10 มี.ค. 2020 เวลา 04:17 • ประวัติศาสตร์
ผ่านมาเจอบทความนี้...อ่านแล้ว มีกำลังใจ อยากให้ได้อ่านกัน😊
แม่พลอย...
บ้านเมืองเราเวลานี้ระส่ำยิ่งกว่าภัยสงคราม ข้าวยากหน้ากากแพง โรคร้ายระบาดความพินาศกำลังจะบังเกิดที่มีคนเอาเงินประเทศมาจ่ายแจก โดยไม่เข้าเรื่องเข้าราวสุดเศร้าใจนักเธอว่าไหมแม่พลอย
แล้วเธอยังพอจำได้ไหมว่าเมื่อครา หลังสงครามโลกครั้งที่2 ล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่9 ท่านเพิ่งครองราชย์ได้ไม่นาน เกิดโรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก แต่ในหลวงของฉันนำพาประเทศให้รอดปลอดภัยมาได้อย่างไร ฉันสะเทือนใจเหลือเกินแล้ว ฉันไปอ่านมาแล้วตื้นตันใจเลยขอเขาเอาเนื้อหาสาระบางส่วนยาวเหยียด มาเผื่อแพร่ให้แม่พลอยและทุกคนได้ตระหนักและตั้งสติกันในวันนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 สืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จ สู่สวรรคาลัยโดยกะทันหัน
ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา พระองค์ขึ้นครองราชย์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2488 เพียงปีเดียว
แต่โดยเหตุที่ยังมีพระราชภารกิจต้องศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงต้องเสด็จฯกลับไป กระทั่งทรงสำเร็จการศึกษา จึงเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในปี 2492
ช่วงเวลา 3-4 ปีนั้น เป็นช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวการณ์สุ่มเสี่ยงทั้งจากการต้องชดใช้หนี้สงคราม และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้ารุนแรง เงินในธนาคารแห่งประเทศไทยแทบไม่มี หลังจากถูกญี่ปุ่นยึดเป็นด่านหน้าในการสู้รบกับฝ่ายพันธมิตร เช่นเดียวกับอาหารและทรัพยากรอื่นๆที่ประเทศไทยมี ต้องให้พวกญี่ปุ่นนำไปใช้ประโยชน์ก่อน
แม้ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้แล้ว แต่ประเทศและคนไทยยังต้องกัดฟันสู้กับการบูรณะและฟื้นฟูประเทศใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องสู้กับภาวะข้าวยากหมากแพง สินค้าอุปโภค-บริโภคที่มุดลงสู่ตลาดใต้ดิน ทำให้เงินเฟ้อตลอดช่วงสงครามสูงขึ้นเป็น 200-1,000 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่มาให้ผู้คนอดอยาก และเจ็บป่วยล้มตายกันจำนวนมากด้วยโรคระบาดที่ไม่อาจรักษาได้
#ขณะที่ช่วงต้นรัชกาลกิจการทางการแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้า ขาดแคลนทั้งเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็น บริการด้านสาธารณสุขก็ไม่แพร่หลาย ผู้เจ็บป่วยที่ยากจนและอยู่ห่างไกลไม่มีโอกาสได้รับการรักษา
#โรคระบาดที่รุนแรงในปีพศ2493และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากคือ วัณโรค โรคเรื้อน โรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) และอหิวาตกโรค ซึ่งทำให้มีคนไทยตายเฉียบพลันจำนวนมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับทราบพระเนตรพระกรรณ ตั้งแต่ที่ทรงนิวัตกลับประเทศไทยในปี 2489 และตลอดช่วงเวลาที่ต้องเสด็จฯกลับไปศึกษาต่อ จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า
“...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดีและสังคมที่มั่นคง เพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์ สร้างสรรค์ เศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือ เน้นแต่ผู้สร้าง มิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ...”
