8 มี.ค. 2020 เวลา 20:33 • สุขภาพ
หน้ากากผ้า ใช้ได้มั้ย
ในสถานการณ์ที่ COVID-19 กำลังลูกผีลูกคนอยู่นี้ และหน้ากากมีไม่พอใช้ จนคนต้องหันไปใช้หน้ากากผ้าแทน ก็ดันมีเสียงคัดค้านดังขึ้นเต็มไปหมด
องค์การอนามัยโลก ประกาศเมื่อ 29 มกราคม 2563 ว่า
"Cloth (e.g. cotton or gauze) masks are not recommended under any circumstance."
(หน้ากากผ้าไม่แนะนำให้ใช้ในทุกกรณี)
สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ว่า
"หน้ากากผ้า ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้"
สมาคมอุรเวชช์ (ปอด/ทรวงอก) แห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ว่า
"หน้ากากผ้าที่ผลิตใช้เองในขณะนี้ น่าจะยังไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันการรับเชื้อโควิด ยกเว้นป้องกันสารคัดหลั่งที่มีขนาดใหญ่ ส่วนคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่เชื้ออาจทำได้บ้าง แต่ไม่ทราบประสิทธิภาพที่แน่นอน การเลือกใช้หน้ากากผ้าจึงต้องใช้วิจารณญาณโดยรอบคอบ"
แล้วเราจะเอายังไงดี
ของแบบนี้ต้องตัดสินกันด้วยงานวิจัย
โชคร้ายคือตั้งแต่ปี 1897 ที่มีหลักฐานการใช้หน้ากากในงานผ่าตัด จนถึงปัจจุบัน มีงานวิจัยเกี่ยวกับหน้ากากผ้าที่ เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ขนาดใหญ่เพียงการศึกษาเดียว ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นรูปแบบงานวิจัยที่ดีที่สุดสำหรับงานวิจัยทางคลินิก
นั่นคือ งานวิจัยที่เวียดนาม ทำในปี 2011 (C Raina MacIntyre et al.) แต่ตีพิมพ์วารสาร BMJ ปี 2015 (ทิ้งช่วงหลายปี ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไร)
การศึกษาทำในบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล 1607 คน ในหอผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง จากโรงพยาบาล 14 แห่ง ในฮานอย
โดยการสุ่มหอผู้ป่วยแบ่งบุคลากรออกเป็น 3 กลุ่ม
1. ใช้ หน้ากากผ้า (cloth mask) อันที่ใช้จริงไม่รู้หน้าตาเป็นยังไง ไม่ได้ให้รูปมาในงานวิจัย
หน้ากากผ้า ที่มา: https://m.qoo10.com/item/WHOLESALE-ADULT-FACE-MASK-CLOTH-1-PIECE-X-6-REUSABLE/617716897?__ar=Y
2. ใช้ surgical mask (หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง ตามโรงพยาบาล บางคนเรียก medical mask)
Surgical mask ที่มา: https://www.amazon.com/Disposable-Surgical-Breathable-Antiviral-Sanitary/dp/B0856SM5SP
3. กลุ่มควบคุม (control) ไม่บังคับการใช้หน้ากาก
โดยติดตาม 1 เดือน ดูอัตราการติดเชื้อทางเดินหายใจในบุคลากร
ผลปรากฏว่า อัตราการติดเชื้อทางเดินหายใจเรียงจากน้อยไปหามากดังนี้
surgical mask < control < cloth mask
การใช้หน้ากากผ้าติดเชื้อมากยิ่งกว่ากลุ่มควบคุม!
