นโต้แย้งขึ้นสู่ศาลสูง ในประเด็นหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์แต่ไม่ได้ขีดฆ่า ถือว่าหนังสือมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยหลักหนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องดำเนินการ ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าเสมอ โดยมีเจตนารมณ์มิให้นำอากรแสตมป์มาใช้ซ้ำอีก
แต่ในฎีกานี้มีประเด็นที่ศาลสูงได้วิเคราะห์ไว้น่าสนใจ กล่าวคือ ในคดีนี้ฝ่ายที่กล่าวอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น(ผู้ร้อง) มิได้โต้แย้งบอกเหตุผลว่าหนังสือมอบอำนาจ ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และนอกจากนี้ในขณะสืบพยานผู้ร้อง ได้ตอบคำถามค้านจากทนายความผู้คัดค้านว่า " การมอบอำนาจของ ผู้คัดค้านถูกต้องแล้วตามเอกสารหมาย ค.1 - ค.2"
จึงถือได้ว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าการมอบอำนาจของผู้คัดค้านที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และศาลได้วินิจฉัยต่อไปว่า แม้หนังสือมอบอำนาจนั้นจะไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม ไม่มีกรณีต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามมิให้รับฟังตราสารที่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด
จึงถือว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้คัดค้านได้มอบอำนาจ และการมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ กรณีหากทนายความหรือคู่ความ ที่ขาดตกบกพร่องในส่วนของ การทำหนังสือมอบอำนาจ โดยเฉพาะในส่วนของการขีดฆ่าอากรแสตมป์ แต่หากปรากฏว่า คู่ความฝ่ายที่คัดค้านนั้น ไม่ได้คัดค้านความไม่ชอบด้วยกฎหมายของหนังสือมอบอำนาจไว้อย่างชัดเจน และหากคู่ความฝ่ายที่คัดค้านนั้นได้เบิกความยอมรับ ว่ามีการมอบหน้าจริง ศาลก็ รับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นยุติว่าการมอบอำนาจนั้นมีอยู่จริงและ เป็นการมอบหน้าที่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ดี คู่ความทุกฝ่ายหรือทนายความก็ควรจะ ระมัดระวัง รายละเอียดในส่วนนี้อย่างมาก ควรจะติดอากรแสตมป์และขีดฆ่าให้ครบถ้วน ตามกฎหมาย ดีกว่าเสี่ยงเป็นประเด็นขึ้นให้ศาลสูงวินิจฉัยเช่นคดีนี้
ภูดิท โทณผลิน
6 มีนาคม 2563
โฆษณา