เมื่อทรงทราบว่า สังคมไทยอ่อนแอ และคนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆมากมาย โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลก ซึ่งเป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องส่งข้าวให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่าจากหนี้สงครามที่ญี่ปุ่นดึงไทยเข้าไปร่วมด้วยถึง 1.5 ล้านตัน ขณะที่เศรษฐกิจไทยต้องตกต่ำลงอย่างหนัก ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นกลายเป็นสิ่งหายากยิ่ง และต้องเผชิญภาวะยุ่งยากปั่นป่วน เพราะถูกตัดขาดจากบรรดาชาติสัมพันธมิตร
สิ่งแรกที่พระองค์ทรงมุ่งแก้ไขจึงเป็นปัญหาด้านการสาธารณสุข พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนมากหรือประมาณ 500,000 บาท เพื่อ สร้างโรงพยาบาล “ปอดเหล็ก” และจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อสู้กับวัณโรคที่กำลังระบาดหนัก พร้อมกับสนับสนุนให้สภากาชาดไทยผลิตวัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค จนกระทั่งทรงปราบวัณโรคสำเร็จในปี 2497
1
ขณะที่การผลิตวัคซีน BCG เพื่อสู้กับวัณโรคของสภากาชาดไทย ได้ผลเป็นอย่างดีนั้น องค์การสงเคราะห์แม่และเด็กแห่งยูนิเซฟได้สั่งซื้อเพื่อส่งไปให้กับประเทศที่เกิดโรคระบาดเดียวกันนี้ในเอเชียได้ใช้ด้วย
เหตุการณ์นี้ ทำให้พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” พระราชทานแก่วงดนตรีนำไปบรรเลงในงานแสดงดนตรีการกุศลเพื่อหารายได้ช่วยเหลือโครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย
พระองค์ยังพระราชทานแบบจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยาซึ่งเป็นผลงานฝีพระหัตถ์ออกประมูลในงานเดียวกัน เพื่อนำรายได้สมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรคซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปสูงถึง 140,000 คน หรือ 500 คนต่อประชากร 100,000 คน
ในช่วงเวลาเดียวกัน พระราชทานทุนประเดิมเพื่อจัดตั้ง “กองทุนโปลิโอสงเคราะห์” ที่เกิดการระบาดรุนแรงขึ้นในปี 2495 พร้อมออก ประกาศเชิญชวนปวงชาวไทยโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการ “ทรงโซโลแซ็กโซโฟนเพลงตามคำขอ” ทางวิทยุ อ.ส.พระ ราชวังดุสิต
ครั้งนั้น ทำให้ได้เงินจำนวนมากส่งไปพระราชทานแก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและมหาวิทยาลัยมหิดล (รพ.ศิริราช) ใช้เป็นทุนก่อสร้างอาคาร และซื้อเวชภัณฑ์เพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยที่พ้นขีดอันตราย แต่ต้องเป็นอัมพาต
ยังทรงสนับสนุนการค้นคว้าทางวิชาการและก่อสร้างตึก “วชิราลงกรณ์ธาราบำบัด” ไว้เป็นสถานที่รักษาด้วยวิธีทางกายภาพโดยใช้น้ำช่วยพยุงร่างกายระหว่างการบริหารและฟื้นฟูกล้ามเนื้อผู้ป่วยด้วย ผลจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ปัจจุบันไม่มีรายงานการติดเชื้อโรคโปลิโอ หรือโรคไขสันหลังอักเสบอีกเลย
1
การระบาดอย่างรุนแรงของโรคร้ายต่างๆในช่วงหลังสงครามโลกดังกล่าว ทำให้คนไทยถูกรุมเร้าด้วย
โรคเรื้อน และอหิวาตกโรคที่มีผลให้ต้องสูญเสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก
นั่นทำให้พระองค์ทรงก่อตั้ง “กองทุนปราบอหิวาตกโรค” ด้วยการให้สภากาชาดไทยจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อผลิตวัคซีนได้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการจัดหาเครื่องมือเพื่อวิจัยโรค สร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือคุณภาพทัดเทียมต่างชาติขึ้นใช้เอง
และเช่นเดียวกันทรงหาทุนโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการ “เป่าแซ็กโซโฟนตามคำขอ” โดยมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนโทรศัพท์ขอเพลงผ่านวิทยุ อ.ส.ได้ ทำให้การปราบอหิวาตกโรคของพระองค์สงบลงได้อย่างสิ้นเชิงในเวลาเพียง 1 ปี 5 เดือน นับจากที่ระบาดอย่างรุนแรงในปี 2501
ในปี 2496 ทรงพบโรคภัยอีกโรคขณะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎร และทอดพระเนตรเห็นผู้ป่วยโรคเรื้อน ซึ่งไม่ได้รับการรักษา และยังคงอยู่ร่วมกับผู้คนปกติทั่วไป จึงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดตั้ง “ทุนอานันทมหิดล” แก่กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นทุนเริ่มแรกในการสร้างอาคารสถานพยาบาลโรคเรื้อนขึ้นที่พระประแดง สมุทรปราการ แล้วทรงให้จัดตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย เพื่อบำบัดฟื้นฟูและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน
รวมทั้งฝึกอาชีพให้ผู้ป่วย และสร้างสถานศึกษาเพื่อการอบรมเจ้าหน้าที่ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย พร้อมหาสมมติฐานของโรคเพื่อกำจัดโรคนี้ให้หมดไป และทำให้คนไทยหายขาดจากโรคสำเร็จ โดยผู้ป่วยและบุตร 180,000 คนได้รับการรักษาจนหายขาด สามารถดำรงตนเป็นปกติสุขในสังคมได้สมดังพระราชปณิธานที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันยังทำให้ไทยสามารถกำจัดโรคเรื้อนได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์พระราชทาน และพระราชทานเรือ “เวชพาหน์” ในปี 2498 เพื่อออกไปให้บริการประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ เรือลำนี้จึงนับเป็นเรือบรรเทาทุกข์และรักษาพยาบาลทางน้ำลำแรกและลำเดียวในโลกที่ทรงมุ่งมั่นตั้งพระทัยให้คนไทยหายขาดจากโรคร้ายต่างๆ