แต่เดี๋ยวก่อน เผอิญว่ากลุ่มควบคุม ดันใช้ทั้ง surgical mask และ หน้ากากผ้า หรือทั้ง 2 อย่างในอัตราที่สูงมาก
เนื่องจากการบังคับให้กลุ่มควบคุมห้ามใช้หน้ากากปกป้องตัวเองเป็นการผิดจริยธรรม การศึกษานี้จึงให้กลุ่มควบคุม เป็นกลุ่มที่ปล่อยอิสระ จะใส่ไม่ใส่ยังไงก็ได้ เอาตามถนัด แต่สุดท้าย แทบทุกคนใช้หน้ากากกันเองหมด
ดังนั้นจึงสรุปได้เพียงว่า surgical mask ดีกว่า หน้ากากผ้า
แต่บอกไม่ได้ว่า surgical mask ดีกว่าไม่ใส่เลยจริงมั้ย (อันนี้การศึกษาอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะออกมาทำนองว่าดีกว่าจริง)
และบอกไม่ได้ว่า หน้ากากผ้าแย่หรือดีกว่าไม่ใส่เลยหรือเปล่า
การศึกษานี้ ทำในหอผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง คือบุคลากรทำงานมีโอกาสสัมผัสโรคติดเชื้อทางเดินหายใจสูงในช่วงเวลาการทำงานต่อวันที่ยาวนาน
คำแนะนำจึงชัดเจนว่าห้ามใช้หน้ากากผ้าสำหรับบุคลากรโรงพยาบาลในการป้องกันการติดเชื้อ ต้องใช้อย่างน้อย surgical mask (หรือไม่ก็ N95 ไปเลย)
แต่ในชุมชนทั่วไป โอกาสสัมผัสเชื้อมีน้อยในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่คนมาอยู่ใกล้ชิดกัน เช่น ในลิฟต์ ต่อแถวรอจับมือ ฯลฯ หน้ากากผ้าแม้ไม่น่าจะสู้ surgical mask ได้ แต่จะดีกว่าไม่ใส่อะไรเลยหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ
การศึกษาในระดับชุมชนทำได้ยาก เพราะผู้คนกระจัดกระจาย ไม่ได้รวมกลุ่มเหมือนบุคลากรโรงพยาบาล ทำให้ติดตามยาก (ยกเว้นพวกนักเรียน จะตามง่ายหน่อย) อีกทั้งโอกาสสัมผัสเชื้อน้อย โอกาสเกิดโรคก็น้อย ถ้าจะทำการศึกษาต้องใช้จำนวนอาสาสมัครเยอะมาก อาจเป็นหลักหมื่นถึงแสนคน
ผู้ใช้หน้ากากผ้าในการศึกษานี้ก็ต้องใช้ซ้ำวนไปมาโดยรับผิดชอบซักกันเองด้วยสบู่และน้ำ แต่ไม่มีการนึ่งฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจไม่สะอาดพอ หรืออาจติดเชื้อกันตอนซักก็ยังได้ เพราะหน้ากากที่ใช้ในโรงพยาบาลอาจมีเชื้อโรคมาเกาะติดในปริมาณสูง หรืออ่างล้างถ้ามันสกปรกหรือปนเปื้อนเวลาล้างก็มีการกระเซ็นของน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อได้
ถ้าอย่างโรงพยาบาลในไทยสมัยก่อน หน้ากากผ้าเราจะโยนลงถัง แล้วมีเจ้าหน้าที่มาเก็บไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ไม่ได้มานั่งซักกันเอง
ส่วนถ้าเป็นในชุมชน โอกาสที่หน้ากากจะมีเชื้อติดมาเยอะ และมีอันตรายตอนเอาไปซัก ก็คงน้อยกว่าในโรงพยาบาลมาก
