13 มี.ค. 2020 เวลา 04:30
แบบจำลองของเหตุผล | ความเรียงว่าด้วยเหตุผลที่ประกอบขึ้นรูปด้วยถ้อยคำแห่งกวีนิพนธ์โดยแท้
‘แบบจำลองของเหตุผล’ เป็นงานเขียนที่จัดวางตัวเองในตำแหน่งที่พอเหมาะพอดี มีลักษณะที่คล้ายท่วงทำนองของงาน โจเซฟ จูแบรต์ (Joseph Joubert) นักเขียนความเรียงชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 และหาก จูแบรต์ เขียนไว้ว่า “หากปราศจากหน้าที่แล้ว ชีวิตช่างบอบบางและไร้โครงสร้าง มันไม่อาจคงตัวอยู่ได้เลย” เราก็คงจะบอกได้ว่า ‘แบบจำลองของเหตุผล’ คือภาระหน้าที่ของ จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ ในฐานะที่กวีจะพึงมีต่อถ้อยคำและผู้อ่านของเขา
งานเขียนเล่มสำคัญนี้ของจรรยา สะท้อนให้เห็นว่างานประเภทความเรียง บทบันทึก ข้อเขียนเชิงทัศนะแบบกวีนิพนธ์ของนักเขียนไทย ไปไกลกว่าการรวม ‘คำคม’ และ ‘ข้อคิดให้กำลังใจ’ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดและดาษดื่น เพราะงานชิ้นนี้ วางตัวคู่ขนานไปกับความคิดทางปรัชญาที่ว่าด้วยการแสวงหาเหตุผลที่ตนยึดถือ เป็นการตั้งคำถามต่อกระบวนทัศน์สามานย์ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ให้ผู้คนหยิบฉวยไปใช้ในนามของเหตุผล
‘แบบจำลองของเหตุผล’ คือการยก 'ทุกภาวะ' ที่มนุษย์เผชิญมาวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ พร้อมชำแหละด้วยมีดที่คมที่สุดจากความคิดของนักเขียน เขาใช้สำนึกของกวีเป็นอาวุธในการเขียน สำลักความคิดที่อยู่ภายในออกมาเป็นภาษาในระดับที่ต้องโค้งคำนับ
หนังสือเล่มสำคัญนี้ จัดพิมพ์จำนวนจำกัด
ไม่วางขายตามระบบสายส่ง
โฆษณา