ขณะที่การรักษาโรคเรื้อนที่ทำให้ต้องตัดแขนขาของผู้ป่วยก็ได้ทรงจัดตั้งหน่วยแขน-ขาเทียมพระราชทานให้ในปี 2513 พร้อมมีพระราชดำริให้มีการฝึกอบรม “หมอหมู่บ้าน” เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้ด้านการสาธารณสุขพอสมควร เพื่อช่วยเหลือตนเองในท้องถิ่นที่ขาดแคลนสถานพยาบาลต่อเนื่องมาจนถึงในปี 2525
ในข้อมูลของ มูลนิธิปิดทองหลังพระที่ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นเลขาธิการ บันทึกว่า ปี 2492 ซึ่งเสด็จนิวัตกลับมาเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์ ทรงมีรับสั่งกับหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมสาธารณสุขว่า “ยาอะไรขาด ถ้าต้องการ ฉันจะหามาให้อีก ฉันอยากเห็นกิจการแพทย์ของเมืองไทยเจริญมากๆ” และเมื่อเสด็จนิวัตกลับประเทศไทย จึงทรงขนยารักษาโรคที่จำเป็นจำนวนมากกลับมาด้วย
มูลนิธิปิดทองหลังพระของคุณชายดิศยังบันทึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หมู่เฮาชาวเราไม่เคยได้รับทราบอีกมากมาย เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนี้ทำให้รับรู้ว่าทรงงานหนักเพียงใด แม้ในช่วงที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ และยังทรงมีพระชนมายุน้อยหากแต่ต้องทรงตัดสินพระทัยช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ในแทบจะทุกเรื่อง
เช่น ทรงริเริ่มสร้างภาพยนตร์ที่รู้จักกันในนามว่า “ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” พระราชทานจัดฉายเพื่อหารายได้ช่วยเหลือทางการแพทย์ อาทิ สร้างตึกอานันทมหิดล ที่ รพ.ศิริราช สร้างตึกวิจัยประสาทที่ รพ.ประสาทพญาไท และพระราชทานทุนวิจัยโรค ประสาทแต่ละชนิดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
2
ทรงสร้างอาคารราชสาทิส รพ.สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อให้คนไข้มีสถานที่กว้างขวางเพื่อจะได้เดินออกกำลังกายให้มีจิตใจที่ดีขึ้น สร้างตึกวชิราลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาคารทางการแพทย์ของ รพ.ภูมิพล เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2497 ที่ทรงโปรดเกล้าฯให้ฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ณ ศาลาเฉลิมกรุง รายได้จากการฉายภาพยนตร์เมื่อ 61 ปีมาแล้วนั้นสูงถึง 444,600.50 บาท กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง จึงพระราชทานเงินส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลเพิ่มเติมอีกรวม 1,558,561 บาท
เมื่อสร้างอาคารต่างๆเสร็จเรียบร้อย ยังมีเงินคงเหลืออีก 175,064.75 บาท จึงพระราชทานเงินให้สร้างสถาบันอบรมเจ้าหน้าที่และค้นคว้าเรื่องโรคเรื้อนที่สถานพยาบาลพระประแดงในวงเงินประมาณ 1 ล้านบาท
การจะทำให้พสกนิกรที่ยากจนหยุดการทำนาทำไร่แล้วเดินทางไปหาแพทย์เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงข้ามหากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง จึงมีรับสั่งว่า “ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ จะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็น โดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่โดยรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทางในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท”
นั่นทำให้คนไทยในถิ่นทุรกันดารมีโอกาสได้พบกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานมากมาย ตั้งแต่หน่วยทันตกรรม ศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัย แพทย์หู ตา คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ หน่วยอบรมหมอหมู่บ้านในพระประสงค์ หน่วยทำอวัยวะเทียมที่พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตแขน-ขาเทียม และจัดทำโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพการทุพพลภาพขึ้น นั่นเอง
พระราชภารกิจที่คนไทยเราไม่เคยได้รับรู้เหล่านี้ ล้วนแต่ได้รับการกล่าวขานจากองค์กรในต่างประเทศมากมาย จึงทรงได้รับรางวัลเหรียญทองด้านการสาธารณสุขระดับสากลเพื่อมวลชน ทั้งจากองค์การอนามัยโลก วิทยาลัยแพทย์รักษาทรวงอกแห่งสหรัฐฯ
เหรียญทองเทิดพระเกียรติในฐานะทรงเป็นผู้นำ ผู้บุกเบิก และผู้ควบคุมปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยจากสถาบันที่มีชื่อว่า The International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders และรางวัลเหรียญทองสดุดีพระเกียรติในฐานะทรงห่วงใยสุขภาพปอดของประชาคมโลกจากสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรค และโรคปอดนานาชาติ
กราบสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมิรู้ลืม
CR :
เพจ กษิดิส ฌาน
#แม่เฒ่ากิมฮวย🌼🌼🌼
อ่านบทความย้อนหลังเเละเยี่ยมชมสำนักข้าได้ที่⬇️ https://www.blockdit.com/maetaokimhuay
โฆษณา