ซ้ำร้ายประสิทธิภาพของหน้ากากผ้าซึ่งทำจากผ้าฝ้าย 2 ชั้น ในการศึกษานี้ เรียกได้ว่าแย่อย่างไม่น่าเชื่อ จากการทดสอบความสามารถในการกรองตามวิดีโอข้างล่างพบว่าหน้ากากผ้าที่ใช้ในการศึกษากรองละอองขนาดจิ๋ว (เช่น 0.3 microns) ได้แค่ 3% ไม่รู้เหมือนกันว่าผ่านการประเมินของคณะกรรมการจริยธรรมได้ยังไง
แต่ในอีกแง่ก็เป็นการบอกว่า หน้ากากผ้าที่เรานิยมใช้กันมายาวนาน อาจจะกากสมชื่อ
สมมุติว่าถ้ามีละอองที่มีไวรัสปนอยู่ซัก 1,000 ตัวกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอ ลอยมาปะทะ หน้ากากผ้านี่จะกันได้ แค่ 30 ตัว อีก 970 ตัวจะแทรกผ่านได้สบาย นี่ยังไม่นับที่รั่วเข้าทางข้างหน้ากากอีกเต็มไปหมด
ส่วน surgical mask ในการศึกษานี้ก็กรองได้แค่ 56% ซึ่งค่อนข้างต่ำ ปัจจุบันวัสดุที่ใช้ในหลายยี่ห้อจะกรองได้ถึง 95% (แต่ไม่นับเป็น N95 respirator เพราะ surgical mask ไม่ได้แนบติดใบหน้า ทำให้ลมรั่วเข้าข้างหน้ากาก อากาศไม่ได้ผ่านการกรองที่หน้ากากทั้งหมด ดังนั้นเวลาใช้จริงการกรองจะลงไปต่ำกว่า 95% มาก เช่น อาจเหลือเพียง 40% ขึ้นกับว่ารั่วมากหรือน้อย)
แต่การจะบอกว่ากรองได้ไม่เยอะแล้วไม่มีประโยชน์เลยก็อาจจะไม่จริงซะทีเดียว
เรารู้ว่าปริมาณเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย (inoculum size) จะสัมพันธ์กับการแสดงออกของโรค โดยไล่จากเชื้อเริ่มต้นน้อยไปมาก ดังนี้
ไม่ติดเชื้อ
ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ
ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อย
ติดเชื้ออาการรุนแรง
ติดเชื้อและเสียชีวิต
โดยปริมาณเชื้อเริ่มต้นที่มากพอที่จะทำให้เราติดเขื้อเรียกว่า infectious dose (ID) ส่วนปริมาณเขื้อที่มากพอจะทำให้เราตายเรียกว่า lethal dose (LD) ซึ่งมักจะสูงกว่า infectious dose พอสมควร
แน่นอนว่ามีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากปริมาณเชื้อตั้งต้นที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเรา เช่น ลักษณะพันธุกรรม ภูมิคุ้มกัน ยาประจำ อายุ เพศ โรคประจำตัว การรักษาพยาบาล เป็นต้น
แต่ถ้ากำหนดให้ปัจจัยอย่างอื่นเหมือนกันเป๊ะ ๆ แบบในหนูทดลอง ชะตากรรมของคุณจะถูกกำหนดด้วยปริมาณเชื้อตั้งต้นที่เข้าสู่ร่างกาย
สำหรับเชื้อโควิท ผมยังไม่เห็นรายงานค่า ID หรือ LD ทั้งในคนและสัตว์ทดลอง ดังนั้นเราลองมาสมมุติกันเล่น ๆ
ปริมาณเชื้อที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ คือ หายใจเอาไวรัสเข้าไป 10,000 ตัวภายในเวลา 1 ชม.
20,000 ตัวทำให้เริ่มมีอาการ
50,000 ตัวทำให้มีอาการรุนแรง
100,000 ตัวทำให้เสียชีวิต
ถ้าหน้ากากเรากรองได้จริงซัก 30% มีเชื้อที่ลอยติดมากับละอองฝอยขนาดจิ๋วมาเข้าจมูก/ปาก 120,000 ตัวใน 1 ชั่วโมง ก็จะถูกกรองเหลือ 84,000 ตัว ในทางทฤษฎี คุณอาจจะป่วยรุนแรง แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสรอดชีวิตได้
หรือถ้าคุณใช้ N95 respirator กันได้ 95% เชื้อจะเหลือเพียง 6,000 ตัว คุณก็จะไม่ติดเชื้อเลย แต่ปัญหาหลักคือใส่นาน ๆ ไม่ไหว หายใจไม่ออก และอาจรั่วได้ ถ้าเลือกขนาดผิดหรือไม่ได้รับการฝึกฝนในการใส่ให้กระชับ
แม้แต่การล้างมือที่มีประสิทธิภาพมาก ก็ใช่ว่าจะกำจัดเชื้อได้หมด แต่มันช่วยลดปริมาณเชื้อให้ต่ำกว่าที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
surgical mask ถูกออกแบบมาให้ป้องกันการแพร่เชื้อมากกว่าที่จะป้องกันการติดเชื้อ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเอาไว้ให้หมอผ่าตัดใส่เพื่อป้องกันแผลผ่าตัดติดเชื้อ
ยังไม่ได้มีหลักฐานว่ามันป้องกันการติดเชื้อโรคได้จริงในระดับชุมชนนอกโรงพยาบาล (absence of evidence) จึงเป็นที่มาว่าจริง ๆ แล้ว ไม่ได้แนะนำให้ใส่ในคนทั่วไป
แต่บางแหล่งข่าวไปไกลถึงว่าใส่หน้ากากแล้วอาจเพิ่มการติดโรค เพราะอาจเพิ่มการเอามือมาสัมผัสใบหน้า ตามลิงค์ข้างล่างที่มีการแปลและแชร์อยู่พอสมควรเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการให้ความเห็นเฉย ๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุน
ซึ่งบทความมีความย้อนแย้งกันเอง เช่น ไม่แนะนำให้ใส่ เพราะไม่มีหลักฐานว่าป้องกันโรคได้ แต่ตอนบอกว่าอาจเพิ่มการติดเชื้อจากการสัมผัสใบหน้าเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรสนับสนุน ซึ่งถ้าการใส่หน้ากากแย่เช่นนั้นจริง บุคลากรทางการแพทย์จะใส่มันทำไม
แน่นอนว่าหลักฐานที่จะบอกว่าเขาพูดผิดก็ไม่มีเช่นกัน แต่โดยปกติผู้ที่กล่าวอ้าง (claim) อะไรก็ตาม ควรจะเป็นผู้หาหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยัน (burden of proof) คำกล่าวอ้างของตน
หรืออีกประเด็นที่ชอบมีคนพูดถึงกัน คือเชื้อมันสามารถมาเกาะติดอยู่บนหน้ากาก (มีข้อมูลพบเชื้อต่าง ๆ บนหน้ากากได้จริง) พอเราเอามือไปจับหน้ากาก มือเราปนเปื้อน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขี้นได้
มันคงมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ทำไมมันถึงจะ "เพิ่มขึ้น" เพราะเชื้อที่เกาะอยู่บนหน้ากาก ก็คือเชื้อที่จะปะทะจมูกหรือปากของเราโดยตรงหากไม่มีหน้ากากกันไว้ และต่อให้หน้ากากชื้นยังไง ไวรัสไม่ได้เพิ่มจำนวนบนหน้ากากได้ มีแต่จะลดลงไปตามเวลา ดังนั้นการเอามือไปจับด้านนอกของหน้ากากเป็นความเสี่ยงก็จริง อาจเพิ่มการติดเชื้อหากเทียบกับคนที่ไม่จับหน้ากาก แต่คงไม่ถึงกับติดเชื้อมากกว่าคนที่ไม่ใส่หน้ากาก
กลับมาที่เรื่อง "ไม่มีหลักฐาน"
Absence of evidence is not evidence of absence.
ไม่มีหลักฐานว่าป้องกันโรคได้ แปลว่ายังอาจป้องกันได้แค่ยังไม่พบหลักฐาน (เพราะไม่มีคนลงทุนทำการศึกษา) จึงยัง "ไม่ส่งเสริมให้ใช้" แต่จะใช้ก็ไม่ได้ว่าผิดอะไรมาก ตราบใดที่มันไม่ได้ก่ออันตรายอะไรอย่างอื่น
ซึ่งต่างกับมีหลักฐานว่าป้องกันโรคไม่ได้ อันนี้ แปลว่า "ไม่ควรใช้" เพราะไม่มีประโยชน์แน่ ๆ ใครใช้ก็เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
แย่สุด คือ มีหลักฐานว่าทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อันนี้จะกลายเป็นว่า "ห้ามใช้" เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น
เมื่อไม่มีหลักฐานโดยตรงว่าหน้ากากทั้งหลายกันโรคได้ในคนทั่วไป แล้วจะยังไงดี
ก็ต้องวิเคราะห์กันจากหลักฐานและข้อมูลแวดล้อม
การศึกษาในบุคลากรโรงพยาบาลส่วนใหญ่ (ไม่ทั้งหมด) จะให้ผลว่า surgical mask ป้องกันได้ดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย
ถ้าคนทั่วไปก็จัดว่าเป็นมนุษย์เหมือนบุคลากรในโรงพยาบาล ไม่ได้มีเทคนิคพิเศษหายใจทางผิวหนังได้ ขอให้ใส่หน้ากากให้ถูกวิธี ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่การอยู่นอกโรงพยาบาลที่มีโอกาสเจอผู้ติดเชื้อน้อยกว่า จะป้องกันไม่ได้เลย (ขนาดเชื้อเยอะ ๆ ในโรงพยาบาลยังกันได้บ้างเลย!)
ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ความคุ้มค่าและความจำเป็นมากกว่า
ถ้าเราสมมุติว่าสำหรับบุคลากรในโรงพยาบาล 50 คน ถ้าเราให้ใส่ surgical mask ทุกวัน ไปหนึ่งเดือน จะป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ 1 คน
คนทั่วไป โอกาสเจอเชื้อต่ำกว่า ความคุ้มค่าก็น้อยกว่า เช่น อาจต้องให้ใส่ surgical mask ไปถึง 1,000 คน ตลอดหนึ่งเดือน ถึงจะป้องกันได้ 1 คน
ถ้าเป็นหน้ากากผ้าที่การกรองเชื้อยิ่งต่ำเข้าไปอีก เอาไปใช้ในชุมชน อาจต้องใส่หลายหมื่นคน ถึงจะป้องกันได้คนนึง
ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขสมมุติ ตราบใดที่ยังไม่มีตัวเลขจริงสนับสนุนชัดเจนว่าคุ้มค่า ก็เป็นการยากที่ในระดับนโยบายหรือหน่วยงาน จะออกมาสนับสนุนด้วยความมั่นใจให้คนไทยทั่วไปทุกคนใส่หน้ากากกันหมด ทุกครั้งที่ออกไปพบปะผู้คน
แต่ในระดับปัจเจกบุคคล (individual) ถ้าคุณหาหน้ากากมาได้โดยไม่เบียดเบียนใคร ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แม้ความคุ้มค่าจำเป็นจะน้อย แต่ก็ไม่ถึงกับไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง
เปรียบเทียบได้กับ วัคซีนโรคไข้กาฬหลังแอ่น (meningococal vaccine) เนื่องจากโรคนี้เจอได้น้อยมากในประเทศไทย แถมสายพันธุ์ในวัคซีนก็ไม่ค่อยตรงกับตัวที่พบในไทย ในระดับนโยบาย จึงไม่จัดเป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีด (ไม่ฟรี) เพราะไม่มีความคุ้มค่าเลย
แต่ถ้าคุณมีเงินและอยากซื้อวัคซีนมาฉีดตัวเอง ก็ไม่มีใครว่าอะไร ตราบใดที่วัคซีนไม่ขาดแคลน มีเหลือพอหลังจากเอาไปใช้ในกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็น (เช่น ต้องเดินทางไปประเทศที่มีโรคนี้ชุกชุม หรือ โดนตัดม้าม) แม้โอกาสจะน้อยมาก แต่คุณอาจแจ็คพ็อตไปเจอคนไข้ที่มีเชื้อนี้แล้ววัคซีนช่วยให้คุณรอดก็เป็นได้
กลับมาที่เรื่องหน้ากากผ้า
ปัญหาหลักของหน้ากากผ้า คือความไร้มาตรฐาน อาจจะมีผ้าบางแบบที่กันได้ดีแต่ไม่มีการทดสอบก็ไม่มีทางรู้ว่ากรองได้เท่าไหร่กันแน่ จึงเป็นอุปสรรคที่ผู้บริโภคยากจะเลือกได้ บางคนก็บอกว่าให้ลองหยดน้ำดู พวกที่กรองละเอียดหน่อยน้ำจะซึมผ่านยาก จะเห็นเป็นหยดกลิ้งไปมา (แต่ต้องแน่ใจว่าอากาศผ่านได้ดีพอ ไม่ใช่ว่าต้านอากาศสุดขีดไปด้วย) ซึ่งส่วนใหญ่หน้ากากผ้าทั่วไปหยดปุ๊บก็ซึมทะลุปั๊บ
วิธีเพิ่มความสามารถในการกรอง ก็เช่น ทอให้มันถี่ขึ้นแบบพวกผ้าปูกันไรฝุ่น ซ้อนผ้าหลายชั้น ใช้ผ้าหนาขึ้น ฯลฯ แต่อย่าลืมว่า การต้านอากาศจะเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นปัญหาตามมาอีก
ในอุดมคติเราคงอยากได้หน้ากากที่ต้านอากาศน้อย ๆ จะได้หายใจสบาย แต่กรองฝุ่นละอองเชื้อได้ดี ซึ่งทำยากเพราะกรองละเอียดมาก อากาศก็ผ่านยากตาม จึงต้องหาจุดสมดุลที่พอดี
ถ้าตัวหน้ากากต้านอากาศมาก แล้วหน้ากากนั้นไม่ได้แนบสนิทกับใบหน้าแบบ N95 respirator อากาศก็จะหนีเข้าทางด้านที่แรงต้านน้อยกว่า นั่นก็คือรั่วมาทางด้านบน ด้านล่าง ด้านข้างของหน้ากาก ทำให้ไม่มีการกรองเกิดขึ้น
เช่น เราเอาขันพลาสติกมาทำหน้ากาก ทั้งละออง ทั้งอากาศผ่านไม่ได้ 100% มันก็รั่วเข้าข้าง ๆ 100% ไม่มีการกรองเกิดขึ้น ถ้าอุดรูรั่วหมด คนใส่ก็ขาดอากาศตาย
การตรวจความสามารถในการกรองของตัววัสดุอาจยังไม่เพียงพอ ยังต้องดูการต้านอากาศอีกด้วย
1
ถ้าจะทดสอบให้ดีหน่อย ก็ทำจำลองสถานการณ์ (simulation) ในหุ่นจำลองศีรษะมนุษย์ (manikin) ซึ่งมีปั้มป์ลมเข้าออกรูจมูก/ปาก เหมือนการหายใจในคนจริง ๆ แล้วครอบหน้ากากที่จะทดสอบ
พ่นละอองฝอยเลียนแบบการไอจามใส่ แล้วตรวจดูว่ามีละอองพวกนั้นรั่วผ่านเข้ามาในหุ่นจำลองมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับการไม่ใส่ ก็จะพอบอกประสิทธิภาพโดยรวมที่แท้จริงได้ เพราะจะรวมเอาทั้งละอองที่ทะลุตัวหน้ากากมาได้ และละอองที่ลอดผ่านช่องข้างหน้ากากที่ไม่แนบสนิทด้วย
พวก surgical mask หรือ หน้ากากผ้าที่เอามาทดสอบ ค่าการกรองที่ได้ก็ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นกับว่ามันรั่วเข้าด้านข้างมากน้อยเพียงใด และรูปแบบการทดสอบที่ใช้
ถ้าตามการศึกษาในรูปข้างล่างของ Larry E. Bowen (2010) ประสิทธิภาพในการกรองละอองจิ๋วอยู่ที่ 33.3% สำหรับ surgical mask, 11.3% สำหรับ dust mask (pre-shaped face mask), 6.1% สำหรับ ผ้าโพก (bandana) ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับหน้ากากผ้า, และ 89.6% สำหรับ N95
ที่มา: Applied Biosafety Vol. 15, No. 2, 2010
คิดคร่าว ๆ ถ้าเอาหน้ากากผ้าที่กรองได้ต่ำสุด (6.1%) เป็นตัวเทียบ surgical mask จะกรองได้ดีกว่าคิดเป็น 5 เท่า, dust mask 2 เท่า, N95 15 เท่า
Dust mask ที่เป็นกระเปาะแข็ง ๆ ตามการศึกษานี้ก็สู้ surgical mask ไม่ได้
แน่นอนว่ามีพวกหน้ากากผ้าแพง ๆ ที่มีเทคโนโลยีสูง มีการรับรองคุณภาพ สามารถซักได้หลายครั้งโดยไม่เสื่อมประสิทธิภาพ แต่ถ้ามันแพงอย่างนั้น ก็ไปใช้ surgical mask จะดีกว่ามั้ย
โดยสรุป surgical mask ควรเก็บไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในโรงพยาบาลก่อน ถ้ามีเหลือจะเอาไปใช้กับคนทั่วไปในชุมชนก็น่าจะได้ประโยชน์อยู่บ้าง แต่อาจไม่ค่อยคุ้มค่า
ส่วนหน้ากากผ้าที่ใช้กันทั่วไปประสิทธิภาพการกรองต่ำมาก แต่ก็อาจจะพอเอามาแก้ขัด (ได้ผลจริงเปล่าไม่รู้) ในคนทั่วไปได้ ในกรณีที่ขาดแคลน surgical mask จะได้ไม่ไปแย่งบุคลากรโรงพยาบาลที่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องเลือกใช้ หน้ากากผ้าที่มีการรับรองประสิทธิภาพ
แม้จะไม่มีการศึกษา แต่ประโยชน์ที่พอคาดเดาได้ อาจจะเป็นในแง่ลดการล้วงจมูก หรือกัดเล็บโดยไม่ตั้งใจได้ แลกกับการที่อาจจะจับใบหน้าเพิ่มขึ้น
แม้จะกันพวกละอองขนาดเล็กได้น้อยมาก แต่ก็น่าจะพอกันพวกละอองขนาดใหญ่ยักษ์หรือเรียกว่าเป็นหยดเลยดีกว่า เช่น จากการไอ จาม ใส่หน้าในระยะเผาขน ซึ่งคนที่มีลูกเล็ก ๆ คงเคยโดนกันประจำ แบบว่าหน้าเหนียวหนึบกันเลยทีเดียว พวกละอองเล็ก ๆ ก็คงทะลุหน้ากากผ้าไป แต่พวกละอองยักษ์ ก็คงกันได้บ้าง
1
เนื่องจากเราพบตัวรับ (receptor) ACE2 ที่เชื้อโควิดใช้ในการบุกเข้าเซลล์ ในช่องปากด้วย พวกละอองใหญ่ ๆ ที่เข้าได้ไม่ลึกก็อาจติดอยู่ในปากก่อปัญหาได้เหมือนกัน
(นอกเรื่อง เขาว่า ACE2 มันเจอที่ลิ้นเยอะ เราอาจต้องรณรงค์งด French kiss นะ)
ผมเคยอุ้มลูกที่น้ำมูกเยิ้มนิด ๆ ด้วยความน่ารักน่าชัง ก็อดไม่ได้ที่จะไปหอมแก้ม ลูกผมก็หันขวับมาพอดี จมูกชนจมูก สูดเอาน้ำมูกของลูกเข้าจมูกตัวเองแบบเต็ม ๆ วันรุ่งขึ้นก็ป่วยไปตามระเบียบ ถ้าตอนนั้นใส่หน้ากากผ้าก็อาจช่วยกันได้ แต่จริง ๆ เราคงไม่ไปหอมใครทั้ง ๆ ที่ใส่หน้ากากอยู่หรอก
โดนลูกไอกรอกปากตรง ๆ ก็เคยมาแล้ว
อีกอย่างถ้าเราติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่มีอาการ การใส่หน้ากากผ้าก็น่าจะช่วยลดการแพร่เชื้อได้ แม้จะไม่ดีเท่า surgical mask ก็ตาม เหมือนเราเอาสเปรย์มาฉีดละอองฝอย จะเอาผ้าอะไรก็ได้มาขวางตรงหน้าสเปรย์ การกรองจะแย่แค่ไหนก็ตาม ยังไงจำนวนและความแรงของละอองที่พุ่งทะลุออกไปก็ต้องลดลงบ้าง นอกจากนี้เวลาใส่หน้ากาก หายใจลำบาก ก็จะลดการพูดพล่ามไปในตัว โอกาสปล่อยละอองฝอยแพร่เชื้อก็น้อยลง
ประโยชน์ในแง่นี้อาจเหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน จนกว่าเราจะเข้าระยะสามที่มีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการจำนวนมาก แต่ถ้ามองในแง่ช่วยป้องกันไวรัสหรือเชื้ออื่น ๆ นอกจากโควิด ที่บางตัวก็เริ่มแพร่ได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการเหมือนกัน ก็อาจจะดูคุ้มค่ามากขึ้น
ที่เหลือน่าจะเป็นผลของการใส่หน้ากากที่ไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพใด ๆ เช่น เวลาเราใส่หน้ากาก จะไม่ค่อยอยากเข้าไปใกล้ใคร เพราะอึดอัดรำคาญ ในขณะที่คนอื่นก็ไม่ค่อยมาใกล้เรา เพราะกลัวว่าเราจะป่วยหรือเปล่า และเราจะพยายามรีบออกจากบริเวณที่มีความเสี่ยงไปยังที่โล่ง จะได้ถอดหน้ากาก สูดหายใจได้เต็มที่ (จากประสบการณ์ตัวเอง ไม่รู้ท่านอื่นเห็นด้วยมั้ย)
หากมีเฉพาะผู้ป่วยที่ใส่หน้ากากเหมือนในกลุ่มประเทศยุโรปหรืออเมริกา ในขณะที่คนปกติดีไม่ใส่ หน้ากากจะเป็นเหมือนตราบาป (stigma) ประกาศให้โลกเข้าใจว่าผู้ใส่ป่วย เกิดการรังเกียจ ไปจนถึงขั้นทำร้ายกัน ดังข่าวฝรั่งทำร้ายคนเอเชียที่ใส่หน้ากากแม้ว่าจริง ๆ แล้วเขาจะไม่ป่วยเลยก็ตาม นั่นพลอยทำให้ผู้ที่ป่วยจริงก็ไม่กล้าใส่หน้ากากไปด้วย ทำให้ออกมาแพร่เชื้อได้
ถ้าทุกคนใส่กันหมด ย่อมไม่เกิดปัญหาเรื่องตราบาปหรือการรังเกียจกัน คนป่วยก็จะยินดีที่จะใส่มากขึ้น
หน้ากากยังอาจช่วยเตือนใจเหมือนเป็นเครื่องราง ให้เราระมัดระวังสุขอนามัย ล้างมือบ่อยขึ้นก็เป็นไปได้ เหมือนปลอกคอแบบนิ่ม (soft collar) ที่จริง ๆ แล้ว ไม่ได้แข็งแรงพอที่จะพยุงคอ แต่พอใส่แล้วมันค้ำคออยู่ คนไข้ก็จะระมัดระวังคอตัวเองมากขึ้น ทำให้มันได้ผลในการรักษา แม้คุณสมบัติในตัวมันเองจะไม่ได้ดีสักเท่าไหร่
2
Soft collar ที่มา: https://www.amazon.com/ProCare-Universal-Clinic-Cervical-Collar/dp/B00N3IR9QY
ที่สำคัญคือต้องรู้ว่า หน้ากากทั้ง surgical mask และหน้ากากผ้า ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก จึงไม่ควรย่ามใจ (false sense of protection) ไปในที่เสี่ยง คนแออัด โดยไม่จำเป็น แม้จะใส่หน้ากากอยู่ก็ตาม
อ่านจนจบแล้ว จงใช้หลักกาลามสูตร พิจารณาเองว่าเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน และจะเลือกปฏิบัติตัวอย่างไร เนื่องจากมีส่วนที่เป็นความเห็นส่วนตัวจำนวนมาก (คำว่า "อาจ" "คง" หรือ "น่าจะ" มีเยอะมากในบทความนี้) หลักฐานจริง ๆ เรายังมีน้อยมาก
Reference:
โฆษณา